ตลอดในช่วงปี ค.ศ.2001 ถึงสิงหาคม ค.ศ.2021 รัฐบาลอัฟกานิสถานได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากอเมริกาอยู่ตลอด กองกำลังตาลีบันที่มีอาวุธยุโธปกรณ์ไม่เท่าจึงได้แต่ก่อความไม่สงบอยู่เนืองๆ ด้วยความหวังจะกลับไปสร้างอาณาจักรอิสลามบริสุทธิ์บนแผ่นดินอัฟกานิสถานอีกครั้ง
ในช่วงเวลานี้ผู้หญิงอัฟกันได้ลืมตาอ้าปากขึ้นมาบ้าง แต่หญิงก็ลำบากอยู่ดี เพราะ ประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ (ดำรงตำแหน่งปี ค.ศ.2001 – 2014) และ อัชราฟ ฆานี (ปี ค.ศ.2014 – 15 สิงหาคม ค.ศ.2021) ที่อเมริกาหนุนหลังอยู่นั้น ต่างก็ละเลยประเด็นสิทธิสตรี ทั้งสองปฏิเสธข้อเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ที่จะให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ใน United Nations Security Council Resolution 1325 องค์กรมูลนิธิสากลต่างๆ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยรูปแบบการบริจาคเงินมหาศาล มากกว่าจะเข้ามาเจรจากับทางภาครัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสถานภาพผู้หญิงอย่างยั่งยืน ซ้ำรัฐบาลอัฟกานิสถานเองก็ไม่มีเสถียรภาพ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ทำให้การปรึกษาหารือระหว่างตัวแทนรัฐกับกลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีล่าช้ายืดเวลาออกไปอีก
กลายเป็นว่ารัฐต้องการทำให้บ้านเมืองสงบสุขเกิดสันติภาพก่อน สิทธิเสรีภาพผู้หญิงค่อยตามมา แทนที่จะทำให้ผู้หญิงได้สิทธิเสรีภาพไปพร้อมๆกับประเทศมีความมั่นคง
ผู้หญิงชาวอัฟกันยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพที่อ่อนแอต่อไป ทำให้เฟมินิสต์อัฟกันเห็นว่า สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และโรงเรียนสตรีสอนให้ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้เป็นเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ได้จากรัฐบาลฮามิด การ์ไซ ซึ่งนั่นไม่เพียงพอ รัฐบาลไม่สนสี่สนแปดข้อเรียกร้องของที่จะคุ้มครองความปลอดภัยความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง เพิกเฉยต่อความรุนแรงในครอบครัว ที่ผู้หญิงหลายคนยังคงถูกทรมานทรกรรมโดยผู้ชายในบ้าน และนอกบ้าน พวกเธอยังคงถูกผู้ชายแปลกหน้าทำร้ายอย่างอำมหิต ที่อ้างว่าเป็นการอบรมสั่งสอนตามหลักศาสนา มีผู้หญิงหลายคนฆ่าตัวตายหนีปิตาธิปไตย
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของการ์ไซจึงถูก
เฟมินิสต์ในประเทศเรียกว่า “รัฐบาลอาชญากร” [1]
The Revolutionary Association of the Women of Afghanistan (RAWA) เป็นสถาบันเฟมินิสต์ที่มีมาอย่างยาวนาน ก้าวหน้า และใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ก่อตั้งในปี ในปี ค.ศ.1977 ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย รัฐฆราวาสและความยุติธรรมทางเพศ พวกเธอสร้างโรงเรียนที่มีหอพักสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง โรงพยาบาลสำหรับสตรีและเด็ก คลินิก สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า จัดหลักสูตรอาชีวะและพยาบาล เผยแพร่นิตยสารเพื่อให้ผู้หญิงได้เรียนรู้แนวคิดเฟมินิสต์ พวกเธอต่อต้านกลุ่มตาลีบันมาตลอด แต่ตลอด 20 ปีที่ตาลีบันไม่ได้ปกครอง RAWA ยังคงถูกมองเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล และอเมริกาก็ไม่ได้สนับสนุน แต่พวกเธอได้รับการสนับสนุนจากชายและหญิงหัวก้าวหน้าในประเทศ [2]
