สวัสดีปีใหม่ !!! ขอต้อนรับสู่ช่วงเวลาแห่งการมู ไม่ใช่เพราะเพิ่งจะเริ่มต้นศักราชใหม่นะ แต่เพราะรัฐสวัสดิการและระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ สถาบันสำคัญทางการเมืองก็ตั้งตัวไม่เป็นมิตรกับประชาชน สภาวะรัฐเปราะบางก็ใกล้เข้าสู่สภาวะรัฐล้มเหลวมากขึ้นทุกที ซ้ำรัฐบาลยังมองว่าประชาชนเป็นภาระอีก ประชาชนจึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันเองในระดับปัจเจกกันเอง ขณะเดียวกันประเทศนี้ก็เป็นประเทศที่เคารพทุกอย่าง ยกเว้นความเป็นคน เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ภาวนาหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีสางเทวดาผีเปรตเจตภูต น่าจะจับต้องพึ่งพาได้มากกว่ารัฐบาลและระบบราชการ
แล้วหนึ่งในบรรดาเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่าจะไม่พ้นมูเตลูก็น่าจะเป็นพระอินทร์ เพราะดูเหมือนจะคุ้นชื่อมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นตัวละครในนิทาน ละครจักร์ๆ วงศ์ๆ หลายเรื่องคอยช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ ทั้งเจ้าชายเจ้าหญิงพระราชา ทั้งประชาชนสุขสันต์หน้าใส แล้วก็เป็นเทวดาที่เรื่องราวมากมายสะด้วยสิ
แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับคติความเชื่อศาสนานิกายและประวัติศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่เป็น polytheism หรือพหุเทวนิยม ที่ทำให้พระอินทร์มีหลาย ‘เรื่องเล่า’ และมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามบริบทความซับซ้อนทางการเมืองเศรษฐกิจวัฒนธรรม และถิ่นที่อยู่ของเรื่องเล่านั้น ที่ไม่ใช่แค่อินเดียวเอเชียใต้ แต่รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เช่นในยุคพระเวท พระอินทร์เป็นทั้งประมุขแห่งเทวดาทั้งหลาย เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามและสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เขาเป็นเทพอมตะ ยิ่งใหญ่ ผู้โหดร้ายผู้ทำลายล้างด้วยสายฟ้า เสพสุราหรือน้ำโสม นักบวชต้องประกอบพิธีใหญ่โต มีบทสวดมนต์และการถวายน้ำโสม ในยุคปุราณะ (ราวๆ พุทธศตวรรษที่ 7-12 ) พระอินทร์ได้ถูกลดบทบาทลงเป็นเทพชั้นรอง ที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวเท่าไร ไม่ได้เป็นเทวดาถาวร แต่เป็นเพียงตำแหน่งที่ต้องสลับผลัดเปลี่ยนไป ซึ่งผู้ที่จะเป็นพระอินทร์ได้ต้องประกอบกุศลกรรม และพิธีอัศวเมธมาแล้วถึง 100 ครั้ง[1]
ในปกรณัมมากมายพระอินทร์มักแพ้สงคราม
โดนยึดอำนาจ ยึดสวรรค์หลายครั้ง ต้องเร่ให้มหาเทพมาช่วยเสมอ
