งานเอกสาร งานประเมิน คืองานหลัก ส่วนงานสอนนักเรียนอย่างที่หน้าที่ครูควรทำ กลับกลายเป็นเรื่องรอง
นับเป็นปัญหาที่มายาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที กับภาระงานที่มากล้นเกินไปของครู ทั้งงานประเมิน ประชุม งานประจำชั้น งานเอกสารที่ถาโถมเข้ามา ซ้ำด้วยระบบสังคมที่หล่อหลอมให้โรงเรียนมีวัฒนธรรมประจำองค์กรที่ดึงให้ครูออกห่างจากห้องเรียนไปเรื่อยๆ จนทำให้เปลวไฟที่รุนแรงของเหล่าครูรุ่นใหม่ทั้งหลาย เริ่มมอดดับลงไปทีละน้อย
The MATTER พูดคุยกับ ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ หรือ ครูมะพร้าว ผู้เคยสอนอยู่ในระบบการศึกษา แต่ต้องมาเจอกับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา ตามสภาพสังคมที่บีบให้หน้าตาของการศึกษาไม่ได้เป็นไปเพื่อการสอนเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้เข้าใจถึงภาวะที่คุณครูหมดไฟ
ตอนเด็กๆ อยากเป็นครู มาเป็นครูได้ยังไง
ก็ยากนะที่จะให้เราย้อนกลับไประบุว่าเราอยากเป็นครูตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ว่าถ้าได้ยินคำถามนี้แล้วตอบเร็วๆ ก็น่าจะมา ตอน ม.ปลาย ตอนที่เราสอนหนังสือเพื่อน ทุกพักกลางวัน เวลามีสอบย่อย สอบกลางภาค สอบปลายภาค เราจะชอบมาเล่าสิ่งที่เราอ่านให้เพื่อนฟัง ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทย์ คณิต เราไปอ่านอะไรมา เราพยายามจะย่อยไอ้สิ่งเหล่านั้น ให้ง่ายเท่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เราได้ยินประโยคจากเพื่อนแบบนี้บ่อยมาก คือ โห พร้าว ทำไมเราฟังพร้าวแล้วเหมือนง่ายจังเลย ทำไมเราไปอยู่ในห้องเรียน ทำไมเราฟังไม่รู้เรื่องเลย ก็เลยได้สกิลติดตัวมาว่า เรารับรู้ตัวเองว่าเรามีความสามารถในการพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่ยากๆ ให้เข้าใจง่าย แล้วเป็นแบบนี้ซ้ำมาเรื่อยๆ ทุกคนก็บอกแบบนี้ เราก็เลยรู้สึก เฮ้ย แล้วมีอาชีพอะไรบ้างที่สามารถพูดเรื่องที่ยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ ได้ แล้วก็ค้นพบว่า อาชีพครูเนี่ยแหละ เราเลยอยากเป็นครูตั้งแต่ตอนนั้น
แต่จริงๆ หลายคนก็เดาว่าอยากเป็นครูเพราะพ่อหรือเปล่า เพราะพ่อก็เป็นครู แต่ว่าเราคิดว่าไม่ใช่ เราอยากเป็นครูเพราะตัวเราเองเนี่ยแหละ อาจจะมีอิทธิพลเล็กน้อยแหละ คือเราเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนๆ นึง ที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนที่พ่อสอนอยู่แล้ว เราจะต้องเดินเข้าออกโรงเรียนทุกวัน เราเห็นพ่อทำงานครูแบบเนี้ย ก็รู้สึกว่าอาจจะได้อิทธิพลเล็กน้อยแหละจากพ่อ แต่ไม่ได้ขนาดนั้น ไม่ได้เห็นพ่อสอนแล้วรู้สึก โห ฉันอยากเป็นครูจังเลย น่าจะมาจากข้างในแล้วก็ประสบการณ์ที่เราเจอมากกว่า
ตอนจะมาเป็นครู ได้คุยกับที่บ้านไหม เขาว่ายังไงบ้าง
จริงๆ พ่อแม่ไม่ได้เชียร์ แต่ก็ไม่ได้ห้าม เพราะว่าคุณพ่อเป็นครู แล้วเขาก็รู้ว่าคนเป็นครูไม่รวยหรอก ให้ตายยังไงก็ไม่รวย จะมามีฐานะดีก็ตอนแก่ๆ แล้ว เขาเป็นข้าราชการ ก็ไม่ได้เชียร์ ไปเชียร์ฝั่งวิศวะ ฝั่งหมอ เขาเห็นว่าเราชอบวิทยาศาสตร์ ก็ส่งเราไปเรียนพิเศษ เราก็ไปเรียนแต่เราไม่เอนจอย รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน ลองไปเรียนที่เขาส่งไป สักพักเราเริ่มบอกกับเขาว่าเราไม่ไหวแล้ว เขาก็ถามกลับมาแหละว่าอยากเป็นอะไร เราก็บอกอยากเป็นครู
หลังจากนั้นเหมือนเขารู้แล้วแหละว่า เขาคงคุมอะไรเราไม่ได้แล้ว เพราะเราลองให้เขาแล้ว ก็เลยทำความเข้าใจกันแล้วบอกว่า โอเค จะเป็นครูใช่ไหม รู้ใช่ไหม เห็นพ่อใช่ไหมว่าเป็นแบบนี้ ยอมรับได้ใช่ไหม แล้วพูดอยู่อย่างเดียวว่า จะไม่รวยนะ ก็บอกได้ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร แต่อยากเป็นครูจริงๆ พอคุยทำความเข้าใจกัน ก็ขอเดินทางตามเส้นทางตัวเอง
ก็ต้องไปเรียนพิเศษที่เกี่ยวกับครูนั่นแหละ แล้วก็ศึกษาว่า เป็นครูต้องเรียนสาขาไหน เรียนมหาวิทยาลัยอะไร แล้วเราก็ไปตามทางของเรา เขาก็ปล่อยแล้วแหละ
