เมื่อแรกที่รัฐสยาม (ก็แรกขนาดที่ยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย เลยเหอะ) มีการปฏิวัติระบบการศึกษา ให้เป็นไปตามมาตรฐานตะวันตก โรงเรียนที่ถูกก่อตั้งขึ้นล้วนแล้วแต่เป็นโรงเรียน ‘ชายล้วน’ ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ เพราะในเมื่อการศึกษาในสังคมไทย ก่อนที่จะมีการปฏิวัติในครั้งนั้น เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ชายเพียงเพศเดียว (ก็สังคมไทยแท้ตามอุดมคติแบบเดิ้มม..เดิม เคยมีพื้นที่ยืนภายนอกเรือนชานให้กับผู้หญิงซะที่ไหนกัน?)
ยิ่งเมื่อช่วงแรกที่ว่าตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้จัดตั้งโรงเรียนชายล้วนเหล่านี้ โดยถือเป็น ‘โรงเรียนหลวง’ ภายใต้การดูแลของกรมมหาดเล็ก แถมโรงเรียนหลวงในยุคนั้นบางแห่ง ยังมีวัตถุประสงค์ที่จะฝึกสอนผู้เป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็กอย่างชัดเจนยิ่งกว่าระบบ Full HD จึงยิ่งไม่น่าแปลกเข้าไปอีกที่โรงเรียนเหล่านี้จะไม่ใช่ที่ทางของผู้หญิง (ก็ใครเคยเห็นมหาดเล็กเป็นผู้หญิงกันบ้างล่ะ?)
‘มหาดเล็ก’ ซึ่งก็คือ ‘ข้าราชการ’ ในราชสำนัก ที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน หรือรับใช้ประจำตัวเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น ก็รับประกันซ่อมฟรี (แถมไม่มีลิมิตอีกด้วย) ได้เลยว่า บรรดานักเรียนชายในโรงเรียนหลวงเหล่านี้ เข้ากั๊นน..เข้ากันกับอะไรๆ ที่เรียกว่า ‘เครื่องแบบ’
แน่ล่ะ ผมหมายถึง ‘เครื่องแบบนักเรียน’
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ว่ามีกฎหมาย หรือประกาศทางการฉบับใด ที่กล่าวถึงเสื้อผ้าหน้าผมของ เครื่องแบบนักเรียน ในครั้งกระโน้น (เอ๊ะ! หรือจะยังมีเหลืออยู่ แต่ผมค้นไม่เจอเองเนี่ย!) แต่เราก็ยังมีภาพถ่ายเก่าๆ พอที่จะสรุปได้ว่า ชุดนักเรียนชายไทยในสมัยนั้นก็คือการปรับประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายแบบที่เราเรียกกันว่า ‘ชุดราชปะแตน’ นั่นเอง
ชุดราชปะแตนทำเรื่องแจ้งเกิดที่อำเภอเมื่อ พ.ศ. 2415 ในคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จึงได้โปรดให้ช่างฝีมือดีตัดเสื้อปิดคอ กลัดดุม 5 เม็ด นุ่งกับโจงกระเบน เพื่อใช้เป็นเครื่องแบบทางการสำหรับผู้ตามเสด็จพระองค์ แล้วเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ราชเลขานุการในขณะนั้น ได้ทูลถวายชื่อโดยเอาคำแขกว่า ‘Raj’ (ก็ ราชา นั่นแหละ!) มาผูกกับคำว่า ‘pattern’ ในภาษาอังกฤษ เป็น “ราชแพทเทิร์น” แต่เรียกกันด้วยสำเนียงแบบไทยๆ เสียมากกว่าว่า ‘ราชปะแตน’
ชุดที่ดูสุดแสนจะไทย และเป็นทางการซะด้วยอย่างราชปะแตน จึงมีที่มาจากความพยายามเป็นอารยะ มีชื่อมาจากภาษาแขกปนฝรั่ง แถมยังไม่ได้เกิดที่เมืองไทยเสียด้วยซ้ำไป (นี่ยังไม่นับว่า ‘โจงกระเบน’ เป็นภาษาเขมร แปลว่า ‘ผูกหาง’ หมายถึง การเอาชายผ้ามาผูกเก็บให้เรียบร้อยอีกนะ!) แต่ก็อย่างว่านะครับ อะไรก็ตามที่เป็นไทยไทย มันก็ดูจะเป็นเรื่องที่ชวนให้ปลงอนิจจังไปเสียหมด
ชุดนักเรียนไทยในยุคแรกจึงสวมเสื้ออย่างชุดราชประแตน เพียงแต่ไม่ได้นุ่งโจงกระเบน (ดีงาม ปลดแอกอะไรๆ ที่เป็นเขมรออกจากความเป็นไทย ได้ตั้งหนึ่งเปลาะ!) แต่เปลี่ยนให้มานุ่งกางเกงขาสั้น อย่างชุดนักเรียนในปัจจุบัน แล้วก็สวมหมวกฟาง ที่มีผ้าพันหมวกด้วยสีประจำโรงเรียน กับติดอักษรย่อประจำโรงเรียนไว้ที่หน้าหมวก ส่วนรองเท้า ถุงเท้า นี่ว่ากันว่าสมัยโน้นเขาไม่เคร่ง เพราะเป็นของแพง นักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีใช้ แต่จะจริงหรือเปล่าผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน 😛
เป็นอันว่า ‘ชุดนักเรียน’ ไทยในยุคตั้งต้น ก็คือ ‘ชุดเตรียมจะเป็นข้าราชบริพาร’ คล้ายๆ กับเครื่องแบบ ร.ด. ในปัจจุบัน ที่ดูคล้ายๆ กับเครื่องแบบทหาร แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว
ก็มันจะไปเหมือนกันเป๊ะได้ยังไงล่ะครับ เครื่องแบบของพวกเขานั้นศักดิ์สิทธิ์จะตาย ต้องรอเจ้าเด็กพวกนี้ฝึก ร.ด. เอ๊ย! ร่ำเรียนจนจบหลักสูตรเสียก่อน จึงจะได้สวมชุดราชปะแตนแบบเต็มยศ สมกับที่เป็นข้าราชบริพาร
ต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรมีความพยายามที่จะยกเลิกประเพณีการนุ่งโจงกระเบน สามปีนับจากนั้นคณะราษฎรได้ผลักดันกฎหมายที่ชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติ เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2478’ ออกมา นับเป็นการสิ้นสุดการนุ่งโจงกระเบนในเครื่องแบบราชการ และเริ่มต้นศักราชของเครื่องแบบราชการแบบใหม่ ที่เป็นต้นแบบของชุดราชการสีกากีในปัจจุบันนั่นเอง
แน่นอนว่า ‘เครื่องแบบนักเรียน’ ในฐานะชุดเตรียมเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วยแบบไม่ต้องสืบ เพราะในรัฐบาลของ ‘ท่านผู้นำ’ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘พระราชบัญญัติ เครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482’
ณ ห้วงขณะจิตนั้น ประเทศไทยมีโรงเรียนในระบบการศึกษาสมัยใหม่ แพร่หลายกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่มากโข กฎหมายฉบับดังกล่าว แบ่งโรงเรียนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โรงเรียนรัฐบาล, โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ (ก็โรงเรียนเอกชนน่ะแหละ)
แต่มีเฉพาะโรงเรียนชาย ของรัฐบาล เท่านั้นนะครับ ที่มีระเบียบเป็นการเฉพาะเจาะจงให้ นักเรียนต้องสวมเสื้อสีกากี (ในเอกสารระบุว่าเป็น สีกากีแกมเขียว) ในขณะที่โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ เครื่องแบบนักเรียนชายจะเป็น สีขาว สีน้ำเงินแก่ หรือกากี ก็ตามสะดวก นอกจากนี้ ยังมีเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล ที่นักเรียนชายจะมี หมวกแก๊ปทรงหม้อตาล สีกากี ประกอบอยู่ในเครื่องแบบด้วย ส่วนโรงเรียนประเภทอื่นนั้นไม่มีระบุเอาไว้ (โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง โรงเรียนชาย ของรัฐบาล เท่านั้น ที่ได้รับสิทธิ์สวมหมวก และต้องสวมเสื้อสีกากีเท่านั้น ไม่ให้ใช้สีอื่น!)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สีกากี ของเครื่องแบบนักเรียนชาย โรงเรียนรัฐบาล ก็คือสีเดียวกับเครื่องแบบข้าราชการ ไม่ต่างอะไรกับเครื่องแบบนักเรียนในยุคก่อนหน้า ที่สวมเสื้อราชปะแตนกับกางเกงขาสั้น ไม่ใส่นุ่งโจงอย่างชุดราชปะแตนเต็มยศ เครื่องแบบนักเรียนชาย ในยุคนั้นก็คือ เครื่องแบบข้าราชการที่ผลัดจากกางเกงขายาว มาเป็นกางเกงขาสั้น เท่านั้นแหละครับ
ในขณะที่โรงเรียนหญิงเองก็คล้ายๆ กันกับโรงเรียนชาย คือมีเฉพาะโรงเรียนรัฐบาลเท่านั้น ที่ต้องสวมเสื้อขาว ในขณะที่โรงเรียนเทศบาล กับโรงเรียนราษฎร์นั้นจะสวมเสื้อขาว หรือสีน้ำเงินแก่ก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่นักเรียนสาว (ในสมัยคุณย่าทวด) โรงเรียนรัฐบาลเหล่านั้น ก็ไม่ได้รับสิทธิ์ให้สวมหมวกแก๊ปทรงหม้อตาล และชุดสีกากี อย่างนักเรียนชายอยู่ดี