เพราะว่า เซ็กซ์ ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับเรื่องความรักเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีเรื่องสุนทรียะเข้ามาร่วมด้วย ใช่ว่าคนไร้รักจะไม่ต้องการความเสียวในชีวิต พวกเขาจึงใช้เทคโนโลยีในโลกยุค 4.0 ที่มีช่องทาง ‘นัดยิ้ม’ อยู่หลากหลาย กลุ่มคนที่อยากนัดกันไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งช่องทางอันทันสมัยที่ดูหลากหลาย ก็เหมือนยังจะตอบสนองพวกเขาได้ไม่มากพอ ?
ที่เราอยากคุยเรื่อง นัดยิ้ม นั้นก็มีที่มาจากการที่เราได้ไปร่วมงาน ‘Passion X Research จะสด? หรือจะโสด?’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประเด็นที่น่าสนใจในงานก็คือ การเสวนาเรื่องเซ็กซ์ในโลกอินเทอร์เน็ต โดยมีวิทยากรสองท่านก็คือ ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ ที่เสวนาเรื่องบนเตียงแฝงด้วยเหตุการณ์อื่นๆ อย่างเผ็ดแซ่บ และเป๊ปซี่-สุธาวัตน์ ดงทอง นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเรื่อง ‘นัดยิ้ม…ผ่านทวิตเตอร์’
โดยเนื้อหาของตัวสัมมนานั้นพูดถึงการเปิดเผยเรื่องทางเพศมากขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่ในประเทศไทยก็ยังเคอะๆ เขินๆ ในการพูดคุยเรื่องทางเพศ ซึ่งตัววิทยากรทั้งสองท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การที่คนไทยยังไม่กล้าพูดเรื่องเพศในฐานะกิจกรรมหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบพาน นั้นทำให้คนไทยขาดความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่เหมาะที่ควร และเมื่อไม่กล้าคุยเรื่องนี้กันแบบเปิดเผย ก็ทำให้คนที่ขาดความรู้ส่วนนี้มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการคุกคามทางเพศได้ อย่างที่มีการยกตัวอย่างในงานสัมมนาว่า เด็กผู้ชายที่ศึกษาเรื่องเพศกันเองผ่านหนังโป๊ต่างๆ มีโอกาสสูงที่จะไม่สนใจว่าการช่วยตัวเองเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคล และอาจไปจับเพื่อนนักเรียนชายที่มีท่าทางตุ้งติ้งมาทำการสำเร็จความใคร่ เพราะคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะชื่นชอบ หรืออาจเพราะอยากให้เพื่อนสนุกเฉยๆ และถ้าขนาดการช่วยเหลือตัวเองยังถูกละเมิดสิทธิ์ได้ การก้าวข้ามเกินเลยไปยังการคุกคามแบบอื่นๆ ก็ย่อมเกิดได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นการที่เราจะพูดเรื่อง ‘นัดยิ้ม’ กันในวันนี้ ก็เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าโลกมันหมุนไปตามยุคสมัย และในสังคมของการนัดยิ้มนั้นก็มีอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อยาก นัดยิ้ม จะทำยังไงดี
