อาจน่าตลกก็ได้ วันวาเลนไทน์ทั้งที แทนที่จะสาธยายว่าด้วยความรักแสนหอมหวานหรือพรั่งพรูอารมณ์ ‘อินเลิฟ’ แต่ผมกลับมาเอ่ยขานเล่าแจ้งแก่คุณผู้อ่านในเรื่องราว ‘รักกันเหมือนจะฉีกวานดม’
ครับ ‘วาน’ ก็ไม่ห่างเหินจากคำว่า ‘ทวาร’ หรือ ‘ตูด’ นั่นล่ะ
เอ๊ะ! แล้วผมชักนำให้ทุกท่านหมกมุ่นต่อสิ่งเหล่านี้ไปทำไมกัน?
เอาเป็นว่า ลองอ่านกันดูสักนิดเถอะ
ถ้าเผอิญท่านใดเป็นชาวภาคใต้ก็คงมิแคล้วแว่วยิน ‘รักกันเหมือนอิฉีกวานดม’ อย่างคุ้นเคย ผมนี่ชินสองหูมาตั้งแต่เด็กๆ เลยทีเดียว และแทบไม่น่าเชื่อ ปัจจุบัน ยังมีการนำเอาไปแต่งเพลงอกหักแนวซึ้งๆ ขับร้องโดยกร ท่าแค นักร้องลูกคอสำเนียงใต้
หากท่านสนใจคลิกไปรับฟังได้ที่นี่
“เคยรักกันเหมือนอิฉีกวานดม
เคยเป็นดั่งลมหายใจเดียวกัน…”
‘รักกันเหมือนจะฉีกวานดม’ จัดเข้าข่ายถ้อยคำเปรียบเปรยเชิงอติพจน์ หรือเป็นลักษณะโวหารที่กล่าวอ้างเกินความจริง (จำกันได้ไหมฮะ สมัยผมเป็นนักเรียน เคยเจอในข้อสอบวิชาภาษาไทยมัธยมต้น มัธยมปลายบ่อยๆ) ความหมายของมันก็เป็นได้ทั้งแง่บวก และกรุ่นๆ น้ำเสียงกระแนะกระแหนไปพร้อมๆ กัน
การเปรียบเปรยความรักที่ฟังออกจะเกินจริงหาใช่ของแปลก
ใครชอบอ่านวรรณคดีไทยและเทศ อ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ กระทั่งฟังเพลงต่างๆ มีหรือจะไม่เคยพบเห็นเนืองๆ อย่างผมเองเป็นพวกโรค ‘ซึมเป้า’ คือคลั่งไคล้เพลงของพี่เป้า สายัณห์ สัญญามากๆ โดยเฉพาะเพลงอกหักนี่ ฟังแล้วถึงขั้นเกิดอาการซึมๆ ซึ่งในเพลงของสายัณห์ก็มีการเปรียบเปรยความรักอย่างเกินจริงอยู่ไม่น้อย เช่น “เคยรักกันปานจะกลืน แล้วใครเล่าคืนคำมั่นคืนสัญญา ใครลืมใครก่อนกันเล่าขวัญตา พี่ผวา ยามเธอลาร้างไปไกลพี่…” (เพลงนี้ชื่อ ‘ใครลืมใครก่อน’)
