ถ้าคุณไม่ชอบเสียงดังๆ แต่ก็อยากเปล่งเสียงดังๆ เมื่ออึดอัดขับข้องใจกับภาวะอันน่าหดหู่ของโลกและบ้านเมือง บางที การเป็น Craftivist ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะ
หลายคนคงได้เห็นภาพทะเลคนสวมหมวกไหมพรมสีชมพู และความสนุกสนานของงานคราฟท์อื่นๆ อีกมากมายในขบวนอีเวนต์ Women’s March ที่กรุงวอชิงตันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเป็นนโยบายและการบริหารงานอันหวือหวาสุดโต่งของทรัมป์นั่นเอง ที่ปลุกอเมริกันชนชาว Craftivismให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
ว่าไม่ได้นะคะ ครอสติชท์สีหวาน หรืองานปักสะดึง จึงไม่ใช่แค่งานอดิเรกในยามว่างอีกต่อไป เพราะมันคือ “การเปล่งเสียงของเราออกมาโดยไม่ต้องใช้เสียง” เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของผู้มีอำนาจ ไปจนสำรวจประเด็นสำคัญต่างๆ ในสังคม รวมเรียกว่า Craftivism
เมื่องานฝีมือและ Activist มาเจอกัน
คำว่า Craftivism ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2003 โดยนักเขียน นักถัก และนักทอ นาม Betsy Greer เธอจับเอาคำว่า craft งานฝีมือ และ activism นักกิจกรรม มาชนกัน กลายเป็น Craftivism อันหมายถึงแนวทางแสดงความเห็นผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ทำให้เสียงของเรามีพลัง เพื่อตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมได้ไม่สิ้นสุด
เมื่อปี 2014 เบสตี้เคยออกหนังสือชื่อ Craftivism : The Art and Craft of Activism ที่รวบรวมเอาเรื่องราวและผลงานของ Craftivist จากทั่วทุกมุมโลก อย่างสาวชาวอังกฤษที่ทำเวิร์คช็อปงานปักและงานควิลท์เป็นชุมชนบำบัด ไปจนคนทำหนังสือชาวอินโดนีเซียที่จัดตั้งศูนย์ DIY งานคราฟท์แบบทำเองก็ได้ง่ายจัง
จะเห็นว่า Craftivism นั้นไม่เพียงแบ่งบานในอเมริกา แต่ยังเติบโตและเป็นเทรนด์แบบเงียบๆ ในหลายๆ ที่ทั่วโลก
ที่อังกฤษ Sarah Corbet ก่อตั้งเว็บไซต์ Craftivism Collecting แพลตฟอร์มที่ถักทอเอาผู้คนที่สนใจกิจกรรมแขนงนี้และคนที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยแต่อยากลองทำดูเข้าไว้ด้วยกัน หัวใจหลักของชุมชนคือ เชื่อว่างานฝีมือคือเครื่องมืออันอ่อนโยนในการไฟต์กับอำนาจ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นขบถสายซอฟท์ สโลว์ แต่พร้อม explore ประเด็นร้อนๆ ของโลก โอ๊ย ชอบ!
ซาร่าเกิดในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็น activist เธอมักเข้าร่วมกิจกรรมกับที่บ้านเสมอๆ แต่เธอเป็น introvert
รูปแบบของการชุมนุมแบบนักกิจกรรมทั่วไปทำให้เธอเหนื่อยล้าเกินกว่าที่จะจอยต่อ และหนึ่งในสิ่งที่เธอไม่ชอบคือการไปครอบงำหรือสั่งสอนคนอื่นปาวๆ ว่าต้องทำแบบนั้น ต้องทำแบบนี้ เธอจึงตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟไปพร้อมกับกล่องเข็มด้าย การเย็บปักทำให้เธอค่อยๆ สงบลง ความคิดแจ่มชัดขึ้น และรู้สึกมีพลัง ซาราห์ จึงวางผ้าเช็ดหน้าที่ปักข้อความถึงนักการเมืองท้องถิ่นผืนนั้นไว้แถวๆ บ้าน และงานชิ้นนั้นได้กลายเป็นที่พูดถึงทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
“แบบนี้ฉันรู้สึกถึงความเคารพที่เรามีต่อกันมากกว่าการไปตะโกนข้อความต่างๆ ใส่เธอ แทนที่จะกลายเป็นศัตรูที่ เอ้อ ต่อสู้กัน เราได้กลายมาเป็นเพื่อนที่สามารถถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันได้แทนค่ะ”
อ่านมาถึงตรงนี้คุณคงสงสัย งานฝีมือ DIY ทำเองก็ได้ง่ายจังนี่เหรอ จะมาเรียกร้องหรือมีพลังต่อกรจากผู้มีอำนาจได้ขนาดนั้น
พลังของการใช้งานฝีมือไฟต์กับอำนาจ
งานคราฟท์ถูกนำมาใช้ในการสำรวจและตั้งคำถามต่อหลายๆ ประเด็นในสังคม ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การต่อต้านสงคราม การต่อต้านทุนนิยม ไปจนกระบวนการยุติธรรม และหลายๆ ครั้ง เจ้างานฝีมือพวกนี้นี่แหละที่เกิดอิมแพคกับคนในสังคมเป็นวงกว้าง
ตัดภาพกลับไปเมื่อสามสิบปีก่อนที่วอชิงตัน ดีซี ผืนผ้างานควิลท์ถูกนำมาปูเรียงกันสุดลูกหูลูกตา เต็มลาน National Mall และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ The AIDS Memorial Quilt อีเวนต์ที่เกิดจากกลุ่มคนแปลกหน้าเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง รวมตัวกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันคือทำอนุสรณ์จากงานควิลท์ (quilt) เพื่อรำลึกถึงคนที่จากโลกไปเพราะเอดส์ (AIDS) และเพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้คนถึงความรุนแรงของมัน
หรืองานของ Carrie Reichardt ที่ตั้งคำถามกับการกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่เป็นธรรม เธอก็ใช้งานเซเรมิกสีๆ มาแปะทำโมเสก (mosaic) บนผนังเป็นข้อความของ Fred Hampton นักปฏิวัติผิวสีชาวอเมริกันความว่า “You can kill a revolutionary but you can’t kill The revolution ” อีกหนึ่งงานที่เผ็ดร้อนและเป็นที่พูดถึงไม่แพ้กันก็คือ ‘Mad in England’ งานโมเสกรูปธงชาติอังกฤษและพระราชินีอลิซาเบธ ที่มีจุดมุ่งหมายในการโต้ตอบต่อลัทธิคลั่งชาติในอังกฤษ
และงานของ Varvara Guljajeva และ Mar Canet ดูโอ Craftivist สายนิตติ้งชาวบาร์เซโลนา ที่ทำรถม็อคอัพเป็นชุดมาสคอตแล้วใส่เดินไปทั่วท้องถนน เพื่อให้คนขับรถตระหนักว่านอกจากรถแล้วยังมีคนเดินถนนที่ใช้เส้นทางร่วมกับคุณอยู่อีกนะ
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คงพอจะเห็นภาพงานคราฟท์ซอฟท์ใส ที่สามารถกลายเป็นอาวุธสร้างสรรค์ทรงอานุภาพไม่ต่างจากงานเขียน กวี ตลก และละคร ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจ
ในยุคที่บ้านเมืองไม่สามารถพูดอะไรได้อย่างตรงไปตรงมา งานคราฟท์จึงไม่ใช่แค่ทักษะของหญิงสาวในจินตนาการขนบที่ต้องมีพร้อมก่อนออกเรือน หากแต่เป็นการต่อรองกับอำนาจ ในแบบเงียบๆ ที่ทรงพลังและเสียงดังที่สุด เช่นเดียวกับการต่อต้านอำนาจรัฐด้วยศิลปะแขนงอื่นๆ