ขณะที่ในวรรณกรรมพุทธไทย พระอินทร์มีทั้งเหมือนและไม่เหมือนวรรณกรรมอินเดีย เขายังคงเป็นประมุขของเทวดา มีรัศมีกายสีเขียว มีอาวุธวชิระหรือสายฟ้าฟาดเปรี้ยงปร้างประจำกาย อาศัยอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สมบูรณ์ด้วยสมบัติอย่างมโหฬาร มีวิมานชื่อ เวชยันตปราสารท มีสวนสวรรค์ชื่อ จิตรลดา มีมเหสี 4 นาง ได้แก่ นางสุธรรมา สุชาดา สุนันทา สุจิตรา มีนางฟ้าเป็นชายาอีก 92 นาง และนางบำเรออีก 24,000,000 นาง เมียเยอะมากกกก มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ นอกจากชื่ออินทร์แล้วเขายังมีชื่อ ท้าวสักกะเทวราช อมรินทร์ มัฆวาน เทเวศวร์
ขณะเดียวกันพระอินทร์ก็เป็นเทวดาที่อุปถัมภ์ศาสนาพุทธมากที่สุด ปรากฏตัวในพุทธประวัติและตามวรรณกรรม เมื่อใดคนประพฤติชั่ว กษัตริย์ไม่มีทศพิธราชธรรม เป็นทรราชย์ พระอินทร์ก็จะเข้ามาจัดการ และคอยสอดส่องช่วยเหลือผู้ประพฤติธรรมเสมอ เพราะเขามีบัลลังก์คอยเตือนว่าใครบนโลกกำลังเดือดร้อน บัลลังก็จะแข็งกระด้างและเกิดความร้อน ทำให้พระอินทร์ ‘ร้อนอาสน์’ จนนั่งไม่ได้ต้องลงมาช่วยเหลือมนุษย์โลก
พระอินทร์ ในฐานะเทวดาในศาสนาพุทธแบบไทย ๆ เป็นตำแหน่งที่หมุนเวียนได้ ไม่ได้ถือกำเนิดเกิดมาเป็นพระอินทร์แล้วอยู่อย่างนั้น มีชื่อว่าพระอินทร์ไปตลอดเหมือนเทวดาองค์อื่นๆ เมื่อสิ้นบุญก็ต้องออกจากการเป็นพระอินทร์ แล้วให้มนุษย์ผู้มีบุญคนอื่นมาดำรงตำแหน่งแทน พระอินทร์ที่รู้จักในสังคมไทยคือพระอินทร์ที่ชาติก่อนเป็นมนุษย์ชื่อ ‘มฆมาณพ’ จากหมู่บ้านอจลคาม มฆมาณพเป็นคนจิตอาสา จิตสาธารณะชอบช่วยเหลือ ชักชวนพรรคพวกและภรรยาสร้างศาลาบนทาง 4 แพร่งให้คนเดินทางไกลได้มีที่พักอาศัย การเก็บกวาดทำความสะอาดพื้นที่รกร้างตามทางเดินสัญจร ขุดสระน้ำ ก่อสร้างสะพานและสวนสาธารณะ[2]
หลังๆ มานี้ในพ.ศ. 2556 พระอินทร์ถึงกับได้รับ
การสรรเสริญให้เป็น “แบบอย่างแห่งจิตอาสา”[3]
พระอินทร์ยังเป็นเทวดาอีกคนที่ถูกนำมาใช้ประกอบสร้างสถานะทางการเมืองให้กับเจ้าผู้ปกครอง ตั้งแต่ยังเป็นรัฐเล็ๆ ปกครองอย่างแบบหลวม ๆ เมื่อรัฐพัฒนาเป็นรัฐยุคศักดินาเต็มรูปแบบในพุทธศตวรรษที่ 19 พระอินทร์ก็ถูกนำมาใช้กับระบอบการปกครองและลัทธิเทวราชา ทำให้มีพัฒนาการเรื่อยมาผสมกับคติพหุเทวนิยม ที่กษัตริย์ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือความเคารพยำเกรง ความศักดิ์สิทธิ์ เป็น ‘สมมุติเทพ’ และสร้างความแตกต่างทางชนชั้นสถานะกษัตริย์กับผู้อยู่ใต้การปกครอง เช่นพิธีอินทราภิเษก ซึ่งเป็นพิธีกรรมยกกษัตริย์ดุจพระอินทร์ ผู้เป็นจักรพรรดิราชแห่งสวรรค์
ดังนั้นที่ประทับของกษัตริย์ จึงถูกตั้งชื่อให้สอดคล้องกับพระอินทร์ เช่น ‘พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน’ แปลว่าวิมานของพระมหาจักรพรรดิราช ส่วนที่เสด็จออกว่าราชการเรียกว่า ‘พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน’ แปลว่าที่ออกราชการของพระอินทร์ ผู้เป็นจอมเทพที่สถิตอยู่บนเขาพระสุเมรุ และครั้งหนึ่งมีการใช้ลัญจกรไอยราพต ซึ่งมีความหมายว่ากษัตริย์เทียบเท่าพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณ[4]
