“ความยุติธรรมต้องไม่ยุติธรรมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย”
– เอลินอร์ รูสเวลท์
ผู้กล่าววาทะอมตะข้างต้นคืออดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งอเมริกัน หนึ่งในคณะผู้ร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อันเป็น ‘จริยธรรมสากล’ ชุดแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทว่าค่อนศตวรรษผ่านไป ความหมายที่แท้จริงก็ดูจะยังไม่นิ่งหรือสถิตเสถียรลงในสังคมไทยสักกี่มากน้อย
เวลาเกิดข้อพิพาทหรือปัญหาอะไรขึ้นมา เรามักจะยึดมั่นถือมั่นในอคติโดยที่ไม่รู้ตัวว่า ‘เรา’ หรือ ‘พวกเรา’ เท่านั้นที่เป็นฝ่ายถูกร้อยทั้งร้อย และคู่กรณีก็ผิดร้อยทั้งร้อย ฉะนั้นถ้าผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมออกมาในทางที่ตอกย้ำความเชื่อเช่นนี้ของเรา เราก็จะสรรเสริญตุลาการว่ายุติธรรม ทั้งที่คำตัดสินอาจไม่ยุติธรรมเลยก็ได้หากมองจากมุมของคู่กรณี เพราะ ‘ตาชั่ง’ ของตุลาการเอียงตั้งแต่แรก
คำถามคือ คนเดินดินธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจะรู้ได้อย่างไรว่าตุลาการรายใดตัดสินด้วยอคติ ในเมื่อกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้โดยง่าย ยังไม่นับสถานการณ์ที่ซับซ้อนกว่านี้อีก เช่น กฎหมายหลายฉบับไม่ยุติธรรมตั้งแต่ตัวบท ถูกประกาศใช้เพียงเพราะผู้มีอำนาจออกกฎหมายไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีอันเท่าเทียมของมนุษย์ ไม่แยแสที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย (คือยินดีรับฟังและถกเถียงด้วย ไม่ใช่ทำเป็นฟังแต่ไม่ได้ยิน) ในการร่างกฎหมาย โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบที่สุด
ถึงที่สุดแล้ว เราอาจไม่มีทางนิยาม ‘ความยุติธรรม’ จนกว่าจะเลือกว่าจะใช้แนวคิดเรื่องความยุติธรรมแนวไหน จะให้น้ำหนักกับคุณค่าชุดใดบ้าง เพราะมันเชื่อมโยงกับจุดยืนทางศีลธรรมของคนแต่ละคนเสมอ นักอรรถประโยชน์นิยมอาจเสนอว่า ความยุติธรรมจะบังเกิดเมื่อใดที่ประโยชน์สูงสุดเกิดกับคนจำนวนมากที่สุด ถึงแม้คนส่วนน้อยอาจเสียประโยชน์ ส่วนนักคิดซ้ายจัดอาจยืนกรานว่า ความยุติธรรมจะบังเกิดก็ต่อเมื่อเรากระจายความมั่งคั่งให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น
การพยายามทำความเข้าใจกับลักษณะของ ‘ความยุติธรรม’ เพื่อวางกติการ่วมกันในสังคม จึงควรจะถกกันให้ตกผลึกก่อนว่า เราจะตกลงใช้แนวคิดเรื่องความยุติธรรมแบบใด
นอกจากนี้ เราก็ควรจะแยกแยะสองมิติของความยุติธรรมให้ชัดเจน คือ ‘ความยุติธรรมเชิงเนื้อหา’ (substantive justice) กับ ‘ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ’ (procedural justice) เพราะต่างมีความสำคัญทั้งคู่ ถ้าขาดมิติใดมิติหนึ่งไป ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจเรียกว่า ‘ยุติธรรม’ ได้อย่างเต็มปาก
