ผลจากความคะนองอย่างบ้าบิ่นและความเปลี่ยนแปลงของโชคชะตา ทำให้เด็กชายต้องเผชิญกับความเหี้ยมเกรียมแห่งชีวิต ซึ่งถึงไม่ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้แสดงความเป็นคน
ตอนหนึ่งจาก The Prodigy (บทเรียน)
โดย เฮอร์มานน์ เฮสเส
แปลโดย สดใส
เพราะ #นัมจุนอ่าน เลยทำให้ผมหยิบหนังสือเรื่อง The Prodigy หรือ ‘บทเรียน’ ที่เขียนโดยนักเขียนสุดโปรดอย่าง เฮอร์มานน์ เฮสเส (แปลโดยผู้เป็นประดุจครูทางตัวอักษรของผม คือ ‘สดใส’) ขึ้นมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง
เข้าใจว่า #นัมจุนอ่าน งานของเฮสเสเรื่อง ‘เดเมียน’ นะครับ แต่เนื่องจาก ‘บทเรียน’ เป็นเล่มแรกที่ ‘สดใส’ แปล และเป็นเรื่องราวที่ผมลืมเลือนไปเนิ่นนานแล้ว เลยหยิบขึ้นมาอ่านก่อนเล่มอื่น
แล้วผมก็ต้องอึ้งไปกับการทำงานของ ‘อำนาจ’ ระหว่างครูกับนักเรียนที่ปรากฏขึ้นโดยนักเขียนที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว
เฮสเสเขียนเรื่องนี้โดยชื่อเดิมคือ Beneath the Wheel ซึ่งชื่อก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เด็กคนหนึ่งถูก ‘ย่ำยี’ อยู่ใต้กงล้อของระบบการศึกษา เฮสเสชี้ให้เห็นถึงผลร้ายของการศึกษาแบบเก่าในเยอรมนี ซึ่งเอาเข้าจริง ต้องบอกว่าไม่ผิดจากระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันเท่าไหร่นัก ยิ่งถ้าเป็น ‘เด็กเก่ง’ (เป็นเด็กแบบ Prodigy หรืออัจฉริยะ) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งถูกความคาดหมายมหาศาลของสังคมรอบข้าง กดดันซ้ำเข้าไปอีกจนหนักอึ้ง
ทางเลือกของเด็กเหล่านี้จึงมีไม่มากนัก พวกเขาทำได้แค่มีชีวิตอยู่ต่อไปกับระบบเหล่านี้อย่างซังกะตาย หรือไม่ก็ขบถกับมัน ซึ่งจะทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความเหี้ยมเกรียมของระบบในสังคม แต่อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้แสดงความเป็นคน
ข้อความที่ผมยกขึ้นมาข้างต้น ทำให้ผมนึกถึงรายงานของเดวิด บลาซาร์ (David Blazar) และแมทธิว คราฟท์ (Matthew Kraft) เรื่อง Teacher and Teaching Effects on Students’ Attitudes and Behaviors หรือ ‘ครูกับผลของการสอนที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน’
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากรายงานนี้ก็คือคำถามที่ว่า Should teachers have an impact on students’ attitudes and behaviors? คือครู ‘ควร’ มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียนหรือเปล่า
คำถามนี้หมายความว่า นอกเหนือไปจาก ‘ตัวบท’ ในหนังสือเรียน (เช่น วิชาเคมี ฟิสิกส์ ฯลฯ) แล้ว, ครูควรเป็นผู้อบรมสั่งสอน (หรืออีกนัยหนึ่งคือการ ‘ตั้งโปรแกรม’ หรือ Coding) ให้เด็กต้องมีค่านิยมและทัศนคติ (ซึ่งส่งผลออกมาเป็นพฤติกรรม) ที่สอดคล้องต้องกันกับครูหรือเปล่า
นี่เป็นคำถามสำคัญมากต่อปรัชญาการศึกษายุคใหม่นะครับ