มีตัวละครเกี่ยวกับครูในดวงใจไหม
ไม่มี หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวหรือว่าได้ยินพฤติกรรมชื่อเสียงของเรา เขาก็จะบอกว่าเราเหมือน แบบ GTO เลย หัวทองด้วย แต่ว่าเราไม่เคยเสพสื่ออะไรที่เกี่ยวกับครูเลย ยิ่งเป็นสื่อความเป็นครูในประเทศไทยด้วย ยิ่งแบบไม่ได้น่าเป็นครูสักเท่าไหร่ ก็คิดว่าไม่น่าจะมีผล น่าจะมาจากตัวเองล้วนล้วน
ที่บอกว่าสื่อครูไทยยิ่งไม่เสพ เป็นเพราะอะไร
เรารู้สึกว่ามันไม่ได้น่าหลงใหลในความเป็นครู ทุกๆ ครั้งที่เราเสพสื่อที่เขาแสดงภาพถึงความเป็นครูในประเทศไทย เช่น โฆษณาบางตัวที่ทำออกมาทุกปี หรือว่าเหมือนภาพลักษณ์ของคนเป็นครู คือความเสียสละ คือความอุทิศตน ต้องขึ้นไปบนป่าเขา ยอมเจ็บป่วย ยอมสละเงินทุนทรัพย์ตัวเองเพื่อช่วยเด็ก เราไม่ได้ชื่นชมตรงนั้น เราชื่นชมการเป็นครูที่มีความเป็นมืออาชีพ สอนได้ดี คุมชั้นเรียนได้ดี นักเรียนเรียนเข้าใจ นักเรียนเติบโตจากการทำงานของเรา เราไม่ได้ชื่นชมกับการที่ฉันจะต้องไปเป็นครูบนดอย ฉันจะต้องไปหาเด็กยากจนยากไร้ที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและจะต้องไปช่วยเขา ซึ่งส่วนใหญ่ไทยทำแบบนั้นเยอะ
พอได้มาเป็นครูตอนนี้ เป็นยังไงบ้าง ช่วงทดลองสอนก่อนก็ได้ว่าเป็นยังไงบ้าง
จริงๆ ถ้าคนเรียนครูจะได้เริ่มทดลองสอนตั้งแต่ตอนที่เราเรียน ครูเรียน 5 ปี 4 ปีแรกไม่ค่อยได้สอนหรอก ก็คือจะเรียนอยู่ในคณะเรียนวิชาการอะไรแบบนี้ แต่ปีที่ได้สอนหนักๆ ก็คือปีที่ 5 ที่เขาเรียกว่าฝึกสอน ตอนที่เราไปฝึกสอนเราก็รู้สึกว่า คลิกนะ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำในอนาคต เรารู้ตัวเองชัด ณ ตอนนั้นแหละ
แล้วก็อีกอันหนึ่งคือ ตอนที่ไปค่ายกับทางมหาวิทยาลัย ไปช่วยเด็กต่างจังหวัด ไปโรงเรียนที่ยากไร้ แล้วก็ไปสอนเด็กๆ จัดกิจกรรมต่างๆ เราเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เราก็ไปจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไปทำจรวด ไปทำการทดลองทำ sci-show พวกนี้ เราก็ว่าเราคลิก เราสนุกที่ได้ถ่ายทอดความรู้
แล้วพอได้เป็นครูจริงๆ เป็นยังไง
พอได้เป็นครูจริงๆ มันมี 2 จังหวะ จังหวะที่แรกก็คือตอนที่ได้ฝึกสอนเลย อย่างเรา ตอนเป็นนิสิตฝึกสอน รู้สึกแฮปปี้มากเลย หลงใหลมาก เพราะถ้าเป็นนิสิตฝึกสอน เราจะได้สอนแค่สัปดาห์ละ 10-12 คาบ หารมาวันหนึ่ง แค่วันละ 2 คาบ มากสุด 3 คาบ เราก็เลยบอก โอ้โห วันละ 2 คาบ แล้วตารางสอนของนักเรียน เรียนวันละเจ็ดคาบ แล้วสอน 2 ใน 7 คาบ 5 คาบที่เหลือ เรานั่งครีเอทกิจกรรมเปิดเว็บนู้นเว็บนี้ไปดูว่าเขาสอนกันยังไง ศึกษาเนื้อหาแบบละเมียดละไมเลย ตรงนี้เราจะพูดว่ายังไงดี เดี๋ยวสเต็ปตรงนี้เราจะพานักเรียนเข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ยังไงดี ตรงนี้ใช้เกมอะไรดี
เพราะฉะนั้น ตอนที่เราเป็นนิสิต เรามีเวลาเตรียมตัวเยอะมาก เรามั่นใจ เวลาออกไปหน้าห้องเรียนแบบมั่นใจ ทุกอย่างมันดีไปหมด เราก็เลยมีความสุขมากมากกับตอนที่ได้เป็นนิสิตฝึกสอน แม้ว่าจะไม่ได้เงินเดือนก็ตาม แต่ก็คือเป็นงานแบบที่เราชอบ มันคือสิ่งที่เราคิดเอาไว้เลย
แล้วพอเป็นนิสิตฝึกสอน ก็ว่างใช่ไหม นักเรียนจะเข้าหาเยอะมาก ด้วยความที่วัยเรากับวัยเขาไม่ต่างกันมาก เราสอน ม.ต้น ก็ต่างกันไม่ถึง 10 ปี เหมือนเป็นพี่คนหนึ่ง เขาก็เข้ามาคุยกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความรักก็เข้ามาคุยนะ อาจารย์หนูอกหักทำยังไงดี หรือว่ามาคุยเรื่องการ์ตูน ชวนเล่นเกม บางคนก็เป็นติ่งเกาหลี ก็มาเต้นหน้าโต๊ะเราเลย คือก็มาเฮฮา เรามีความสุขมาก เราได้ทั้งมิติของการสอน แล้วก็มิติของนักเรียนที่เป็นมนุษย์จริงๆ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นหลักฐานหนึ่งที่เขาน่าจะอยากรู้จักเรา แล้วเราก็วางตัวให้เขาสามารถเข้าหาได้ เป็นหนึ่งปีที่แฮปปี้มากเลย
แล้วต่อมาเป็นยังไง
ก็ได้เป็นครูแหละ เข้าไปทำงานในเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง พอได้เข้าไปทำงานครูจริงๆ เนื่องจากเป็นโรงเรียนสาธิต ก็ดีเพราะว่าระบบมันดี ไม่ได้เป็นระบบราชการ ไม่ได้เฉื่อยชามากขนาดนั้น ครูใหม่ที่เข้าไปคาบสอนก็ยังน้อยอยู่ แต่พอเป็นครูเริ่มสอนวันละ 3 คาบ สอนวันละ 4 คาบ เวลาเตรียมตัวเริ่มน้อยลง แทนที่จะได้เตรียมเยอะๆ สอนน้อยๆ กลายเป็นเริ่มสอนเยอะ เตรียมตัวเริ่มน้อย
แล้วนอกจากเริ่มสอนเยอะแล้ว คนที่เป็นคุณครูจริงๆ ในที่ไม่ใช่ฝึกสอน จะมีงานอื่นแทรกเข้ามาเต็มไปหมดเลย คุณต้องโดนประเมิน คือนิสิตก็โดนประเมินแหละ แต่ว่าคุณครูจะโดนประเมินที่เอกสารเยอะกว่า ซับซ้อนกว่า คุณต้องมีงานอบรม อบรมอาจารย์ใหม่ คุณต้องไปดูระบบวัดประเมินของโรงเรียน คุณต้องมีงานประจำชั้น วันนี้เด็กมากี่คน ขาดกี่คน ลากี่คน ป่วยกี่คน มีงานเอกสารเยอะแยะมากมายเลย มีงานทะเบียน เก็บดูคะแนนนักเรียน มีการบันทึกอีกว่า เฮ้ย วันนี้โฮมรูมเรื่องอะไร จดบันทึก กระดาษมันถาโถมเราไปหมด สอนเยอะ ภาระงานเยอะ มีงานประชุมอีก ไม่ได้มีแค่ประชุมครั้งเดียวนะ มีประชุมในฐานะของครูสอนวิชา ประชุมในฐานะของครูที่อยู่ในระดับชั้นนั้น และประชุมในฐานะของครูที่อยู่ในโรงเรียนนั้นด้วย
แทนที่เราจะได้โฟกัสกับงานสอน เราไปโฟกัสว่า เอกสารนี้เราทำเสร็จรึยัง เดดไลน์วันนี้แล้วเรายังไม่ส่งเลย หรือเอกสารนั้นเขาจะประเมิน เราเตรียมเอกสารพร้อมหรือยังแบบนี้ จนเราหลุดโฟกัส
แต่ว่าปีแรกเราโชคดี เพราะว่าตอนเป็นนิสิตก็สอนระดับชั้นนี้ แล้วพอมาเป็นคุณครูก็สอนระดับ ระดับชั้นเดิม ก็ทำให้เรารียูสกิจกรรมที่เคยใช้ตอนเป็นนิสิตกลับมา ก็ยังคงแฮปปี้อยู่ แล้วก็โชคดีได้ครูคู่ชั้นที่ดีที่ คอยซัพพอร์ตกันไป แต่ว่าเริ่มเหนื่อยแล้ว เริ่มจะไม่ไหว เริ่มคิดว่า ทำไมหนักขนาดนี้ พอมาตอนสอนปีที่สอง เป็นครูเต็มตัวปุ๊บ ไม่ได้อยู่ในฐานะของครูใหม่แล้ว อยู่ในฐานะของครูที่ผ่านโปรเรียบร้อยแล้ว คาบสอนเยอะขึ้นไปอีก ภาระเพิ่มขึ้นไปอีก คุณผ่านโปรแล้วใช่ไหม งั้นคุณอยู่ในฐานะของผู้ประสานงาน คุณต้องคอยประสานงานคนนู้นคนนี้ อบรมมากขึ้นอีก ทำเอกสารมากขึ้นอีก ได้เป็นเลขาอีก หนุ่มน้อยร้อยตำแหน่ง
แล้วมันน่ากลัวตรงที่ ยิ่งเขาเห็นว่าเราทำได้ เราก็จะยิ่งได้ทำ เราก็เลยเริ่มไม่ได้โฟกัสกับงานสอน มาโฟกัสกับอะไรก็ไม่รู้ พอไม่ได้โฟกัสกับงานสอนปุ๊บ เราไปสอนจริงๆ เราไม่มั่นใจ เหมือนคนออกไปพูดหน้าห้องโดยที่ไม่ได้เตรียมตัว ทุกอย่างมันดูกลัวไปหมด เด็กจะเข้าใจไหม ทำไมเด็กขมวดคิ้วแล้ว ทำไมสีหน้าเป็นกังวล ปกติเด็กจะรู้กันดีว่า ถ้าเรียนกับครูมะพร้าว แทบจะไม่มีวันไหนที่ไม่ได้ออกนอกห้องเรียน เดี๋ยวได้ไปวิ่งตรงนี้ ทำกิจกรรมตรงนี้ เล่นเกมตรงนี้ มีโต๊ะวาทีกัน มีนำเสนอ กลายเป็นว่ามารู้ตัวอีกที ปีที่สองเราบรรยายหมดเลย เราหาสไลด์มา แล้วก็พูดๆ เขียนๆ เราก็รู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว แล้วก็เราไม่ได้มีเวลาเตรียมตัว ไม่ได้มีเวลาโฟกัสเลย แล้วก็เริ่มสอนผิดเยอะขึ้น เพราะเราไม่ได้มีเวลาทบทวน ต้องไปขอโทษนักเรียนอีกว่า เฮ้ย ตรงนี้เราสอนผิด ขอแก้หน่อย นี่ขนาดโรงเรียนสาธิตที่สอนน้อยกว่าชาวบ้านเขาแล้วนะ
ที่บอกว่าสอนเยอะขึ้นคือเท่าไหร่
อย่างน้อย 3-4 คาบ ถ้าสอน 4 คาบคือเริ่มหมดแรงแล้ว วันไหนที่ต้องสอน 4 คาบ วันนั้นรู้เลยว่าต้องอัดกาแฟแล้ว อัดขนม อัดให้ได้เยอะที่สุด เพราะมันเกินกำลัง
แต่เราเคยเจอแบบเพื่อนเราที่อยู่โรงเรียนรัฐ สมมุติตารางสอนมี 7 คาบ 5 วัน เพื่อนเราสอน 7 คาบ 4 วัน อีกวันหนึ่งสอน 6 คาบ คือในตารางสอนมีช่องโหว่อยู่ช่องหนึ่ง แล้วเพื่อนเราดอกจันไว้ว่าเป็น ‘เวลาพักผ่อน’ เราก็เลยนึกว่า นี่ขนาดตัวเราอยู่โรงเรียนสาธิต โดนวันละ 4คาบยังเหนื่อยขนาดนี้เลย แล้วเพื่อนที่อยู่โรงเรียนรัฐล่ะ นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าเยอะสำหรับเรา
เห็นให้สัมภาษณ์กับมนุษย์กรุงเทพฯ ไว้ว่า เคยมีครูพี่เลี้ยงบอกว่า ในช่วงที่ฝึกสอน เป็นช่วงเวลาที่ดี