วกกลับมาที่ ‘รักกันเหมือนจะฉีกวานดม’ หากกล่าวถึง ‘วาน’ ในภาษาใต้ หรือเราๆ ท่านๆ เรียกภาษาปากกันทั่วไปว่า ‘ตูด’ แน่นอน ตามค่านิยมทางสังคมแล้ว ถือเป็นอวัยวะส่วนล่างของร่างกายที่มีไว้ขับถ่ายอุจจาระ ยึดโยงอยู่กับกลิ่นเหม็นๆ อับชื้นและกลิ่นต่างๆ ไม่พึงประสงค์ บริเวณ ‘ตูด’ จึงมิใช่ที่ควรไปดอมดมชมชื่นแน่ๆ ขณะที่การ ‘ฉีกวาน’ ถ้าบรรยายให้เห็นภาพพจน์แจ่มชัด ก็คือการฉีกแก้มก้นเพื่อจะเปิดเผยรูทวารหนัก หรือบางทีคำนี้ยังใช้เป็นสำนวนหมายถึงการแสดงกิริยาโดยหันหลังพร้อมกระดกก้นให้ดูเพื่อยั่วโทสะ เช่น ในภาษาใต้ยังพบคำว่า ‘ฉีกวานหลอก’ ด้วย
ครั้นเมื่อ ‘ฉีกวานดม’ ถูกหยิบยกมาเป็นคำเปรียบเปรยกับความรักก็สะท้อนว่า การที่คนเราจะยินดีมาฉีกแก้มก้นง่ามก้นแล้วยื่นจมูกสูดดมรูทวารซึ่งกันและกันอย่างรื่นรมย์ได้ พวกเขาพวกเธอย่อมจะต้องรักกันมากมายขนาดไหน เพราะคนที่หลงรักกันจะมิพักมัวรังเกียจในส่วนที่ไม่งามของกันและกัน นี่ล่ะ ความหมายเชิงบวก ส่วนความหมายในน้ำเสียงกระแนะกระแหน ก็เสมือนการกล่าวอย่างไม่เชื่อมั่นหรอกว่าคนเราจะรักกันจริงจังถึงขั้นฉีกตูดกันดมได้ อย่างเช่นพอมีการส่งเสียงขึ้นว่า “แหม รักกันเหมือนอิฉีกวานดมนะยะ พวกเธอ” ก็สามารถฟังได้สองทำนอง ทั้งแบบที่เจตนาชื่นชมในความรักอันมากเหลือล้น และแบบที่เจตนาแฝงเร้นนัยยะว่าเพียงแค่ทำเป็นรักกันมากจนโอเวอร์แอ็กติ้ง
ไม่รู้จะด้วยเหตุอะไรที่ทำให้ผมทบทวนหวนนึกถึง ‘รักกันเหมือนจะฉีกวานดม’ อีกหน แต่ค่อนข้างคิดว่า น่าจะเป็นเพราะการได้นั่งคุยโม้กับเพื่อนหนุ่มคนหนึ่งราวๆ สัปดาห์ก่อน
ในวงสนทนา เพื่อนหนุ่มของผมพาดพิงข่าวที่เขาได้อ่านในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องราวของศิลปินนักวาดภาพวัยชราที่ครองตนในวิถีสมถะ ใจความตอนหนึ่งระบุอีกว่าศิลปินผู้นี้นิยมดมตดดมขี้ของภรรยาทุกเช้า และที่ชอบดมก็เพราะกลิ่นหอมมาก เพื่อนหนุ่มจึงเปรยๆ กับผมซ้ำๆ
เป็นไปได้จริงๆ หรือที่คนเราจะหลงรักกันมากถึงขนาดยอมดมขี้ ดมตูด ดมตดของกันและกัน?
