“ผู้คนไม่ได้โง่ แต่โลกมันยาก” – Richard Thaler
(People aren’t dumb. The world Is Hard)
ทำไมคนฉลาดถึงทำเรื่องโง่เขลา เชื่อในเรื่องไม่น่าเชื่อ เลือกตัวเลือกที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย? ตัวเลขไอคิวอันสูงลิ่ววัดสติปัญญาของมนุษย์ได้เพียงพอไหม? สามารถทำให้เราดำเนินชีวิตโดยไม่โง่ไม่ผิดพลาดได้ไหม?
เรามักทึกทักว่า ‘ความฉลาด’ กับ ‘การมีเหตุผล’ นั้นเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเสมอ แต่บางครั้งเราก็พบว่าคนฉลาดที่เรารู้จักอาจตัดสินใจหรือเลือกทางที่ผิดพลาดได้อย่างน่าตกใจ หรือบางทีเมื่อย้อนมองกลับไป เราก็พบว่าตัวเองทางเลือกที่ไม่ควรเลือกเอาเสียเลย?
Keith Stanovich จาก University of Toronto นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องความคิดและการให้เหตุผลมาอย่างยาวนาน เขาพยายามแยกความแตกต่างระหว่างความฉลาด (intelligence) กับความมีเหตุมีผล (rationality) สู่การสร้างแบบทดสอบความมีเหตุผล (RQ: Rational Quotient) ที่ต่างจากแบบทดสอบสติปัญญา (Intelligent Quotient) ตามมาตรฐานที่เราใช้กันมายาวนาน ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังกันว่าทำไมถึงสำคัญ
ในปี 1994 Stanovich สร้างคำว่า Dysrationalia แปลว่า ‘การบกพร่องทางการให้เหตุผล’ หรือ ‘การไม่สามารถจะคิดและประพฤติอย่างมีเหตุผลได้ทั้งๆ ที่มีสติปัญญาเพียงพอ’ จากผลทดลองต่อเนื่องยาวนานหลายปีของเขา ด้วยการให้คนทำแบบสอบถามเพื่อวัดความสามารถทางการคิด พบว่าคนที่มีไอคิวสูงไม่ได้มีแนวโน้มที่จะเลือกคำตอบที่มีเหตุผลมากกว่าเสมอไป คนฉลาดอาจตกเป็นเหยื่อของการตัดสินใจผิดหรือความคิดไม่มีเหตุผลได้ไม่ต่างจากคนที่ไอคิวน้อยเลย แล้วสองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร?
ความต่างระหว่าง‘ความฉลาด’ และ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล’
เมื่อพูดถึงคนฉลาดหรือความฉลาด เรามักเหมารวมว่าคนที่ฉลาดในทางหนึ่งย่อมฉลาดในทางอื่นๆ ด้วย เรามักคิดว่าความฉลาดนั้นเป็นคำจำกัดความที่กว้างพอ ซึ่งหากความฉลาดคือการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง Keith Stanovich สรุปว่าการตัดสินใจที่ถูกต้อง หรือความคิดเป็นเหตุเป็นผล นั้นประกอบขึ้นจาก 4 ส่วนด้วยกันคือ
1. สติปัญญา (intelligence) คือความสามารถในคิดและการประมวลผลเพื่อแก้ปัญหาตามโจทย์หรือปัญหาที่ได้รับ เปรียบเสมือนเป็นระบบปฏิบัติการ
2. ความรู้ (knowledge) คือข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ สำคัญมากๆ หากเราฉลาดแต่ไม่รู้ในเรื่องนั้นก็สามารถตัดสินใจผิดพลาดได้ง่ายๆ เช่น นักฟิสิกส์ไม่ใช่แพทย์ รักษาโรคไม่ได้ เราควรวางใจให้แพทย์รักษาเรามากกว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แม้เขาจะเป็นอัจฉริยะก็ตาม (สมมติเฉยๆ)
3. การไตร่ตรอง (need for cognition) คือการคิดและคำนวณอย่างถี่ถ้วน หรือการที่เราพยายามคิดไตร่ตรองเพื่อแก้ปัญหา
4. ความสามารถในการเปิดใจให้กว้าง คือการเปิดใจลองคิดทางอื่นและมองความเป็นไปได้ให้รอบด้าน
สิ่งที่ตรงข้ามกับ 4 องค์ประกอบนี้คือ 1. ความโง่เขลา 2. ความไม่รู้หรือจงใจไม่หาข้อมูล 3. ความขี้เกียจคิด และ 4. ความใจแคบและอคติ
สิ่งที่แบบทดสอบ IQ หรือแบบทดสอบเพื่อวัดความฉลาดตามมาตรฐานพลาดและขาดไปคือ แบบทดสอบไอคิวนั้นมักวัดความสามารถของระบบปฏิบัติการ สติปัญญาในการคิดและประมวลผลตามโจทย์หรือมีเพียงข้อ 1 เท่านั้น ปัญหาคือคนไม่ได้โง่หรือคิดไม่ได้ แต่การตัดสินใจไม่ได้ใช้แค่ส่วนที่ 1 เท่านั้น เช่นมีคนจำนวนมากเลือกสาขาที่เรียนโดยปราศจาก 4 ส่วน เช่น เราพบคนเลือกเรียนสาขาสถาปัตยกรรมเพราะชอบวาดรูป เมื่อเจอพบคลาสและงานจริงๆ ที่ต้องแก้ปัญหาทางมิติสัมพันธ์ อาจทุกข์ทรมานและผิดจุดประสงค์ เพราะขาดความรู้ในตัวเลือกก่อนที่จะเลือก