ความจริงก็อยากจะย้อนเล่าเรื่องการนัดยิ้มตั้งแต่สมัยหลายร้อยปีก่อน แต่คิดว่าย้อนไปขนาดนั้นมันคงนานไปหน่อย เลยขอรวบรัดมายุคยังใช้จดหมายกันอยู่เยอะๆ วัยรุ่น วัยเปลี่ยว ยุคนั้นอาจส่งจดหมายไปหาคอลัมน์จับคู่ชู้รักในหนังสือพิมพ์หรือในนิตยสารต่างๆ แล้วก็ลุ้นว่าชื่อกับภาพของตัวเอง (ถ้าส่งไปด้วย) จะขึ้นตีพิมพ์เมื่อไหร่ จากนั้นจึงค่อยลุ้นว่าจะมีใครเขียนจดหมายตอบกลับมาเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กันในเวลาต่อไป ซึ่งในยุคจดหมายแบบนี้กว่าเราจะได้ยิ้มกันก็กินเวลายาวนานพอสมควร
พอมาถึงยุคที่โทรศัพท์เริ่มเข้ากันทั่วถึง ก็มีคนเปิดให้บริการนัดบอดผ่านโทรศัพท์ โดยเก็บค่าบริการโทรศัพท์ที่ออกจะแพงอยู่สักหน่อยแต่ก็ทำให้สื่อสารกันฉับไวมากขึ้น
พอข้ามมายุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง หลายๆ คนก็ขยับมานัดยิ้มกันใน IRC บ้าง ICQ บ้าง หรือช่วงหนึ่ง MSN ก็เป็นที่นิยมอยู่เหมือนกัน ติดอยู่ตรงที่ว่าการนัดยิ้มตามเน็ตแบบนั้นต้องรู้จักห้องแชทสำหรับนัด หรือไม่งั้นก็ต้องไปโพสต์อีเมลโพสต์เบอร์แบบเปิดเผยก่อน หลายครั้งก็มีความน่าละเหี่ยใจตรงคนที่เราทักไปไม่ยอมคุยด้วย หรือคนที่มาคุยด้วยดันไม่ใช่เป้าหมายที่เราเล็งอยู่ ซึ่งยุคนี้ก็มีคนส่วนหนึ่งมองว่าการนัดยิ้มนั้นเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
เข้ามาถึงยุคปัจจุบัน การนัดยิ้ม 4.0 นั้นทำได้ง่าย สะดวก และปลอดภัยขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า ด้วยความที่ว่าเว็บนัดเดต หรือ นัดยิ้มกันตรงๆ นั้นต้องให้ผู้ใช้ทุกคนโพสต์รูปส่วนตัวก่อนที่จะเข้าไปใช้บริการแล้ว ซึ่งต่อให้ใช้รูปปลอมก็จะโดนสังคมมวลรวมตัดเครดิตไปเอง แถมแอพยังมีหลากหลายแบบ หลายสไตล์แล้วแต่ความนิยมและกลุ่มเป้าหมายซึ่งเราจะลงรายละเอียดกันต่อไป
ซึ่งจริงๆ การนัดยิ้มแบบสามัญบ้านๆ อย่างการไปเที่ยวผับเที่ยวบาร์ ไม่ก็เดินเที่ยวงานวัด งานท่องเที่ยวที่จัดตอนกลางคืน แล้วเดินแกร่วหาคนที่ถูกใจมาพูดตกลงกันว่าคืนนี้จะไปยิ้มต่อกันที่ไหน หรือถ้าเป็นกลุ่ม LGBT อาจจะเดินทางไปหาคนยิ้มแก้อยากในสถานที่จำเพาะ อย่าง ซาวน่า เป็นอาทิ ซึ่งวิธีการนัดยิ้มแบบเจอตัวเป็นๆ แล้วต่อรองกันอย่างนี้ก็ยังมีใช้กันอยู่ในปัจจุบันแหละ
