ทุกวันนี้ คำด่าคนอื่นว่า ‘โง่’ (ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนทางการเมือง) เกลื่อนหน้าจอหน้าฟีดไปหมด คล้ายว่าเราพร้อมตลอดเวลาที่จะบอกว่าคนอื่นโง่ และตัวเราเองฉลาดกว่าใคร
เป็นปรากฏการณ์แบบนี้มากเข้า เลยอยากชวนคุณมาสำรวจว่า – ความฉลาดมันคืออะไรกันแน่ และที่เราเข้าใจว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น (ไม่ว่าจะด้วยการแสดงออกตรงๆ หรือ ‘แอบฉลาด’ คือซ่อนความรู้สึกว่ากูฉลาดกว่า กูเหนือกว่าคนอื่นเอาไว้ในจิตใต้สำนึก) นั้น, มันคือ ‘ความฉลาด’ ในแบบที่คนอื่นเขาคิดด้วยหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือ – ความฉลาดเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับ ‘ความดี’ ด้วยไหม
ก่อนอื่น อยากชวนไปรู้จักกับคุณ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Garder) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันจากฮาร์วาร์ดเสียก่อน
การ์ดเนอร์เสนอทฤษฎีความฉลาดขึ้นมาทฤษฎีหนึ่งตั้งแต่ปี 1983 เขาบอกว่า สมัยก่อน เรามักจะมอง ‘ความฉลาด’ ว่าเป็นก้อนเดียวกัน คนฉลาดก็คือคนฉลาด คนโง่ก็คือคนโง่ เราไม่ค่อยคิดหรอกว่าคนเราสามารถฉลาดด้านนั้น โง่ด้านนี้ได้ แต่คุณการ์ดเนอร์ไปศึกษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนที่เป็นคนทั่วไปและคนที่มีความ ‘พิเศษ’ ในตัว (คือเป็น Gifted Individuals เช่นได้รับความบาดเจ็บทางสมอง หรือเป็นคนที่เก่งมากๆ ในบางเรื่อง เช่น ด้านดนตรี หรือคนที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปมากๆ) แล้วเขาก็แตกย่อยความฉลาดออกมาหลายด้าน
การ์ดเนอร์เรียกทฤษฎีของตัวเองว่า Theory of Multiple Intelligences โดยแบ่งความฉลาดออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ Linguistic Intelligence หรือฉลาดด้านภาษา, Logical-Mathematical Intelligence หรือฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์, Spatial Intelligence คือฉลาดด้านพื้นที่หรือการมองสิ่งต่างๆ แล้วก็สามารถบังคับควบคุมหรือจัดการสิ่งนั้นๆ ได้, Musical Intelligence หรือฉลาดด้านดนตรี, Body-Kinesthetic Intelligence หรือฉลาดในการแก้ปัญหาโดยใช้ร่างกาย (อย่างเช่นนักเต้น นักกีฬา ศัลยแพทย์ ฯลฯ), Interpersonal Intelligence หรือฉลาดในการเห็นมุมมองของคนอื่นๆ หรือเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ, Intrapersonal Intellience หรือฉลาดในการทำความเข้าใจตัวเอง และตอนหลังก็เพิ่ม Naturalistic Intelligence เข้าไปอีกข้อหนึ่ง คือเป็นความฉลาดในการทำความเข้าใจธรรมชาติ
ทฤษฎีของการ์ดเนอร์มีทั้งคนเอาไปใช้ และมีทั้งคนเอาไปวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ บางคนก็เอาไปพัฒนาปรับปรุง เช่น โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) นำทฤษฎีของการ์ดเนอร์ไปปรับปรุงให้กระชับขึ้น แม้เขาเห็นว่าความฉลาดมีหลายด้านเหมือนกับการ์ดเนอร์ แต่เขาแบ่งออกเป็นเพียงสามด้าน ได้แก่
-Moral Intelligence คือความฉลาดในการแยกแยะสิ่งที่ผิดและถูกออกจากกัน คำว่า Moral ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงศีลธรรมตามหลักศาสนานะครับ แต่หมายถึงความสามารถในการ ‘ตัดสินใจ’ ได้อย่างหลักแหลมและถูกต้อง เมื่อเกิดความขัดแย้งต่างๆ ขึ้นมา ไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่กับทุกอย่างที่อยู่รอบตัวด้วย
-Social Intelligence คือความฉลาดในการเข้าใจผู้อื่น รู้ว่าอะไรคือแรงขับเคลื่อนผู้คนเหล่านั้น แรงขับเคลื่อนพวกนั้นทำงานอย่างไร การจะทำงานกับคนอื่นๆ แล้วทำให้เกิดความร่วมมือกันขึ้นมาแทนที่จะขัดแย้งกันจนไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นอย่างไร เช่น พนักงานขาย นักการเมือง ครู ผู้นำทางศาสนา เหล่านี้ต้องใช้ Social Intelligence ในการสื่อสารกับคนอื่นๆ ทั้งสิ้น ความฉลาดในเรื่องนี้เกี่ยวข้องไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect ซึ่งพูดคร่าวๆ ก็คือการมีภาพลวงคิดว่าตัวเองเก่งและฉลาด ทั้งที่ไม่ได้เก่งหรือฉลาดจริง แต่เกิดขึ้นจากขาดความสามารถที่จะประเมินตัวเองและประเมินปัจจัยภายนอกด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มี Social Intelligence ก็อาจเกิดอาการ ‘โง่แต่อวดฉลาด’ ขึ้นมาได้นั่นเอง
-Emotional Intelligence คือความฉลาดทางสังคมที่เหนือขึ้นไปอีกขั้น เพราะเพิ่มความสามารถในการจับตามองและรับรู้อารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่นได้ด้วย แล้วก็ใช้ข้อมูลทางอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่นมาเป็นเครื่องนำทางวิธีคิดและการกระทำต่างๆ เป็นการฝึกทักษะที่ทำให้คนเราสามารถกลมกลืนกับตัวเองและผู้อื่นได้อย่างแท้จริง คือไม่ได้ฉลาดแบบแหลมโพล่งออกมา แต่เป็นความฉลาดที่ ‘กลม’ ในตัวเอง พูดอีกอย่างหนึ่ง Emotional Intelligence ก็คือความฉลาดแบบ Inter และ Intrapersonal Intelligence ของการ์ดเนอร์นั่นแหละครับ โดยมีผู้แบ่ง Emotional Intelligence ของสเติร์นเบิร์กออกเป็นด้านต่างๆ อีกหลายด้าน เช่น การตระหนักรู้ในตัวเอง, การจัดการอารมณ์, การสร้างแรงผลักดันตัวเอง, ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการรับมือกับความสัมพันธ์ต่างๆ
สเติร์นเบิร์กยังศึกษาความฉลาดข้ามวัฒนธรรมด้วยนะครับ แล้วเขาก็ได้ข้อสรุปออกมาว่า ต่อให้วัฒนธรรมแตกต่างกัน แต่ทุกวัฒนธรรมจะมีความฉลาดสี่แบบ
คือ Successful Intelligence (คือการใช้ทักษะและความรู้ที่จำเป็นเพื่อประสบความสำเร็จในสังคมนั้นๆ), Analytical Intelligence (คือการนำความฉลาดไปมองปัญหาที่เป็นนามธรรม), Creative Intelligence (คือการนำความฉลาดไปใช้กับงานและสถานการณ์ใหม่ๆ) และ Practical Intelligence (คือความฉลาดในการลงมือทำจริง)