ปัญหาที่เราพบในชีวิตจริงหลายๆ ครั้ง หากขาดความรู้ในเรื่องนั้นหรือขาดข้อมูลที่เพียงพอก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ แต่สถานะของคนฉลาดมักมาพร้อมกับความมั่นใจเกินเหตุ (overconfidence) ยิ่งบดบังให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ คนบางคนอาจฉลาดหลักแหลมมากและมีความรู้มากมาย แต่กลับขาดความสงสัยและเปิดใจรับความเป็นไปได้อื่นๆ นอกจากความเชื่อหรืออคติเดิม ซึ่งอาจทำให้เขากลายเป็นตัดสินใจโง่ๆ ไปได้ หรือเชื่อในเรื่องผิดๆ ที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย
คนที่มีปัญหาติดการพนันอย่างหนัก พวกเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องไอคิวตํ่าหรือคิดคำนวณไม่เป็น แต่มักมีปัญหาด้านการตัดสินใจแบบด่วนกะทันหัน (impulsive decision) หรือมีแนวโน้มที่จะเชื่อในตัวเลขโชคดีและตัวเลขโชคร้ายแม้มีความสามารถในการคิดถึงสถิติและความน่าจะเป็น
Daniel Kahneman จาก Princeton ผู้รับรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์จากการศึกษาร่วมกับ Amos Tversky เกี่ยวกับการตัดสินใจของมนุษย์ และพบความผิดพลาดมากมายจากการตัดสินใจของคนทั่วไป เช่น คนเราอาจใช้เวลานานมากในการเลือกมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ แต่อาจใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงในการเลือกแผนการออมเงินสำหรับวัยเกษียณที่เหมาะสม ทั้งที่ปัญหาอย่างหลังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวมากกว่า แค่ผลลัพธ์ยังมาไม่ถึงในเร็วๆ นี้
สิ่งที่ Kahneman ศึกษาพบคือ มนุษย์เรามี 2 ระบบความคิด มนุษย์คิดแบ่งเป็น 2 ระบบ คือระบบที่ 1 คิดแบบไว กับระบบที่ 2 ใช้เวลาตรึกตรองคิดคำนวณถ้วนถี่ บางสิ่งเราอาจคิดไวๆ ได้แหละ เช่น อยากกินไอติมรสอะไร วันนี้ใส่เสื้อสีอะไรดี แต่บางสิ่งหากตัดสินใจผิดไปก็คงไม่เป็นไร ก็แค่เพื่อนล้อหรือไอติมไม่อร่อย แต่ปัญหาและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในระยะยาว เช่น การเลือกเส้นทางอาชีพ เลือกคณะที่จะเรียนไป เลือกคู่ครอง หรือแผนการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เลือกตั้งพรรคไหนดี หรือเลือกที่จะไม่เลือกตั้งดีไหม วางแผนนโยบายองค์กรหรือเศรษฐกิจ หากเลือกผิดอาจส่งผลกระทบยาวนานให้ต้องตามมาทุกข์หรือแก้ปัญหาทีหลังไม่จบสิ้น
RQ: Rational Quotient แบบทดสอบวัดความถนัดทางเหตุผล
ปัญหานี้สำคัญอย่างไรกับชีวิตมนุษย์ทั่วๆ ไป ลองคิดดูว่าทุกวันนี้ เราใช้แบบทดสอบ IQ แบบตามมาตรฐานดั้งเดิมในการเลือกคนเข้ามาทำงานหรือเลือกรับคนเข้ามหาวิทยาลัย (แถมยังมีข้อสอบมหาวิทยาลัยป่วงๆ ที่น่ากุมขมับกว่านั้นอีกด้วย) เราใช้ระดับไอคิวในการวัดเด็กเข้าโรงเรียน จัดลำดับ แยกห้อง วัดคนเพื่อเข้าทำงาน แต่กลับเป็นแบบทดสอบที่ไม่ครอบคลุมสมบูรณ์พอที่การันตีว่าคนๆ นั้นจะมีเหตุผล สามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้จริงแค่ไหน
ผลศึกษาของ Stanovich จึงนำไปสู่การพัฒนาความถนัดทางเหตุผลที่ไม่ใช่การพัฒนา IQ Test ให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งเป็นทักษะความสามารถคนละชนิดกันเลย แล้วแบบสอบถามเพื่อวัดความมีเหตุผลจะหน้าตาประมาณไหน ขอยกตัวอย่างปัญหาไว้ 2 ข้อดังนี้ :
ตัวอย่างที่ 1 : แจ็คกำลังมองดูแอน แอนกำลังมองดูจอร์จ แจ็คแต่งงานแล้ว จอร์จยังไม่แต่ง
ในเหตุการณ์นี้ “คนที่แต่งงานแล้วกำลังมองดูคนที่ยังไม่แต่งงานอยู่” ใช่หรือไม่?
