พูดตรงๆ ว่าผมก็เป็นคนหนึ่งที่หลุดขำเมื่อเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ในทีแรก ‘ตับอ่อนของเธอนั้นขอฉันเถอะนะ’ ให้ตายสิ จะอ่านประโยคนี้ด้วยท่าไหนก็ไม่สามารถจินตนาการว่าเป็นชื่อเรื่องของนิยายหวานๆ ได้เลย แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าชื่อเรื่องที่ชวนให้นึกถึงตำนานผีปอบนี้ (แหม ก็เล่นขอกินตับกันซะโต้งๆ) แท้ที่จริงกลับมีเหตุผลรองรับที่ชวนให้ซาบซึ้งตรึงใจทีเดียว (แต่ผมจะขอไม่เล่าแล้วกันนะครับ อุบไว้สำหรับใครที่ยังไม่อ่านจะได้รู้ด้วยตัวเอง)
เล่าอย่างคร่าวๆ ตับอ่อนของเธอนั้นขอฉันเถอะนะ หรือที่รู้จักกันในชื่อญี่ปุ่นว่า Kimi no Suizo wo Tabetai เป็นผลงานเรื่องแรกของ ซูมิโนะ โยรุ ที่เขียนขึ้นบน Shosetsuka ni Naro เว็บไซต์ที่คล้ายว่าเป็นชุมชนของนักเขียนในโลกออนไลน์ ที่สามารถอัพโหลดนิยายลงไปได้ เผยแพร่ให้นักอ่านบนโลกอินเตอร์เน็ตได้เข้ามาอ่านกันฟรีๆ พูดง่ายๆ ก็คล้าย Dek-D นั่นแหละครับ ซึ่ง Kimi no Suizo wo Tabetai เองก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่โด่งดังบนเว็บไซต์นี้มากๆ จนในเดือนมิถุนายน ปี 2015 นิยายเรื่องนี้ก็ได้รับการรวมเล่ม ตีพิมพ์ออกมาหนังสือที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทะลวงยอดขายไปกว่า 2 ล้านเล่มเลยทีเดียว
Kimi no Suizo wo Tabetai บอกเล่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างประดักประเดิดของนักเรียนมัธยมปลายคู่หนึ่ง โดยฝ่ายชาย (ที่ในเล่มจะไม่ยอมเปิดเผยชื่อของเขา แต่อาศัยเปลี่ยนวิธีเรียกชื่อเขาไปเรื่อยๆ เช่น นายคนที่รู้ความรัก หรือ นายที่ดูหน้าตาหม่นหมอง) เป็นเด็กเงียบๆ ไม่ค่อยพูดจาหรือสุงสิงกับใคร ผ่านแต่ละวันไปกับการอ่านหนังสือ และ ‘ยามาอุจิ ซากุระ’ เด็กสาวเพื่อนร่วมห้องที่ร่าเริงสดใส และคล้ายจะเป็นดาวเด่นที่ใครๆ ต่างก็หมายตา
แต่อยู่มาวันหนึ่ง เด็กหนุ่มต้นเรื่องก็ดันไปพบไดอารี่ปริศนาเล่มหนึ่งเข้า พอพลิกอ่านเนื้อหาก็พบว่ามันบันทึกเรื่องราวแต่ละวันของเด็กสาวคนหนึ่งที่รู้ตัวว่าชีวิตจะอยู่ได้อีกไม่นาน ด้วยร่างกายของเธอมีโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะรุดหน้าไปสักเท่าไหร่
แต่หลังจากอ่านไปได้ไม่กี่หน้า เด็กหนุ่มก็พบว่าเจ้าของบันทึกเล่มนี้คือ ยามาอุจิ ซากุระ เพื่อนร่วมชั้นของเขาที่แทบจะไม่เคยคุยกันเลยสักครั้ง แต่เมื่อเขาดันไปล่วงรู้ในสิ่งที่เธอตั้งใจจะเก็บไว้เป็นความลับเข้า ซากุระกลับสารภาพเรื่องราวชีวิตของเธอกับเขาราวกับไม่ทุกข์ร้อนแต่อย่างใด แต่แน่นอนว่าการได้ไปล่วงรู้ความลับของอีกฝ่ายเข้าอย่างไม่ตั้งใจย่อมส่งผลต่อสถานะความสัมพันธ์ของทั้งคู่ จากเพื่อนร่วมห้องที่สนิทกันในระดับคนแปลกหน้า ทั้งคู่ค่อยๆ กลายมาเป็นเพื่อนสนทนาที่ต่างก็รับฟัง และซึมซับตัวตนของอีกฝ่าย และแม้ทั้งคู่จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากแรงดึงดูดประหลาดบางอย่างก็คล้ายจะดึงดูดพวกเขาให้คอยโคจรเคียงข้างกันและกัน ราวกับความห่างเหินก่อนหน้านั้นไม่เคยมีอยู่จริง