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตความคิดความอ่านโลกยสัณฐานแบบ ‘โลกแบน’ ที่ยังมีภูเขาสูงใหญ่เป็นที่ประทับของกษัตริย์และแกนกลางโลก แวดล้อมไปด้วยเทพบริวารและสัตว์ป่าหิมพานต์ และยังคงถูกผลิตซ้ำผ่าน ภาษา ชื่อ สถาปัตยกรรม พิธีกรรม ยวดยานพาหนะส่วนบุคคล ที่พักอาศัย[5] ไปจนไปถึงการฌาปนกิจศพอย่าง “งานพระเมรุ”[6] แม้ว่าจะอยู่ในยุคตระหนักรู้แล้วว่าโลกไม่ได้แบนแล้วก็ตาม
เนื่องจากคติที่ใครๆ ก็เป็นพระอินทร์ได้ ไม่ว่าไพร่หรือเจ้าหากทำความดีเมื่อยังไม่ตาย ดังนั้นเมื่อรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นสามัญชนชั้นขุนนางปราบดาภิเษกมาเป็นกษัตริย์ พระอินทร์จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์อย่างเข้มข้นในการสร้างบารมี สถานภาพศักดิ์สิทธิ์ และความชอบธรรมว่าสมัญชนก็เป็นสมมุติเทพได้ ในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2328 จึงจัดขึ้นในปราสาท ‘พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท’ ที่เพิ่งสร้างเสร็จ และมีลวดลายหน้าบันรูปพระอินทร์ บ้านที่เคยอาศัยสมัยยังเป็นสามัญชนก็ให้จิตรกรไปวาดจิตกรรมฝาผนังเป็นประวัติมฆมาณพสร้างศาลา อุโบสถวัดพระแก้วก็ให้สร้างหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณ ในรัชกาลภายหลังพื้นที่ที่ใช้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกก็ให้ถูกเขียนภาพจิตกรรมฝาผนังให้เป็นประวัติพระอินทร์มฆมาณพ เพื่อย้ำถึงสมมุติเทพพระอินทร์ [7]
อย่างที่บอกพระอินทร์มีหลายเรื่องเล่า รวมถึงใต้เตียงเทวดาด้วย
นอกเหนือจากมีเมียอยู่แล้วมากมายเสพสุขในสวรรค์วิมาน เขาก็ยังเที่ยว
ไปมีเซ็กซ์ในโลกมนุษย์ด้วย จนกล่าวกันว่าเป็นเทวดาที่มีเรื่องชู้สาว
มากกว่าเทวดาคนไหนในปกรณัม
ในรามายาณะบางฉบับ พระอินทร์ลักลอบไปมีเซ็กซ์กับนางกาลอัจนา บางเวอร์บางฉบับก็บอกว่าชื่อนางอหลยา ซึ่งนางคนนี้มีผัวอยู่แล้วเป็นฤๅษีชื่อ โคดม จนมีลูกชื่อ พาลี เมื่อฤๅษีโคดมจับได้จึงสาปพาลีให้กลายเป็นลิง พระอินทร์เองก็เช่นกันที่ถูกพระฤๅษีสาปแบบ “ฉันจะฉาบแก!!!” เล่นเอาชุดใหญ่ ที่ทำให้อวัยวะเพศพระอินทร์หลุดหายไปไม่พอ ยังให้มีอวัยวะเพศหญิงผุดพรายขึ้นทั่วร่างกาย เป็นการประจานให้อับอาย และก็มีธรรมเนียมบางอย่างที่จะตั้งชื่อบุคคลให้รำลึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ พระอินทร์จึงได้ชื่อเพิ่มว่า “สหัสโยนี” หรือผู้มีโยนีหรือจิ๋ม 1,000 อัน ต่อมาฤๅษีเห็นใจบรรเทาคำสาปเปลี่ยนจากจิ๋มกลายเป็นดวงตาแทน และก็นั่นแหละที่ทำให้มีอีกชื่อว่า “สหัสนัยน์” หรือผู้มีผู้มีดวงตานับพัน บ้างก็ว่าเป็นเพราะพระพรหมมาช่วยผ่อนคลายคำสาป และอีกบางตำนานสาปให้มีมีจิ๋มรอบกายเท่านั้น ไม่ได้สาปให้จู๋หลุด[8]
มหากาพย์มหาภารตะบางเวอร์ชั่น กล่าวว่า การที่ลอบไปเล่นชู้กับเมียพระฤๅษีทำให้ถูกสาปให้อวัยวะเพศของพระอินทร์หายไป เขาจึงไปขอร้องพระอัคนีเทพแห่งไฟให้ช่วยเหลือ พระอัคนีจึงนำจู๋แพะมาต่อให้ บางเวอร์ชั่นก็บอกว่าที่มีพันตารอบตัวก็เพราะพระอินทร์หลงรักนางอัปสรรูปงามผู้หนึ่งอย่างหัวปักหัวปำจึงเนรมิตดวงตาถึงพันดวงขึ้นมารอบตัวเพื่อจะได้จ้องมองนางอัปสรได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม การอธิบายให้เป็น ‘ท้าวพันตา’ มีตานับพันดวงก็แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของเทวดาในบางลัทธินิกายและคัมภีร์ ที่สามารถเล็งเห็นช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้คราวละมากๆ
อันที่จริง เรื่องเล่าปกรณัมต่างๆ ไม่ว่าจะโดยใครลัทธินิกายคัมภีร์ใด ในบริบทสังคมการเมืองแบบใด นั่นก็ทำให้เห็นว่าในสายตาพวกเราชาวมนุษย์ด้วยกัน ก็เห็นเทวราชาเหมือนมนุษย์ขี้เหม็นคนหนึ่ง กินขี้ปี้นอน ขี้เมาไม่ต่างกัน มักมากในกาม ดีแต่เพียงมีอาวุธวิเศษและได้อยู่ในทิพย์วิมานสุขสบาย แต่อำนาจและสถานะของพวกเขาก็ไม่จีรังยั่งยืน ขึ้นๆลงๆ ตุ้บได้ ตุยได้ และบางครั้งก็ใช้อำนาจจากสถานะตนเองในทางที่ผิด ผิดลูกผิดเมีย สร้างความเดือดร้อนเอาเปรียบผู้อื่น และที่สำคัญสามารถลงโทษได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] กิตติธัช ศรีฟ้า. พระอินทร์ในบริบทสังคมไทย. วารสารศิลป์ พีระศรี. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (2561), น. 68-87.
[2] มนตรี สิระโรจนานันท์,“พระอินทร์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท”,. บทความวิจัยวารสารมหาจุฬาวิชาการ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2561), น. 44-63.
[3] ศานติ ภักดีคำ. พระอินทร์ มหาเทวะผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา แบบอย่างแห่งจิตอาสา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2556.
[4] นภาพร เล้าสินวัฒนา. การเสด็จขึ้นครองราชย์ : พระราชพิธี คติ ความหมาย และสัญลักษณ์แห่ง “สมมติเทวราช”.กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2549, น. 64, 95.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 51-52, 64.
[6] นนทพร อยู่มั่งมี, ธัชชัย ยอดพิชัย. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.; สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พระเมรุ : ทำไม ? มาจากไหน. กรุงเทพฯ : กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, 2551.
[7] ชาตรี ประกิตนนทการ. คติพระอินทร์สมัยรัชกาลที่ 1 : อุดมการณ์รัฐ พุทธศาสนา และสถาปัตยกรรม. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 6 (เมษายน, 2552), น. 77-99.
[8] อ่านเพิ่มเติม ส.พลายน้อย.เทวนิยาย. กรุงเทพ : บำรุงสาส์น, 2519.