R.J. Menges เคยเขียนเอาไว้ใน The Intentional Teacher: Controller, Manager, Helper ว่า “The traditional view of education, a view that still prevails, holds that learners must submit themselves to teachers.” ซึ่งก็คือ “ในมุมมองการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่เป็นมุมมองที่ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ถือกันว่านักเรียนจะต้อง ‘สยบยอม’ ให้กับครู”
การ ‘สยบยอม’ หรือ Submit นั้น ก็คืออาการ ‘ศิโรราบ’ ให้ครู เป็นการละทิ้ง ‘ตัวตนเก่า’ ของนักเรียนไป เพื่อจะได้พร้อมน้อมรับสิ่งใหม่ๆ ที่ครูกำลังจะสอนนั่นเอง
ผมเคยอ่านเรื่องราวของครูสอนดนตรีไทยท่านหนึ่งในสมัยโบราณ เวลานักเรียนไปขอเรียนดนตรีด้วย ครูท่านนั้นจะรับเข้ามาอยู่ในบ้าน แต่ไม่ได้รับเข้ามาในฐานะศิษย์ ทว่าเข้ามาเป็นเหมือน ‘เด็กในบ้าน’ และไม่ได้เรียนดนตรีในทันที ทว่าต้องทำงานบ้าน ตัดฟืน หาบน้ำ เช็ดถู หุงหาอาหาร ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเหมือนทาสหรือขี้ข้าในบ้านที่ต้องคอยรับใช้ทุกคน
เมื่อนักเรียนไปถามครูท่านนั้นว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ทำไมไม่สอนดนตรีเสียที
ครูท่านนั้นตอบกลับมาว่า ท่านไม่ได้สอนแค่ดนตรีเท่านั้น แต่สอนให้ ‘เป็นคน’ ด้วย
ถ้าเป็นสมัยนี้ ครูท่านนั้นคงถูกนักเรียนฟ้องร้องไปนานแล้ว เพราะมุมมองสมัยใหม่จะมองว่า ในการสอน ‘ความเป็นคน’ ของครูนั้น ท่านเองก็กำลังละเมิด ‘ความเป็นคน’ ของนักเรียนไปด้วย แต่ในมุมมองแบบเก่า การให้นักเรียนรับใช้ทำโน่นนั่นนี่ไปก่อนจะได้เรียนดนตรี คือการขัดเกลานักเรียนเพื่อให้เกิด ‘ความเป็นคน’ ตามมุมมองของครู และในสมัยก่อน ครูแบบนี้ก็มักได้รับการยกย่องว่า ‘มีความเป็นครู’ ที่สูงล้ำด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า – ครู ‘ควร’ มีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียนหรือเปล่าคำตอบแบบครูสมัยก่อนย่อมคือ – มีแน่ๆ
ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
คำตอบที่ผมพอจะนึกออกก็คือ ในสังคมสมัยก่อน ผู้คนไม่ได้มี ‘แบบและเบ้า’ หรือ ‘แบบจำลอง’ (Model) ของความเป็นคนมากมายหลายแบบนัก ครูสมัยก่อนจึงสามารถบอกว่า จะสอน ‘ความเป็นคน’ ให้นักเรียนได้ โดยไม่เคยหยุดสงสัยตัวเองเลยว่า คำว่า ‘ความเป็นคน’ นั้น มันคือ ‘คน’ ที่อยู่ในแบบจำลองหรือ Model แบบไหน เพราะครูคิดว่า ‘ความเป็นคน’ ที่สมบูรณ์พร้อมมีอยู่แบบเดียว นั่นคือต้องเป็นคนดีให้ได้เสียก่อนที่จะมีวิชาความรู้ (เช่นก่อนจะเล่นดนตรีเป็น) เพราะถ้าไม่เป็น ‘คนดี’ เสียก่อนแล้ว แต่ดันมีวิชาความรู้ ก็อาจสร้างความเสียหายให้สังคมได้
ด้วยเหตุนี้ ตัวครูและชีวิตของครูในสมัยโบราณเอง จึงต้องเป็นไปตาม ‘แบบจำลองความเป็นคน’ ที่เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางทั่วไปในสังคม (หรืออย่างน้อยก็ชุมชนที่ครูเป็นสมาชิกอยู่) เช่น ครูต้องไม่มีปัญหาชู้สาว ครูต้องไม่เสพอบายมุข ครูต้องมีศีลห้าเป็นอย่างต่ำ ฯลฯ ซึ่งก็คือการทำให้ ‘ตัวคน’ ที่เป็นมนุษย์มีเลือดมีเนื้อ ‘กลายสภาพ’ (transform) ไปเป็น ‘สถาบัน’ อย่างหนึ่งในสังคมนั้น
ครูจึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูก ‘ทำให้เป็นสถาบัน’ (Institutionalize) เพื่อเป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นที่เคารพนับถือ พอๆ กับอีกสองหน้าที่การงานสำคัญ นั่นก็คือ ‘พระ’ และ ‘แพทย์’ ซึ่งทั้งสามหน้าที่การงานนี้ ล้วนเกี่ยวกับกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย
ด้วยเหตุนี้ ครูสมัยก่อนจึงไม่ได้เป็นแค่ครู แต่มีหน้าที่แบกรับศักดิ์ศรี เกียรติยศ มาตรฐานศีลธรรม ความถูกต้อง และแบบจำลองของความเป็นคน (อย่างน้อยก็แบบหนึ่ง – ซึ่งเป็นแบบที่สังคมนั้นๆ เห็นว่าดีงาม) เอาไว้บนบ่าด้วย เพื่อจะทำหน้าที่ ‘เข้ารหัส’ หรือ Coding คุณค่าต่างๆ เหล่านี้ส่งผ่านไปให้ศิษย์
เพราะฉะนั้น ทั้งทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน จึงมีแหล่งที่มาสำคัญจากผู้เป็นครูนี่เอง
ตัวอย่างเช่น ครูอาจจะเล่านิทานให้นักเรียนฟัง แล้วบอกว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ ซึ่งการ ‘สอนให้รู้ว่า…’ นี้ ท่ี่จริงก็คือการสอนให้รู้ว่าที่เป็นไปตามความเห็นของครูคนหนึ่ง ในขณะที่มนุษย์คนอื่นๆ ที่อยู่ต่างสังคมออกไป อาจเห็นว่านิทานเรื่องนั้นสอนอีกแบบหนึ่งในแบบที่ครูไม่มีความสามารถในทางสังคมวัฒนธรรมที่จะตีความหรือรู้เห็นก็ได้
ดังนั้น การ ‘สอนให้รู้ว่า’ นี้ จึงไป ‘ขึ้นรูป’ (shape) วิธีคิด วิธีมองโลก ทัศนคติ และพฤติกรรมของนักเรียน ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งรสนิยม (เช่นครูสอนศิลปะที่ต้องทำหน้าที่ ‘ตัดสิน’ ว่างานแบบไหนดีเลว) และรวมไปถึง ‘ทัศนคติทางการเมือง’ ที่แทรกซ่อนอยู่ในการสอน โดยเฉพาะครูที่สอนวิชาแนวสังคมศาสตร์ ซึ่งเราน่าจะเคยเห็นครูที่รักชอบอุดมการณ์บางแบบ แล้วพยายามถ่ายทอดปลูกฝังให้ศิษย์ต้องคิดต้องเชื่อตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อคติ’ และ ‘มายาคติ’ อีกมากมาย (โดยเฉพาะเรื่องเพศ) ที่ดันไป ‘ฝัง’ อยู่ในวิชาต่างๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยตรง เช่น มายาคติเรื่องเพศที่ฝังอยู่ในโจทย์คณิตศาสตร์ เป็นต้น
ยิ่งถ้าเป็นวิชาประเภท ‘หน้าที่พลเมือง – ศีลธรรม’ หรือวิชาที่ทำหน้าที่โดยตรงในการปลูกฝังอบรบ ‘แบบจำลองของความเป็นคน’ ให้กับนักเรียนแล้ว ก็ยิ่งเป็นไปได้ที่ทึกทักว่า ครูต้องสอนทัศนคติและพฤติกรรมให้กับนักเรียนอย่างที่ครูเห็นว่ามัน ‘ควรจะเป็น’
ด้วยเหตุนี้ ครูสมัยก่อนจึงมี ‘ผลกระทบ’ (impact) ต่อทัศคติและพฤติกรรมของนักเรียนแน่ๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ (เนื่องจาก ‘แบบจำลองของความเป็นคน’ มีอยู่ไม่กี่แบบ) ดังนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นหน้าที่ที่ ‘ต้องทำ’ ด้วย
ที่สำคัญ สิ่งที่ครู ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่แค่การ ‘เข้ารหัส’ หรือ Coding แบบจำลองของความเป็นคนให้นักเรียนเท่านั้นนะครับ แต่ครูยังต้อง ‘เข้ารหัส’ ตัวเอง ด้วยการ ‘โน้มนำ’ (internalize) แบบจำลองเหล่านั้นเข้าไว้ในตัวด้วย ครูจึงต้อง ‘แบกรับ’ ภาระหน้าที่ยิ่งใหญ่และหนักอึ้งนี้เอาไว้กับตัว
สำหรับครูสมัยก่อน สิ่งเหล่านี้คือ ‘หน้าที่’ ของ ‘ความเป็นครู’ ที่ครูภูมิใจ ครูสมัยก่อนจึงมักบอกลูกศิษย์ว่า ไม่ได้สอนแค่วิชาความรู้ แต่สอน ‘ความเป็นคน’ ให้ลูกศิษย์ด้วย
แต่ปัญหาของโลกยุคใหม่ก็คือ ในตอนนี้ ‘แบบจำลองของความเป็นคน’ มันซับซ้อนและหลากหลายขึ้นกว่าเดิมมาก สิ่งที่เรียกว่า ‘ดี’ กับ ‘ชั่ว’ ไม่ได้แบ่งแยกได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน ฮีโร่มีเบื้องหลังที่ซับซ้อนเกินจะกล่าวได้ว่าเป็นคนดีที่มากอบกู้ นักโทษก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำผิดเสมอไป เพราะที่จริงอาจเป็นแพะที่ฮีโร่ฉวยใช้ก็ได้
ตัวอย่างของเรื่องที่เป็น ‘เขาควายทางความคิด’ (dilemma) ที่เกิดขึ้นกับความเป็นครูและความเป็นคนมีมากมาย เช่น เด็กที่ท้องในวัยเรียน เด็กที่อยากเลือกทำแท้ง เด็กที่อยากเลือกทางเดินของตัวเอง เด็กที่ขบถต่อครู เด็กที่ไม่เชื่อในแบบจำลองของความเป็นคนที่ครูสอน ฯลฯ แล้วครูจะทำอย่างไร
ทุกวันนี้ เด็กๆ ไม่ได้เจอกับ ‘แหล่งที่มาของความเป็นคน’ เพียงแบบหรือสองแบบเหมือนเมื่อก่อน (คือไม่ได้เจอแค่กับพ่อแม่และครูเท่านั้น) แต่ต้องเจอโลกที่หลากหลายมาก แค่เปิดยูทูป ก็จะเห็นต้นแบบของโลกอันหลากหลายในแบบที่ครูและพ่อแม่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน และไม่มีวันจะรู้เท่าทันทั้งหมดได้ด้วย เพราะมันมากมายมหาศาลเกินไป
ดังนั้น คำถามที่ควรถามกันต่อไปก็คือ เมื่อตระหนักว่าครูสมัยก่อนมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็ก ‘โดยหน้าที่’ แล้ว พอมาถึงยุคสมัยนี้ ครูยังควรต้องแบกรับ ‘หน้าที่’ หนักอึ้งอันนั้นเอาไว้ต่อไปหรือเปล่า
มัน ‘ยุติธรรม’ ต่อครูไหม ที่จะคอยทำหน้าที่ปลูกฝังแบบจำลองของความเป็นคนเพียงแบบเดียวตามมายาคติของสังคมให้กับทั้งตัวเองและเด็ก เพราะเอาเข้าจริง ไม่ใช่แค่ครู แต่ใครก็ตามในโลกนี้ แม้กระทั่งมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, ล้วนไม่สามารถ ‘ตามทัน’ ปรากฏการณ์ซับซ้อนทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ได้ หรือถึงพอตามทันในบางประเด็น ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนเขาควายของความขัดแย้งระหว่างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่หลากหลายจนตัดสินใจอะไรไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กที่ท้องในวัยเรียนพิจารณาต้นทุนในชีวิตต่างๆ แล้วเห็นว่าตัวเองควรไปทำแท้ง ครูควรจะทำอย่างไร
เขาควายของทุกความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายของโลกสมัยใหม่ ต่างมาสุมรุมที่ครู คำถามจึงคือ-ครูควรถูกแยกออกมาจากการสอน ‘ความเป็นคน’ ไหม เพราะก็ต้องยอมรับว่า ครูเองก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป นั่นคือมีมุมมองต่อ ‘ความเป็นคน’ ที่จำกัด เรารู้จักความเป็นคนได้ก็เฉพาะเมื่อเป็นไปตามแบบจำลองที่เราถูกเข้ารหัสมาเท่านั้น
ดังนั้น ต่อให้เป็นครู ก็ไม่ใช่จะรู้จัก ‘แบบจำลองของความเป็นคน’ ได้ทุกรูปแบบ และดังนั้น ครูจะยังควรทำหน้าที่เดิมเหมือนในโลกแบบเก่า ด้วยการยัดเยียดความเป็นคนเพียงบางแบบให้กับนักเรียนอยู่ต่อไปหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม แม้คำตอบจะคือ-ไม่ ครูไม่ควรทำแบบนั้นอีกแล้ว, แต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นอยู่ดี เพราะถ้าดูความสัมพันธ์เชิงอำนาจในห้องเรียน ครูย่อมคือผู้ที่อยู่เหนือกว่า ประวัติศาสตร์และหน้าที่ดั้งเดิมของ ‘ความเป็นครู’ จับครูวางไว้ในที่ทางที่เป็น ‘ผู้กำหนด’ ซึ่งก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือนักเรียน นักเรียนต้องเป็นผู้ ‘สยบยอม’ (submit) และดังนั้น ไม่มากก็น้อย ครูย่อมมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน-โดยที่ครูเองก็อาจไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจด้วยซ้ำไป
ยิ่งถ้าเป็น ‘ครูที่ดี’ หรือครูที่นักเรียนรัก (ซึ่งเราบอกไม่ได้อีกเช่นกันว่า ‘ดี’ และ ‘เป็นที่รัก’ นั้น มีนิยามอย่างไร และเป็นนิยามของใคร ใช้มาตรฐานไหนมาวัด) และนักเรียนอยากสยบยอมกับครูและอำนาจของครู ก็ยิ่งมีโอกาสมากที่ครูจะส่งผลกระทบทางทัศนคติและพฤติกรรมให้นักเรียน ทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมนั้นๆ ยิ่งแข็งแรงขึ้น เพราะ ‘แบบจำลองของความเป็นคน’ ของทั้งครูและนักเรียนสอดคล้องต้องกัน ซึ่งในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่นครูกับนักเรียนอาจเห็นเหมือนกันในบางประเด็นและเสริมกันและกัน จนในที่สุดก็ขังทั้งครูและนักเรียนเอาไว้ใน ‘ตัวกรองฟองสบู่’ (filter bubble) ทางความคิด
โลกใหม่ที่เด็กไม่ได้อ่านหนังสือตามที่ครูบอก แต่อ่านเพราะ #นัมจุนอ่าน
โลกใหม่ที่เด็กไม่ได้อยากเดินตามแบบจำลองความเป็นคนของครู ทว่าอยากลองเข้ารหัสแบบอื่นๆ ดูบ้าง
โลกใหม่ที่เด็กอาจอยากแสดงความเป็นคน ในแบบที่เขาต้องการ ซึ่งอาจไม่ต้องตรองกับ ความเป็นคนในแบบที่ครูสอน ย่อมเป็นโลกที่จะขัดแย้งเค้นเครียดกับโลกใบเก่ามากขึ้นเรื่อยๆ
คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ เด็กชายต้องเผชิญกับความเหี้ยมเกรียมแห่งชีวิต พร้อมๆ กับที่ผู้แบกรับภาระในฐานะ ‘ครู’ ต้องไม่ เผชิญกับความเหี้ยมเกรียมแห่งชีวิต เดียวกันนั้นไปด้วย
อำนาจทั้งนอกและในห้องเรียนเป็นเรื่องซับซ้อน โดยมากแล้ว เรามักไม่ได้ตระหนักถึงอำนาจพวกนี้ แต่อำนาจจะทำงานได้ดีที่สุด – ก็ต่อเมื่อไม่มีใครมองเห็นมัน