RAWA มองว่ารัฐบาลฮามิด การ์ไซ และอัชราฟ ฆานี ก็ไม่ต่างอะไรจากตาลีบันนัก เพียงแต่มีอเมริกาเป็นขุนศึก การโจมตีรัฐบาลอย่างหนักของ RAWA ทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเธอถูกรัฐบาลสอดส่องและทำลายความน่าเชื่อถือเสมอว่าเป็นซ่อง เป็นพวกล้มล้างรัฐบาล จนพวกเธอยังต้องเป็นขบวนการใต้ดิน ที่ถูกเจ้าหน้าบุกค้นโรงพยาบาลและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่เนืองๆ[3]
ขณะเดียวกันกลุ่มนักเคลื่อนไหวสตรีต่างๆ ก็มีทัศนคติต่อรัฐบาลต่างกัน บางกลุ่มก็มองว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าตาลีบัน ในช่วงแรกๆ ทุกกลุ่มปฏิเสธอย่างยิ่งที่จะไม่ให้รัฐบาลเจรจาสันติภาพกับตาลีบัน ที่เป็นกลุ่มไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ทว่าหลังๆ กลุ่มเฟมินิสต์เริ่มเสนอว่า ทางออกที่จะให้อัฟกานิสถานไปสู่สันติภาพได้จริงๆ คงต้องเจรจาต่อรองกับตาลีบันแล้วล่ะ กลายเป็นการสร้างความหวังที่สิ้นหวังในการที่จะสร้างสันติภาพและปกป้องความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง แต่ถึงอย่างไรประชาชนหญิงก็ไม่ต้องการที่จะกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองตาลีบันอย่างแน่นอน [4] ซึ่งนั่นก็แสดงถึงความล้มเหลวโครงการ ‘ปลดแอกสตรีในอัฟกานิสถาน’ ของอเมริกาที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000
เพราะอเมริกาไม่ได้จริงจังกับโครงการนี้มากไปกว่าใช้เป็นเครื่องมือและความชอบธรรมกำจัดตาลีบันเสีย และใช้ภาพตัวแทนของหญิงอัฟกันบรรยายความโหดร้ายของตาลีบัน ซึ่งปรากฏซ้ำๆ ตามข่าว หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ นิตยสารในโลกตะวันตก
แถลงการณ์ของประธานาธิบดีอเมริกาช่วงแรกเกี่ยวกับอัฟกานิสถานเน้นไปยังชะตากรรมของหญิงชาวอัฟกัน จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวสุนทรพจน์ว่า “ประชาชนอัฟกานิสถานได้รับความเดือดร้อนภายใต้ระบอบการปกครองที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การปกครองตาลีบันของนั้นเป็นพันธมิตรกับผู้ก่อการร้ายและเป็นระบอบการปกครองที่ทำสงครามกับผู้หญิง” และ “เป็นความรับผิดชอบของอเมริกาต่อประชาชนในอัฟกานิสถานที่ยังไม่สิ้นสุด และจะทำงานเพื่อยุคใหม่ของสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอัฟกานิสถาน”[5]
โลกตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับอเมริกาก็แสดงท่าทีห่วงใยสิทธิและสถานภาพหญิงอัฟกัน หลังจากลอร่า บุช ผู้เป็นภริยา จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวว่าเธอเองหัวใจสลายที่เห็นชะตากรรมของผู้หญิงและเด็กในอัฟกานิสถาน และนี่ก็เป็นสิ่งที่ได้เห็นชัดว่าผู้ก่อการร้ายและตาลีบันทำอะไรลงไปกับพวกเรา (ซึ่งเธอกำลังบอกว่าผู้หญิงไม่ว่าอยู่ประเทศไหนก็มีหัวอกเดียวกันเป็นพวกพ้องเดียวกันพี่สาวน้องสาวกัน) เชอรี แบลร์ ภริยานายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ของอังกฤษ ก็แสดงความเพื่อนหญิงพลังหญิงความกังวลห่วงใยในทำนองเดียวกันว่า หญิงในอัฟกานิสถานมีสิทธิเท่าๆ กับผู้หญิงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และเราจะต้องมีความหวังและความมุ่งมั่นต่อไปเพื่อตัวเราเองและลูกสาวของพวกเรา[6]
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดสตรีนิยมที่ต้องการฟื้นฟู
สถานภาพสิทธิผู้หญิงอัฟกันของโลกตะวันตก มีลักษณะ
Imperial feminism หรือ colonial feminism
ที่ประเทศมหาอำนาจจะอ้างอุดมการณ์เฟมินิสต์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างลัทธิจักรวรรดินิยมขยายอำนาจทางการเมืองสู่ประเทศอื่น กลายเป็นการสร้างความไม่เท่าเทียมให้บางประเทศ ยกให้มีสิทธิพิเศษเหนือประเทศอื่น ด้วยการแฝงมาในรูปแบบการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ขยายแนวคิดเฟมินิสต์ผ่านสงครามที่อ้างว่าเป็น ‘ภารกิจสร้างอารยธรรม’ ของประเทศมหาอำนาจ เพื่อปลดปล่อยผู้หญิงจากพันธนาการของผู้ชายและโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่ล้าสมัยของประเทศที่ถูกจัดวางให้มีอารยธรรมต่ำกว่า
มันก็เป็นข้อเท็จจริงแหละที่หญิงอัฟกันถูกตาลีบันกดขี่อย่างน่าสยดสยอง และตาลีบันก็ไร้อารยะ แต่พอมันออกจากปากคำประเทศมหาอำนาจที่ว่าการต่อสู้กับการก่อการร้ายเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้หญิงด้วย มันก็เลยเป็น Imperial feminism ที่จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11
แม้พวกเธอจะมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นบ้าง แต่อันที่จริงมันสามารถดีได้มากกว่านี้ และก็มีเฟมินิสต์หัวก้าวหน้าหลายกลุ่มในอัฟกานิสถาน ก็โจมตีอเมริกากับการใช้แนวคิดเฟมินิสต์เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงทางการเมืองที่ไม่ได้คิดจะปลดปล่อยผู้หญิงจริงๆ จังๆ ดังที่อ้างไว้ และพวกเธอก็เริ่มวิตกหวาดกลัวและสิ้นหวังลงไปอีก เมื่ออเมริกาทำข้อตกลง Agreement for Bringing Peace to Afghanistan ในปี ค.ศ.2020 หรือ “Feb. 29 deal” กับตาลีบัน (อันที่จริงตาลีบันได้ใช้ชื่อประเทศว่า the Islamic Emirate of Afghanistan หากอเมริกาไม่ยอมรับสถานะรัฐที่ตาลีบันเป็นรัฐบาล) ที่ข้อตกลงมุ่งเน้นไปที่การถอนกองกำลังทหารและยับยั้งกลุ่มตาลิบันสนับสนุนผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ หากแต่ประเด็นสิทธิสตรีไม่รวมอยู่ในข้อตกลงนี้
และเมื่ออเมริกาค่อยๆ ถอนกองทัพออกไปตามนโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน กองทัพตาลีบันก็ฉวยโอกาสบุกยึดเมืองต่างๆ อย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็สามารถยึดคาบูลสำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2021 ความน่ากลัวก็คือ เฮเบอทุลลา อาคุนดซาด ผู้นำสูงสุดตาลีบัน มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำทางศาสนามากกว่าทางทหารในช่วงทศวรรษ 1990 อาคุนดซาดเป็นหัวหน้าศาลชารีอะห์ ซึ่งว่าด้วยกฎหมายอิสลาม เขาให้ลงโทษผู้ถูกตัดสินกระทำความผิดในที่สาธารณะเพื่อให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง มีผู้หญิงบางคนถูกลงโทษด้วยการเฉือนหูเฉือนจมูก บางคนสั่งการตัดแขนตัดขาผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักขโมย มีการสั่งประหารชีวิตผู้ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานนอกใจคู่ครอง เป็นการลงโทษเทียบเท่ากับคดีฆ่าคนตาย
แม้ว่าตาลีบันจะอ้างว่านี่เป็นตาลีบันยุคสมัยใหม่ที่จะให้ความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงได้มีสิทธิเสรีภาพ (อันเป็นไปตามที่ศาสนามอบให้) แต่ก็นั่นแหละ งาช้างไม่งอกจากปากหมาฉันใด สิทธิเสรีภาพที่แท้จริงของผู้หญิงก็ย่อมไม่ออกมาจากปากกลุ่มตาลีบัน
เฟมินิสต์นักเคลื่อนไหวสิทธิผู้หญิงหลายคนต้องซ่อนตัวและอยู่ด้วยความหวาดกลัว การออกนอกบ้านกลายเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ตาลีบันรับอนุญาตให้ออกนอกบ้านได้ไปทำงาน ผู้หญิงไม่สามารถออกนอกบ้านได้นอกเสียจากมีญาติผู้ชายไปด้วย และต้องคลุมผ้าปิดหน้าตามขนบ ผู้หญิงที่ไม่สวมบุรเกาะอ์ถูกนักรบยิงตายกลางถนน สร้างความหวาดผวาให้กับครอบครัวยากจนที่มีบุรเกาะอ์เพียง 1-2 ชุดเท่านั้น พวกเธอแบ่งกันใช้กับพี่สาว น้องสาว และแม่ บางบ้านต้องหาผ้าปูที่นอนหรือผ้าอะไรมาห่มแทน ขณะเดียวกันเมื่อตาลีบันยึดคาบูล ราคาบุรเกาะอ์พุ่งขึ้นมากถึงสิบเท่า
ต่อให้อยู่ในบ้านก็ไม่ปลอดภัย เพราะเมืองต่างๆ ที่ตาลีบันยึดได้
พวกนักรบก็กวาดต้อนผู้คนมาใช้แรงงาน บุกไปตามบ้านแต่ละหลัง
บังคับให้ผู้หญิงทำอาหารให้กิน
มีหญิงหม้ายวัย 45 ปี (ผู้หญิงหลายคนเป็นหม้ายเพราะสามีไปเป็นทหารแล้วเสียชีวิต พวกเธอต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการขายนม) ที่ยากจนมากและไม่มีเงินจะทำกับข้าวให้ จึงถูกทุบตีด้วยปืนจนตาย หนำซ้ำยังขว้างระเบิดและจุดไฟเผาบ้านอีก ส่วนหญิงบางบ้านที่ยอมทำอาหารให้ ก็ถูกจุดไฟเผาทั้งเป็น เพียงเพราะเธอทำอาหารไม่ได้ดั่งใจ
ในหลายเมืองทั่วอัฟกานิสถาน ผู้หญิงหลายคนถูกทุบถูกเฆี่ยน มีทหารบุกไปตามบ้านจับมาทำทาสกาม สนองความใคร่ บางคนถูกบังคับให้แต่งงาน เพื่อสร้างครอบครัวเพิ่มสมาชิกตาลีบัน บางครั้งพวกเขาก็ข่มขืนศพหญิงสาว ส่วนผู้ชายที่ออกมาปกป้องช่วยเหลือก็ถูกทุบตีอย่างโหดร้าย[7]
ตาลีบันได้แต่อ้างว่า นักรบพวกเขายังไม่รู้จักกับการปฏิบัติต่อผู้หญิง ให้ผู้หญิงอยู่แต่ในบ้านไปก่อนเพื่อความปลอดภัย อ้าวอีเวร อีผี ไม่รู้จักสามัญสำนึกความเป็นคน แล้วยังจะมาปกครองประเทศ!
[5] George W. Bush, “Remarks at the Signing Ceremony for Afghan Women and Children Relief Act of 2001,” (speech, The National Women’s Museum in the Arts, Washington, DC: 12 December 2001).
[7] telegraph.co.uk/, businessinsider.com , edition.cnn.com