สิ่งที่อาจทำให้สังคมไทยตกตะลึงพรึงเพริศมหาศาลในปัจจุบัน ก็คือการที่ ‘เด็กๆ’ (โดยเฉพาะเด็กที่ขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘เด็กเลว’) ออกมาประท้วงต่อต้านวิธีเรียน รวมไปถึง ‘เปิดโปง’ วิธีสอน ที่แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์ของครู ว่าครูจำนวนหนึ่ง (อาจไม่ใช่จำนวนมากด้วยซ้ำ) มีวิธีคิดและวิธีมองโลก รวมถึงวิธีคิดและวิธีจัดวางตัวเองในจักรวาลวิทยาแห่งการสอนอย่างไร
แรกสุด ต้องย้อนกลับมาพิจารณาคำว่า ‘ครู’ กันก่อน
แน่นอน คำว่า ‘ครู’ ในภาษาไทยอาจมาจาก ‘คุรุ’ หรือผู้รู้ ซึ่งมีสถานภาพที่สูงมาก เป็นสถานภาพของการได้รับความยกย่องเชิดชูว่าอยู่ ‘เหนือ’ กว่า ไม่ใช่แค่เหนือกว่าเด็กเท่านั้น แต่ในชุมชนหนึ่งๆ ครูในสภาพ ‘คุรุ’ ยังอาจเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไปด้วยซ้ำ
แต่ถ้าไปดูภาษาอังกฤษ เราจะเห็นว่าครูคือ teacher ซึ่งย่อมแปลว่าครูคือ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่ทำหน้าที่ ‘สอน’ หรือ teach นั่นเอง
ทีนี้ถ้าครูเป็นแค่ Teacher สิ่งที่ครูทำก็คือการ teach ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราคิดว่าครูคือ ‘คุรุ’ หรือผู้รู้ผู้อยู่เหนือกว่าคนอื่น ภาระหน้าที่เรามักจะโยนให้ครู ก็คือครูต้องเป็นผู้ ‘ขึ้นรูป’ (molding) ทั้งเด็กและสังคมรอบข้างด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ครูจำนวนมากยังสับสนอยู่ไม่น้อย ระหว่างการทำหน้าที่ teaching หรือสอน กับการทำหน้าที่ molding หรือข้ึนรูปเป็นแบบและเบ้าให้กับคนอื่นๆ
เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ เพราะเคยมีคนบอกว่า teaching ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็ก (หรือผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า) ส่วน molding ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนสอน (หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าในอันที่จะจัดการบังคับควบคุม)
ในงานวิจัยเรื่อง Teacher and Teaching Effects on Students Attitudes and Behaviors โดย เดวิด บาลซาร์ (David Blazar) จากฮาร์วาร์ด และแมทธิว คราฟท์ (Matthew Kraft) จากมหาวิทยาลัยบราวน์ มีคำถามอันหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ นั่นคืองานวิจัยนี้ตั้งคำถามว่า Do teachers have an impact on students’ attitudes and behaviors? คือครูมีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียนหรือเปล่า
ถ้าเราย้อนกลับมาพิจารณาครูสมัยก่อน โดยเฉพาะครูไทย คำตอบต่อคำถามนี้คือมีแน่ๆ
อย่างแรกสุด – ก็เพราะเราไม่ได้มองครูว่าเป็นแค่ teacher แต่เรามองครูว่าเป็น ‘คุรุ’ หรือผู้รู้ ดังนั้น ครูจึงต้องทำหน้าที่ ‘ขึ้นรูป’ คือเป็นแบบและเบ้าให้กับผู้คนในสังคมด้วย ซึ่งสมัยก่อน ครูทำหน้าที่เป็น ‘ต้นแบบ’ และ ‘ต้นเบ้า’ ได้ไม่ยากนัก เพราะคนสมัยก่อนไม่ได้มี ‘แบบและเบ้า’ ของความเป็นคน (models) มากมายหลายแบบนัก เคยอยู่กันอย่างไรมาร้อยปีพันปี ก็ยังคงอยู่กันต่อไปอย่างนั้น ชุมชนก็มีขนาดเล็ก
ดังนั้น ครูจำนวนมากจึงสามารถ ‘สอด’ ตัวเองเข้าไปอยู่ใน
‘มาตรฐาน’ ตามแบบและเบ้าของ ‘ความเป็นคนมาตรฐาน’
อันเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางทั่วไปได้ไม่ยากนัก
เมื่อครูกลายเป็นต้นแบบและต้นเบ้า ครูจึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูก ‘ทำให้เป็นสถาบัน’ (institutionalized) ในสังคม ครูคืออาชีพที่เป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นที่เคารพนับถือ ไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียน แต่กับชุมชนและละแวกท้องถิ่นนั้นๆ ในลักษณาการเดียวกับที่ชุมชนยกย่อง (look up to) หมอและพระ ที่ก็ถูกกระบวนการ institutionalization กระทำด้วยเหมือนกัน
ดังนั้น ครูสมัยก่อนจึงไม่ได้เป็นแค่ ‘คนทำอาชีพครู’ (หรือ teacher) แต่มีหน้าที่แบกรับศักดิ์ศรี เกียรติยศ มาตรฐานศีลธรรม ความถูกต้อง และคุณค่าของความเป็นคน (อย่างน้อยก็แบบหนึ่ง – คือแบบที่สังคมนั้นๆ เห็นว่าดีงาม) เอาไว้บนบ่าด้วย เช่น ครูสมัยก่อนแสดงออกว่าเป็นเกย์ไม่ได้ ครูสมัยก่อนแต่งตัวไม่เรียบร้อยไม่ได้ ครูสมัยก่อนจะมีพฤติกรรมนอกรีตรอกรอยใดๆ ไม่ได้เลย เสื้อผ้าต้องเนี้ยบกริบ ระเบียบจัด แบบเดียวกับภาพ ‘ครูไหวใจร้าย’ ในนิยายอย่างไรอย่างนั้น
เมื่อครูต้อง ‘แบก’ สิ่งเหล่านี้เอาไว้ ก็ช่วยไม่ได้ที่ครูจะรู้สึกว่าตัวเองต้องส่งผ่านคุณค่าพวกนี้ไปให้ศิษย์ เพราะฉะนั้น ทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘ทัศนคติ’ (attitudes) และ ‘พฤติกรรม’ (behaviors) ต่างๆ ของนักเรียน จึงมีแหล่งที่มาสำคัญจากครู เพราะครูต้องทำหน้าที่บ่มเพาะสองอย่างนี้เข้าไปในหัวจิตหัวใจและสมองของเด็ก โดยครูมักจะ ‘ถือสิทธิ’ เป็นผู้ตีความเรื่องต่างๆ ตามมาตรฐานและแบบเบ้าต่างๆ ที่ตัวเองสมาทานอยู่
ตัวอย่างเช่น ครูอาจจะเล่านิทานให้นักเรียนฟัง แล้วบอกว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ เจ้าการ ‘สอนให้รู้ว่า…’ นี้แหละ ที่จะไป shape วิธีคิด วิธีมองโลก ทัศนคติ และพฤติกรรมของนักเรียน นี่ยังไม่นับรวมทัศนคติต่อรสนิยมทางศิลปะ (เช่นครูสอนศิลปะที่ต้องทำหน้าที่ ‘ตัดสิน’ ว่างานแบบไหนดีเลว) หรือทัศนคติทางการเมืองที่แทรกซ่อนอยู่ในการสอน (โดยเฉพาะครูที่สอนวิชาแนวสังคมศาสตร์ หรือครูที่สอนจริยธรรม หรือครูประจำชั้น) หรือวิธีตีความโลกผ่านโจทย์ต่างๆ แม้กระทั่งโจทย์คณิตศาสตร์ หรือโจทย์ที่มีชอยส์ให้เลือกแล้วครูบอกว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ฯลฯ
ครูสมัยก่อนจึงมี ‘ผลกระทบ’ (impact) ต่อทัศคติ
และพฤติกรรมของนักเรียนแน่ๆ และถือเป็น ‘หน้าที่’ ที่ต้องทำด้วย
ครูจึงต้อง internalize แบบและเบ้าพวกนั้นเข้าไว้ในตัว แล้วทำหน้าที่สืบทอดส่งต่อแบบและเบ้าเหล่านั้นให้นักเรียนต่อไปเหมือนกระสือถุยน้ำลายใส่ฝ่ามือ
นี่ไม่ใช่เรื่องที่ว่า – ครูอยากหรือไม่อยากทำเท่านั้น แต่นี่คือ ‘หน้าที่’ ของ ‘ความเป็นครู’ ที่ครู ‘ต้อง’ ทำ และครูก็ภูมิใจกับมันอย่างมากด้วยซ้ำ
ครูสมัยก่อนจึงมักบอกลูกศิษย์ว่า ไม่ได้สอนแค่วิชาความรู้ แต่สอน ‘ความเป็นคน’ ให้ลูกศิษย์ด้วย
น่าเสียดายที่นั่นคือ ‘ความเป็นคน’ เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น
ในโลกยุคใหม่ตอนนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ‘แบบและเบ้า’ ของ ‘ความเป็นคน’ มันหลากหลายมาก เด็กที่เรียนกับครู ไม่ได้เจอกับที่มาของความเป็นคนเพียงแบบหรือสองแบบเหมือนเมื่อก่อน (คือไม่ได้เจอแค่กับพ่อแม่และครูเท่านั้น) แต่ต้องเจอโลกที่หลากหลายมาก แค่เปิดยูทูป ก็จะเห็นความหลากหลายของโลกในแบบที่ครูและพ่อแม่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น ถ้าเด็กชอบดูรายการ Drag Race ก็อาจมีแบบและเบ้าแห่งความใฝ่ฝันเป็น Drag ที่แต่งตัวได้เลอเลิศและแสดงออกได้เก่งกาจขบขันที่สุด ถ้าเด็กชอบเล่นเกมมากๆ ก็อาจมีแบบและเบ้าเป็นเกมเมอร์บางคน ถ้าเด็กมีแนวคิดก้าวหน้า ก็อาจมีแบบและเบ้าเป็นนักคิดสายก้าวหน้า ไม่ใช่อนุรักษ์นิยม ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้อาจไปขัดแย้งกับ ‘แบบและเบ้า’ ที่ครูสมาทานมาตลอดชีวิตก็ได้
ก็แล้วครูจะทำอย่างไรดีเล่า?
