จะเป็นอย่างไร ถ้าประสบการณ์ของคนรุ่นเก่ามารวมกับไฟฝันของคนรุ่นใหม่?
‘Jengcraft’ คือแบรนด์ที่ พลอย–พัชรกมล พรนิเสน และ มายด์–ณัฐวรรณ ล้วนใจบุญธรรม ร่วมกันก่อตั้งขึ้นไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมา เจ๋ง หรือ เจ๊ง ก็ตาม เหมือนชื่อที่อ่านได้ทั้งสองแบบ และเมื่อไฟฝันของทั้งคู่มาหลอมรวมกับประความหลงใหลในอัญมณีของ ธาดา ศิษย์ธนานันท์ คุณลุงเจ้าของร้าน Thada Gems & Jewelry จึงออกมาเป็นโปรเจกต์แรกของ Jengcraft คือกำไลข้อมือ 5 แบบจากโทนสีของ 5 หนังเรื่องโปรด ได้แก่ Notting Hill, 500 Days of Summer, Before Sunrise, Midnight in Paris และ Chungking Express
แต่ความพิเศษของกำไลเซตนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องโทนสีเท่านั้น เพราะมีทั้งศาสตร์แห่งความสุขจากหิน และเรื่องราวแสนอบอุ่นของคนสองวัยที่มาร่วมกันสานฝันเล็กๆ ให้ถึงฝั่ง เราจึงชวน พลอย มายด์ และคุณลุงธาดา มาร่วมสนทนาถึงที่มาของโปรเจกต์นี้ในร้าน Thada Gems & Jewelry ซอยเจริญกรุง 47/3
จุดเริ่มต้นของการพบกัน
ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมจากฝนที่กำลังตั้งเค้า ภายในร้านแห่งนี้กลับดูอบอุ่นและอบอวลไปด้วยพลังบวก คุณลุงต้อนรับผู้มาเยือนทั้ง 4 คนอย่างเป็นมิตรจนรู้สึกได้ถึงรอยยิ้มสดใสภายใต้หน้ากากอนามัยสีขาว เมื่อทุกคนนั่งประจำที่ มายด์และพลอยเริ่มเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นที่ทั้งสามคนได้มาพบกัน
“เหมือนตอนนั้นในออฟฟิศเรา <SATARANA> ก็มา brainstorm กันว่าเราจะทำอะไรกับงาน Bangkok Design Week 2021 ได้บ้าง ใครอยากมีโปรเจกต์อะไรก็ให้พนักงานมาแสดงความคิดเห็น ออกไอเดียกันได้ แล้วมีหัวข้อหนึ่งที่พี่ในทีมยกขึ้นมา คือ เจริญกรุงมีร้านเครื่องประดับเยอะมาก เราอยากให้คนไทยได้รู้จักย่านเจริญกรุงมากขึ้น เราอยากทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อสนับสนุนและกระจายรายได้ไปให้ร้านแถวนี้ด้วย เพราะร้าน jewelry มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติ พอเกิด COVID-19 หลายๆ ร้านก็ไม่มีลูกค้า บางร้านปิดตัวไปเลยก็มี”
“หลังจากนั้นเราเลยลงพื้นที่มา research เพื่อตามหาร้านค้าที่จะมาร่วมโปรเจกต์กับเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือร้านคุณลุงธาดา ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เจอ เรารู้สึกว่าร้านนี้พิเศษมากๆ อย่างแรกเลยคือร้านสวย แล้วพอได้คุยกับคุณลุงก็รู้สึกว่าได้เปิดโลก jewelry ที่เราเคยรู้จัก ก็เลยให้คุณลุงเป็นวิทยากรในกิจกรรมนั้น”
ร้าน Thada Gems & Jewelry เปิดมายาวนานกว่า 30 ปี โดยคุณลุงธาดาเป็นทั้งเจ้าของกิจการและครูสอนอัญมณีในเวลาเดียวกัน
“ผมชอบสะสม ก็เลยศึกษาด้านนี้ แต่เราไม่ได้ศึกษาเพื่อกำไร เราศึกษาเพื่อให้มีความรู้จริงๆ เพราะเราต้องทำให้คนที่เขามาที่ร้านได้เข้าใจจริงๆ ไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่มีความซึ้งในสินค้าที่เขามี”
“เวลาคนซื้อออกไป แล้วเขาไปอยู่ตรงนู้น” คุณลุงชี้ไปหน้าร้าน พร้อมทำน้ำเสียงดีใจประกอบการเล่าเรื่อง “ผมจะแอบฟังความสุขของเขา เหมือนกับ โห ซื้อได้ดีมากเลยนะ ทั้งราคาดี ทั้งสวย อันนี้เรามีความสบายใจมากกว่า ไม่ใช่ซื้อไปเพราะว่าต่อราคาเพื่อพยายามให้เป็นมิตรกัน เผื่อว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมาอีก ถ้าเขาออกไปแล้วมากระซิบว่า ต่อไปอย่ามาที่นี่อีก ลุงจะเจ็บปวดมากเลยนะ แต่ถ้าเขาบอกว่าคุณลุงพอจะมีเวลาคุยกับเราเพิ่มเติมไหม อันนี้มีความสุขมากเลย เราต้องใส่ใจคนที่มาพบปะเราว่า เขาสนใจอะไร เราต้องเรียนรู้ว่าเราจะเติมเต็มให้เขายังไง แล้วเราจะเป็นนักธุรกิจที่ดี”
ประกายฝันจากความล้มเหลว
ระหว่างที่ภาพฝันถูกร่างลงบนกระดาษ การติดต่อกับร้านรวงต่างๆ รวมทั้งคุณลุงธาดากำลังดำเนินไป ข่าวร้ายก็ได้คืบคลานเข้ามาอีกครั้ง เมื่อเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่กลับมาระบาดอย่างรุนแรงในช่วงปี ค.ศ.2021 ทุกโปรเจกต์ที่คิดไว้จึงหยุดชะงักไปหลายเดือน ทุกอย่างคล้ายว่าจะจบลง จนกระทั่งวันที่มายด์เริ่มนึกถึงช่วงที่เดินเข้าออกร้านเครื่องประดับในย่านเจริญกรุง แล้วเธอก็ปิ๊งไอเดียหนึ่งขึ้นมา
“มีวันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมวันนี้ไม่มี hobby ไม่มีอะไรทำ ก็เลยคุยกับพลอย เลยนึกถึงตอนที่มาร้านคุณลุงครั้งแรก คุณลุงอธิบายว่าพลอยสีนี้มันมีความหมายอย่างนู้นอย่างนี้ เราเลยเกิดไอเดียว่า มันจะดีไหม ถ้าสิ่งที่เราสวมใส่มันมี mood ของหนังที่เราชอบ เพราะบางทีหนังที่เราชอบก็ไม่ได้ผลิตของที่ระลึกออกมา แล้ว mood ของหนังก็ถูกออกแบบมาอยู่แล้ว ความหมายของหินก็มีในตัวมันเอง ถ้าเอาสองสิ่งนี้มา match กัน ก็น่าจะเพิ่มความหมายได้มากขึ้น แล้วถ้าจะทำออกมาเป็น product หรืออะไรบางอย่าง มันควรเป็นสิ่งที่เราชอบและอินกับมัน”
เมื่อมายด์และพลอยเห็นภาพตรงกัน โปรเจกต์กำไลข้อมือภายใต้แบรนด์ Jengcraft เริ่มต้นขึ้น โดยพลอยเล่าถึงที่มาของชื่อนี้แสนเก๋นี้ว่า
“เหมือนเราตั้งต้นมาจากความล้มเหลวเก่าๆ ที่เรามีไอเดีย เราอยากทำสิ่งนี้ แต่มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้มันไม่เกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรมจริงๆ พอรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ลองทำกันเองสักตั้ง เลยตั้งชื่อแบรนด์ว่า Jeng ที่อ่านได้ทั้ง เจ๋ง และ เจ๊ง เพราะไม่ว่ามันจะเจ๋งหรือเจ๊ง แต่เราได้ลองทำมัน เราอยากให้แบรนด์นี้เป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้ลองทำอะไรก็ตามที่อยู่ในหัว
“ส่วนคำว่า Craft คือเราอยากเล่นคำ เหมือนบอกว่า เจ๋งคราฟต์ = เจ๋งค้าบ แล้วพวกเราก็ชอบงานฝีมือ งานคราฟต์ด้วย และอย่างที่บอกว่าเราอยากสนับสนุนชุมชน สนับสนุนธุรกิจเล็กๆ แต่ไม่ใช่เป็นการไปถึงแล้วสั่งๆๆ เอาอันนี้กี่ชิ้นๆ แต่เราอยากร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เป็นการ co-create กันระหว่างเรากับคุณลุงมากกว่า”
แม้ทั้งคู่จะเริ่มต้นจากไอเดียกำไลหิน แต่มายด์บอกกับเราว่าหนทางของ Jengcraft ยังอีกยาวไกล และไม่ได้จบลงเพียงโปรเจกต์นี้เท่านั้น
“จริงๆ product ของ Jengcraft ไม่ใช่กำไลนะ แต่เป็นไอเดียของเราสองคน แต่จะบอกว่า ฉันมีไอเดีย มันไม่ได้ มันจะต้องทำออกมาให้เป็นชิ้นด้วย คือ เราสองคนชอบคิด แล้วลงพื้นที่เจอคนใหม่ๆ ในพื้นที่ เรามองว่างานทางด้านความคิดจะทำอะไรได้บ้าง เราเลยอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ถ้าเวลาเราไปเจออะไร…อย่างไปเจอคุณลุง เราจะได้ทำชิ้นงานออกสู่สาธารณะ หรือบางทีต่อไปมันอาจจะมีบริการ มีคอร์สเรียนก็ได้ เพราะเป้าหมายคือเราอยากถูกชวนไปทำโปรเจกต์อื่นๆ ในฐานะที่เราคิดไอเดียอะไรบางอย่างร่วมกัน”
Jengcraft x Thada Gems & Jewelry
เมื่อเราถามถึง ‘ความรู้สึกแรก’ ของคุณลุง ในวันที่พลอยและมายด์มานำเสนอโปรเจกต์กำไลข้อมือของ Jengcraft คุณลุงตอบแซวๆ ว่า “ไร้สาระน่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกก็คิดว่าเราไม่มีกลุ่มคนจำนวนมากขนาดที่จะมาสนใจ เพราะเราไม่รู้จักเด็กๆ ว่าเขาชอบอะไร แต่พอมาฟังเขา <พลอยและมายด์> พูดก็เข้าใจ เขาก็มีหนังอยู่ 5 เรื่อง มีตัวเลือกให้คนซื้อ เริ่มมีเรื่องเพลง เรื่องโทนสีเข้ามา อันนี้คือเริ่มเข้าทางแล้ว เพราะการที่อยู่ๆ เราจะให้คนต่างที่กันมาชอบสิ่งเดียวกันนี่มันยากมาก”
มายด์เสริมว่า แม้กำไลเซตนี้จะดูเฉพาะกลุ่ม แต่คนที่สนใจอาจจะมีทั้งคนที่ชอบความหมายของหินแต่ละชนิด หรืออาจจะชอบโทนสีของกำไล โดยไม่จำเป็นต้องชอบหนังเรื่องนั้นเลยก็ได้ เพียงแต่หนังคือโทนสีตั้งต้นที่พวกเธอหยิบมาใช้ร้อยเรียงกำไลแต่ละเส้น
“เราแบ่งกันไปดูหนังทุกเรื่องใหม่อีกรอบ เพื่อวิเคราะห์เนื้อเรื่องหรือคีย์หลักของหนังว่าต้องการสื่ออะไร พวก mood board หนัง scheme สีแต่ละเรื่องเป็นยังไง แล้วทำบรีฟมาให้คุณลุงเข้าใจมากที่สุดว่าจะสื่อสารออกไปผ่านหินยังไงได้บ้าง ตอนแรกก็ยากเพราะว่าเรียงแล้วมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด แต่ก็นั่งเรียงกันไปจนได้มาเป็น 5 เรื่องนี้” พลอยเล่าถึงกระบวนการทำงานของ Jengcraft
สาเหตุที่เลือกหนังทั้ง 5 เรื่องนี้ เพราะเป็นหนังที่พลอยและมายด์ชอบเหมือนกัน ซึ่งบังเอิญว่าเป็นหนังรักทั้งหมด เนื้อหาที่ต้องการจะสื่อจึงเกี่ยวข้องกับความรักในหลากหลายมุมมอง อย่างเรื่อง Chungking Express ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่ไม่มีวันหมดอายุ จึงมีกิมมิกเล็กๆ อย่างประโยค “This can never expires.” บนกระป๋องสำหรับใส่กำไล
หรือหนังเรื่อง Midnight in Paris ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความคิดถึง “Midnight in Paris คือกำไลที่เป็นสีฟ้าเหลืองๆ เป็นเรื่องแรกที่ทำให้เราเริ่มมีไอเดีย พล็อตเรื่องนี้มันจะเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ย้อนเวลาไปในอดีตได้ แล้วไปอยู่ในยุครุ่งเรืองทางศิลปะ เราชอบโมเมนต์ที่ตัวเอกเดินด้วยกันตอนกลางคืนของปารีสในอดีต แล้วกำไลนี้จะเกี่ยวกับความคิดถึงตอนกลางคืน” มายด์เล่าพร้อมกับถอดกำไลสีเข้มออกมาให้เราดูใกล้ๆ ซึ่งหากสังเกตจะพบว่ามีพลอยสีส้มชิ้นเล็กๆ แทรกอยู่ด้วย
“เส้นนี้ทำไมเราถึงต้องมีสีส้มบ้าง เพราะเป็นสีแห่งความหวัง บางคนเจอแต่กลางคืนตลอดเขาก็จะมีความกลัว แต่เมื่อเขามองเห็นสีส้มแล้ว เขาก็จะรู้สึกว่า อดทนอีกนิด เดี๋ยวก็สว่างแล้วนะ” คุณลุงธาดาอธิบาย
พลัง (ไม่) เหนือธรรมชาติ
นอกจากเนื้อหาในหนังและสีสันสะดุดตา ในมุมของคุณลุงธาดา หินเหล่านี้ยังมีพลัง (ที่ไม่ได้หมายถึงพลังงานบางอย่าง) ต่อผู้สวมใส่
“เวลาเราป่วยตอนเด็กๆ คุณแม่มาจับเรา ถามว่าเป็นไงลูกดีขึ้นไหม เราจะบอกว่าดีขึ้นแล้ว เพราะมือของแม่เราเย็น จำได้ไหม นั่นแหละคือพลังของความรัก มันจะแผ่ออกมาถึงแม้มือของคุณแม่จะเปียกๆ ซักผ้า ทำกับข้าวมา แต่เราจะรู้สึกสบาย พวกหินนี้ก็เหมือนกัน บางคนนึกว่าเพ้อเจ้อ พูดไปอย่างนั้น แต่ถ้าไปอยู่กับเขาแล้ว เขาจะรู้สึกได้ แต่ไม่ใช่ภูตผีปิศาจนะ เป็นความรู้สึกของเรา”
“อย่างพลอยมันจะมีประจุ ถ้าประจุที่เป็นบวกมันจะเกิดจากพวกอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประจุที่ไม่ดี แม้แต่ไฟฟลูออเรสเซนซ์ก็มีประจุบวก มนุษย์เราเจอบวกไม่ได้ แต่ถ้าเราเจอประจุลบ ซึ่งในพลอยจะมีประจุลบเยอะ มันจะไปสมดุล ทำให้ร่างกายเรารู้สึกสบาย เพราะว่าเวลาเรียนพลอยมันจะต้องมีเรื่องของฟิสิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
“เราก็ชอบตรงนี้ของร้านคุณลุงเหมือนกัน” พลอยเล่าต่อจากคุณลุงธาดา “เพราะอย่างที่เราเคยรู้ๆ กันเวลาพูดถึงหินมักจะได้ยินในทางไสยศาสตร์ แล้วพอเรามาเจอศาสตร์ที่คุณลุงเล่าให้ฟังว่าจริงๆ หินก็เป็นศาสตร์ๆ หนึ่งของโลก หมายถึงมันคือธรรมชาติ มนุษย์เองก็เป็นธรรมชาติ เราชอบการสื่อสารเรื่องราวของหินไปในเชิงวิทยาศาสตร์ แล้วสนุกไปกับมัน อย่างเรื่องที่เราใส่แล้วเย็นขึ้นเพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดแลกเปลี่ยนสสารกัน เราก็รู้สึกว่าเราชอบจุดนี้”
ลงมือทำไม่ว่าจะเจ๋งหรือเจ๊ง
ตลอด 6 เดือนที่ลงมือทำโปรเจกต์นี้ มายด์และพลอยยอมรับว่าเคยเกือบจะล้มเลิกไปแล้วเหมือนกัน เพราะระหว่างนั้นพลอยลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ส่วนมายด์เดินทางไปยังเชียงใหม่ ทำให้มีอุปสรรคทั้งเรื่องระยะทาง ช่วงเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน ไปจนถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่สุดท้ายแล้ว Jengcraft ก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่างและเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2021