นอกจากการ์ดเนอร์กับสเติร์นเบิร์กแล้ว ยังมีทฤษฎีความฉลาดอีกหลายต่อหลายอย่างเลยที่คิดกันขึ้นมา แต่ที่น่าสนใจและอยากชวนแวะเข้าไปดูอีกทฤษฎีหนึ่ง คือทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าด้วยความฉลาดสองแบบ นั่นก็คือความฉลาดแบบ ‘ของไหล’ (Fluid Intelligence) กับความฉลาดแบบ ‘ตกผลึก’ (Crystallized Intelligence)
พูดถึงความฉลาดสองแบบนี้ ก็ต้องบอกข่าวดีกับคุณเสียหน่อยนะครับ ว่ามีการวิจัยพบว่า ในช่วงศตวรรษที่ 20 มนุษย์เรา ‘ฉลาด’ ขึ้น คือมีความฉลาดในสองแบบนี้เพิ่มมากขึ้น (หาอ่านเรื่องนี้ได้จากหนังสือชื่อ Bell Curve ของ ริชาร์ด เฮิร์นสทีน (Richard Hernstein) และชาลส์ เมอร์เรย์ (Charles Murray)) โดยความที่มนุษย์โดยรวมฉลาดเพิ่มมากขึ้นในทั้งสองแบบนี้ เรียกว่า Flynn Effect (ตามชื่อของ เจมส์ ฟลินน์ – James Flynn ซึ่งทำงานเรื่องนี้)
คำถามก็คือ แล้ว ‘ความฉลาดแบบของไหล’ และ ‘ความฉลาดแบบตกผลึก’ มันคืออะไรกันแน่
ความฉลาดสองแบบนี้ เป็นทฤษฎีที่เรย์มอนด์ แคตเทล (Raymond Cattell) นักจิตวิทยาอังกฤษ-อเมริกัน แยกแยะออกมา ที่จริงชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับ ว่า Fluid Intelligence ก็คือความฉลาดในอันที่จะ ‘ไหล’ ไปกับปัญหาใหม่ๆ เจออะไรใหม่ๆ เข้ามาปะทะ ก็สามารถใช้ Fluid Reasoning หรือการให้เหตุผลที่ลื่นไหลรองรับเรื่องราวใหม่ๆ พวกนั้นได้ จึงเป็นความฉลาดคล้ายๆ ‘ญานทัสนะ’ หรือ Intuition ที่ผุดบังเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งความรู้ต่างๆ จากอดีต มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาใหม่ๆ แยกแยะแพทเทิร์นต่างๆ ออกมาได้ เห็นความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ แล้วสามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้โดยใช้ตรรกะ (รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือการใช้ Social Intelligence และ Emotional Intelligence ประกอบด้วย) โดยจะใช้เหตุผลทั้งในแบบนิรนัยและอุปนัย เพื่อไปให้ถึงข้อสรุป
ส่วนความฉลาดแบบตกผลึกหรือ Crystallized Intelligence นี่ก็แทบไม่ต้องอธิบายเหมือนกัน เพราะชื่อของมันบอกชัดว่าคือการ ‘ตกผลึก’ ซึ่งทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต แต่ไม่ได้เท่ากับ ‘ความจำ’ นะครับ คือไม่ได้หยิบความจำสำเร็จรูปเอามาใช้แก้ปัญหา ทว่าเป็นความฉลาดที่ขึ้นอยู่กับ ‘ข้อมูลเก่า’ ในสมอง เขาบอกว่า ความฉลาดแบบตกผลึก คือสิ่งที่ต้องค่อยๆ สั่งสมในชีวิตไปเรื่อยๆ มันคือการบรรลุความฉลาดโดยใช้ชีวิตทั้งชีวิต ซึ่งมักจะพัฒนาไปพร้อมกับวัย เพราะประสบการณ์มักจะทำให้คนเรามีความรู้กว้างขวางขึ้น (แต่ก็อาจไม่เป็นจริงดังนั้นกับทุกคนหรอกนะครับ เพราะสูงวัยแบบไร้ความฉลาดก็มีให้เห็นอยู่เนืองๆ) ความฉลาดแบบนี้จะทำให้เรา ‘ลึก’ และ ‘กว้าง’ ทั้งในเรื่องความรู้ทั่วไปและเรื่องภาษา รวมทั้งมีความสามารถในการใช้เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำและตัวเลข ซึ่งก็จะไปมีผลต่อความฉลาดแบบ Fluid อีกต่อหนึ่ง เพราะความฉลาดแบบตกผลึกคือฐานรองทำให้เกิดความฉลาดทางสังคม อารมณ์ และศีลธรรม