‘ความยุติธรรมเชิงเนื้อหา’ ว่าด้วยความจำเป็นที่กฎหมายจะต้อง ‘ยุติธรรม’ จากมุมมองของคนในสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งก็ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนจุดยืนทางศีลธรรม ถกกันให้ชัดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย การออกกฎหมายกระทำผ่านตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าสภาให้มาทำหน้าที่แทนในการหาฉันทามติ แต่ในสังคมประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเสี้ยวใบที่เป็นเผด็จการสลับกับประชาธิปไตยหลายครั้ง กฎหมายหลายฉบับที่ออกในยุคเผด็จการครองเมืองอาจลอยชายได้นานหลายสิบปี โดยที่คนไม่ระแคะระคายว่ามัน ‘ดี’ กับใคร ‘ไม่ดี’ กับใคร และผลลัพธ์ของมันคืออะไร
‘ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ’ ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า due process หรือ ‘กระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย’ ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่า กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (ศาลมีคำตัดสิน) จะเป็นธรรมและโปร่งใส เคารพและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีใครตายลึกลับอย่างกรณี ‘ติดเชื้อในกระแสเลือด’ ในเรือนจำ ตำรวจไม่บีบบังคับหรือซ้อมให้จำเลยรับสารภาพ ไม่กีดกันไม่ให้ทนายร่วมรับฟังข้อหา ไม่ ‘ยัด’ ข้อหาเพิ่มเติมหลังจากที่ยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาไปขุดคุ้ยข้อมูล ศาลอนุญาตให้ประกันตัวถ้าไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
‘ความยุติธรรมเชิงเนื้อหา’ ขึ้นอยู่กับจุดยืนทางศีลธรรมโดยรวมของคนในสังคม ส่วน ‘ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ’ วันนี้มี ‘หลักการสากล’ มากพอที่จะชี้ชัดลงไปได้ว่า สังคมใดเคารพในหลักกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย
น่าเศร้าที่สังคมไทยโดยรวมยังไม่ให้ความสำคัญกับ ‘ความยุติธรรม’ ทั้งสองมิติ คนจำนวนมากชี้นิ้วตัดสินเองว่าใคร ‘ชั่ว’ แล้วก็เชียร์ให้เขาหรือเธอถูกดำเนินคดีและรับโทษหนักๆ (หรือประหารชีวิต) โดยไม่ใส่ใจว่ากฎหมายนั้นยุติธรรมหรือไม่ (ยุติธรรมเชิงเนื้อหา) และยิ่งไม่แยแสเข้าไปใหญ่ว่า กระบวนการดำเนินคดีเป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือไม่ (ยุติธรรมเชิงกระบวนการ) เพราะคิดแต่เพียงว่า ‘ก็คนมันชั่ว มันต้องได้รับกรรมอย่างสาสม!’
หลายคนต่อให้รู้ทั้งรู้ว่าผู้ต้องหาโดนกลั่นแกล้งก็ยักไหล่ แล้วไงหรือ? เช่น ต่อให้เราแชร์ข่าวชิ้นเดียวกันกับคนอีกสองพันกว่าคน แต่เราไม่โดน ทำไมจะต้องแคร์คนคนเดียวหรือไม่กี่คนที่โดนด้วยเล่า?
Tyranny เกมอาร์พีจี (RPG สวมบทบาทผจญภัยในโลกแฟนตาซี) นับเป็นน้อยเกมที่ฉุกให้คิดเรื่องความยุติธรรม ความอยุติธรรม และผลลัพธ์ปลายทางได้อย่างสนุกสนาน ระหว่างที่พักเบรกจากการร่ายเวทและแกว่งดาบสู้อสุรกาย หรือเลือกว่าจะเอาแต้มจากการเลเวลอัพไปเพิ่มทักษะอะไรดี
พล็อตใหญ่ของเกมนี้ปูทางสู่การตัดสินใจข้นคลั่กตลอดเรื่อง สนุกตั้งแต่การให้เราเล่นเป็นฝ่ายอธรรม เพราะฝ่ายธรรมะแพ้ราบคาบไปแล้วตั้งแต่ก่อนฉากแรก ฉะนั้นเกมนี้ทั้งเกมจึงไม่มี ‘ดำ’ กับ ‘ขาว’ หรือ ‘ถูก’ กับ ‘ผิด’ แม้แต่นิดเดียว!
หลังจากที่ทำสงครามยาวนานกว่า 400 ปี โลกทั้งใบก็ยอมสยบอยู่ใต้เงื้อมมือของจอมมารไครอส (Overlord Kyros) ยกเว้นมนุษย์หน้าโง่ไม่กี่เมืองที่ลุกขึ้นก่อกบฏ เราเล่นเป็น ‘เจ้าชะตา’ หรือ Fatebinder ตุลาการใต้สังกัดทูนอน (Tunon) ผู้พิพากษาสูงสุดในกองทัพไครอส เรามีหน้าที่เป็นหูเป็นตา ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ภายใต้พระปรมาภิไธยของจอมมาร ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทภายในกองทัพ (ซึ่งก็แตกออกเป็นฝักฝ่ายหลายก๊กหลายเหล่า ไม่ใช่ว่ามีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างกระหายอยากได้อำนาจและมีปรัชญาของตัวเอง) หรือข้อพิพาทภายในเมืองบริวารต่างๆ รวมถึงมีอำนาจตัดสินลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน ‘กฎหมาย’ ซึ่งก็คือประกาศิตทั้งหลายของจอมมาร
ความสามารถอีกประการที่น่าสะพรึงของเรา คืออำนาจในการประกาศ ‘โองการนรก’ (Edict) นั่นคือ เวทของไครอสที่ทรงอานุภาพสูงสุด โองการนี้บังคับให้ทุกคนทำตาม เพราะถ้าไม่ทำตามภายในเวลาที่กำหนด จะเกิดหายนะตามคาถาที่ผนึกไว้ เช่น โองการนรกฉบับแรกที่เราถือประกาศว่า กองทัพของดิสเฟเวอร์ด (Disfavored) และ สการ์เล็ตต์ คอรัส (Scarlet Chorus) สอง ‘ก๊ก’ ภายใต้จอมมารที่ไม่ถูกกัน จะต้องยึดปราสาทเวนเดรียนส์เวลล์ (Vendrien’s Well) คืนมาจากเหล่ากบฎภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นทุกคนในบริเวณนั้นจะตายหมด (แน่นอนว่ารวมทั้งผู้ถือโองการคือตัวเราด้วย)
ข้อพิพาทที่เราต้องตัดสินในเกมมีตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ ทั้งหมดให้อารมณ์คล้ายกับว่าเราคือข้าราชการระดับสูงที่ส่วนกลางส่งไปปกครองหัวเมืองในสมัยโบราณ นั่นคือ การบังคับใช้กฎหมายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเราเป็นหลัก เราจะใช้กฎหมายของไครอสเป็นเครื่องมือแสวงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว (เช่น แกล้งบอกพ่อค้าว่าใบอนุญาตค้าขายไม่เรียบร้อย จ่ายเพิ่มมาเดี๋ยวนี้!) ก็ได้ แต่ก็ต้องระแวงว่าพฤติกรรมนั้นจะกลับมาแว้งกัดในภายหลัง หรือทำให้เราตกอยู่ในอันตรายเพราะทำให้คนเกลียดมากเกินไป
การตัดสินใจทุกเรื่องในเกมนี้ไม่ใช่การเลือกระหว่าง ‘ถูก’ กับ ‘ผิด’ (เพราะอย่าลืมว่าอธรรมชนะแล้วอย่างราบคาบ!) แต่ขึ้นอยู่กับรสนิยมและแนวคิดของเราในฐานะคนเล่น ยกตัวอย่างเช่น เราอาจตัดสิน ‘ปล่อย’ คนที่ทำผิดกฎเล็กๆ น้อยๆ เพราะเห็นแก่มโนธรรม (หรือเชื่อว่าในอนาคตคนคนนี้จะตอบแทนเราได้) หรือตัดสินลงโทษตามตัวบทอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างชื่อว่าเป็นตุลาการที่เที่ยงธรรม ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ เวลาที่สองก๊กใหญ่ในเกมทะเลาะวิวาทกัน เราอาจตัดสินเข้าข้างก๊กดิสเฟเวอร์ด เพราะทหารดู ‘มีเกียรติ’ และเป็นระเบียบเรียบร้อย เชื่อฟังคำสั่งหัวหน้ามากกว่าก๊ก สการ์เล็ตต์ คอรัส ซึ่งชื่นชอบความโกลาหลวุ่นวายและป่าเถื่อน แต่ถ้ามองอีกมุม ดิสเฟเวอร์ดจะยินดีประหารประชาชนตาดำๆ แม้จะยกธงขาวแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามในอนาคต ขณะที่ สการ์เล็ตต์ คอรัส จะเปิดโอกาสให้ผู้แพ้เข้ามาสังกัดกองทัพตัวเอง เป็นวิธีเพิ่มจำนวนลูกสมุน แต่ทุกคนต้องกระเสือกกระสนต่อสู้เอาตัวรอดเอง ตามหลักธรรมชาติ ‘ใครแกร่งกว่าคนนั้นรอด’
การตัดสินใจทุกเรื่องไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ใน Tyranny ล้วนแต่มีผลพวงบางอย่างซึ่งเรามักจะมองไม่เห็นในทันที อย่างน้อยที่สุดมันก็ส่งผลต่อทัศนคติของผู้ติดตาม และก๊กต่างๆ ในเกมนี้ที่มีต่อเรา ผ่าน ‘ระบบชื่อเสียง’ ในเกม ซึ่งจะคอยบันทึกทั้ง ‘ชื่อเสียง’ (Favor) และ ‘ชื่อเสีย’ (Wrath) ของเราที่มีต่อผู้ติดตามแต่ละคน และก๊กแต่ละก๊กอย่างละเอียด เมื่อเราสะสมชื่อเสียงและ/หรือชื่อเสียจนถึงจุดหนึ่ง เราก็จะใช้ความสามารถพิเศษบางอย่างได้ เช่น ทำคอมโบ้โจมตี หรือได้แต้มโบนัสพิเศษ ซึ่งก็จะทำให้เราดูเหนือมนุษย์มากขึ้น
การที่เราได้ประโยชน์ทั้งในกรณีชื่อเสียงและชื่อเสีย ช่วยตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า Tyranny ไม่เคยให้เราเลือกระหว่างถูกกับผิดหรือดำกับขาว แต่ให้เลือกระหว่างเฉดต่างๆ ของดำกับเทาเท่านั้น
เราจะเล่นเกมทั้งเกมจบโดยไม่เลือกระหว่างก๊กใดก๊กหนึ่งก็ได้ อาจเพราะรังเกียจทั้งสองก๊ก เพราะอยากรวบอำนาจและหาทางสยบทั้งสองก๊ก หรือไม่อีกที อาจเพราะเราเชื่อว่าเป็น ‘ตุลาการ’ ทั้งที ควรจะวางตัวเป็นกลาง ดังนั้นระหว่างเกมเราจะพยายามไม่ตัดสินกรณีใดๆ ให้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ พยายามตัดสินข้อพิพาททุกกรณี ‘ตามเนื้อผ้า’ ให้ได้ใกล้เคียงกับภาพ ‘ตาชั่งไม่เอียง’ ที่สุดก็ได้ ซึ่งก็ไม่ง่ายเลย เพราะ ‘กฎหมาย’ ของจอมมารไครอสนั้นจำนวนมากต้องอาศัยการตีความหรือดุลพินิจ หรือประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบท ตัวอย่างกฎหมายของจอมมารก็เช่น –
สันติของไครอส – ทุกคนที่หมอบราบคาบแก้วต่อไครอสจะได้รับการปกป้อง ผู้ภักดีจะมีเสรีภาพจากความหิวโหย ภยันตราย และความรู้สึกสิ้นหวังไร้ที่พึ่ง (กฎหมายลูกอันเป็นนัยของกฎข้อนี้คือ จอมมารเป็น ‘เจ้าชีวิต’ ของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง ฉะนั้นไม่มีใครมีสิทธิฆ่าตัวตาย)
สิทธิการทำลายชีวิต – มีเพียงไครอสเท่านั้นที่มีสิทธิทำลายชีวิตของผู้ภักดี ในเมื่อทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ทุกคนควรศรัทธาในจอมมารว่าจะชั่งตวงตัดสินคุณค่าของชีวิตให้ ไครอสอาจถ่ายโอนสิทธิข้อนี้ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้
อภิสิทธิ์ของผู้บัญชาการสูงสุด (Archon) – ผู้บัญชาการสูงสุด (ได้รับการแต่งตั้งจากไครอส เช่น หัวหน้าก๊กดิสเฟเวอร์ดและ สการ์เล็ตต์ คอรัส รวมถึงทูนอน ตุลาการสูงสุดและ ‘นาย’ ของเราในเรื่องก็เป็น Archon เช่นกัน) มีอำนาจในการทำตามเจตจำนงของไครอส เพื่อเกียรติยศของไครอส ทุกคนมีหน้าที่รับใช้ผู้บัญชาการสูงสุดประหนึ่งรับใช้ไครอส แต่ไครอสต้องมาก่อน กฎหมายข้อนี้สร้างฐานความชอบธรรมให้กับผู้บัญชาการสูงสุดแต่ละคนในการปกครองดินแดนหรือก๊กของตัวเองด้วยวิธีที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสม ตราบใดที่ทำตามกฎหมายพื้นฐานของไครอส การอนุญาตให้ผู้บัญชาการสูงสุดปกครองแบบกระจายศูนย์นี้เองเป็นที่มาของข้อขัดแย้งระหว่างก๊กต่างๆ (ซึ่งก็อาจเป็นเจตนาของไครอสเองที่ให้แต่ละก๊กมีอำนาจและสิทธิเสรีภาพมากพอที่จะขัดแย้งกัน เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้รวมหัวกันโค่นจอมมาร)
จากตัวอย่างกฎหมายที่ยกมาข้างต้น เห็นชัดว่าเป้าประสงค์สูงสุด คือ เพื่อสงวนและรักษาอำนาจเผด็จการของจอมมารให้อยู่ยงคงกระพัน ซึ่งในความเป็นจริงต่อให้มีกฎหมายเหล่านี้แล้ว ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสงบเรียบร้อย ประชาชนอาจลุกฮือขึ้นก่อกบฏเพราะอดอยาก เจ้าเมืองที่อ้างว่ายอมแพ้แล้วสมคบคิดกันหักหลัง หรือไม่อีกที เราเองนั่นแหละที่จะเริ่มสงสัยว่า มีอำนาจอยู่ในมือขนาดนี้ เราจะยอมสยบอยู่ใต้เท้าจอมมารไปทำไม?
แม้อธรรมชนะแล้วก็จริง แต่ในเมื่อโลกไม่ได้แตก ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป ความท้าทายที่ฝ่ายอธรรมต้องเผชิญหลังจากที่สงครามสงบลง จึงล้วนเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่อาจพิชิตยากยิ่งกว่าการพิชิตฝ่ายธรรมะหลายเท่า เราจะทำอย่างไรดีกับคนที่เรายึดอำนาจมาแล้วแต่ยังมีลมหายใจ และเราต้องพึ่งพาพวกเขาในการดำรงอยู่ของเรา? เราจะทำให้พวกเขาจงรักภักดีต่อระบอบได้อย่างไร? การปรับทัศนคติของผู้คนที่เจ็บช้ำน้ำใจเพราะตกเป็นเหยื่อของความอยุติธรรมเป็นไปได้หรือไม่?
ถ้าทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง แล้วเราจะเหลืออะไรให้ปกครอง?
Tyranny ถามคำถามน่าคิดหลายประการเกี่ยวกับความยุติธรรม หลายต่อหลายฉากในเกมนี้ฉุกให้เราตระหนักว่า ป่วยการที่จะแอบอ้าง ‘ความยุติธรรม’ ตราบใดที่ ‘ความอยุติธรรม’ อันมีความเป็นสากลสูงยิ่งกว่าความยุติธรรม ยังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน – และสักวันผลพวงของความอยุติธรรมเหล่านั้นจะปรากฏ.