ข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจขณะนี้ก็หนีไม่พ้นเหตุการณ์ ‘เตียงหัก’ ระหว่างยานแม่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อด้วยเหตุผลว่า Bitkub มีประเด็นคาราคาซังกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
ประเด็นดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้นการลงดาบของ ก.ล.ต. ที่กล่าวหาว่าแพลตฟอร์ม Bitkub มีการสร้างปริมาณเทียมซึ่งเปรียบเสมือนภาพลวงตาว่ามีธุรกรรมการซื้อขายในตลาดมากเกินกว่าความเป็นจริง รวมถึงการอนุมัติเหรียญ KUB เหรียญลูกรักของแพลตฟอร์มที่ ก.ล.ต. ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องมาตรฐานทางเทคโนโลยี
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ก.ล.ต. ตัดสินลงโทษทางแพ่ง ‘สำเร็จ วจนะเสถียร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ข้อหาใช้ข้อมูลภายในเรื่องดีลใหญ่ระหว่าง Bitkub กับ SCBX โดยเข้าซื้อเหรียญ KUB ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เมื่อดีลใหญ่เปิดเผยต่อสาธารณะ ราคาเหรียญ KUB ก็พุ่งกระฉูดราวหนึ่งเท่าตัว
หลายคนอาจไม่ทราบว่าการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (insider trading) เป็นธุรกรรมซึ่งดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสันในตลาดทุนไทย โดยมีกรรมการและผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่โดนปรับอยู่เนืองๆ อาทิ กรณีกรรมการบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ใช้ข้อมูลภายในที่ว่าบริษัทมีผลประกอบการดีเกินคาดจนโดนค่าปรับร่วม 13 ล้านบาท ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ข้อมูลเรื่องการจ่ายหุ้นปันผลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จนโดนค่าปรับร่วม 5 ล้านบาท กลุ่มผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เข้าซื้อหุ้นสยามแม็คโครก่อนประกาศว่าจะทำการควบรวมและโดนค่าปรับกว่า 33 ล้านบาท
สงสัยไหมครับว่าทำไมการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ถึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผู้บริหารและกรรมการบริษัทเหล่านี้ก็แค่ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในมือมาทำกำไร ดูเผินๆ ก็ไม่เห็นจะมีใครเดือดร้อน แต่ความจริงแล้วพฤติกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของบริษัท ทั้งยังนับเป็นการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นๆ และอาจถึงขั้นบั่นทอนความน่าดึงดูดของตลาดหลักทรัพย์ในภาพรวม
‘การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน’ ทำไมถึงเป็นปัญหา?
สมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งชวนคุณมาเล่นไพ่ป๊อกเด้งที่บ้าน แต่เล่นเท่าไหร่คุณก็ไม่ชนะสักที ขณะที่เริ่มถอดใจจนอยากกลับบ้าน คุณก็เริ่มสังเกตเห็นว่าหลังไพ่แต่ละใบจะมีลวดลายที่แตกต่างกันเล็กน้อย เพื่อนของคุณทราบ ‘ข้อมูล’ ดังกล่าวจึงไม่เคยพลาด ขณะที่คุณต้องตัดสินใจไม่ต่างจากการที่ต้องปิดตาคลำทาง
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณจะกลับไปเล่นไพ่ในวงเดิมหรือไม่?
แน่นอนว่าคำตอบคือไม่ และอาจเลิกคบกับเพื่อนขี้โกงที่คอยเอารัดเอาเปรียบคนอื่นด้วยซ้ำไป
การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (insider trading) ก็เลวร้ายในทำนองเดียวกัน เหล่าผู้บริหารและคณะกรรมการได้รับข้อมูลภายในที่ได้รับทราบก่อนคนอื่นเพราะตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการ ผลประกอบการของบริษัท หรือการจ่ายปันผล พวกเขาเลือกที่จะใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อหากำไรเข้ากระเป๋าหรือบรรเทาผลขาดทุนในพอร์ตฟอร์ลิโอก่อนที่ข่าวสารจะเปิดเผยต่อสาธารณะ
การกระทำเช่นนั้นไม่ต่างจากการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย เพราะการส่งคำสั่งซื้อขายทุกครั้งย่อมมี ‘คนอีกฝั่ง’ ที่เสียเปรียบ เช่น หากผู้บริหารรู้ว่าผลประกอบการไตรมาสหน้าจะเลวร้ายไม่เหลือชิ้นดี แล้วรีบเทขายหุ้นที่มีอยู่ในมือก่อนที่งบการเงินจะเผยแพร่ต่อสาธารณะ การทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการหลอกลวงนักลงทุนในตลาดที่เข้ามาซื้อแบบไม่ทราบข้อมูลซึ่งเสมือนว่าเป็น ‘เหยื่อ’ โดยปริยาย
เป้าหมายของตลาดทุนคือการสร้างสภาพคล่องให้บริษัทน้อยใหญ่สามารถเข้ามาระดมทุนจาก ‘สาธารณะ’ ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เมื่อใดก็ตามที่นักลงทุนรายย่อยรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบหรือหมดความเชื่อมั่นต่อตลาด พวกเขาก็อาจหันเหไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตลาดแห่งอื่นจนสภาพคล่องหดหาย กลายเป็นภาระทางการเงินแก่บริษัทที่กำลังหาลู่ทางระดมเงินทุนจากตลาดที่ต้องจ่ายราคาแพงยิ่งขึ้น
บริษัทที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะกลายสภาพจากบริษัทเอกชนสู่บริษัทมหาชน คำนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นและการกำกับดูแลที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อแลกกับความสามารถที่จะระดมเงินทุนจากสาธารณชนได้ การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในของเหล่ากรรมการและผู้บริหารจึงไม่ต่างจากการทำลายความไว้วางใจจากสาธารณชนเพื่อแลกกับผลกำไรเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับความมั่งคั่งมูลค่ามหาศาลที่มีอยู่เป็นทุนเดิม
แล้วเราจะจัดการอย่างไรดี?
ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง 2 วิธีการสุดโต่งที่ใช้จัดการกับการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในนะครับ
วิธีแรกคือการห้ามกรรมการหรือผู้บริหารซื้อขายหุ้นของบริษัทตัวเองอย่างเด็ดขาด วิธีดังกล่าวนับว่าตรงไปตรงมา แต่อาจถือเป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลเหล่านั้นในการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรอย่างสุจริตใจ ทางเลือกนี้จึงไม่เป็นที่นิยมนักโดยมักจะเป็นนโยบายโดยสมัครใจของบางบริษัท แต่ก็มีบางประเทศเช่นจีนที่มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาห้ามซื้อขาย (blackout period) ของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น 30 วันก่อนเผยแพร่งบการเงิน
วิธีที่สองคือการไม่ทำอะไรเลยโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเข้าถึงข้อมูลภายในสามารถซื้อขายหุ้นได้อย่างเสรี เนื่องจากตลาดทำงานมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ดังนั้นนักลงทุนรายอื่นๆ ย่อมสามารถมองเห็น ‘สัญญาณ’ การซื้อขายซึ่งสะท้อนข่าวดีหรือข่าวร้ายเกี่ยวกับบริษัท นี่คือข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ที่บูชาตลาดแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่ทางเลือกยอดนิยมซึ่งบังคับใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย คือทางสายกลางที่อนุญาตให้กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงคนในครอบครัวสามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทได้ตามปกติ แต่มีเงื่อนไขคือต้องรายงานการซื้อขายทั้งปริมาณและราคาต่อสาธารณชนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น การรายงานตามแบบ 59 ของไทยซึ่งจะต้องดำเนินการภายใน 3 วันเมื่อทำการซื้อขาย โดย ก.ล.ต. จะรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลรายวันให้ประชาชนรับทราบและใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายหุ้นในตลาด
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแค่รายงานก็เท่ากับดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายนะครับ เพราะ ก.ล.ต. จะมีหน้าที่วินิจฉัยว่า การทำธุรกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในหรือไม่ หากคิดว่าเข้าข่ายก็จะพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งโดยเรียกคืนทั้งค่าปรับและผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ หากผู้กระทำผิดยอมจ่ายค่าปรับก็จะถือว่าคดีสิ้นสุดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อการ ‘เจอ จ่าย จบ’
โดยคดีการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในแทบทั้งหมดมักจะจบลงที่การเสียค่าปรับ แม้กฎหมายจะระบุว่าสามารถดำเนินการฟ้องร้องเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา แต่ ก.ล.ต. มองว่า “โทษอาญามีมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงตามหลักปราศจากเหตุสงสัย . . . การฟ้องร้องคดีอาญายังใช้เวลานานในการดำเนินคดีและผลสำเร็จน้อย”
นับว่า ก.ล.ต. ไทยค่อนข้างใจดีกับเหล่านายทุน เพราะบทลงโทษดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับกฎหมายการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายในของสหรัฐอเมริกาที่กำหนดโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี โดยมีผู้บริหารและคนดังจำนวนมากที่ต้องเดินเข้าคุกด้วยข้อหาดังกล่าว เช่น กรณีของ ImClone Systems บริษัทวิจัยและพัฒนายาซึ่งผู้บริหารทราบว่ายาตัวหนึ่งกำลังจะล้มไม่เป็นท่าจึงรีบเทขายหุ้นก่อนที่ข่าวจะเปิดเผยต่อสาธารณะ แม้ว่าเขาจะรอดจากผลขาดทุนแต่ก็ต้องกลับมาชดใช้ค่าปรับมหาศาลและถูกลงโทษจำคุกถึง 7 ปี เรื่องนี้เป็นที่จับตามองเพราะ มาร์ธา สจ๊วต พิธีกรและนักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกันก็ถูกจำคุก 5 เดือนจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน
นี่กระมังคือสาเหตุที่คนจำนวนมากมองว่า ‘คุกไทยมีไว้ขังเฉพาะคนจน’
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon