ลำพังแค่พวกใช้ศาสนาที่ตนเองเชื่อฝังหัวต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ เที่ยวไปตัดสินคนอื่น นิยามว่าเพศไหนเหนือกว่าต่ำกว่า ชี้นิ้วว่าใครดีใครชั่ว ก็ว่าเลวร้ายแล้ว ยิ่งพวกนี้สถาปนาอำนาจตนเองด้วยการอ้างคัมภีร์ ไอ้จ้อน และอาวุธ หวังจะสร้างดินแดนแห่งศาสนา บังคับให้ผู้อื่นปฏิบัติตามความเชื่อของตนเอง ยิ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายเข้าไปอีก
และความเลวร้ายนี้ก็มีตัวอย่างเห็นอย่างชัดเจนกับสถานภาพผู้หญิงในอัฟกานิสถาน
เมื่อกลุ่มกองกำลังตาลีบันที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1994 บุกยึดคาบูลเมืองหลวงอัฟกานิสถานได้สำเร็จในปี ค.ศ.1996 ก็พยายามเปลี่ยนอัฟกานิสถานให้เป็นรัฐอิสลามอันบริสุทธิ์ ใช้กฎหมายศาสนาอย่างเข้มงวดและบทลงโทษรุนแรง ผู้หญิงในอัฟกานิสถานภายใต้ระบบระบอบการเมือง ทหาร ศาล และศาสนาของตาลีบันตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 – 2001 ต่างถูกกำจัดและจำกัดสิทธิเสรีภาพ ถูกห้ามดูหนังดูทีวี ห้ามฟังเพลง ห้ามแต่งหน้า เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือได้แค่ถึงอายุ 10 ขวบ พวกเธอเข้าไม่ถึงการรับจ้างทำงาน สุขภาพ สาธารณสุข
หญิงใดที่ละเมิดกฎจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงด้วยการเฆี่ยนตีประจานในที่สาธารณะหรือประหารชีวิตด้วยการปาหิน ผู้ปกครอง (ซึ่งต้องเป็นผู้ชาย) เองก็โดนด้วยเช่นกัน หากคุมลูกสาวหรือภรรยาของตัวเองไม่ได้ ก็พลอยถูกลงโทษไปด้วย กลายเป็นการบีบบังคับลงมาอีกทอดให้พ่อ พี่ชายหรือสามีปกครองผู้หญิงให้อยู่ใต้อำนาจ
แม้ภายหลังผู้บังคับบัญชาตาลีบันบางคนจะอนุญาตให้เด็กหญิงเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อแรงกดดันของชุมชน แต่ตาลีบันก็ยังคงโจมตีต่อต้านโรงเรียนสตรีอย่างรุนแรงต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตาลีบันเป็นพวกเกลียดผู้หญิง misogyny ที่ต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศ ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงและเด็กหญิงใช้สิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ แม้ตาลีบันอ้างว่าจะให้สิทธิชาวอัฟกันทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ก็จะต้องเป็นสิทธิที่ได้รับตามหลักศาสนา ซึ่งตามหลักศาสนาก็เป็นการตีความของตาลีบันเอง[1]
ผู้หญิงอัฟกาจึงต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก
ภายใต้ระบอบตาลีบัน จนอัฟกานิสถานได้ชื่อว่า
“worst places in the world to be a woman”[2]
แม้บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผู้หญิงต่างต้องต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ด้วยสถานการณ์อันเลวร้ายของอัฟกานิสถานก็ทำให้ประสบการณ์ของหญิงอัฟกันได้รับการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องจำนวนมากที่สุดโดยเฉพาะช่วงต้นทศวรรษ 2000 นับตั้งแต่อเมริการ่วมมือกับอังกฤษโจมตีตาลีบันอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ.2001 อเมริกาและอังกฤษทิ้งระเบิดลงฐานที่มั่นตาลีบันทั่วประเทศจนแตกพ่ายหมดภายใน 1 เดือน จากนั้นอัฟกานิสถานก็อยู่ภายใต้การดูแลช่วยเหลือของอเมริกา
ภายในความพิทักษ์ของอเมริกา โลกตะวันตกเสนอจากข่าวผู้หญิงชาวอัฟกันได้ลืมตาอ้าปาก ได้ประกอบอาชีพหรือมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้เป็นรัฐมนตรี ผู้ว่าการ ผู้พิพากษา ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ทนายความ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสถานภาพผู้หญิงอัฟกันเติบโตขึ้น ซึ่งในรัฐสภาอัฟกานิสถานก็มีสมาชิกหญิงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่ารัฐสภาคองเกรสแห่งอเมริกาเสียอีก
ข่าวนำเสนอว่า เริ่มมีผู้หญิง Malalai Joya ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาในสมัชชาแห่งชาติอัฟกานิสถานที่อายุน้อยที่สุดในปี ค.ศ.2005 เธอเป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหว ขณะนั้นอายุ 27 ปี มีผู้หญิงได้เป็นนักกีฬาทีมชาติอย่าง Khalida Popal นักฟุตบอลและได้เป็นกัปตันทีมชาติฟุตบอลหญิง มีศิลปิน graffiti ชื่อ Shamsia Hassani เธอเป็นอาจารย์สอนศิลปะมหาวิทยาลัยคาบูล และมีงานศิลปะมากมายไปตามถนนหนทางเมืองคาบูล มีผู้บัญชาการตำรวจหญิงคนแรกของอัฟกานิสถาน Jamila Bayaz และนักบินกองทัพอากาศคนแรก Latifa Nabizada
แน่นอนล่ะ นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับ
ประชากรหญิงทั้งหมดของประเทศที่ยังคงลำบากอยู่
ขณะเดียวกันการต่อสู้เพื่อสิทธิและสถานภาพของเธอที่นี่ ก็มีราคาแสนแพงที่ต้องจ่ายถึงชีวิต ตำรวจหญิง Malalai Kakar ถูกฆ่าตายในที่สาธารณะ แร็ปเปอร์สาว Paradise Soroui และ Khalida Popal นักฟุตบอลต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
หญิงอัฟกันในคาบูลดีกว่าเมืองอื่นๆ ทั้งโอกาสการศึกษาหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว เสรีภาพ การยอมรับ และบทบาทนอกบ้าน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะไม่ลำบากอีกต่อไป แม้ว่าจะใช้ชีวิตในเมืองที่มีแนวคิดเสรีนิยมมากกว่าชนบทที่มีลักษณะอนุรักษนิยมและเชื่อว่าผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน หากแต่ชีวิตการทำงานของพวกเธอยังเต็มไปด้วยความตึงเครียดและต้องต่อรองระหว่างความทันสมัยและประเพณี ขณะเดียวกันผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้าน มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี ก็ยังคงมีแนวโน้มลาออกจากงานเมื่อแต่งงานมีลูกมีผัว
การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับของพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในปิตาธิปไตยอัฟกานิสถาน ครอบครัวเอย ที่ทำงานเอยยังคงเป็นสนามที่เธอต้องต่อสู้ทุกวันๆ หญิงสาวบางคนต้องต่อสู้กับการแต่งงานคลุมถุงชนกับลูกพี่ลูกน้อง ที่ปู่ของเธอได้จัดเตรียมให้ตั้งแต่ยังเด็ก หญิงหลายคนต้องยืนกรานในสิทธิที่พึ่งมีที่ต้องแลกกับความสัมพันธ์ในครอบครัว บางนางโชคดีที่ครอบครัวมีอุดมการณ์เดียวกันทำให้ได้รับการสนับสนุนหรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้รับใบอนุญาตจากพ่อ พี่ชาย ลุง หรือสามี และได้รับการปกป้องให้กำลังใจไม่ให้ยอมแพ้ง่ายๆ
ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่ยังคงอยู่ในอัฟกานิสถาน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงในอนาคตของประเทศ สำหรับผู้หญิงแล้ว ครอบครัวและชุมชนเครือข่ายทางสังคมที่ใกล้ชิดกัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในฐานะพื้นที่ปลอดภัย ที่เธอต้องประนีประนอมด้วย การเคลื่อนไหวของหญิงชาวอัฟกันต่อโครงสร้างสังคม จึงแตกต่างจากขบวนการเฟมินิสต์ในยุโรปอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 ที่มีทรัพยากรและรัฐสวัสดิการที่ดีแล้ว หญิงชาวอัฟกัน ซึ่งก็รวมถึงผู้ชายด้วย ยังไม่สามารถแยกตัวเองออกจากค่านิยมของครอบครัวได้อย่างสิ้นเชิง
