ไม่ว่าคุณจะเชียร์ทีมอะไรในช่วงมหกรรมเทศกาลฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ที่กำลังบรรเลงเพลงแข้งกันอยู่ ณ ขณะจิตนี้ก็ตาม แต่อย่าเผลอใส่ ‘เสื้อบอล’ ไปเดินห้างทีเดียวเชียวนะครับ
ในวงเล็บ ตัวหนาๆ แถมขีดเส้นใต้ไฮไลต์เอาไว้เลยว่า (ถ้าไม่มั่นหนังหน้าตัวเองพอว่าสูสีกับ เดวิด เบ็คแฮม!)
ด้วยความเคารพในคุณกาละแมร์ (กราบขอโทษงามๆ ที่แทบตัก ด้วยท่วงท่าแบบเบญจางคประดิษฐ์) ที่ผมจำเป็นต้องอ้างถึงข้อความเก่าๆ ที่คุณกาละแมร์เคยพูดเอาไว้เมื่อนานชาติที่แล้ว เป็นเพราะว่าผมนึกตะหงุดตะหงิดอยู่ในใจตัวเองว่า นอกเหนือจากดีไซน์ที่อาจจะขัดใจ แถมยังไม่ค่อยดึงดูดสาวๆ ระดับแฟชั่นนิสต้าสักเท่าไรแล้ว เสื้อบอลก็ยังมีความเป็นสัญลักษณ์ของสังกัดอะไรบางอย่าง ที่อาจจะดูผิดที่ผิดทางในความรู้สึกของคุณกาละแมร์อยู่อีกด้วย
แน่นอนว่า เสื้อบอล (ศัพท์วัยรุ่นสุดคัลท์ที่ใช้มาตั้งแต่เมื่อยุค 70’s เป็นอย่างน้อย ประดิษฐ์โดยบางคนที่ขี้เกียจเรียกเจ้าเสื้อนี่แบบยาวๆ ว่า เสื้อฟุตบอล) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้แบ่งแยกนักฟุตบอล 11 คนในสนาม ออกจากนักฟุตบอลอีก 11 คนในสนามเดียวกัน ดังนั้นที่ทางของเสื้อบอลจึงอยู่ในสนามฟุตบอลมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
แต่ก็เพราะความเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความมีทีมสปิริตอันสูงส่งเดียวกันนี้เอง กองเชียร์ที่มักจะเคลมตัวเองว่าเป็น ‘ผู้เล่นคนที่ 12’ จึงมักจะใส่เจ้าเสื้อทีมนี่ด้วยในวันที่มีการแข่งขัน เพื่อแสดงถึงความทุ่มเท และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวแทนของพวกเขาในสนาม
จนสุดท้ายก็ลามปามไปถึงวันที่ก็ไม่ได้มีการแข่งขันอะไรกันหรอกครับ พวกเขาแค่อยากบอกโลกว่าตัวเองซัพพอร์ตทีมไหน ก็เท่านั้นแหละ
และด้วยเหตุที่ว่ามา เสื้อบอล จึงเป็นเครื่องหมายในการกำหนดสังกัดของตนเองอันแจ่มแจ้ง ซึ่งก็แจ่มแจ้งเสียจนไม่เหลือที่ยืนให้กับความเป็นอื่น โดยเฉพาะความเป็นอื่นที่เป็นคู่ตรงข้ามของตนเอง การจะเชียร์ฟุตบอลให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นกองเชียร์แล้ว จึงยังต้องบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นกองแช่งทีมคู่แข่งไปด้วยในขณะเดียวกัน
แต่คู่แข่งที่ว่านี่ใช่นับเฉพาะคู่แข่งในสนามเสียเมื่อไหร่ คู่แข่งที่ไม่ได้อยู่ในสนาม แต่เป็นปรปักษ์กันอย่างออกนอกหน้านี่ต่างหาก ที่ถ้าล้มลงเมื่อไหร่เป็นได้เกรียนใส่กันเสียให้ลั่น
ลิเวอร์พูลชนะใครก็ไม่สุขใจเท่าชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (พวกเด็กผีเขาได้มูรินโญ่มาคุมทีมแล้วจริงๆ สินะ คิดถึงหลุยส์ ฟาน กัล กับเดวิด มอยส์ จังเลย ฮือๆ) และถึงแม้ว่าแมตช์การแข่งขันประจำสัปดาห์นั้น หงส์แดงจะไม่ชนะ แต่ถ้าผีแดงเองก็ไม่ชนะในสัปดาห์นั้นด้วย ก็ยังพอทำให้ยิ้มออกได้บ้าง แต่ความเป็นปฏิปักษ์แบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านฟุตบอลล้วนๆ เพราะยังมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์กำกับอยู่อีก อย่างกรณีของสองทีมนี้ก็คือการที่เมืองแมนเชสเตอร์ขุดคลองสำหรับเรือเดินสมุทร และเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2437 จนทำให้รายได้จากการเป็นเมืองท่าของลิเวอร์พูลหายวับไปกับตา
สโมสรฟุตบอลในอังกฤษ (และที่จริงแล้วก็พอจะเหมาเข่งอย่างนี้ได้เกือบทั่วทั้งยุโรป) สัมพันธ์อยู่กับความเป็นท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ที่กอปรกันขึ้นเป็นสโมสรอะไรสักอย่างค่อนข้างมาก เสื้อบอลของพวกเขาจึงไม่ได้แขวนอยู่บนศักดิ์ศรีของสโมสรฟุตบอลเท่านั้น แต่ยังแบกรับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพวกเขาอยู่ด้วย
เสื้อบอลจึงเป็นทั้งเครื่องแบบที่สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นอัตลักษณ์เดียวกัน ในขณะที่ก็สร้างอริต่อความเป็นอื่นไปด้วยในตัว
จะว่าไปแล้ว เสื้อบอลก็คงจะไม่ต่างไปจากเครื่องแบบอีกหลายประเภทเท่าไรนัก รวมถึงเครื่องแบบของนักเรียนนักศึกษาในประเทศไทยของเราเอง เพราะเครื่องแบบของสถาบันการศึกษาบางแห่ง ทำให้นักเรียนนักศึกษาในที่นั้น เป็นอริกับใครที่ใส่เครื่องแบบนักศึกษาอีกชุดหนึ่ง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยเลยสักนิด และบางทีก็ลามไปถึงการโดนยิงกบาลทิ้งโดยไม่มีความผิดอะไร นอกจากสวมใส่ยูนิฟอร์มแบบที่ไปขัดลูกตาคนยิงเขาเอาง่ายๆ นั่นเลย
อันนี้อาจดูเป็นแง่มุมร้ายๆ แบบสุดโต่งของเครื่องแบบ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้มีอำนาจควรจะนำมาพิจารณาถึงด้วย เมื่อพูดถึงเครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา ไม่ใช่เอะอะอะไรก็อ้างถึงแต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสบายใจของผู้ใหญ่กันอย่างเดียว
ความเป็นไทยก็มีเครื่องแบบไม่ต่างไปจากเสื้อบอล และชุดนักเรียนนักศึกษาเท่าไหร่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่จะเรียกหาความเป็นไทย อะไรที่เข้าถึงง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็ไม่พ้นชุดไทยนี่แหละ แถมเครื่องแบบของความเป็นไทยเองก็แบกรับประวัติศาสตร์ที่ประกอบขึ้นมาเป็นไทยไว้ ไม่ต่างไปจากเสื้อบอลเท่าไรนัก
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าดารารัศมี พระชายาพระองค์หนึ่งของพระองค์ ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมาจากเชียงใหม่ ทรงถูกซุบซิบนินทาอย่างเดียดฉันท์ว่า ทรงเป็นลาวจึงนุ่งแต่ซิ่น ไม่ยอมนุ่งโจงกระเบนอย่างไทย
เชียงใหม่ ในฐานะเมืองเอกของล้านนาตั้งแต่โบราณมาเขาถือตัวว่า เป็นลาวอย่างเต็มภาคภูมินะครับ อาณาจักรของเขาก็ออกจะยิ่งใหญ่จะตาย เคยรบชนะอยุธยาด้วยซ้ำ ถ้าเจ้าดารารัศมีจะทรงไม่อยากนุ่งโจงกระเบนก็ไม่เห็นแปลกตรงไหน แต่คนไทยที่ไปซุบซิบพระองค์นี่ต่างหากที่น่าแปลก เพราะโจงกระเบนเป็นคำเขมร แปลว่าผูกหาง (‘โจง’ หรือ ‘จูง’ แปลว่า ‘ผูก’ ส่วน ‘กระเบน’ แปลว่า ‘หาง’) หมายถึงการเอาชายผ้ามาผูกไม่ให้รุ่มร่ามระพื้น และเมื่อเป็นคำเขมรก็ไม่ต้องสืบเลยว่าเราไปเอาเทรนด์แฟชั่นนี้มาจากที่ไหนใช่มั้ยเอ่ย?
แต่การนุ่งโจงกระเบนเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ดูมีอารยะพอสำหรับในยุคนั้น เพราะชาวสยามสมัยก่อนนุ่งผ้าผูกโจง แต่ไม่สวมเสื้อ ในสายตาชาติมหาอำนาจตะวันตกมันก็ดูไม่ศิวิไลซ์สักเท่าไหร่ เวลาเสด็จต่างประเทศ ผู้ติดตามก็เลยต้องใส่เสื้อแบบฝรั่งผูกเน็คไท แต่นุ่งโจงกระเบนกัน
จนกระทั่ง พ.ศ. 2415 เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จึงได้โปรดให้ช่างฝีมือดีตัดเสื้อปิดคอกลัดกระดุม 5 เม็ด นุ่งกับโจงกระเบน แล้วเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ราชเลขานุการในขณะนั้น ได้ทูลถวายชื่อโดยเอาคำแขกว่า ‘Raj’ (ก็ ราชา นั่นแหละ!) มาผูกกับคำว่า ‘pattern’ ในภาษาอังกฤษ เป็น ‘ราชแพทเทิร์น’ แต่เรียกกันแบบไทยๆ เสียมากกว่าว่า ‘ราชปะแตน’
ชุดที่ดูสุดแสนจะไท้ยไทย และเป็นทางการซะด้วยอย่างราชปะแตน จึงมีที่มาจากความพยายามเป็นอารยะ มีชื่อมาจากภาษาแขกปนฝรั่ง แถมยังไม่ได้เกิดที่เมืองไทยเสียด้วยซ้ำไป แต่ก็อย่างว่านะครับ อะไรก็ตามที่เป็นไทยไทย มันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ชวนให้ปลงอนิจจังไปเสียหมด
ในแง่หนึ่ง ชุดไทยก็ไม่ได้ต่างไปจากเสื้อบอลนัก เพราะต่างก็เป็นเครื่องแบบที่แบกรับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การกีดกันความเป็นอื่น และอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างเข้าไว้เพื่อประดิษฐ์เป็นอัตลักษณ์เฉพาะอยู่ด้วยเหมือนกัน
เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว ผมจึงไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับความเห็นของคุณกาละแมร์นัก เพราะถ้าผมเห็นคนใส่ชุดไทยไปเดินในห้างก็คงรู้สึกแปร่งๆ (ไม่ต่างไปจากคุณกาละแมร์รู้สึกไม่ปกติเมื่อเห็นคนใส่เสื้อบอลแต่ไม่ได้อยู่ในสนาม) เพราะเมื่อไม่ใช่ชุดในชีวิตประจำวันโดยปกติ มันก็ดูผิดที่ผิดทางไปหมด