อ่านถึงตรงนี้คงพอจะนึกภาพถึงรสชาติหวานๆ นวลๆ ของความรักฉบับหนุ่มสาวที่ชวนให้อ่านไปยิ้มไปนะครับ และแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า Kimi no Suizo wo Tabetai จะมีหลายฉากเหตุการณ์ที่อดไม่ได้ที่จะกระตุกยิ้ม แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า นิยายเล่มนี้เป็นนิยายญี่ปุ่น (ที่ไม่ยอมปล่อยให้ผู้อ่านได้ฝันหวานโดยไม่สัมผัสถึงรสขมแน่ๆ) ที่ตัวเอกหนึ่งของเรื่องต้องเผชิญกับความเปราะบางของชีวิต และการรับมือกับความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้นแล้ว แม้ฉากหน้าของมันจะดูหอมหวานแค่ไหน แต่ลึกลงไปที่ใจกลาง นวนิยายเรื่องนี้กลับเสนอภาพของเด็กมัธยมปลายธรรมดาๆ ที่อยู่ๆ ก็ต้องมารับมือกับความสับสนของจิตใจที่ต้องมาสั่นสะเทือนเพราะความตายอันแสนสามัญธรรมดา
ความตายในนิยายเรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านหลายๆ ทัศนะ ทั้งจากตัว ยามาอุจิ ซากุระ ที่คล้ายจะมองความตายเป็นเรื่องปกติ ไม่ตระหนกฟูมฟาย และใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ พอ รอวันที่ลมหายใจจะหมดไปก็เท่านั้น ความตายจากทัศนะของเด็กหนุ่มตัวเอกของเรื่อง ที่แม้เขาจะอ่านหนังสือมามาก จมจ่อมอยู่กับโลกวรรณกรรมซึ่งก็น่าจะสร้างภูมิต้านทานให้กับเขาต่อการต้องจัดการกับความตาย ทว่าเมื่อจุดหนึ่งของชีวิต ที่ความตายไม่ใช่แค่เรื่องแต่งอีกต่อไป หากคือความจริงที่พุ่งเข้าปะทะอย่างไม่ตั้งตัว
Kimi no Suizo wo Tabetai แสดงให้เราเห็นถึงความสับสนภายในใจของเด็กหนุ่ม เมื่อวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งเขาคุ้นเคยดี กลับต้องมาตีกับความรู้สึกหวาดกลัวการสูญเสียที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กมัธยมปลายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
แม้นิยายเรื่องนี้จะพูดถึงความตายได้น่าสนใจ หากก็น่าเสียดายครับที่หลายๆ ครั้ง ผมก็พาจะรู้สึกว่าตัวนิยายเองฟูมฟายไปสักหน่อย บางฉากที่ควรจะทิ้งมวลอารมณ์ความเศร้าไว้อย่างเงียบเชียบ (ซึ่งน่าจะได้ผลกว่า) แต่นิยายก็เลือกจะบีบเค้นราวกับหวังจะสร้างน้ำตา เพียงแต่สำหรับผม มันกลับให้ผลเหมือนการบีบมะนาวที่แห้งเหือดเพื่อหวังน้ำ แต่สุดท้ายกลับไม่มีน้ำมะนาวสักหยดปรากฏให้เห็น พูดอีกอย่างคือ กลวิธีสร้างน้ำตาของผู้เขียนออกจะจงใจเกินไปหน่อย เอื้อให้เราเตรียมตัวได้ทันเกินไป จนแทนที่จะร้องไห้ ก็กลับรู้สึกเบื่อหน่าย กลายเป็นต้องทนอ่านฉากดราม่าไปอย่างแกนๆ
ก็ไม่ใช่ว่าฉากซึ้งๆ ในเรื่องนี้จะไม่เวิร์กไปทั้งหมดนะครับ เพราะมันก็มีช่วงที่ชวนให้อึนๆ ซึมๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งมันก็เป็นช่วงที่นิยายเลือกจะปล่อยพื้นที่ว่างให้กับความเศร้าได้วิ่งเล่นอิสระ ไม่พยายามไปบีบคั้น หรือแต่งเติมรายละเอียดเสียจนละเอียด (เกินไป) เหลือช่องว่างให้คนอ่านอย่างเราได้ตีความกันเอง เพียงแต่น่าเสียดายที่มันกลับมีน้อยไปสักหน่อย ส่วนใหญ่ก็เลยวนเวียนแต่กับความฟูมฟายที่พอมากเข้าก็ยิ่งจะรำคาญอย่างช่วยไม่ได้
แต่ท้ายที่สุด แม้จะมีหลายจุดชวนให้หงุดหงิด Kimi no Suizo wo Tabetai ก็ยังปล่อยหมัดฮุกจนเมื่ออ่านจบ ผมก็หลบหนีความเศร้าไม่ได้อยู่ดี ดิ่งลึกไปกับนิยามของความตายที่นิยายเรื่องนี้หยิบยื่นให้ พลางนึกทบทวนช่วงเวลาอันเฉียดใกล้ที่ชีวิตเราเคยได้เผชิญความโศกเศร้าและความตายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย