เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านตาโพสต์ทำนอง “อยากกลับไปยุค 90s จัง คิดถึงสมัยที่ไม่มีใครเอาแต่ก้มหน้ากดโทรศัพท์มือถือ” กันใช่ไหมครับ ถามจริงๆ ว่า ถ้าเราสามารถยกยุค 90s กลับมาได้จริง ในความหมายที่ว่า ทั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสุดรวดเร็ว และสมาร์ทโฟนที่แสนสะดวกสบาย จะอันตรธานหายตามๆ กันไป ทุกคนจะยอมแลกกันอยู่ไหมครับ พูดอีกอย่างคือ ถ้าสามารถคืนยุค 90s มาได้ โดยยังคงตระหนักดีถึงชีวิตที่มีอินเทอร์เน็ต เราจะยังอยากหวนกลับไปหาอดีตกันอยู่ไหม
ในยุคสมัยที่อะไรๆ ต่างก็เชื่อมโยงกันตลอดเวลาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การรุดหน้าของเทคโนโลยีได้สร้างรูปแบบชีวิตที่หากเราเลือกมองจากสายตาของอดีตก็คงต้องบอกว่า ‘ง่ายดาย’ ‘สะดวกสบาย’ หรือกระทั่ง ‘อันตราย’ ด้วยซ้ำ ในขณะที่คนรุ่นหนึ่งเติบโตขึ้นภายใต้โลกออฟไลน์ คนอีกรุ่นกลับคุ้นเคยกับโลกออนไลน์ ที่อะไรๆ ก็เชื่อมเข้าหากันได้ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าว่ากันตามนี้ หากเรามองว่าโซเชียลมีเดียคือสิ่งปรากฏใหม่ที่อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมา มันจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากว่าคนต่างรุ่นจะรับรู้ ตีความ และเรียนรู้โซเชียลมีเดียในความหมายและกระบวนการที่ต่างกัน
หากว่ากันอย่างเหมารวม ผู้ใหญ่และผู้ปกครองซึ่งถือเป็นคนกลุ่มแรก มักเพ่งมองโซเชียลมีเดียด้วยสายตาที่หวาดหวั่น ในขณะที่วัยรุ่น และเด็กๆ กลับให้ความสำคัญราวกับเป็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่ไม่มีอะไรให้น่ากังวลใจ บ่อยครั้ง เราจึงมักเห็นภาพที่ผู้ใหญ่ตักเตือน หรือกระทั่งดุด่าลูกๆ หลานๆ ว่าให้ถอยห่างจากอินเทอร์เน็ตเสียบ้าง ด้วยเพราะพวกเขารู้สึกว่าพื้นที่ออนไลน์นั้นคือหลุมบ่อที่เต็มไปด้วยอันตราย แต่คำถามคือ ทำไมเด็กๆ และวัยรุ่นมักไม่ค่อยเห็นด้วย และคอยต่อต้านความกังวลใจทำนองนี้อยู่ร่ำไป นี่เองครับคือคำถามที่ It’s Complicated: The Social Lives of Networked Teens หรือ ‘เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต’ พยายามหาคำตอบให้กับเรา
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Danah Boyd นักวิจัยหลักประจำสำนักวิจัยไมโครซอฟต์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งสนใจในวิถีชีวิตประจำวันของวัยรุ่นเป็นพิเศษ ในระหว่างปี 2005 – 2012 Boyd ได้เดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อสัมภาษณ์ และสังเกตุการณ์ วัยรุ่นในรัฐต่างๆ ว่าพวกเขามีความคิด และพฤติกรรมอย่างไรต่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก และโลกออนไลน์ครับ
Boyd ชี้ให้เห็นว่า สำหรับวัยรุ่นแล้ว พวกเขาต่างปรารถนาจะแสวงหาที่ทางในสังคม ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของพื้นที่สาธารณะที่วัยรุ่นสามารถครอบครอง จัดการความสัมพันธ์ และมีอำนาจในการปกครองตนเองได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าพื้นที่สาธารณะที่ปรากฏอยู่บนโลกแห่งความจริงเสียอีก แต่ทีนี้ความพิเศษของโซเชียลมีเดียคือการที่มันได้สร้างเครือข่ายซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้รับรู้ และมองเห็นตัวเองในสังคมที่กว้างใหญ่ขึ้นในระดับที่หากวาดภาพพื้นที่แห่งนี้ด้วยจินตนาการอาจเป็นเรื่องยาก เช่นกันที่โซเชียลมีเดียเองก็ได้สร้างพื้นที่สาธารณะหลายๆ แห่งขึ้นโดยที่พื้นที่นั้นๆ ต่างก็โยงใยกันอย่างสลับซับซ้อน แม้ว่าในเวลาเดียวกันจะมีพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์ปรากฏขึ้นนับไม่ถ้วน แต่การเชื่อมต่อกันอย่างไร้ที่สิ้นสุดนี่เองที่อนุญาตให้วัยรุ่นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสารพัดพื้นที่พร้อมกันได้โดยไม่สนใจว่าร่างกายของเขาจะดำรงอยู่แต่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
ภายใต้การดำรงอยู่ในทุกที่นี้เอง ทำให้เราอาจมองว่าโซเชียลมีเดียก็อาจเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่ Boyd ชี้ให้เห็น คือการสูญหายไปของบริบท (Context Collapse) นั่นเอง Boyd กล่าว่า การสูญหายไปของบริบทจะเกิดขึ่นเมื่อผู้คนถูกบังคับให้ต้องรับมือกับบริบทสังคมที่ไม่สัมพันธ์กัน อย่างเวลาที่คุณกำลังดื่มเหล้าในผับอย่างเมามาย แล้วอยู่ๆ ก็ดันพบว่าโต๊ะที่นั่งอยู่ข้างๆ คืออาจารย์ของคุณนั่นแหละครับ
เมื่อเป็นโซเชียลมีเดีย การสูญหายไปของบริบทที่เกิดขึ้นสอดคล้องไปกับคุณสมบัติอีกอย่างของโซเชียลมีเดีย นั่นคือ ‘ความยืนยง’ ที่หมายถึง การที่เนื้อหาและการแสดงออกใดๆ บนโลกออนไลน์จะยังคงอยู่ต่อไปเป็นระยะเวลานาน ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจนึกโกรธใครสักคนขึ้นมาเลยตั้งสเตตัสด่าเขาแรงๆ โดยเไม่เอ่ยชื่อเขาออกมาตรงๆ เพราะคุณรู้ว่าต่อให้ไม่เอ่ยชื่อ เพื่อนๆ ของคุณจะเข้าใจ และตีความในสิ่งที่คุณสื่อได้เป็นแน่
แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนอีกจำนวนหนึ่งอาจเห็นสเตตัสนี้ของคุณโดยที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าคุณกำลังด่าใครอยู่ กระทั่งว่าถ้อยคำที่คุณพิมพ์ด่าไปอาจไปสอดพ้องกับอะไรบางอย่างที่พวกเขาตีความไปเองโดยไม่ได้รับรู้ถึงบริบทที่เกิดขึ้น จนพวกเขาเข้าใจไปเองว่าคุณกำลังด่าคนนั้น หรือคนนี้อยู่ก็เป็นได้ การไม่อาจควบคุมผู้ชมในจินตนาการได้เสียทั้งหมด ทั้งยังไม่สามารถกำหนดบริบทได้อย่างแน่นอนในระดับที่มั่นใจว่าผู้รับสารทุกคนจะเข้าใจตรงกันนี่เองครับ คือการสูญหายไปของบริบทที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ ภายใต้ธรรมชาติของโซเชียลมีเดียที่เนื้อหาต่างๆ จะยังคงปรากฏอยู่เป็นเวลานาน เพียงแต่บริบทเหตุการณ์กลับถูกพัดผ่านไปแล้ว
ย้อนกลับมาที่คำถามว่า แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงกังวลเป็นพิเศษในเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น ภายใต้คำอธิบายมากมายในหนังสือเล่มนี้ เหตุผลหนึ่งที่ Boyd ชี้ให้เห็นคือการที่โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่วัยรุ่นจำนวนมากสามารถปฏิสัมพันธ์กันโดยที่พวกเขาพอจะมีอำนาจในการควบคุมการตรวจสอบของผู้ปกครองได้นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้สำหรับผู้ปกครอง การที่วัยรุ่นได้มีพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ผุดโผล่ขึ้นนับไม่ถ้วน ไม่เพียงแต่อำนาจของผู้ใหญ่จะถูกท้าทาย แต่ความกังวลยังเพิ่มมากเป็นเท่าทวีเพราะเขาไม่อาจรับรู้ หรือตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนว่า ลูกๆ หลานๆ ของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้ กำลังคุยอยู่กับใครบ้าง และกำลังแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไรอยู่ในพื้นที่ไหนนั่นเองครับ
It’s Complicated เป็นหนังสืออ่านสนุกอีกเล่มหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นเลยว่าคุณจะต้องมีลูกๆ หลานๆ แล้วถึงจะอ่านเพื่อเข้าใจ แต่ต่อให้คุณอยู่ในวัยที่เติบโตขึ้นพร้อมๆ กับโซเชียลมีเดียเอง หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยขยายภาพการปฏิสัมพันธ์ และวิถีชีวิตภายใต้การเชื่อมโยงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของโลกออนไลน์ได้อย่างละเอียดลออทีเดียวครับ