ที่ว่าไปทั้งหมด คือเรื่องราวของความฉลาดที่สามารถแยกแยะออกเป็นแบบต่างๆ ได้สารพัดอย่าง แต่อ่านแล้ว หลายคนก็อาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า – อ้าว! แล้วถ้าคนไม่ฉลาดล่ะ พวกเขาจะทำอย่างไร
เรื่องนี้นำไปสู่อีกทฤษฎีหนึ่งครับ นั่นคือทฤษฎีชื่อ Intelligence Compensation Theory หรือ ICT ซึ่งแปลได้ง่ายๆ ว่า ‘ทฤษฎีชดเชยความฉลาด’ นั่นเอง
ที่จริงแล้ว ทฤษฎีนี้มีที่มาจากบทความทางวิชาการเรื่อง Intelligence Compensation Theory: A Critical Examination of the Negative Relationship between Conscientiousness and Fluid and Crystalised Intelligence โดย พอล วู้ด (Paul Wood) และ พอล เองก์เลิร์ต (Paul Englert) ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Psychology เมื่อปี 2009
ฟังจากชื่อของบทความแล้วอาจจะงงๆ อยู่สักหน่อย เพราะมันพูดถึง ‘ความสัมพันธ์เชิงลบ’ ระหว่างความฉลาดกับอุปนิสัย บุคลิกภาพ และพฤติกรรม
ทำไมถึงเอาสองเรื่องนี้มาเข้าคู่กัน และมันสัมพันธ์เชิงลบกันอย่างไร?
ต้องบอกก่อนว่า อุปนิสัย (Traits) ทำให้เกิดบุคลิกภาพ (Personality) และบุคลิกภาพ ก็ทำให้เกิดพฤติกรรม (Behavior) ขึ้นมา ดังนั้นเราจึงจับมันรวมไว้ฟากหนึ่ง ส่วนอีกฟากหนึ่งก็คือความฉลาดหรือ Intelligence ซึ่งแนวคิดในการจับเอา ‘ความฉลาด’ กับ ‘พฤติกรรม’ (หรือบุคลิกภาพ) นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ แต่เป็นเรื่องที่เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคของเพลโตแล้ว เพลโตพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองอย่างนี้มาตั้งแต่ 2,400 ปีก่อน โดยเขาประยุกต์กับการ ‘เลือกลูกจ้าง’ เข้าทำงาน ว่าควรจะเลือกคนที่มีความฉลาด (Intelligence) กับบุคลิกภาพ (Personality) อย่างไร
ทว่าถึงเพลโตจะพูดไว้นานแล้ว แต่เอาเข้าจริง จนถึงปัจจุบันก็ไม่ค่อยมีการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสองเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ทั้งที่เวลารับคนเข้าทำงาน ทั้ง ‘ความฉลาด’ และ ‘พฤติกรรม’ เป็นสองเรื่องที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นปัจจัยที่จะเลือกหรือไม่เลือกลูกจ้างคนนั้นๆ เข้ามาร่วมงานด้วย คือทั้งสองอย่างต่างเป็น Single Best Predictor ว่าลูกจ้างคนนั้นๆ จะเป็นอย่างไรในอนาคต
ดังนั้น ถ้านำสองเรื่องนี้มาจับคู่กัน ก็น่าจะเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจเลือกคนได้ดีขึ้น เลยทำให้เกิดการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาจนได้บทสรุปเป็นบทความทางวิชาการข้างต้น