โลกอันหลากหลายของช่องทาง นัดยิ้ม ยุค 4.0
ที่เราบอกว่า ยุค 4.0 จะมีแอพพลิเคชั่นนัดยิ้มหาโหลดได้ง่ายๆ ทางสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ก็ใช่ว่าการนัดยิ้มจะไม่มีรายละเอียดอื่นใดนะ จริงๆ เรื่องนี้อาจจะแยกย่อยเป็นหลายห้วงมิติได้เลยล่ะ
ถ้ามองแบบผู้ชายทั่วๆ ไป ก็เล่นแค่ Line แล้วหากลุ่มที่นัดยิ้มคุยกัน หรือถ้าอยากหาใครในท้องที่ที่ไม่คุ้นเคยก็เปิด BeeTalk เอา แต่ถ้าไม่รีบร้อนมาก Tinder ก็เป็นแอพพลิเคชั่นที่ดีในการหาคนถูกใจแล้วลองปัดขวาดูสักที คุยกันยาวๆ ก่อนที่จะตกลงว่าเป็นอะไรกันต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งถ้าคุณไม่ได้มีรสนิยมเฉพาะทาง แค่แอพพวกนี้ก็พอใช้งานหาคู่นัดยิ้มแบบชิลๆ ได้อย่างไม่วุ่นวายแล้ว
ฝั่ง LGBT เองก็มีแอพสารพัดสารพันมากมาย สำหรับชายรักชายแล้ว แอพ Blued ที่ทำตลาดในไทยอยู่ก็สมัครง่าย แต่มีให้ยืนยันใบหน้าเพื่อเอาสิทธิ์พิเศษเพิ่ม แถมคนเล่นก็เยอะ ส่วน Grindr กับ Hornet ที่มีกลุ่มหนุ่มล่ำเล่นเยอะหน่อย หรือถ้าชอบหมีๆ Growlr ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง
ฝั่งหญิงรักหญิงก็มีแอพเฉพาะทางเช่นกัน อย่างคนใกล้ตัวเราเขาใช้ LesPark ที่มีบริการไม่ต่างกับแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์แบบอื่น หรือ Spicy ที่เปิดตอนรับทั้งเลสเบี้ยน, ไบเซ็กชวล และผู้หญิงข้ามเพศก็มีคนไทยใช้งานอยู่เยอะเช่นกัน
แต่ถ้ารสนิยมเฉพาะทางเฉพาะถิ่น อย่างนิยม BDSM หรือชอบ Outdoor อาจไม่ได้อยู่ตามแอพไหนเป็นหลัก แต่พวกเขาหลบอยู่ตามเว็บไซต์อย่างลับๆ หรือที่นิยมในปัจจุบันนี้ก็เป็นทางฝั่งทวิตเตอร์ อย่างในงานวิจัยของ เป๊ปซี่-สุธาวัตน์ ที่เรากล่าวถึงขั้นต้นก็ค่อนข้างจะเจาะลึกไปยังกลุ่มชายรักชายที่นิยม Outdoor ซึ่งอยู่เป็นกลุ่มสังคมที่ค่อนข้างใหญ่ในทวิตเตอร์ และเปิดเผยตัวค่อนข้างชัด จนมีชื่อเรียกแอคเคาต์กลุ่มนี้ว่า ‘แอคเค่อ’ แทน ซึ่งทวิตเหล่านี้ก็มีอยู่ไม่น้อย หลาย ‘แอคเค่อ’ ที่โชว์กิจกรรมทางเพศอย่างชัดแจ้งมียอดฟอลโลว์มากกว่าหลักแสนเลยทีเดียว กลายเป็นว่ามุมหนึ่งของสังคมทวิตเตอร์ได้แสดงปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ที่สวนทางกับสังคมไทยทั่วไป เพราะกลายเป็นว่าคนจะชื่นชมหากมีอวัยวะเพศขนาดใหญ่ หรือมีเซ็กซ์แบบหวือหวา