แม้เพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่พลอยและมายด์มองว่า การได้ทำไอเดียที่ถูกพับเก็บไป ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างจริงจัง ก็นับว่าเป้าหมายของพวกเธอสำเร็จแล้ว “การที่เราลองลงมือทำอันนี้ บ้าๆ กล้าๆ เสี่ยง พอผลมันออกมาในจุดที่ว่า มีคนสนใจ มีคนเห็นสิ่งที่เราทำว่าระหว่างทางเจออะไรมาบ้าง มันเติมเต็มเราแล้ว เลยรู้สึกว่า ถ้าใครมีความฝัน มีไอเดียที่อยากทำ ลองลงมือทำก่อน เราก็รับประกันไม่ได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่มันจะเกิดผลอะไรบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกได้” เช่นเดียวกับมายด์ที่เห็นตรงกันว่า
“เราไม่ได้มีทุนด้านเงินที่จะไปจ้างคนทำกราฟิก ทำแพ็กเกจให้ แต่ทุนที่เรามีอยู่คือแรงของเรา เราทำอะไรได้บ้าง เราก็เลยมองว่า เราไม่ได้หาสิ่งที่ขาด แล้วก็รอ แต่มองว่าเรามีอะไรที่พอจะทำได้ อันนี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตรงนี้ แล้วก็รู้สึกว่าถ้ามีภาพที่ชัดเจนจริงๆ เราเชื่อสิ่งนั้นไปเถอะ แล้วเราจะทำออกมาได้ คือมายด์เป็นคนที่จะชอบมีความคิดเข้ามาว่า เลิกทำดีไหมนะ แต่เราก็บอกตัวเองว่าภาพนั้นมันจะเป็นจริง ถ้าเราลงมือทำ”
ส่วนมุมมองของคุณลุงธาดา กำไรที่ได้จากกำไลเซตนี้ไม่ใช่เรื่องตัวเลขหรือจำนวนเงินที่วัดผลได้ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า “เราทำแล้วมีความสุขก็ยินดี” คุณลุงกล่าว “ผมมองเขาเป็นลูกหลาน เพราะคิดเป็นลูกค้าจะยากมากเลย คุณลุงอยากให้เขามีธุรกิจของตัวเอง อยากทำอะไรให้พวกเขารู้สึกว่าอยากจะบุกเบิก ไม่ให้เสียกำลังใจ เพราะวางแผนมานาน”
เมื่อเราถามถึงเรื่อง generation gap คุณลุงให้คำตอบว่ามีบ้าง พร้อมกับบอกว่า “ลองมองจุดดีของเขา แล้วเราเป็นสะพานให้เขาไปสู่ความสำเร็จ ถ้าเรามัวแต่คิดถึงจุดบอด เราจะไม่กล้าข้ามไปกับเขา ยังไงเดินไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเดี๋ยวมันต้องถึงฝั่ง แต่ต้องมีจุดเริ่มต้นก่อน เอาเท่าที่เราทำได้ พอเริ่มคล่องแล้ว บางทีเราอาจจะเป็นสะพานที่พากำไลจาก 5 เรื่องนี้ ไปสู่สิ่งที่มากกว่านี้ก็ได้”
ฟังถึงตรงนี้ เราก็อดคิดไม่ได้ว่าบางทีกำไลข้อมือของ Jengcraft อาจไม่ได้เป็นเพียงที่สิ่งของที่มองแล้วนึกถึงหนังทั้ง 5 เรื่องเท่านั้น แต่กลายเป็นเหมือนของที่ระลึกจากความฝัน ความหลงใหล และความผูกพันของคนสองรุ่นที่ลงมือทำอะไรบางอย่างร่วมกันไม่ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมา เจ๋ง หรือ เจ๊ง ก็ตาม
Facebook Jengcraft__ : facebook.com/jengcraft
ร้าน Thada Gems & Jewelry เวลาเปิดปิด: 9:30-16:30 (เปิดทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์และวันที่ไปธุระ) กรุณาโทรนัดล่วงหน้าที่เบอร์ 098 9291049