- ใช่
- ไม่
- ตอบไม่ได้
คำตอบถูกต้องคือข้อ A คือ ‘ใช่’ … ทำไมล่ะ แม้จะไม่มีข้อมูลว่าแอนแต่งงานไหม เมื่อนั่งคิดไตร่ตรองดู ไม่ว่าแอนจะแต่งงานหรือไม่แต่ง ในเหตุการณ์นี้จะมีคนที่แต่งงานแล้วมองดูคนที่ยังไม่แต่งงานเสมอ ดังนี้ …
- หากแอนแต่งงานแล้ว เธอคือคนแต่งงานที่มองดูจอร์จที่ยังไม่แต่งงาน
- แต่หากแอนยังไม่แต่งงาน แจ็คที่แต่งงานแล้วกำลังมองดูแอนที่ยังไม่แต่งงาน

แบบจำลองให้เห็นภาพแจ็ค แอน และจอร์จ ไม่ว่าพวกเขาจะจ้องมองกันทำไมก็ไม่รู้
ผลการศึกษาพบว่าคนส่วนใหญ่ (รวมถึงผู้เขียนเองจ้า ขอสารภาพ) เลือกตอบข้อ 3 หรือตอบไม่ได้ อย่างรวดเร็วว่องไว เพราะคิดง่ายๆ ก็ว่าไม่ได้ข้อมูลมา ขี้เกียจคิดอย่างรอบคอบ ปัญหานี้ไม่ได้ยากจะคิด แต่คนทั่วไปมักขี้เกียจคิด ไม่อยากเปลืองพลังงานสมองในการหาคำตอบที่ดูเหมือนจะง่าย จึงเลือกข้อที่คิดได้ไวว่าน่าจะใช่แหละ บางครั้งคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มาจากความสามารถสติปัญญาเสมอไป แต่คือความพยายามที่จะคิดให้รอบด้านเพื่อแก้โจทย์อย่างมีเหตุผล
ตัวอย่างที่ 2 : ปัญหา ‘ลินดา’ หรือ Linda Problem สร้างโดย Kahneman และ Tversky (ลินดามาจากชื่อเลขาของ Tversky ณ สแตนฟอร์ด) ปัญหานี้น่าจะมีคนคุ้นเคยเพิ่มอีกหน่อย
ลินดาอายุ 31 ปี โสด ฉลาด ฉะฉาน และหัวไว เธอเรียนปรัชญา ตอนเป็นนักศึกษาเธอให้ความสำคัญกับประเด็นการเลือกปฏิบัติและความเป็นธรรมทางสังคม เธอเคยเข้าร่วมประท้วงต่อต้านพลังงานและอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ข้อใดมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่ากัน
A: ลินดาเป็นพนักงานธนาคาร
B: ลินดาเป็นพนักงานธนาคารผู้เป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสตรีนิยมด้วย
คำตอบที่ถูกต้องคือข้อ A แต่สิ่งที่พบจากการทดลองคือ คนส่วนใหญ่มักตอบข้อ B มากกว่า ทั้งที่ในเชิงความน่าจะเป็นแล้วย่อมเป็นข้อ A โอกาสที่ลินดาจะเป็นพนักงานธนาคารเฉยๆ ย่อมมีสูงกว่าการที่เธอเป็นพนักงานที่เป็นเฟมินิสต์ด้วย เป็นการคิดความน่าจะเป็นแบบง่ายมากๆ
อุปสรรคของการคิดอย่างมีเหตุผลคือเรามักตัดสินใจว่องไวจากความจำได้หมายรู้และตัวแทนของสิ่งที่เราเคยประสบพบมาก่อน สิ่งนี้เป็นอคติที่เรียกว่า Conjunction Fallacy นี่ไม่ใช่ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ยาก แต่เมื่อในชีวิตจริงเรามีข้อมูล ความเชื่อ อคติมาบดบังการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทำให้เราเลือกคำตอบจากประสบการณ์หรือสิ่งที่เราคิดอย่างไวโดยไม่ไตร่ตรอง เราอาจสัมภาษณ์งานคนจำนวนมาก โดยแต่ละคนให้คะแนนนํ้าหนักคนละเกณฑ์โดยสิ้นเชิงโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งปัญญาประดิษฐ์อาจเที่ยงธรรมมากกว่า
สำหรับใครที่ตอบไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องตกใจหรือหวาดวิตกว่าเราเป็นคนไม่มีเหตุผลหรือคนโง่ เรื่องน่ายินดีคือ การคิดอย่างมีเหตุผลนั้นสามารถเรียนรู้ได้ และคงจะดีมากๆ หากระบบโรงเรียนและบริษัทต่างๆ เห็นความสำคัญกับทักษะความมีเหตุผลและผลักดันให้เกิดการเรียนรู้และฝึกให้คิดวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ได้ โดย Stanovich เสนอว่าการสอนพื้นฐานความน่าจะเป็น สถิติ และเข้าใจกระบวนวิทยาศาสตร์นั้นช่วยได้ และที่สำคัญคือการฝึกไปประยุกต์ใช้กับเหตุการณ์จริงบ่อยๆ
ต่อให้เราฉลาดแค่ไหน หากขี้เกียจคิดก็ตัดสินใจพลาดได้ คนส่วนใหญ่ในโลกนี้คือมนุษย์ Cognitive Miser หรือคนขี้เกียจคิด เลือกทางที่คิดน้อยที่สุดเพื่อให้ตัดสินใจได้ไวไม่ปวดหัว สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความฉลาด จริงอยู่ที่เราไม่สามารถใช้พลังงานสมองไตร่ตรองตัดสินใจกับทุกทางที่เลือกในชีวิตอย่างรอบคอบ ‘สติปัญญา’ เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราตัดสินใจแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และคนฉลาดก็ผิดพลาดได้ถ้าขี้เกียจและไม่พยายาม ฉลาดแต่ไม่ขยันคิดก็น่าเสียดายศักยภาพการประมวลผลของสมอง ยํ้าอีกครั้ง หากคนฉลาดมั่นใจเกินไป อาจหยิ่งผยองเกินยอมขยันมาคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เขาอาจเลือกผิดทางเลือกที่โง่ได้ง่ายๆ
ไม่ว่าฉลาดแค่ไหน ลองคิดใหม่ดูอีกครั้ง
หลายคนอาจตกใจเมื่อพบว่าคนที่ตัดสินใจผิด เลือกสิ่งที่ไม่น่าเลือก พูดในสิ่งไม่ควรพูด ทำในสิ่งที่น่าอายมากๆ ติดอยู่ในความเชื่อประหลาดๆ ที่ขาดเหตุผลรองรับโดยสิ้นเชิง พวกเขาอาจไม่ใช่คนโง่เลย อาจมีไอคิวสูงลิ่วจนน่าอิจฉาแบบที่อวดได้ตลอดชีวิต จบการศึกษามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลกหรือประเทศด้วยคะแนนที่ยอดเยี่ยม มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถการันตีไ้ด้ว่าเขาเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลหรือไม่ แต่การตัดสินใจในชีวิตจริงไม่ได้ใช้แค่ความฉลาดเพียงเท่านั้น ยังต้องการข้อมูลที่มากพอ และความพยายามที่จะคิด รวมถึงความสามารถในการการเปิดใจรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่ยึดติดในความเชื่อและอคติเดิมมากเกินไป ไม่ด่วนตัดสินใจเพียงเพราะฉันเก่ง
“ผู้คนไม่ได้โง่ แต่โลกมันยาก” – Richard Thaler (People Aren’t Dumb. The World Is Hard)
เขาคือผู้ริเริ่มแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เขาพบว่ามนุษย์นั้นไร้เหตุผลได้อย่างน่าตกใจ จึงพยายามสร้างโมเดลหรือระบบมาช่วยตัดสินใจแทนเพื่อผลักดันให้คนเลือกทางที่ควรเลือก หากสนใจแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง ‘Nudge’ เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 2017 เขานิยามการได้รางวัลโนเบลของตัวเองว่าพบ ‘ความเป็นมนุษย์’ ในเศรษฐศาสตร์
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ฉันลองสืบเสาะหาคอร์สออนไลน์ใน coursera.org อยากรู้ว่าในโลกนี้มีวิชาอะไรบ้างที่น่าจะมีประโยชน์กับชีวิตนอกจากที่มหาวิทยาลัยได้สอน ฉันพบกับวิชา ‘คิดอีกครั้ง’ หรือ Think Again: How to understand arguments (เดิมชื่อว่า Think Again: How to Reason and Argue) สอนโดยศาสตราจารย์ Walter Sinnott-Armstrong จาก Duke University โดยวิชานี้สอนให้ฉันรู้จักเข้าใจตรรกะวิบัติแบบต่างๆ เข้าใจชนิดของการถกเถียง การให้เหตุผลแบบต่างๆ ทำให้เราเริ่มสังเกตว่าวิธีคิดของเรามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง เมื่อพูดถึงพฤติกรรมมนุษย์อันไร้เหตุผลและผิดพลาด เรามักแยกตัวเราออกจากคนทั่วๆ ไป แต่เราก็ผิดพลาดกันได้
ตอนแรกคิดแค่ว่าจะได้เรียนเพื่อได้มีเหตุผลหนักแน่น และถกเถียงกับคนอื่นได้ฉะฉาน ฉันกลับเรียนรู้ที่จะใจเย็นขึ้น รับฟังมากขึ้น ปากไวให้น้อยลง คิดเยอะขึ้น และยอมรับว่าเราก็โง่ได้เสมอ หากไม่คิดให้รอบด้าน สิ่งที่จำขึ้นใจจากคลาสคือ ‘เราไม่อาจชนะการถกเถียงใดใดได้โดยการเรียกฝั่งตรงข้ามว่าโง่เขลาเบาปัญญา’ แต่มักเป็นสิ่งแรกที่คนฉลาดหลายๆ คนชอบทำ เรามักขำขันกับความโง่เง่าของคนอื่น แต่ลืมสำรวจวิธีคิดและทางเลือกของตัวเอง

คำเตือนใจจากศาสตราจารย์ Walter ที่เราแคปเจอร์มาเก็บไว้ เราไม่ชนะการถกเถียงใดใดได้โดยการเรียกฝั่งตรงข้ามว่าโง่เขลาเบาปัญญา ภาพจาก : class.coursera.org
ศาสตราจารย์ Walter เตือนใจเราว่าสิ่งสำคัญคือ ‘ลองคิดดูอีกครั้ง’ เสมอ แต่แม้จะผ่านการเรียนวิชาคิดอีกครั้งมาแล้ว เราก็พบว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาดอยู่เรื่อยๆ แม้จะคิดดีแล้ว แต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป หวังว่าการตัดสินครั้งหน้าจะดีและรอบคอบกว่าครั้งที่ผ่านมา เป็นวิชาที่เราหวังว่าจะมีให้นิสิตทุกคนได้เรียนในมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยจริงๆ เราอาจคิดได้ดีกว่านี้และเลือกได้ดีกว่านี้
นอกจากทักษะความสามารถทางสติปัญญา การยอมสละพลังงานและเวลาเพื่อคิดและคำนวณอย่างถ้วนถี่รอบคอบ เพื่อประเมินปัญหาและหาทางแก้อย่างรอบคอบใจเย็น แม้จะเหนื่อย ยาก น่าเบื่อ น่าปวดหัว ผลาญพลังงานและเวลาเยอะ หากปัญหานั้นอาจกระทบชีวิตของเราในระยะยาว หรือกระทบชีวิตของคนอื่นจำนวนมากในระดับองค์กร เมือง หรือประเทศ ก็น่าจะคุ้มค่าเวลาและพลังงานที่เราเสียไป เสียใจจากการเลือกผิดน้อยลงบ้างก็ยังดี
เพราะเราอาจเข้าใจผิด ตัดสินใจเลือกผิดได้เสมอ ไม่ว่าจะฉลาดเลิศแค่ไหน ขอให้ลองคิดใหม่ดูอีกครั้ง อย่าขี้เกียจคิด 🙂
อ้างอิงข้อมูลจาก
On the Distinction Between Rationality and Intelligence: Implications for Understanding
Individual Differences in Reasoning
Rationality versus Intelligence
How Rational Are You?: Five questions to get you thinking
Think Again I: How to Understand Arguments
People Aren’t Dumb. The World Is Hard.