เวลาบอกว่าใครเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ อย่างแรกสุดที่หลายคนคิดก็คือ คนคนนั้นต้องมีอะไรบางอย่างเหนือกว่าคนทั่วไป ถึงจะ ‘กล้ามาสอนหนู’ ได้
แน่นอน สิ่งที่เหนือกว่านั้นย่อมหนีไม่พ้น ‘ความฉลาด’ หรือ ‘ระดับสติปัญญา’ ที่ฝรั่งเรียกว่า Intelligence
แต่ปัญหาก็คือ ‘ความฉลาด’ ไม่ได้มีอยู่แบบเดียว คือฉลาดแล้วฉลาดเลย รอบรู้ไปหมดทุกสิ่ง แต่ความฉลาดถูกแบ่งแยกย่อยออกไปหลากหลายมาก
คนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องของ ‘ความฉลาด’ เอาไว้มาก และเขียนหนังสือชื่อดังที่สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับความฉลาดอันหลากหลายเอาไว้ ก็คือโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) จากฮาร์วาร์ด หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ Frames of Mind: The Theory of Multiple Intelligences
การ์ดเนอร์บอกว่า สมัยก่อนเราอาจจะคิดว่าความฉลาดเป็นเรื่องเดียว คือใครเป็นนักปราชญ์ก็เป็นนักปราชญ์ไปเลย ถึงได้รับการยอมรับนับถือให้มาสอนสั่งคนอื่นได้ แต่เขาเสนอ ‘โมเดลความฉลาด’ เอาไว้ โดยบอกว่าความฉลาดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น ‘แบบ’ (modality) ได้หลายแบบ อย่างน้อยที่สุดตามวิธีแบ่งของการ์ดเนอร์นั้น มีอยู่ด้วยกัน 8 แบบ
ความฉลาดแรกที่การ์ดเนอร์บอกไว้ก็คือความฉลาดทางดนตรี หรือมี Musicality คือมีผัสสะรับรู้เสียง ระดับเสียง จังหวะ โทน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีได้ ซึ่งเราก็จะเห็นได้เลยว่าคนบางคนจะเก่งกว่าคนอื่นๆ ในเรื่องดนตรีจริงๆ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้ แม้แต่การฝึกให้รู้ระดับเสียงแบบที่เรียกว่า perfect pitch ก็ยังทำได้
ความฉลาดที่สองคือความฉลาดในเรื่องพื้นที่ มีคนแปลเป็นไทยเอาไว้ว่าเป็นความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ มาจาก Spatial Intelligence ซึ่งก็คือการใช้สายตาในการกะระยะ คนที่ฉลาดเรื่องนี้จะดูแผนที่เก่ง รู้มิติกว้างเล็ก สัดส่วน การย่อขยาย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นความฉลาดในการมองเห็น ‘โครงสร้าง’ของภาพ ซึ่งถ้านำไปรวมกับความฉลาดข้ออื่นๆ ก็จะเสริมส่งกันมาก
ความฉลาดที่สามคือความฉลาดทางภาษา ซึ่งก็คือ Linguistic Intelligence เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะเราน่าจะเข้าใจกันอยู่แล้ว เช่นเรื่องของการอ่าน การตีความ การเขียน เทคนิคในการ ‘เล่าเรื่อง’ รวมไปถึงความจำสิ่งที่มาจากการอ่านหรือจำถ้อยคำและศัพท์ต่างๆ
ความฉลาดที่สี่คือความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ เป็นความฉลาดเชิงนามธรรมที่หลายคนเห็นว่าเหนือกว่าความฉลาดอื่น (ซึ่งไม่จริงเสมอไป) เพราะมันคือเรื่องของการ ‘ให้เหตุผล’ (Reasoning) ในแบบที่จับต้องได้ เช่นใช้การคำนวณ การอธิบายเป็นขั้นเป็นตอนเป็นเหตุเป็นผล มีหลักการต่างๆ ที่นำไปใช้มองปัญหาใหญ่ๆ ได้