เกือบจะในทันทีเมื่อยินฟัง สมองผมพลันโลดแล่นไปยังเรื่องราวของยอดนักประพันธ์เลื่องชื่อระดับโลกผู้หนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมคล้องจองกับสิ่งที่เพื่อนหนุ่มของผมกังขา คุณเชื่อไหม! ชาวไอริชเจ้าของผลงานเขียนอย่าง Ulysses, A Portrait of the Artist as a Young Man และเล่มที่ผมโปรดปรานมากๆเห็นจะมิพ้นรวมเรื่องสั้น Dubliners
ใช่ครับ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce)
คุณผู้อ่านจะร้อง อาฮ้า! อีกเชียว ถ้าผมบอกว่าจอยซ์นิยมชมชอบการดมตดภรรยายิ่งนัก การขับลมที่พรูออกมาจาก ‘รูทวาร’ ของเธอ—นอรา บาร์นาเคิล (Nora Barnacle)
หลายท่านสงสัยกันล่ะสิ ผมไปล่วงรู้พฤติกรรมที่เจมส์ จอยซ์ พิสมัยการดอมดมกลิ่นผายลมของเมียตนเองได้เยี่ยงไร เฉลยคำตอบได้ว่าผมเคยแอบอ่านถ้อยความในจดหมายส่วนตัวเชิงวาบหวาม (แหมๆ ให้ตายเถอะ อีโรติกชัดๆ) ที่จอยซ์เขียนถึงนอราเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม คริสต์ศักราช 1909 ตอนอ่านครั้งแรกสุด สารภาพว่าทั้งฮาและทั้งฟินระคนปนเป
บนหน้ากระดาษจดหมายฉบับนั้น จอยซ์รำพึงรำพันความลุ่มหลง ‘ตด’ และการ ‘ดมตด’ ของนอราอย่างไม่บันยะบันยัง ผมขออนุญาตยกบางตอนมาให้ ‘เบิ่ง’ ก็แล้วกัน
“I think I would know Nora’s fart anywhere. I think I could pick hers out in a roomful of farting women. It is a rather girlish noise not like the wet windy fart which I imagine fat wives have. It is sudden and dry and dirty like what a bold girl would let off in fun in a school dormitory at night. I hope Nora will let off no end of her farts in my face so that I may know their smell also.”
มิหนำซ้ำ ย่อหน้าสุดท้ายของจดหมาย จอยซ์เรียกขานภรรยาสุดที่รักของเขาว่า ‘my little farting Nora’
เจมส์ จอยซ์ กับนอรา บาร์นาเคิล แสดงความรักดูดดื่มต่อกันมากมายเพียงไร? ใครเคยอ่านชีวประวัติของนักเขียนเอกชาวไอริชผู้นี้คงตระหนักดี ยิ่งถ้าใครเป็นแฟนวรรณกรรมของจอยซ์ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้จัก Bloomsday อันตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน วันนี้ใช่เพียงปรากฏแค่ในงานเขียนหรอก แต่ประหนึ่งอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างจอยซ์กับนอรา เนื่องจากทั้งสองคนออกเดทครั้งแรกในวันที่ 16 มิถุนายน
ประโยชน์อะไรในการบอกเล่าเรื่อง ‘ตด’? หลายท่านอาจอยากถามเช่นนี้ ครับ มองเผินๆ ก็ไม่น่าจะมีอะไรสักนิด เอ่ยขึ้นมาคราวใดรู้สึกเหมือนมีกลิ่นเหม็นโชยมาสัมผัสลมปราณ ทว่าจริงๆ แล้ว การศึกษาเรื่อง ‘ตด’ เป็นอะไรที่มีแก่นสารมิใช่น้อย นั่นเพราะ ‘ตด’ คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในโลกล้วนปล่อยออกมาจากร่างกาย และไม่เพียงเป็นพฤติกรรมสามัญแห่งชีวิตประจำวันที่ส่งกลิ่นเหม็นๆ หอมๆ เท่านั้น แต่ยังผูกโยงเข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเสียแนบแน่น ทางซีกโลกตะวันตกจึงมี ‘นักผายลมศึกษา’ (Fartologist) และให้ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การผายลม บุคคลหนึ่งที่ผมเพียรติดตามอ่านผลงาน ได้แก่ จิม ดอว์สัน (Jim Dawson) ชื่อเสียงเรียงนามของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หมกมุ่นกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ตด ชื่อหนังสือแต่ละเล่มที่เขาเขียนฟังดูน่าหยิบฉวยมาเพ่งสายตา เป็นต้นว่า Who Cut the Cheese? A Cultural History of the Fart และ Blame It on the Dog: A Modern History of the Fart