พูดโดยสรุปแบบคร่าวๆ ทฤษฎีนี้บอกว่า คนที่โดยเปรียบเทียบแล้วมี Intelligence (หรือความฉลาด) น้อยกว่า มักจะต้องพยายามอย่างหนักกว่าที่จะเป็นคน ‘น่ารัก’ (Resolute) และระแวดระวังตัว ทำตัวดีมีมโนธรรม (หรือมี Conscientiousness) มากกว่า เพื่อที่จะให้ตัวเองบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ ในขณะที่คนที่ ‘ฉลาดกว่า’ (More Intelligent) (ในแง่เปรียบเทียบนะครับ) มักไม่จำเป็นต้องมีลักษณะนิสัย (Traits) หรือพฤติกรรมแบบนี้มากนัก เนื่องจากคนเหล่านี้มักพึ่งพาความสามารถในการรับรู้เรียนรู้ (Cognitive Abilities) ของตัวเองที่แข็งแกร่งอยู่แล้วได้
แต่อ่านบทสรุปแบบนี้แล้วต้องบอกว่า – ช้าก่อน, อย่าเพิ่งด่วนเข้าใจนะครับ ว่าทฤษฎีนี้บอกว่า – ความฉลาดทำให้ไม่น่ารักหรือความโง่ทำให้ต้องทำตัวน่ารัก เพราะทฤษฎีนี้ไม่ได้บอกว่าอะไรเป็น ‘สาเหตุ’ ของอะไร แต่ทฤษฎีนี้พูดว่า ความฉลาดและพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยแบบนี้ มี ‘สหสัมพันธ์’ (Correlation) เชิงลบระหว่างกัน คือถ้ามีอย่างหนึ่งมาก อีกอย่างหนึ่งก็มักจะน้อย – อะไรทำนองนั้น, เท่านั้น ซึ่งในการศึกษาก็จะมีวิธีวิจัย (อ่านได้ที่นี่ www.psytech.com) เพื่อหาสหสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้ออกมา
อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ก็เสนอว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่ความสัมพันธ์นี้จะไม่ได้เป็นแค่สหสัมพันธ์หรือ Correlation แต่อาจเป็นความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (Causal Relationship) ได้ด้วย เพราะเขาพบว่าความ (ไม่) ฉลาด ส่งอิทธิพลทำให้เกิดพฤติกรรมน่ารัก แต่ด้านกลับของความสัมพันธ์นี้ไม่ค่อยเป็นจริง – คือความน่ารักไม่ได้ส่งอิทธิพลทำให้คนคนนั้นมีความไม่ฉลาด (อย่าเพิ่งงงนะครับ) ดังนั้นมันจึง ‘อาจ’ ไม่ได้เป็นแค่สหสัมพันธ์ แต่อาจเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกันได้ด้วยซ้ำ
ที่จริงการศึกษาเรื่อง ‘ความฉลาด’ ยังมีอีกมากนะครับ เช่น การศึกษาลึกลงไปถึงระดับสมอง ด้วยการดูว่าสมองส่วนไหนทำงานร่วมกันก่อให้เกิดพฤติกรรมแบบฉลาดๆ ออกมาได้ หรือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดแบบ ‘ของไหล’ กับความฉลาดแบบ ‘ตกผลึก’ ที่ส่งผลต่อกันและกันในระดับลึก และอื่นๆ อีกมากมาย
จะเห็นได้ว่า การบอกว่าใคร ‘โง่’ หรือใคร ‘ฉลาด’ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ เพราะมีปัจจัยและหลักเกณฑ์มากมายที่จะใช้วัดความโง่ความฉลาดพวกนี้ ความโง่หรือความฉลาดจึงเป็นเรื่อง ‘ซับซ้อน’ มากกว่าแค่การชี้นิ้วบอกว่าคนอื่นโง่หรือฉลาดเพราะคนอื่นไม่ได้ ‘ทำ’ หรือ ‘เป็น’ ตามที่ตัวเองต้องการให้เขา ‘ทำ’ หรือ ‘เป็น’ เท่านั้น
ดังนั้น การที่คนเราชอบด่าคนอื่นว่าโง่ จึงอาจแสดงให้เราเห็นอะไรหลายอย่างที่มากกว่าแค่ความฉลาดของตัวเราเองเท่านั้น