[ต้องบอกไว้ด้วยว่า ความฉลาดแบบนี้เข้าใกล้กับความฉลาดที่เรียกว่า General Intelligence มากที่สุด คำว่า General Intelligence ก็คือความฉลาดแบบรวมๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาจะเรียกว่า g Factor
นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่ง คือเรย์มอนด์ แคตเทล (Raymond Cattell) เคยแบ่งความฉลาดออกเป็นสองแบบ คือ Fluid Intelligence (คือความฉลาดที่เลื่อนไหล สามารถแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ด้วยการใช้เหตุผล) กับ Crystallized Intelligence (คือความฉลาดประเภท ‘ตกผลึก’ คือจะเอาตัวอย่างที่เคยพบเห็นมาประยุกต์ใช้กับปัญหาใหม่ๆ ที่ได้พบ) ว่ากันว่า ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ คือความฉลาดที่เข้าใกล้กับ Fluid Intelligence มากที่สุด]
ความฉลาดที่ห้าคือความฉลาดในทางร่างกาย สามารถรับรู้และควบคุมร่างกายของตัวเองได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นนักกีฬา นักเต้นรำ หรือคนท่ีต้องใช้ร่างกายในการทำงาน จะมีความฉลาดในเรื่องนี้ มันคือการรับรู้ได้ถึงจังหวะเวลา การรับรู้ความเร็ว การเคลื่อนที่ ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดจากการฝึกฝนก็ได้ แต่ก็มีบางคนที่มีคุณสมบัติเรื่องนี้พร้อมอยู่แล้วในตัว
ความฉลาดที่หกเรียกว่า Interpersonal Intelligence ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือความฉลาดในการ ‘เข้าสังคม’ หรือมีทักษะในทางสังคมสูง มีความไวต่อความรู้สึกและอารมณ์ของคนอื่น ความฉลาดแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เพื่อให้ตัวตนของตัวเองสอดคล้องไปกับกระแสของสังคมรอบข้าง ไม่ ‘แหลม’ เกินไป คนที่ฉลาดแบบนี้มีตั้งแต่เซลส์แมน นักการเมือง ไล่ไปจนถึงที่ปรึกษาต่างๆ และกระทั่งคนทำงานเชิงสังคม
ความฉลาดที่เจ็ดคือความฉลาดภายในตัว เรียกว่า Intrapersonal Intelligence คือฉลาดในการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวเอง คือมีความเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึกซึ้ง รู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองอยู่ตรงไหน ความฉลาดแบบนี้ บางทีก็เข้าใกล้กับความฉลาดที่เรียกว่า Spiritual Intelligence หรือความฉลาดทางจิตวิญญาณอยู่เหมือนกัน แต่ตอนหลังการ์ดเนอร์แบ่ง Spiritual Intelligence ออกมาเป็นความฉลาดอีกแบบหนึ่ง
ความฉลาดสุดท้ายคือฉลาดในการรับรู้ธรรมชาติ หรือ Naturalistic Intelligence ซึ่งเป็นความฉลาดที่ทำให้มนุษย์เราอยู่รอดมาได้ในทางวิวัฒนาการ มันคือความเข้าใจในองค์รวมที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสรรพสิ่งรอบข้าง เขาบอกว่าคนที่ฉลาดในเรื่องนี้มีอาทิ ชาวนา นักพฤกษศาสตร์ หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นเชฟก็ต้องพึ่งความฉลาดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
แล้วที่พูดมาทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับคำว่า ‘ไลฟ์โค้ช’ ด้วย?
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นนะครับ ว่าพอพูดว่าใครเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ หรือเป็นคนที่จะมา ‘สอนชีวิต’ ให้กับเรา อย่างน้อยที่สุดก็คือเป็นคนที่เรายกย่องนับถือว่าเป็น ‘คนฉลาด’ (อย่างน้อยก็น่าจะฉลาดกว่าเรา) ใช่ไหมครับ
ไลฟ์โค้ชไม่จำเป็นต้องอายุมากกว่า ไม่จำเป็นต้องเคยประสบความสำเร็จเรื่องใหญ่ๆ อะไรมาก่อนก็ได้ เพราะการประสบความสำเร็จกับความฉลาดไม่ใช่เรื่องเดียวกัน คนเป็นโค้ชกีฬาไม่ได้แปลว่าต้องเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ ได้เก่งกาจก็เป็นโค้ชได้ ไลฟ์โค้ชก็เหมือนกัน
แต่ที่สำคัญก็คือ – อย่างน้อยที่สุด ไลฟ์โค้ชต้องมี ‘ความฉลาด’ อย่างน้อยก็ด้านใดด้านหนึ่งที่เหนือกว่าคนที่มา ‘ถูกโค้ช’ ไม่อย่างนั้นจะไปเสียเงินให้ไลฟ์โค้ชทำไมเปล่าๆ ปลี้ๆ
ทีนี้ถ้ามาดู ‘ไลฟ์โค้ช’ ในสังคมไทยโดยใช้เกณฑ์ความฉลาดของการ์ดเนอร์ คุณคิดว่าไลฟ์โค้ชไทยส่วนใหญ่ ‘ฉลาด’ ในเรื่องไหนบ้างครับ
ถ้ามองแบบเหมารวม ผมคิดว่าเรื่องฉลาดใหญ่ที่สุดของไลฟ์โค้ชไทย ก็คือ Interpersonal Intelligence หรือการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่งบุคคล ซึ่งกินความรวมไปถึง Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์ รู้จักควบคุมตัวเองได้ให้มีความ ‘กลม’ ไม่ ‘แหลม’ ปรี๊ดๆ ออกไป อันจะทำให้เกิดความชังขี้หน้าได้จากคนที่คิดเห็นต่างจากตัวเอง
ความฉลาดแบบนี้สำคัญมาก เพราะไม่ว่าตัวเองจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร มีอุดมการณ์อย่างไร ส่วนใหญ่ก็จะควบคุมรักษาเอาไว้ไม่แสดงออกมา ปรี๊ดอยู่ในใจแค่ไหนก็จะรู้วิธีกักเอาไว้ แล้วส่ง ‘ยิ้มสยาม’ ออกไปใส่สังคม สังเกตเสียก่อนว่าสังคมคิดเห็นอย่างไร แล้วค่อยแสดงออกไปให้สอดคล้องกับกระแสสังคมรอบข้าง
ความฉลาดของไลฟ์โค้ชไทยในแบบที่สองที่สำคัญเกือบเท่าความฉลาดทางอารมณ์ ก็คือความฉลาดทางภาษา นั่นก็คือเมื่อรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ สามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสมราวกับเข้าคอร์สเรียนกับครูสอนการแสดงมาอย่างช่ำชองแล้ว ก็ต้องรู้จัก ‘วิธีเล่า’ รู้จักการถักทอเรียงร้อยเรื่องราวออกไปให้ดู ‘จริง’ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงตามที่ตัวเองคิดและรู้สึกก็ตาม ความฉลาดในการใช้ภาษาชักจูงใจ ความสละสลวย การส่งสัญญาณทางสังคม (Social Cue) ออกไปให้เหมาะสมและชัดเจน จะทำให้ไลฟ์โค้ชประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้คนให้มาติดตามตัวเองได้มากมาย
พูดได้ว่า ไลฟ์โค้ชไทยส่วนใหญ่นั้นฉลาดและเก่งมาก แต่เป็นความฉลาดสองประเภทนี้ คือฉลาดในการควบคุมอารมณ์ ถูกด่าอย่างไรก็ต้องออกมาตอบโต้แบบละมุนละม่อม ใช้อารมณ์ขันแฝง ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น พร้อมกับสามารถเล่าเรื่องและหาเหตุผล (ในแบบ Rationalizing ไม่ใช่ Reasoning) มาตอบกลับได้ด้วย
แต่กระนั้นก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย เพราะ (พูดแบบเหมารวม) เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเลยว่า ไลฟ์โค้ชไทยส่วนใหญ่มีความฉลาดในด้านตรรกะและมิติสัมพันธ์ เมื่อขาดความฉลาดด้านตรรกะ คณิตศาสตร์ หรือการให้เหตุผล คำอธิบายและวิธีหาทางแก้ปัญหาให้กับคนของไลฟ์โค้ชเหล่านี้ก็มักจะผิดเพี้ยนไม่เป็นเหตุเป็นผล และเมื่อขาดความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ ก็พานมองไม่เห็นการเชื่อมโยงของภาพใหญ่ มองเห็นปัญหาแค่เป็นจุดๆ แต่ไม่อาจเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้
ไลฟ์โค้ชที่ถูกคนอันฟอลโลว์ไปเป็นล้านๆ รายนั้น ยังออกมาพยายามอธิบายกับคนอื่นๆ ได้ด้วยสีหน้าที่แจ่มใสราวกับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามี Emotional Intelligence สูงมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าชื่นชม
แต่จะน่าชื่นชมกว่านี้ – ถ้าหากจะเติม Intelligence ในมิติอื่นๆ เข้าไปด้วย