ใช่ จริงๆ ครูพี่เลี้ยงเขาก็เห็นศักยภาพเราแหละ เหมือนเขาเห็นว่าเราไฟแรง เราเตรียมกิจกรรมทุกคาบเด็กรักมาก เรียกแต่ครูมะพร้าว ครูพี่เลี้ยงก็เดินเจ้ามาชมเรา บอกว่า เก่งมาก เตรียมตัวขนาดนี้ แต่เขาก็บอกว่า “ให้เก็บเกี่ยวเวลาเหล่านี้ไว้ให้ได้เยอะที่สุดนะ พร้าว ช่วงเวลานี้ดีมากเลย แต่ว่าถ้าโตขึ้นไปมีอายุงานมากกว่านี้ พร้าวคงไม่ได้มีประสบการณ์แบบนี้แล้วแหละ พร้าวคงไม่ได้มีเวลาเตรียมตัว ทำกิจกรรมขนาดนี้ พร้าวคงหลุดโฟกัสแล้วแหละ”
เราก็ไม่เชื่อไง เพราะตอนแรกเราทำได้ คิดว่าฉันทำได้ ฉันเป็นครูไฟแรง ฉันจะต้องเตรียมตัวทุกคาบสอนให้ดีที่สุด แต่พอมาถึงวันที่ครูพี่เลี้ยงบอกไว้ ใช่ ครูทุกคนโดนดึงความสนใจออกจากห้องเรียนหมดเลย แล้วก็ไปสนใจอะไรอยู่ก็ไม่รู้ สุดท้ายคนที่ซวยก็คือเด็กนั่นเอง
ตอนนี้ได้กลับไปคุยกับครูคนนั้นไหม
คุยกันเรื่องอื่นแล้ว ไม่ได้คุยเรื่องนั้น เหมือนพอระยะเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เรายิ่งเหมือนกันเรื่อยๆ แล้วยิ่ง ไปสนใจอะไรอื่นๆ ที่ไม่ใช่นักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วครูทุกคนก็จะอยู่ในสถานะเดียวกันคือ ไปวนละเวงอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับในห้องเรียนเลย แล้วทุกคนก็จะมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องแบบปกติ ใครๆ ก็เป็นกัน แล้วไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน
พอได้เห็นพ่อสอนอยู่ในโรงเรียนรัฐ เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เลือกสอนโรงเรียนสาธิตแทนหรือเปล่า
ก็มีส่วน จริงๆ เราไม่ชอบระบบราชการมาตั้งแต่แรกแล้ว เราเดาว่า ตอนเด็กๆ พ่อก็คงเหมือนเราแหละ เพราะแม่เล่าให้ฟังวา พ่อเป็นคนที่มีความคิดไม่เหมือนกัน เป็นเหมือนคนไฟแรง กล้าพูดกล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ แล้วสุดท้ายแม่ก็พูดว่าแต่พ่อก็โดนระบบกลืนไป เราก็ไม่อยากเป็นเหมือนพ่อ
แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เงินเดือนน้อย พูดตรงๆ เริ่มที่ 15,800 บาท เอาอะไรมากิน ค่าหอปาไปแล้ว 5,000 บาท เหลืออยู่หมื่นเดียว เราเป็นวัยรุ่นยุคทุนนิยม เราอยากใช้เงินเยอะๆ เราอยากเป็นครูที่ที่ได้มีความสุขกับการสอนด้วยแล้วก็ได้มีเงินเยอะเยอะด้วย เลยหาโรงเรียนที่ได้เงินเดือนเยอะ และไม่ได้อยู่ในระบบราชการ ก็เลยมองหาสาธิตกับเอกชน สุดท้ายก็มาโรงเรียนสาธิตตามใจอยาก
แต่สิ่งที่เจอในโรงเรียนก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี
เราคิดว่า ระบบราชการก็เป็นส่วนหนึ่งที่มันไม่เวิร์ก แต่สิ่งที่ไม่เวิร์กยิ่งกว่า คือระบบภายในองค์กรโรงเรียน ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนสาธิต โรงเรียนเอกชน เราไม่เคยอยู่โรงเรียนเอกชน แต่ว่าเคยมีเพื่อนอยู่ที่โรงเรียนเอกชน ก็มานั่งคุยกัน เราเป็นตัวแทนฝั่งสาธิต เพื่อนเอกชน แล้วก็มีคุณครูรัฐมานั่งคุยกัน ทุกคนต่างตกใจว่า เฮ้ย เหมือนกันหมดเลยว่ะ ไม่มีไม่มีความต่างเลย แม้ว่าระบบฐานเงินเดือน ระบบสวัสดิการจะต่างกัน แต่วัฒนธรรมภายในองค์กรในระบบการศึกษากลับเหมือนกันหมดเลย
ก็น่าแปลกใจว่าทำไมถึงเหมือนกันขนาดนี้ ซึ่งจะตรงข้ามกับการรับรู้ของคนในสังคมเลย คนมองว่า เฮ้ยโรงเรียนสาธิต โรงเรียนเอกชน ต้องดีมากๆ แน่เลย ต้องอิสระ เปิดกว้าง มีคุณภาพ เราเชื่อว่าโรงเรียนรัฐบางแห่งดีกว่าโรงเรียนสาธิตบางแห่ง หรือโรงเรียนสาธิตบางแห่งก็ดีกว่าโรงเรียนรัฐบางแห่ง คือดูเป็นโรงเรียนน่าจะดีกว่าการเหมารวมว่า สาธิตดีหมด เอกชนดีหมด
คิดว่าเป็นเพราะอะไรระบบวัฒนธรรมในองค์กรการศึกษาถึงเหมือนกันหมด
น่าสนใจเหมือนกันนะ ว่าทำไมถึงเหมือนกันขนาดนี้ ด้วยความเป็นระบบรัฐราชการ แต่ทำไมสาธิตกับเอกชนถึงออกมาหน้าตาเดียวกัน ก็เลยนึกถึงคำพูดหนึ่งได้เรียนมาจากในคณะ เขาบอกว่า หน้าที่ของโรงเรียนคือการจำลองสภาพจริงในสังคมออกมาให้ได้เหมือนที่สุด เพื่อเวลานักเรียนใช้ชีวิตในโรงเรียน แล้วออกไปเจอสังคมจริงๆ เขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่ได้ นี่น่าจะเป็นจุดร่วมของโรงเรียนทุกระบบ มันพยายามจำลองภาพจริงว่าสังคมเราเป็นยังไง แล้วก็ทำหน้าที่ได้ดีนะ เราบอกเลย ถ้าข้างนอกเละเทะยังไง มันก็จำลองความเละเทะให้อยู่ในโรงเรียนได้ ข้างนอกมีระบบอาวุโส มีระบบอำนาจนิยม ก็จำลองพวกนั้นมาอยู่ในโรงเรียน
