อยากจะชิมรสชาติแห่งความยากแค้น นวนิยายจากประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่พาเราไปชิมรสได้อย่างเข้มข้นและใกล้ตัว
เวลาเราพูดถึงเมืองจีน เรามักนึกถึงภาพของการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คน การอพยพหนีความยากลำบาก ออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลทิ้งบ้านเกิดเพื่อเอาชีวิตรอด ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่ใหญ่โตและมีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาย่างยาวนาน ด้วยความมหึมานี้หลายพื้นที่ของดินแดนจึงประกอบขึ้นบนความยากแค้นและความอดอยาก แถมในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ชนชาติจีนเป็นชนชาติที่ต้องเผชิญกับวิกฤติมาอย่างนับไม่ถ้วนทั้งจากการปกครองอย่างมีชนชั้นในยุคโบราณ เรื่อยมาถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมา ที่ก่อให้เกิดผลอันใหญ่หลวงทั้งความอดอยากและการฆ่าฟันกันเอง มาจนถึงสมัยใหม่ที่จีนเริ่มปรับตัวเข้ากับระบบทุนนิยม
วรรณกรรม จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนเล่าขานถึงเรื่องราวทั้งหลายที่อย่างลึกซึ้ง บ้างก็เป็นกึ่งอัตชีวประวัติ บ้างก็เกิดจากประสบการณ์ตรง พลังพิเศษของงานเขียนเหล่านี้คือการให้ภาพที่ถ่ายทอดความแร้นแค้น ความทรงจำ และการต่อสู้ได้อย่างสัมผัสหัวใจ พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง
Wild Swans – Jung Chang (หงส์ป่า – ยุง ชาง)
หงส์ป่า เป็นอีกด้านของประวัติศาสตร์จีน เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของ ยุง ชาง เล่าผ่านผู้หญิงสามรุ่น เรารู้จักความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในแต่ละห้วงของจีน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมันส่งผลยังไงแน่กับเหล่าผู้คนที่มีเลือดมีเนื้อ กับเหล่าผู้หญิงที่ต่างก็ต้องดิ้นรนท่ามกลางความยากลำบากเหล่านั้น หงส์ป่าแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นสามช่วงตั้งแต่รุ่นยาย รุ่นแม่ มาจนถึงรุ่นชาง แต่ละรุ่นก็จะต้องดิ้นรนกับประวัติศาสตร์ในระดับภาพใหญ่ที่ต่างกัน จากยุคขุนศึก เรื่อยมาจนถึงรุ่นหลาน สมัยที่ต้องสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและผลของนโยบายก้าวกระโดดของเหมาที่ส่งผลเป็นความอดอยากไปทั่วประเทศ
The Good Earth – Pearl S. Buck (ทรัพย์ในดิน – เพิร์ล เอส. บัค)
The Good Earth เป็นหนึ่งในนวนิยายที่จะผุดขึ้นมาชื่อแรกๆ เมื่อพูดถึงประเทศจีน เพิร์ล เอส. บัค เป็นนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์และได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม งานเขียนชิ้นนี้เล่าถึงชีวิตชาวจีนในพื้นที่ชนบทช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นวนิยายเรื่องดังนี้เป็นเล่มแรกในสามตอนเล่าถึงคนสามรุ่น The Good Earth เล่าถึงคนรุ่นแร้นแค้นในยุคการก่อร่างสร้างตัวและการล่มสลายของอีกครอบครัว นวนิยายเรื่องนี้ขึ้นหิ้งระดับคลาสสิก ด้วยฝีมือทางการประพันธ์ของบัคทำให้ผู้อ่านสัมผัสถึงความรู้สึก การต่อสู้ และการสนับสนุนกันของคนในครอบครัวได้อย่างถึงแก่น
The Joy Luck Club – Amy Tan (มาจากสองฝั่งฟ้า – เอมี่ ตัน)
เอมี่ ตัน เป็นนักเขียนหญิงอเมริกันเชื้อสายจีนที่มีพลังในการเล่าเรื่องราวทั้งความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์ของผู้หญิงในแต่ละรุ่น ลองนึกภาพหญิงสาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่มีคนรุ่นแม่เป็นคนจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนใหม่ พวกเธอต่างเก็บงำเรื่องราว ความทรงจำ และการต่อสู้ในทั้งก่อนและระหว่างทางจากการเดินทางอันยาวไกล The Joy Luck Club เป็นอีกหนึ่งงานเขียนสำคัญ เล่าถึงกลุ่มแม่บ้านชาวจีนที่มาสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรื่องราวกันในวงไพ่นกกระจอก เป็นอีกหนึ่งงานเขียนที่ยอดเยี่ยมและละเอียดอ่อน
Balzac and the Little Chinese Seamstress – Dai Sijie (บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน – ไต้ ซือเจี๋ย)
ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยคอมมิวนิสต์ พวกลูกหลานปัญญาชนต้องถูกส่งตัวไปใช้แรงงานที่ถิ่นทุรกันดาร ไต้ ซือเจี๋ย เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องเดินทางไปใช้แรงงานที่ดินแดนห่างไกล นวนิยาย บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ ในเรื่องเล่าถึงเด็กหนุ่มสองคนจากครอบครัวปัญญาชนที่ต้องเดินทางไปใช้แรงงานที่เขาหัวซาน ทั้งสองได้พบกับเด็กสาวชาวบ้าน เด็กทั้งสามต่างต้องต่อสู้กับความยากลำบากของภูเขา และในที่นั้นเองก็บังเอิญไปพบกับคลังวรรณกรรมระดับคลาสสิกของโลก เหล่างานเขียนที่กลายเป็นหนังสือต้องห้าม องค์ประกอบสำคัญของเรื่องคือชีวิตอันแร้นแค้น ความสัมพันธ์อันไร้เดียงสาจากหลายภูมิหลัง และคลังความเข้าใจจากนักเขียนชื่อดัง
To Live – Yu Hua (คนตายยาก – หยูหัว)
หยูหัว เป็นนักเขียนจีนที่นักวิจารณ์หลายคนเก็งว่าน่าจะได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม งานเขียนของหยูหัวให้ภาพผู้คนภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในแต่ละห้วงของจีน โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ระบบคอมมิวนิสต์ มาจนถึงจีนสมัยใหม่ที่อ้าแขนเข้าสู่โลกทุนนิยม งานเขียนของหยูหัวเป็นการมองสังคมจีนจากสายตาและวัฒนธรรมของคนสามัญ สายตาหยูหัวมีความโดดเด่นในแง่ของความคมคายที่เจือด้วยอารมณ์ขัน จุดเด่นสำคัญคือภาพสังคมในยุคร่วมสมัยของจีน ในยุคที่จีนเข้าสู่โลกเสรี ว่าในที่สุดแล้วเหล่าผู้คนที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน จะดิ้นรนจากสังคมแห่งความไม่เสมอภาคและการต่อสู้ได้อย่างไร
จดหมายจากเมืองไทย – โบตั๋น
จดหมายจากเมืองเป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่พูดเรื่องคนจีนที่อพยพลี้ภัยสงครามภายในและสงครามจากญี่ปุ่น งานเขียนชิ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในงานที่พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ การต่อสู้ทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างตัวในยุคแรกๆ จดหมายจากเมืองไทยเล่าในรูปแบบจดหมาย ลงเป็นตอนๆ ในสตรีสาร ช่วงแรกๆ โบตั๋นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างความแตกแยกระหว่างคนจีนกับคนไทย แต่โดยสาระแล้ว โบตั๋นเน้นความสัมพันธ์และความเข้าใจความสัมพันธ์ของคนจีนและคนไทย
ลอดลายมังกร – ประภัสสร เสวิกุล
ประภัสสร เสวิกุล เป็นนักเขียนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่เขียนเรื่องการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีน ภาพชาวจีนที่เรามักนึกถึง เช่น การนั่งสำเภามาพร้อมเสื่อผืนหมอนใบ ต่อสู้กับความยากแค้น แบกข้าวสาร กินข้าวต้มกับเกลือ เป็นภาพที่เรามักเห็นได้ในงานของประภัสสร ลอดลายมังกร เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่พูดถึงการสร้างตัวของชาวจีนโพ้นทะเลและการปรับตัวเข้าสู่สังคมไทย งานเขียนชิ้นนี้ได้รับความนิยมและถูกดัดแปลงเป็นละครหลายต่อหลายครั้ง