กลุ่มสังคมในทวิตเตอร์อีกส่วนที่พอจะพบเห็นได้ก็คือกลุ่มรสนิยมทางเพศเฉพาะ อย่าง Swinging, นิยมคนอายุมาก, นิยมคนอวบอ้วน แต่อาจจะไม่เอิกเกริกเท่ากับกลุ่ม ‘แอคเค่อ’ นัก และทุกๆ กลุ่มที่กล่าวถึงนี้ก็มักจะขยับตัวเชิญชวนไปสนทนากันในแอพพลิเคชั่นอื่นที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะทางทวิตเตอร์ก็ไล่ลบไอดีที่แสดงออกทางเพศชัดแจ้งแบบนี้อยู่เรื่อยๆ เช่นกัน นอกจากนี้ กลุ่มเฉพาะทางมากๆ ก็ยังมีเว็บไซต์ หรือเว็บบอร์ดที่ลับบ้างไม่ลับบ้างเพื่อเป็นการกรอง ‘พวกพ้อง’ ก่อนเข้าใช้งาน อย่างกลุ่มคนชราที่หาคู่นัดกันก็มีเว็บเฉพาะ หรือแบบพ่อม่ายแม่ม่ายคุยกุ๊กกิ๊กกันคิวท์ๆ ก็มีเว็บให้เห็นอยู่เช่นกัน และเว็บสำหรับผู้ใช้งานรุ่นใหญ่ก็มักจะมาพร้อมฟีเจอร์เรียบง่ายสบายตาและใช้สะดวกด้วยล่ะ
อ้าว แล้วผู้หญิงที่มีรสนิยมทางเพศแบบปกติไม่ใช้แอพกันหรอกหรือ หรือว่าคนเขียนลืม ? เปล่านะ ไม่ได้ลืมหรอก แต่เท่าที่เห็นทั่วไปเธอก็จะวนเวียนอยู่กับ BeeTalk หรือ Line หรือกลุ่มลับยิบย่อยตามเฟซบุ๊คกันแทน จนเราเองก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเธอๆ เหล่านั้นไม่ค่อยมีแอพประจำชัดเจน จนเราถือโอกาสไปถาม ลูกแก้ว-โชติรส ที่เธอได้ออกความเห็นอย่างออกรสเกี่ยวกับการใช้งานแอพของสาวๆ ไว้ดังนี้
“ผู้หญิงมันมีความจำกัดอยู่ไม่ว่าจะใช้แอพอะไร เพราะมันเป็นฝ่ายที่สังคมค่อนข้างกำหนดว่าไม่สามารถบอกความต้องการชัดเจนของตัวเองไปตรง ๆ โต้งๆ ได้ เดังนั้นไม่ว่าแอพไหน เราว่ามันก็ไม่สามารถจะไปประกาศบอกใคร ๆ ได้ว่า ฉันอยากนะ มาเอาฉันที มันต้องเป็นไปในรูปแบบการถูกจีบ การจีบกันก่อน ชวนไปเดตแล้วค่อยได้กัน ไม่เชิงเป็นการบอกว่านัดยิ้มกันตรงๆ แต่ทำไปภายใต้การเดตแต่ต่างคนต่างก็รู้อยู่แล้วว่านี่คือการนัดมีอะไรกัน หรืออย่างในกรุ๊ป (ของเฟซบุ๊ก) ก็อาจมีผู้หญิงมาบ่นว่าเหงา ซึ่งไม่ต้องบอกตรง ๆ ก็รู็ว่ามันไม่ใช่เหงาแบบนั้น แต่เป็นเหงาแบบอยากได้ใครสักคนมาเอากัน แต่สังคมมันไม่เปิดโอกาสให้ผู็หญิงพูดตรง ๆ ได้ เลยต้องรอให้คนมาจีบ รอให้ผู้ชายมานัด มากกว่าจะมีโอกาสได้เลือกเอง”
ลูกแก้วยังคาดหวังว่าตัวเธออยากให้มีแอพพลิเคชั่นที่ผู้หญิงสามารถบอกได้ตรงๆ ว่า เราอยากได้แบบนี้ ยอมทำได้แค่นี้ ซึ่งฟีเจอร์เหล่านี้ถือว่ามีเป็นปกติในแอพพลิเคชั่นสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศแต่ในฝั่ง straight กลับยังไม่มีแอพไหนออกตัวอย่างการใช้งานมาให้เห็นชัดเจนนัก
ก็นะ แอพมันแค่ช่วยให้การ นัดยิ้ม สะดวกขึ้น แต่มันยังมีอะไรมากมายที่ต้องตกลงกันนอกแอพนั่นล่ะ
นัดยิ้ม อันตรายนะ จะดีเหรอ?
หลายคนอาจมองว่า ‘นัดยิ้มเป็นกิจกรรมสวาทที่มีความ ‘มั่ว’ สูง จนอาจจะทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการนี้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคทางเพศได้ง่ายขึ้น’ แต่จากประสบการณ์ตรง รวมถึงประสบการณ์ของวิทยากรในงานสัมมนาที่เรากล่าวถึงทั้งสองท่านบอกเล่า และจากมิตรสหายอีกหลายคนที่ยังหาโอกาสนัดยิ้มผ่านแอพ พบว่าในกลุ่มสังคมนัดยิ้มนั้นค่อนข้างจะระวังตัวเอง ถึงจะมีส่วนน้อยที่บอกเลยว่าอยาก ‘สด’ และอีกหลายคนอาจจะสตอเบอร์รี่สถานะโรคของตัวเองก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ‘ใบตรวจเลือด’ หรือ ‘ใบตรวจโรคทางเพศ’ กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สามารถแสดงอำนาจในสังคมนัดยิ้มนี้ ผลก็คือคนที่โชว์ว่าตัวเองตรวจเลือดบ่อยๆ ก็จะมีคนสนใจมากกว่า มีโอกาสเลือกคนที่เหมาะสมกว่า
ส่วนการไปแล้วเจอหลอกก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ในระบบสังคมนัดยิ้ม ก็มีการลงทัณฑ์ทางสังคม (Social Sanction) หรือถ้าเรียกแบบบ้านๆ ก็คือ การ ‘แหก’ คนที่ชอบหลอกคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเอาเงิน หลอกให้เสียเวลา (นัดแล้วไม่ยิ้ม หรือ นัดแล้วไม่มา) แม้แต่การใช้รูปปลอมๆ ก็เคยมีการแหกระดับตามตัวถึงบ้านกันมาแล้ว ก็เหมือนกับดราม่าในอินเทอร์เน็ตที่คนชื่อเสีย มักจะมีข่าวคาวให้เห็นหรือค้นหาได้อยู่อย่างยาวนาน
แต่ก็ไม่ใช่ว่าแดน ‘นัดยิ้ม’ จะไร้อันตรายจริงจังนะ เรื่องป้องกันโรคทางเพศก็เป็นอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวังเสมอ (สนุกได้แต่ต้องเซฟด้วย) ส่วนอีกภัยหนึ่งที่หลังๆ ก็ลงข่าวบ่อยแล้วคงจะเป็นเรื่องการแอบถ่ายคลิปที่สมัยนี้มือถือมันก็ถ่ายได้คุณภาพดี และแอพนัดยิ้มเหล่านี้ก็มาพร้อมมือถืออยู่แล้ว อีกส่วนก็คือกิจกรรมเฉพาะทางบางอย่างก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายอยู่ อย่างการ Outdoor นั้นก็ยังเป็นการละเมิดกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388 ที่ระบุว่า “ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือ เปิดเผยร่างกายหรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท” อีกส่วนที่ เป๊ปซี่-สุธาวัตน์ เสนอไว้ในงานสัมมนาก็คือ อันตรายจากการใช้ยาเสพติดหรือยาที่ผิดกฎหมายระหว่างการนัดยิ้ม ด้วยเหตุที่ว่าพอหื่นถึงจุดที่จะต้องป๊ะกันแล้ว เมื่อมีการให้ใช้ยาอะไรก็มักจะหลีกเลี่ยงได้ยากสักหน่อย
อีกเรื่องที่น่าสนใจจากการสัมมนาที่กล่าวถึงตอนต้นนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า กลุ่ม LGBT นั้นมีการ นัดยิ้ม มากกว่ากลุ่ม straight ก็เพราะในปัจจุบันกฎหมายยังไม่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เรื่องเซ็กซ์จึงกลายเป็นกิจกรรมที่สนองความต้องการพื้นฐานมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน รวมถึงการมีอะไรกันของชายรักชายหรือหญิงรักหญิงนั้นไม่ทำให้เกิดบุตรที่มักเป็นข้อผูกมัดทางชีวิตคู่ด้วย
เรื่องราวของการ นัดยิ้ม ในยุค 4.0 โดยสังเขปคงมีเท่านี้ และจากการสัมมนาก็ทำให้เห็นว่ากลุ่มคนที่นัดผ่านแอพนั้นก็มีร้อยพ่อพันแม่ แต่มักเป็นผู้ที่มีการศึกษาพื้นฐานไม่แย่นัก (ในกรณีของ แอคเค่อ ที่ เป๊ปซี่-สุธาวัตน์ ทำวิจัยมานั้นมีระบุว่าหลายคนประกอบอาชีพที่มีหน้าตาทางสังคม) แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องทางเพศอย่าผิวเผินอยู่ เพราะฉะนั้นการมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยยังเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ควรทำอยู่เสมอ และตราบเท่าที่การนัดยิ้มของคุณไม่พังชีวิตคู่ หรือทำเรื่องที่เสี่ยงจะผิดกฏหมายอย่างการใช้ยาเสพติด หรือการพรากผู้เยาว์ การนัดยิ้มแล้วจบลงที่ห้องของใครคนในคนหนึ่งนั้นยังถือเป็น ‘สิทธิ์ส่วนตัว’ ของคุณอยู่เสมอนั่นเอง