ดอว์สันผายมือแนะนำให้ผมสัมผัสเรื่องราวของ ‘ตด’ ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกอย่างสนุกสนาน ผมได้ทราบข้อมูลแปลกๆ ชวนตื่นเต้นต่างๆ นานา เฉกเช่น ผู้หญิงมักจะไม่ยอมรับว่าตนผายลม แม้ตามความเป็นจริงแล้ว พวกเธอจะผายลม 8-9 ครั้งต่อวัน, เมนูอาหารฝรั่งเศสที่ชื่อประหลาดๆ ว่า Pets de Nonne หรือ Nun’s Farts และโจเซฟ ปูโยล (Joseph Pujol) นักแสดงบนเวทีชาวฝรั่งเศสผู้สามารถควบคุมการตดและบังคับหูรูดทวารปล่อยลมไล่ระดับเป็นเสียงดนตรีได้
อีกประเด็นสำคัญที่ผมค้นพบจากการพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ผายลม นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนเราไม่กล้าตดในที่สาธารณะ ถึงคราวจะตดก็ต้องขมิบตูดให้ตดออกมาอย่างแผ่วเบาที่สุด หรือถ้าเกิดเผลอตดปู๊ดป๊าดขึ้นมา ก็จะทำทีเป็นไม่ยอมรับหรอกว่าตนเองตด ปัญหาข้อนี้ชวนให้นึกถึงแนวคิดเรื่องมารยาทการเข้าสังคมของนอร์เบิร์ต เอเลียส (Norbert Elias) กล่าวคือ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากการดำรงอยู่ในสังคมนั้น คนเราจึงต้องพยายามจัดการร่างกาย ควบคุมกิริยาอาการ และวางแนวทางปฏิบัติตนในพื้นที่สาธารณะตามค่านิยมอันดีงามทางสังคมหรือที่เราเรียกๆ กันว่าการมีมารยาททางสังคมนั่นแหละ แบบแผนทางสังคมข้างต้นย่อมส่งผลให้การผายลมต่อหน้าคนอื่นในที่ประชุมชนกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์และน่ารังเกียจ อ้าว ก็ต้องกลั้นตดกันไปสิครับทีเนี้ย หรือไม่ก็ต้องไปหาสักมุมหลบเข้าไปแอบตด
เฮ้ย! นี่อะไรกัน เริ่มต้นที่เรื่องความรักอยู่ดีๆ ไฉนผมชักนำคุณผู้อ่านมาออกทะเลเป็นการหมกมุ่นประวัติศาสตร์ตดไปเสียแล้ว
ก่อนจะจบบทความลงในอีกไม่เกินแปดบรรทัด ใคร่ขอฝากข้อคิดว่า บางที คนเราอาจจะหลงชอบกันที่ความสวยงามของกันและกันได้ แต่การที่คนเราจะอยู่ร่วมชีวิตกันเรื่อยไปอีกยาวนานได้นั้น จำเป็นอยู่เหมือนกันที่จะต้องหลงรักในสิ่งที่ไม่สวยไม่งามของกันและกันได้ด้วย เพราะความรักที่แท้คือการยอมรับในสิ่งที่ขี้ริ้วขี้เหร่ และปรับตัวเข้าหากันอย่างเข้าอกเข้าใจ
เอ๊ะ! ดูท่าจะจบสวยแฮะ ฟังเหมือนโวหารพระเอกลิเกไปหน่อยรึเปล่านะ
เอาเถอะครับ ในวันวาเลนไทน์นี้ ถ้าเผอิญคนรักของคุณที่ควงคู่เคียงข้างไปสวีทหวานแหวว ณ แถวไหนสักแห่ง ได้เผลอตดออกมาดังป้าด ป้าด ป้าด ให้ถือเสียว่าเป็นกลิ่นหอมหวานแห่งความรักก็แล้วกัน
สุขสันต์วันวาเลนไทน์ครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2550. สงขลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับ มูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2551
- Dawson, Jim. Who Cut the Cheese? A Cultural History of the Fart. Berkeley, California: Ten Speed Press, 1998
- Dawson, Jim. Blame It on the Dog: A Modern History of the Fart. Berkeley, California: Ten Speed Press, 2006
- Elias, Norbert. The Civilizing Process, Vol. I. The History of Manners. Tr. by Edmund Jephcott. New York: Pantheon Books, 1982