ครูยังควรจะต้องพยายามเป็น ‘คุรุ’ ที่นั่งยัดเยียดปั้นแบบและเบ้า (ที่อาจมีคนต้องการน้อยลงมากๆ หรือกระทั่งบางแบบและเบ้าก็อาจไม่มีใครต้องการเลยแล้วก็ได้) ให้กับเด็กต่อไปหรือเปล่า และบทบาทการเป็น teacher ที่พึงเป็นนั้นควรเป็นอย่างไร
คำถามที่ควรถามกันต่อไปก็คือ – เมื่อตระหนักแล้วว่า, ครูสมัยก่อนมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็ก ‘โดยหน้าที่’ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปจนครูอาจจะกว้างขวางไม่พอ ครูยังควรต้องแบกรับหน้าที่หนักอึ้งอันนั้นเอาไว้ต่อไปหรือเปล่า
นี่พูดด้วยความเห็นใจคนทำอาชีพครูนะครับ เพราะปัจจุบันนี้
ครูอาจไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจโลกได้ครบถ้วนอีกแล้ว
หรือถึงเข้าใจ ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนเขาควายของความขัดแย้งระหว่างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่หลากหลายก็ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กที่ท้องในวัยเรียนพิจารณาต้นทุนในชีวิตต่างๆ แล้วเห็นว่าตัวเองควรไปทำแท้ง ครูควรจะทำอย่างไร และมี ‘สิทธิ’ ที่จะทำอะไรได้มากแค่ไหน
เขาควายของทุกความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายของโลกสมัยใหม่ ต่างมาสุมรุมที่ครู คำถามจึงคือ – ครูควรถูกแยกออกมาจากการสอน ‘ความเป็นคน’ ไหม เพราะก็ต้องยอมรับว่า ครูเองก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป นั่นคือมีมุมมองต่อ ‘ความเป็นคน’ ที่จำกัด เรารู้จักความเป็นคนได้ก็เฉพาะสิ่งที่ preconceptions ของเราตีกรอบให้เรา ต่อให้เป็นครู ก็ไม่ใช่จะรู้จักความเป็นคนได้ทุกรูปแบบ และดังนั้น ครูจะยังควรทำหน้าที่เดิมเหมือนในโลกแบบเก่า ด้วยการยัดเยียดความเป็นคนแค่ ‘บางแบบ’ (แม้เป็นแบบมาตรฐาน) ให้กับนักเรียนอยู่ต่อไปหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม แม้คำตอบจะคือ – ไม่, ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นอยู่ดี เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจในห้องเรียนนั้น ครูคือผู้ที่อยู่เหนือกว่า ประวัติศาสตร์และหน้าที่ดั้งเดิมของ ‘ความเป็นครู’ จับครูวางไว้ในที่ทางที่เป็น ‘ผู้กำหนด’ ซึ่งก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือนักเรียน ดังนั้น ไม่มากก็น้อย ครูย่อมมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน – โดยที่ครูเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ยิ่งถ้าเป็น ‘ครูที่ดี’ หรือครูที่นักเรียนรัก (ซึ่งเราบอกไม่ได้อีกเช่นกันว่า ‘ดี’ และ ‘เป็นที่รัก’ นั้น มีนิยามอย่างไร และเป็นนิยามของใคร ใช้มาตรฐานไหนมาวัด) และนักเรียนอยาก conform กับครู ก็ยิ่งมีโอกาสมากที่ครูจะส่ง impact ทางทัศนคติและพฤติกรรมให้นักเรียน ทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมนั้นๆ ยิ่งแข็งแรงขึ้น และในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายได้ด้วย เช่น preconceptions ของทั้งนักเรียนและครูอาจสอดคล้องกันมาตั้งแต่ต้น จึงเสริมกันและกันจนในที่สุดก็ขังทั้งครูและนักเรียนเอาไว้ใน filter bubble ทางความคิด
อำนาจในห้องเรียนเป็นเรื่องซับซ้อนมาก เพราะโดยมากแล้ว ทั้งครูและนักเรียนมักไม่ได้ตระหนักถึงอำนาจพวกนี้ และอำนาจจะทำงานได้ดีที่สุด ก็เมื่อไม่มีใครมองเห็นมัน
ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาแสวงหานิยามของความเป็นครูเสียใหม่ในสังคมที่เปลี่ยนไป ก็เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ครู’ จะตกอยู่ในสภาวะพะว้าพะวัง อิหลักอิเหลื่อ และเลิ่กลั่ก อย่างที่เห็นกันอยู่ต่อไป