เราก็เลยคิดจุดร่วมของทุกระบบโรงเรียน ก็มาจากหน้าตาของสังคมภายนอกที่เหมือนกัน แล้วคำถามคือ ใครไปทำงานอยู่ในโรงเรียนก็คนในสังคมเนี่ยแหละ ที่เข้ามาทำงานในโรงเรียน มันเลยไม่ความแตกต่าง เพราะว่าคนมาจากในสังคมเดียวกัน
พอสังคมเป็นแบบนี้ก็ไม่แปลกว่าทำไมโรงเรียนถึงก๊อปปี้ระบบนี้มา เพราะถ้าโรงเรียนสอนว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีลำดับชนชั้น โรงเรียนก็จะถูกตั้งคำถามว่าคุณกำลังล้างสมองเด็กหรือเปล่า สังคมเขามีระบบชนชั้น แต่คุณกลับสร้างเด็กนักเรียนที่เชื่อในความเท่าเทียม คุณจะโดนโรงเรียนบีบจนต้องทำซ้ำสิ่งที่เขาต้องการไปเรื่อยๆ
พูดถึงเรื่องอำนาจนิยม เล่าได้ไหมว่าตอนเป็นครูเจอปัญหานี้ยังไงบ้าง
ตอนแรกเราเป็นคนที่อยู่กับอำนาจนิยมได้ดีมากๆ เป็นคนแบบปากหวาน เป็นลูกรักของอาจารย์ แต่พออยู่เรื่อยๆ เราเริ่มเห็นหน้าตาของมัน ระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน มีอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือ อำนาจนิยมในตำแหน่ง คือตำแหน่งในโรงเรียนจะแบ่งเป็นชนชั้น ไล่ไปตั้งแต่ครูใหม่ ครูทั่วไป ครูหัวหน้าหมวด ครูหัวหน้าระดับชั้น มีฝ่ายบริหาร วิชาการ อำนวยการ
แบบที่สองคือ อำนาจตามอายุงาน เช่น คนเป็นครูอายุน้อย เป็นครูน้องใหม่ก็ต้องฟังครูพี่ๆ ที่เขาอยู่มาก่อน และแบบที่สามคือ อำนาจแบบวัฒนธรรมองค์กร คือเวลาเราเข้าไปใหม่ๆ เขาจะบอกว่า เราอยู่กันแบบครอบครัว แบบพี่น้อง ตอนแรกมีคนหลงแล้วก็ติดกับดักกับวัฒนธรรมแบบนี้เหมือนกันนะ เราเป็นน้องเขา พี่ต้องรักเรา หรือเราเป็นลูก เขาจะต้องเอ็นดูเรา
แต่จริงๆ แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสถาปนาว่าในองค์กรนั้นเป็นครอบครัว ต้องมีคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้วมีคนเป็นลูก แล้วคนเป็นลูกศักดิ์ต่ำกว่าก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ หรือเป็นพี่น้อง มันต้องมีคนเป็นพี่ แล้วก็ต้องมีคนเป็นน้อง แสดงว่าน้องต้องเชื่อฟังพี่ น้องพูดอะไร พี่จะชนะ ลูกพูดอะไร พ่อแม่จะชนะ
ทั้งหมดนี้ส่งผลกับการทำงานยังไง
สมมติมีนโยบายของโรงเรียนมา ตำแหน่งที่สูงก็จะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจมากกว่าตำแหน่งที่ต่ำกว่า อย่าง เราเป็นครูงี้ เราจะไปค้านกับฝ่ายบริหารเหรอ เราพูดไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะเขากุมอำนาจที่เหนือกว่าเราอยู่แล้ว ฉะนั้น ทุกๆ นโยบายที่ออกมาเราต้องรับฟัง ทำตามแบบไม่มีเงื่อนไข
มีคนเคยสอนเราว่าเวลาที่ผู้บริหารพูดอะไรออกมา อันนั้นแหละเด็ดขาดของจริง และอย่าไปตั้งคำถาม เขาคิดมาดีแล้ว เราเป็นครูผู้น้อยต้องเชื่อฟังเขา เพราะฉะนั้นเวลามีนโยบายอะไรที่ขัดใจเรานะ ก็จะค้านยาก ถึงค้านไปก็จะมองว่าก้าวร้าว แม้ว่าจะพูดด้วยเหตุและผลก็ตาม
ส่วนอำนาจนิยมแบบพี่น้องครอบครัว ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตในโรงเรียน เช่น มะพร้าวอย่าแต่งชุดแบบนี้นะ แต่งกายไม่สุภาพเลย เดี๋ยวพี่จะสอนให้ เราเป็นคนตัวเตี้ย แล้วเราชอบใส่กางเกงขาเต่อ เพราะคิดว่าเราตัวเตี้ยแล้วเราไม่อยากใส่กางเกงขายาวรุ่มร่าม มันยิ่งทำให้เราดูเตี้ย เราไม่มั่นใจ เราไม่ชอบใส่เสื้อมีปกเพราะรู้สึกว่ามันดูทางการเกินไป เราก็แต่งตัวตามสไตล์ของเราอย่าง แต่วัฒนธรรมครอบครัวนี่แหละ มันคือการที่พี่พยายามบอกน้องว่า แต่งตัวแบบนี้ไม่ได้นะ สีผมแบบนี้ไม่ได้นะ
เราเคยสนิทกับนักเรียนมากๆ จนนักเรียนที่ตัวใหญ่กว่าเรา อุ้มเราเลย ขี่หลังกันอย่างงี้ ซึ่งเรามีความสุขมากนะ มันแสดงให้เห็นว่าเราสนิทกับเด็กจริงๆ แต่เราโดนเตือนว่า ทำแบบนี้เด็กจะไม่เคารพนะ เด็กจะเล่นหัวเรานะ แล้วจะคุมชั้นเรียนได้เหรอ จนมีการเอาเราไปนินทาต่อด้วย ทั้งที่ไม่เคยมาดูเราสอน