ในคาบูล มีหนุ่มสาวนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่เติบโตในสถานศึกษา และไม่แบ่งแยกเพศ พวกเขาและเธอเปิดกว้างในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไร้กังวลและไว้วางใจกัน อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างรุ่นมากกว่า แนวคิดเรื่องการเคลื่อนไหวของผู้หญิงไม่เด่นชัดนักในหมู่นักเคลื่อนไหวหญิง แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปลดแอกของ ‘คนรุ่นใหม่’ มากกว่า[3]
และจะพูดไป ชายอัฟกันเองก็ลำบาก เพราะการจัดระเบียบ
ความสัมพันธ์ทางเพศตามประเพณี ที่ผู้ชายต้องรับผิดชอบ
สมาชิกหญิงภายในครอบครัว
ความรู้สึกนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเฝ้าระวังควบคุม กำกับ ที่ยังต้องปฏิบัติตามขนบเดิม แต่พวกเขาเองก็มีความคิดสมัยใหม่และเป็น ‘ตะวันตก’ มากขึ้นด้วย พวกเขาสนับสนุนการศึกษาและวิถีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้น แต่ก็เกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยของภรรยาหรือพี่สาวน้องสาวอยู่ตลอด และขอให้เด็กผู้หญิงสวมคลุมบุรเกาะอ์คลุมหน้าคลุมตัวระหว่างทางไปมหาวิทยาลัย แม้ว่าเขาจะต่อต้านการคลุมผ้าตามขนบก็ตาม แต่ก็กลัวว่าพี่สาวน้องสาวอาจตกเป็นเหยื่อการลงโทษ เช่นการถูกสาดน้ำกรดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่างไรก็ตาม การยกระดับสถานภาพสตรีอัฟกันที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 ก็เป็นผลพลอยได้และข้ออ้างจากการที่อเมริกาถล่มตาลีบัน แม้ว่าจุดประสงค์หลักของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีอเมริกาในขณะนั้นคือการตามล่า อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ที่หนีมากบดานในอัฟกานิสถาน เมื่อสั่งให้ตาลีบันส่งตัวบิน ลาดินให้ แต่ตาลีบันปฏิเสธ กองกำลังอเมริกาจึงถล่มตาลีบันซะเละ แล้วเข้าแทรกแซงทางทหารรัฐบาลอัฟกานิสถาน ใช้ประเด็นมนุษยธรรมสร้างความชอบธรรมในการแทรกแซง ประกาศว่าเป็นโครงการ ‘ปลดปล่อยสตรีในอัฟกานิสถาน’
กระทรวงการต่างประเทศอเมริกาเองก็ได้เผยแพร่ภาพหญิงอัฟกันในชุดบุรเกาะอ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรอคอยอิสรภาพ กลายเป็นข้ออ้างในการทำสงครามและแทรกแซงอัฟกานิสถาน ลอร่า บุช ภริยาจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศอย่างภาคภูมิใจในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2001 ไม่นานหลังจากที่รัฐบาลสามีนางโจมตีตาลีบันในเดือนตุลาคม ว่า การต่อสู้กับการก่อการร้ายครั้งนี้ ยังเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้หญิงอีกด้วย
เรียกได้ว่า The White Man’s Burden ถูกนำรีไซเคิล หลังยุคล่าอาณานิคม
ประสบการณ์เรื่องราวของการกดขี่กดทับของหญิงอัฟกันกลายเป็นที่สนอกสนใจทั่วโลกและถูกทำให้เป็นปัญหาของผู้หญิงทั่วโลกและมนุษยชาติที่ต้องตระหนักแก้ไข นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรือนักการเมืองจากโลกตะวันตก มุ่งศึกษาและเข้าช่วยเหลือสถานการณ์ของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ในนามตัวแทนของบรรทัดฐานโลก
อย่างไรก็ตามการเคารพความเป็นมนุษย์ เสรีภาพและสิทธิทางเพศ ไม่ใช่คุณสมบัติของชาติพันธุ์ใด หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่ใช่ของนำเข้า หากแต่มันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ที่มนุษย์ด้วยกันควรตระหนักได้โดยสามัญสำนึก และในพื้นที่ที่ไม่เคารพความเท่าเทียมนี้ก็ย่อมเปราะบางต่อการให้ผู้อื่นหรือคนนอกเข้าแทรกแซงได้ง่าย
(ตอนต่อไปเป็นตอนจบ ที่จะกล่าวถึง การแก้ไขปัญหาสถานภาพผู้หญิงที่ไม่จริงจังของอเมริกา ภายใต้แนวคิด Imperial feminism ที่ทำให้หญิงเองก็ลำบากอยู่ รวมทั้งการยึดอัฟกานิสถานอีกครั้งของตาลีบันที่สร้างความหวาดกลัวต่อความมั่นคงทางสถานภาพผู้หญิง)
อ้างอิงข้อมูลจาก