และความจริงเราเอาตรงนี้มาคุมชั้นเรียนได้ดีมากเลย เวลาเราบอกเด็กว่า ตรงนี้เงียบก่อนนะ เด็กก็ฟัง เพราะเหมือนเพื่อนคุยกัน ก็รู้กันว่า อันนี้ไม่โอเคแล้วนะ ไม่ใช่การที่ครูที่มีอำนาจมากกว่ามาดุว่า เฮ้ย เงียบเดี๋ยวนี้นะ แบบนั้นเด็กจะไม่โอเค เขาจะรู้สึกว่า มันไม่แฟร์กับคำพูดของครู
นอกจากนี้ก็มีเรื่องวัฒนธรรมพี่น้อง เราเคยเสนอว่า เราอยากสอนแบบนี้ เขาบอกว่าไม่ดีเคยทำมาแล้ว หรือเราอยากประเมินเด็กด้วยวิธีอื่น ไม่อยากสอบ อยากใช้เกมในการประเมินแทน เขาก็จะบอกว่า ไม่เอาๆ ไม่เวิร์กหรอก ก็จะส่งผลต่อการดีไซน์ห้องเรียนของเราว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง
เคยชนออกไปตรงๆ ไหมว่า เราจะทำแบบนี้นะ
เคย ก็ไม่เป็นผลดี เคยแบบพูดไปว่า แต่ผมขอทำแบบนี้นะ ผมอยากทำจริงๆ ผมคิดว่าน่าจะเป็นผลดี สุดท้ายก็จบลงที่ งั้นเธอก็ทำไปคนเดียว รับผิดชอบไป ซึ่งเราโอเคนะแบบนี้ อันนี้คือแบบซอฟต์ที่สุด คือเขาปล่อยให้เราไปทำ
แต่แบบที่ชนตรงๆ มีการโทรมาเตือนบ้าง เช่น ทำไมถึงพูดแบบนั้นไปในที่ประชุมล่ะ ก้าวร้าวนะ เขาจะชอบใช้คำว่า ไม่เหมือนมะพร้าวสมัยก่อนเลย มะพร้าวสมัยก่อนน่ารักกว่านี้ ตามใจครูมากกว่านี้ มะพร้าวสมัยนี้ดูก้าวร้าวจังเลย พอโดนเตือนแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อะ ทำให้เราหมดความมั่นใจเหมือนกันนะ เพราะเรายืนอยู่บนหลักการว่าเราอยากทำให้นักเรียนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แต่การพูดแบบนั้นในที่ประชุมกลับทำให้เราโดนเตือนมาหลังไมค์ แล้วมีการเอาไปพูด นินทากัน เราก็ไม่ค่อยโอเค self-esteem ก็เริ่มลดลง เริ่มตั้งคำถามว่า เราทำถูกจริงๆ ไหมนะ ถึงแม้ว่าเราจะทำถูกก็ตาม แต่พออยู่ในสังคมที่เป็นแบบนั้น ก็เริ่มคิดว่า เราอาจจะทำผิดก็ได้ ความมั่นใจเริ่มลดลง
นอกจากเรื่องนี้แล้ว มีอะไรอีกไหมที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาในการทำงานครู
ถ้านึกเร็วๆ ตอนนี้ก็มีเรื่องสอนออนไลน์ เป็นฝันร้ายของเราเลย ช่วงสอนออนไลน์ใหม่ๆ ทุกคนจะมีความสุข ได้อยู่บ้าน ได้ทดลองวิธีการสอนใหม่ๆ อย่างเราอุปกรณ์พร้อม เราก็เซ็ตทุกอย่างเรียบร้อยเลย มีเกม มีแรงจูงใจ มี sound effect มาเล่น
แต่พอเริ่มยาวนาน ติดต่อกันเรื่อยๆ จากหนึ่งเดือน เป็นสองเดือน เป็นครึ่งปี เป็นปีกว่า เด็กเริ่มหมดพลังงาน เด็กไม่เปิดกล้องแล้ว เด็กล้า แต่จะบอกไว้ก่อนว่าเราเข้าใจเด็ก เขาล้า เขาเรียนวันหนึ่งกี่คาบ อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม มันไม่แปลก แต่ในมุมครูมันเหมือนฝันร้ายจริงๆ นะ เราตื่นมาคุยกับใครก็ไม่รู้ กดเปิดห้อง สวัสดีครับนักเรียน เป็นยังไงบ้างครับ เฮฮาอยู่คนเดียว ไม่มีใครตอบ บางคนตอบมาแค่ในแชท มันหมดกำลังใจ
ทำแบบนั้นติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนมาวันนึง เราสอนไปเด็กก็ปิดหน้าจอกันหมดเลยนะ แล้วเราลืมแชร์หน้าจอ เราพูดไป 20 นาทีแล้ว เพิ่งมาสังเกตตัวเองว่าไม่ได้แชร์หน้าจอ ไม่มีใครทักเลย นักเรียนก็ไม่ทัก เราก็ถามเด็กไปว่า แล้วหนูเรียนอะไรกันอยู่ หนูทำไมไม่บอกครู จริงๆ หนูบอกครูได้นะ ครูจะได้แชร์หน้าจอ ก็ไม่มีใครตอบอีก เอ่อ เราก็โอเค งั้นเดี๋ยวแชร์หน้าจอแล้วไปกันต่อนะ ตอนนั้น ใจเราวูบไปแล้วนะ แต่ก็สอนต่อจนจบคาบ
พอจบคาบวันนั้นเรานั่งทิ้งตัวเลย เราทำอะไรอยู่วะ มีคนอยู่กับเรากี่คนกันแน่ มันมีคนเรียนจริงๆ ไหม ที่เราทำอยู่มันใช่จริงๆ ไหม กับการสอนที่เราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย 70% ของการสอนหมดไปกับการพูด การทำโจทย์ มันขัดกับคุณค่าที่เรายึดถือแล้ว เรานั่งร้องไห้โฮเลย แบบไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ได้อยากเป็นครูแบบนี้
ประกอบกับอำนาจนิยมและงานภาระงานที่วุ่นวายเข้ามาตอนออนไลน์ครูต้องแอคทีฟ 24 ชั่วโมงเลย ไลน์เด้งตอนเที่ยงคืนบ้าง จนพอแล้ว เราแตกสลายแล้ว ก็น่าจะเป็นจุดนึงที่ทำให้เราอยากหยุด
เหมือนกับว่า สิ่งที่เราฝันไว้ ไม่ตรงกับความเป็นจริง?
ก็ใช่ ความฝันคือสิ่งที่เราให้คุณค่า เราให้คุณค่ากับการที่เด็กมาเรียนอยู่ในห้อง มาพูดคุยกัน ถกเถียงกัน มีเสียงหัวเรา เราเสพติดความเป็นครูจากการที่เราพูดอะไรแล้วเราเห็นว่า นักเรียนคนนั้นตาเป็นประกาย สายตาเขาแสดงออกว่าเข้าใจเรา อันนั้นคือการหล่อเลี้ยงอาชีพของการเป็นครูของใครหลายหลายคนเลยนะ มันหล่อเลี้ยงจิตใจเรา ไม่ว่าจะเหนื่อยขนาดไหนนะ เงินเดือนจะน้อยขนาดไหนนะ ให้ไปเจอแบบนั้นทุกวันก็สู้นะ แต่พอเป็นออนไลน์ เราไม่เห็นหน้าเด็กเลย เราเล่นมุกไปก็ขำอยู่คนเดียว บางคนก็ไม่เดือนร้อนนะ แต่เราให้คุณค่ากับสิ่งนี้ ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ ความร่าเริง การหัวเราะ พอคุณค่านี้หายไป เลยตั้งคำถามว่า แล้วฉันอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร
ได้คุยกับเพื่อนครูบ้างไหม เขาเจอปัญหาที่ทำให้หมดไฟเหมือนกันหรือเปล่า
ไม่รู้ว่า echo chamber ไหม แต่เรารู้สึกว่าช่วงนี้ครูลาออกเยอะ ประกอบกับกระแสทำไมครูไทยอยากลาออกเริ่มโหมกระหน่ำมากขึ้น เริ่มมีคนลาออกจากข้าราชการ ลาออกจากความเป็นครู แล้วก็มาเขียนระบายในเฟซบุ๊กคนแชร์เป็นหมื่น ซึ่งพอคุยกันก็มีจุดร่วมหลายอย่างนะ อย่างแรกก็อาจจะเป็นเรื่องเงินเดือน ไม่ไหวกับค่าครองชีพ ส่วนมากแล้วคนที่เป็นครูต้องบ้านรวยก่อน เพราะว่าทุกอย่างมาซัพพอร์ตถึงจะเป็นครูได้อย่างสบายใจ
มีเรื่องคุณค่าที่เรายึดถือด้วย มหาวิทยาลัยสอนมาว่า ครูต้องให้นักเรียนได้ทำกิจกรรม ได้เรียนรู้ เติบโต แลกเปลี่ยน แต่พอมาอยู่ในโรงเรียนจริงๆ ไม่มีใครทำแบบนั้นเลย คนที่ทำมักถูกมองเป็นตัวประหลาด บางคนโดนแซวว่า เวอร์ ทำไมต้องสอนอลังการขนาดนั้น เปิดหนังสือก็ได้ เหมือนพยายามเป็นคนบ้าอยู่คนเดียวในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่เอาอะไรกันแล้ว
พอเกิดความแปลกแยก หลายคนก็เริ่มรู้สึกว่า เขาไม่มีความสุขที่จะอยู่ตรงนั้น เริ่มกลายเป็นคนที่ไม่ชอบไปเรื่อยๆ กิจกรรมเริ่มไม่เอาแล้ว กลายเป็นเปิดหนังสือสอนอย่างเดียว เพราะไม่มีใครทำกันเลย
มีเรื่องเงินเดือน เรื่องรูปแบบการสอน คุณค่าที่ยึดถือ เรื่องของการโดนดึงออกจากห้องเรียน หลายคนโดนดึงไปเสิร์ฟน้ำ ไปจับผ้าจีบ ไปต้อนรับคณะกรรรมการ ไปยืนพนมมืออยู่หน้าโรงเรียน แล้วก็คณะกรรมการเดินผ่านไปมา ทั้งที่นั่นเป็นคาบสอนของเขา ก็เริ่มมีแรงต้านในใจว่า เกิดอะไรขึ้น ทั้งที่เราควรที่จะอยู่กับนักเรียน ทำไมเรามายืนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่มีประโยชน์อะไรต่อตัวนักเรียนเลย
เขาเริ่มได้เห็นว่า เอกสารที่ส่งไป ไม่ได้มีความหมายจริงๆ เช่น เขาอยากประเมินว่าเราสอนดีไหม เขาไม่เคยมาดูเราเลย แต่เขากลับเรียกเอกสารอะไรก็ไม่รู้เยอะไปหมด แล้วเรียกไปก็ไม่ได้ตรวจ เช็คเฉยๆ ว่าส่ง แล้วก็ผ่าน ถ้าไม่ส่งก็ไม่ผ่านประเมิน
หลายคนเริ่มรับรู้ได้ว่า ไม่จำเป็นต้องทำงานจริงๆ ก็ได้ แค่ไปยืนถ่ายรูปก็พอ เพราะว่าเขาตรวจดูแค่รูปของคุณ เขาไม่มาดูหน้างานคุณจริงๆ ทั้งหมดนี้ขัดกับคุณค่าของครู ขัดกับความเชื่อที่ครูเรียนมา มันเริ่มสะสม แล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะระเบิดออกมาตอนไหน
แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็มองว่า ครูในโรงเรียนรัฐจะได้รับสวัสดิการดี
คนที่เข้าทำงานครูหลายคนไม่ได้อยากเป็นครู เขาอยากได้สวัสดิการรัฐ เขาอยากได้สวัสดิการเพื่อเอาไปดูแลพ่อแม่ อยากได้สิทธิรักษาฟรี มีเงินบำนาญ บำเหน็จตอนเกษียณ ไม่ลำบาก มีความมั่นคง ให้ตายยังไงก็ไม่โดนไล่ออก ซึ่งถามว่ามีไหม มี แต่จะไปสบายทีเดียวตอนแก่ แต่มุมเรา เรารู้สึกว่า เราบริหารเงินด้วยตัวเองได้ เรามีความรู้ทางการเงิน เราลงทุนเองได้
อีกอย่างที่เป็นปัจจัยคือ รัฐสวัสดิการของประเทศไทย เรารู้สึกว่า รัฐสวัสดิการของประเทศเราเวลามันห่วย มันไม่ใช่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ก็เลยทำให้มีคนแค่บางกลุ่มที่ได้รับรัฐสวัสดิการขณะเป็นข้าราชการ
นี่เลยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูไทยลาออก?
ใช่ แล้วก็น่าแปลกนะ ขนาดรัฐสวัสดิการที่ได้รับดีขนาดนี้ แต่เขายังตัดสินใจทิ้งมัน คุณเป็นคนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับรัฐสวัสดิการที่มีอยู่อย่างจำกัด แล้วคุณยอมทิ้งเพราะระบบมันห่วยจริงๆ ต้องตัดสินใจมาขนาดไหนกันนะ
เด็กๆ กลายคนที่เคยเรียนกับเราเขาก็บอกว่า กลับมาเถอะ เขาอยากเรียนกับเราต่อ เพราะครูที่เข้ามาใหม่ก็ไม่ทำให้ได้เรียน ยิ่งมีคนที่เป็นเอเจนต์ของการเปลี่ยนแปลงออกไปเรื่อยๆ สมองไหลออกจากระบบ แล้วคนเป็นครูที่อยู่ในระบบก็จะเหลือแต่ครูห่วยๆ ที่เราเล่าให้ฟัง คนซวยก็คือเด็ก
คิดว่า คำว่าครู คืออะไร
ครูคืออาชีพครูนี่แหละ คอยทำงานสอน ไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่าครูเป็นอะไร หยุด มาดูดีกว่าว่าครูทำงานหนักขนาดไหน แล้วเอาค่าตอบแทนที่เหมาะสม สวัสดิการดีๆ ให้เขา เพราะเขาคือคนกำหนดอนาคตของประเทศว่าเราจะผลิตคนออกไปแบบไหน ไม่ต้องมาบอกว่า เป็นครูผู้เสียสละ เป็นเรือจ้าง วาทกรรมพวกนี้แหละที่ทำให้ครูใช้ชีวิตลำบาก
พอเป็นแม่พิมพ์ปุ๊บเราจะย้อมหัวสีทองไม่ได้นะ เพราะว่าถ้าเป็นครูที่หัวสีทองแบบนี้ นักเรียนก็จะหัวสีทองตามซึ่ง ชุดความคิดของคนทั่วไป การย้อมสีผมคือไม่สุภาพ แล้วเราจะแต่งตัวแบบไม่สุภาพไม่ได้ เพราะคุณเป็นแม่พิมพ์
มีคนเคยบอกว่า เวลาอยู่นอกโรงเรียน คุณก็ยังเป็นครูอยู่นะ แต่งตัวให้เรียบร้อย เพราะฉะนั้นเรา ไม่รู้ว่ามันเป็นรีแอคของคนทั่วไปหรือเปล่าที่เวลาเห็นครูเดินนอกโรงเรียนแล้วใส่กางเกงขาสั้นแล้วตกใจว่า เฮ้ย ทำไมครูใส่กางเกงขาสั้น อ้าว ก็เป็นคน ก็นอกเวลางานแล้วไง กลายเป็นการรับรู้ของคนทั่วไปแล้วว่า คนเป็นครูจะต้องเนี้ยบ
คำที่บอกว่า ครูต้องเสียสละ ต้องอดทน ทำให้เราไม่ได้พูดกันเรื่องเงินทอง เพราะว่าครูต้องทำงานด้วยใจ ไม่หวังผลตอบแทน เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ต้องพยายามเอาครูเป็นอะไรทั้งสิ้น แล้วดูจากสิ่งที่เขาทำ ความสามารถที่เขามีและมอบสิ่งที่เขาต้องการให้เหมาะสม เท่านั้นก็พอแล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ครูถูกบีบจนต้องอยู่ในกรอบตามสังคม
ใช่ จริงๆ มีครูอีกหลายคนนะ ที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เขารู้สึกว่าสังคมแบบนี้ไม่ปกติ เขามองออกถึงต้นตอเลยด้วยว่า แล้วเราจะทำยังไงให้สังคมเปลี่ยน หลายคนเลยเลือกเข้าไปเป็นครูไง เพราะการเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มมาจากการผลิตบุคลากรหรือนักเรียนที่มีคุณภาพออกไป พอเขาเข้าไปสู่โรงเรียนจริง เขาอยากที่จะทำให้เด็กเชื่อเรื่องความเท่าเทียม เคารพสิทธิมนุษยชน มองเรื่องความหลากหลาย
แต่พอเริ่มในโรงเรียนก็โดนบีบแบบที่บอกไป บางคนก็อยู่ได้แหละ แล้วก็ผลิตเด็กออกมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องดีมากนะ ครูที่ยังยืนหยัดอยู่แล้วมองออกว่าสังคมไม่ปกติ แล้วก็พยายามผลิตเด็กที่ถูกมองว่า ขัดกับคุณค่าที่สังคมเขายึดถืออยู่ ผลิตออกมาได้เรื่อยๆ
แต่ครูส่วนมากเวลาจะขยับอะไรก็ตาม เขาจะอยู่ยากแล้ว จะโดนมองว่าเป็นครูที่แปลกประหลาด ใช้คำว่าล้างสมองบ้าง ก็เลยทำให้ ครูโดนกลืน พอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดนต่อต้านเรื่อยๆ ก็เริ่มกลืน เริ่มไม่พูด เริ่มอยู่เป็น สุดท้ายแล้วก็ตกเป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำต่อไปเรื่อยๆ
สภาพสังคมที่จะทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เราอยากเห็น ต้องเป็นแบบไหน
ตอบยากนะ แต่เราจะตอบถึงในปัจจุบันที่เรารับรู้ก็แล้วกันว่า ถ้าครูอยากให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สภาพการทำงานของตัวเองดีขึ้น ระบบการศึกษาดีขึ้น ก็ต้องเป็นครูที่ขยับส่วนหนึ่ง ครูต้องรวมตัวกัน เรียกร้องในสิ่งที่ต้องการจริงๆ เพราะเรามีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ ครู ไม่ควรอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ควรโดนทอดทิ้ง ครูส่วนมากที่เราไปศึกษามาจากในต่างประเทศ คอมมูนิตี้เขาแข็งแรงมากนะ เขาคุยกัน รวมตัวกัน สร้างเป็นสหภาพครูหรือมีคอมมูนิตี้ที่เอาไว้ใช้ในการต่อกรกับผู้มีอำนาจ เพื่อทวงสิ่งที่เขาควรที่จะได้รับ ค่าตอบแทนที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ อิสรภาพในการจัดการเรียนรู้ของเขา
อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง แต่จากข้างบน เราต้องการบุคลากรที่มีความรู้จริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ลองไปไล่ดูได้เลยว่าคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีคนจบเกี่ยวกับด้านการศึกษามากี่คน แทบจะไม่มีเลยนะ จบอะไรมาก็ไม่รู้ การตลาด คำถามคือ แล้วเราได้ผู้นำแบบนี้มาพัฒนาระบบการศึกษาเหรอ
คนในสังคมเองก็เหมือนกันต้องหลุดออกจากวาทกรรมต่างๆ ที่คอยผลิตซ้ำเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมของครูผู้เสียสละ ครูผู้เป็นแม่พิมพ์ของชาติ ต้องรู้เท่าทันสื่อที่ถูกผลิตออกมาอย่าง โฆษณาครูเดินขึ้นไปบนดอยจนป่วยตาย ดูแลเด็กไม่กี่คน แล้วก็ได้รับการยกย่องแบบนั้น เราอยากให้สังคมตั้ง ถามว่าแล้วครูต้องตายอีกกี่คน ระบบการศึกษาจะดีขึ้นจริงๆ เหรอ เด็กเองก็ขยับได้ด้วย เมื่อเขารู้ว่าสิ่งที่เขาได้รับจากคนเป็นครูหรือระบบการศึกษา ไม่ได้ดีแบบที่เขาต้องการก็ต้องขยับมาช่วยกัน
เพราะฉะนั้น เราไม่มี one size fits all ทุกภาคส่วนต้องขยับ เป็นองคาพยพแล้วเราก็ต้องไปพร้อมกัน อย่าฝากความหวังไว้กับกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง