กระแส #BlacklivesMatter ซึ่งเป็นขบวนการตั้งคำถามการเหยียดคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาแรงขึ้น นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่รัฐมินเนโซตา (Minnesota) การเคลื่อนไหวยังคงดำเนินมาจนถึงตอนนี้ หลังเจคอบ เบลค (Jacob Blake) ชายผิวดำปราศจากอาวุธ ถูกตำรวจยิงในวิสคอนซิน (Wisconsin) จนเป็นอัมพาต
กระแสนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังส่งผลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมายังสหราชอาณาจักรด้วย หลายๆ คนน่าจะได้เห็นข่าวรูปปั้นสำริดของชายสวมวิกผมหลอดตามแบบศตวรรษที่ 18 ถูกมวลชนโค่นลงแม่น้ำไป เมื่อดิฉันเห็นข่าว สิ่งที่อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้คือ แล้วเมืองนั้นจะอธิบายตัวตนใหม่ของตัวเองอย่างไร? ในเมื่อชื่อของชายผู้นั้นอยู่ในสถานที่สำคัญของเมืองนั้นมากมาย แถมเป็นชื่อขนมปังขึ้นชื่อ มีกระจกสีเก่าในโบสถ์เล่าเรื่องของเขาอีกต่างหาก
เมืองนั้นคือเมืองบริสตอล (Bristol) ค่ะ บริสตอลเป็นเมืองที่ดิฉันชอบเรียกแบบเล่นๆ ว่า ‘เพชรบุรี’ เพราะบริสตอลเป็นเมืองติดทะเลที่ร่ำรวยจากน้ำตาล แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า บริสตอลสร้างเมืองได้จากการค้าทาส เอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) นำรายได้จากการค้าทาสใช้พัฒนาชุมชน สร้างถนนหนทางและโบสถ์กลางเมืองบริสตอล แถมยังผลิตขนมปังโรยน้ำตาลแจกชาวคริสต์ที่เข้าประกอบพิธีในโบสถ์ที่เขาสร้างด้วย จนเกิดสมาคมเอ็ดเวิร์ด โคลสตันขึ้นมา ในยุคหลัง มีคนต่อต้านการชื่นชมสรรเสริญพ่อค้าทาสผู้สร้างเมืองบริสตอลมากขึ้น จนนำไปสู่การโค่นรูปปั้นของโคลสตันในที่สุด
หากย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 200 ปี หรือมากกว่านั้น กระแสการต่อต้านการค้าทาสผิวดำได้เริ่มขึ้นแล้ว การค้าทาสกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมอังกฤษมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 นักเคลื่อนไหวจำนวนมากเขียนบันทึกลงหนังสือพิมพ์ให้คนได้รับรู้ความโหดร้ายของระบบทาส พร้อมทั้งเคลื่อนไหวยุติการซื้อสินค้าที่ทาสผลิต เช่น น้ำตาล การเคลื่อนไหวนี้สร้างแรงกดดันให้จักรวรรดิอังกฤษยุติการซื้อขายทาสจากทวีปแอฟริกา ใน ค.ศ.1807 และประกาศเลิกทาสทั่วจักรวรรดิ ค.ศ.1833 (แน่นอนว่าไม่รวมทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นเอกราชใน ค.ศ.1776 การประกาศเลิกทาสทั่วจักรวรรดิอังกฤษจึงไม่เกิดผลทางกฎหมายต่อสหรัฐอเมริกา)
ในบรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหลายนั้น มีนักเขียนจำนวนมากรวมอยู่ด้วย เพอร์ซี เชลลี (Percy Shelley) ผู้เขียนบทความการเมืองตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย และแมรี เชลลี (Mary Shelley) ผู้เขียนแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) อยู่ในขบวนการนี้ด้วย
นักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนักอ่านหลายคนยกย่องให้เธอเป็นเจ้าแม่นิยายรัก และส่งผลต่อการเขียนวรรณกรรมแนวรักใคร่พาฝันจำนวนมากนั้น ก็แสดงจุดยืนผ่านนวนิยายของเธอด้วย นักเขียนท่านนั้นคือเจน ออสเตน (Jane Austen) ผู้เขียนวรรณกรรมรักชื่อดังอย่าง Pride and Prejudice ซึ่งกลายเป็นที่มาของนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’ Diary
แต่วันนี้เราจะพูดถึงนวนิยายอีกเล่มหนึ่งชื่อ เอมม่า (Emma) ค่ะ ‘เอมม่า’ ก็ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง และเพิ่งจะมีเอมม่าฉบับ ค.ศ.2020 เข้าโรงภาพยนตร์ไปเมื่อไม่นานนี้เอง แต่ถ้าใครไม่เคยดูเลย อย่างน้อยก็อาจจะเคยดู หรือเคยได้ยินภาพยนตร์วัยรุ่นขวัญใจชาวทศวรรษ 90 อย่าง Clueless ซึ่งนำแสดงโดยอลิเซีย ซิลเวอร์สโตน (Alicia Sliverstone) และพอล รัดด์ (Paul Rudd) บ้าง Clueless ก็เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องเอมม่าเหมือนกัน
คุณอาจรู้จักเจน ออสเตนในฐานะนักเขียนนวนิยายรักหวานแหววชวนฝัน แต่เจน ออสเตนเขียนนวนิยาย ณ ช่วงเวลาแห่งความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพอสมควร ทั้งชัยชนะของอังกฤษเหนือกองทัพนโปเลียน พระราชบัญญัติธัญญาหารเอื้อประโยชน์นายทุน การต่อต้านระบบทาส และการเดินขบวนของชนชั้นแรงงานต่อต้านการใช้เครื่องจักรทดแทน ยังไม่ต้องพูดถึงว่า เจน ออสเตนเป็นนักเขียนที่พระราชวงศ์โปรด
ด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้มองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในบรรดาพระราชวงศ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีพระองค์เจ้าชาร์ลอตต์ (Princess Charlotte) ซึ่งถูกพระบิดา เจ้าฟ้าจอร์จ ผู้สำเร็จราชการแทน (George, Prince Regent) และพระปิตุลากำกับชีวิตอย่างเข้มงวด แม้ผลงานของเจน ออสเตนจะเป็นไปเพื่อตอบสนองตลาดลูกค้าวรรณกรรมรักชวนฝัน แต่งานเหล่านั้นก็แฝงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอยู่ไม่น้อยเลย
เอมม่าเป็นนวนิยายที่หยิบยกเอาประเด็นทางสังคมหลากหลายมาวิพากษ์ ประเด็นหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าโดดเด่นคือ ประเด็นการค้าทาส แม้ตัวเรื่องของเอมม่าจะไม่ต่างจากนวนิยายอื่นๆ ที่มักวนเวียนอยู่กับตัวละครผู้หญิงคนขาวชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชุมชนที่เธอรู้จักมาตลอดชีวิตของเธอ เอมม่ากำลังชวนเราไปดูตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งดูจะเกี่ยวพันกับการค้าทาสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือออกัสตา เอลตัน (Augusta Elton)
ความเดิมตอนที่แล้ว เอมม่า วูดเฮาส์ (Emma Woodhouse) ลูกสาวเศรษฐีเจ้าของฟาร์มที่เมืองไฮเบอรี (Highbury) เมืองสมมติชานเมืองลอนดอน เข้าใจผิดว่า ฟิลิป เอลตัน (Philip Elton) พระคริสต์รูปหล่อนิกายแองกลิคัน (Anglican) มาส่งสาสน์รักจีบแฮเรียต สมิธ (Harriet Smith) เพื่อนของเธอ ทั้งที่เขาต้องการแต่งงานกับเธอ เมื่อเขาผิดหวัง เขาหายตัวไปจากชุมชน สองสามเดือนผ่านไป ข่าวก็มาถึงหูเอมม่าและเพื่อนบ้านว่า มิสเตอร์เอลตันแต่งงานแล้วกับลูกสาวเศรษฐีจากเมืองบริสตอลชื่อออกัสตา ฮอว์คินส์ (Augusta Hawkins) และกำลังจะพาภรรยากลับมาที่เมืองนี้
เอมม่าพูดถึงการแต่งงานครั้งนี้ไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะคู่รักที่เธอจับคู่ไม่เป็นอย่างใจคิด เธอจึงเปรียบเทียบแฮเรียตเพื่อนของเธอกับออกัสตา เจ้าสาวตัวจริงที่ฟิลิป เอลตันเลือก เอมม่ากล่าวว่า
หล่อนไม่มีชื่อมีสกุล ไม่มีหัวนอนปลายเท้า ไม่มีวงศ์วานว่านเครือ มิสฮอว์คินส์เป็นลูกสาวคนเล็กของพ่อค้าวาณิชจากเมืองบริสตอล ซึ่งมีลูกสาวสองคน เราต้องนำเขามาพิจารณาด้วยแน่ แต่ในขณะที่กำรี้กำไรจากชีวิตค้าขายของเขานั้นออกจะกลางๆ เอมม่าคิดว่าหล่อนคงไม่ได้ลำเอียงอะไรถ้าจะคาดเดาว่ากิจการค้าขายของเขานั้นก็มีศักดิ์มีศรีแค่เพียงกลางๆ ไม่ได้มากนักเช่นกัน
She brought no name, no blood, no alliance. Miss Hawkins was the youngest of the two daughters of a Bristol merchant, of course, he must be called; but, as the whole of the profits of his mercantile life appeared so very moderate, it was not unfair to guess the dignity of his line of trade had been very moderate also.
เอมม่าไม่ได้พูดออกมาชัดเจนว่าพ่อค้าวาณิชจากบริสตอล ซึ่งเป็นพ่อของออกัสตาและพี่สาวของเธอนั้นค้าขายอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เราเห็นอย่างแรกคือความย้อนแย้งของเอมม่าเอง การตัดสินพิพากษาออกัสตาของเธอนั้นแสดงทัศนคติรังเกียจเศรษฐีใหม่ (Nouveau-riche) เอมม่าเปรียบเทียบเศรษฐีใหม่กับชนชั้นผู้ดีที่สืบเชื้อสายมายาวนาน อย่างไรก็ดี ตลอดเรื่อง เอมม่าก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเธอสืบเชื้อสายมาจากใคร เธอพูดได้อย่างเดียวแค่ว่า เธออยู่ที่นี่มานานแล้ว อาชีพที่พ่อเธอทำก็เป็นอาชีพที่ดูบริสุทธิ์กว่า ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า ดู ‘บ้านๆ’ มากกว่า (เพราะเป็นธุรกิจปศุสัตว์) ในขณะที่พวกเศรษฐีใหม่จากบริสตอลเป็นพวกทำมาค้าขาย ฟังดูไม่ค่อยมีศักดิ์ศรี อาจจะโกง มีเล่ห์เหลี่ยมก็เป็นได้
แต่ยิ่งไปกว่านั้น บริสตอลเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วหลังธุรกิจค้าทาสขยายตัวอย่างที่ดิฉันบอกไป แม้เอมม่าจะไม่ได้เอ่ยอย่างชัดเจนว่า มิสเตอร์ฮอว์คินส์ประกอบอาชีพค้าขายอะไร แต่กระแสการต่อต้านการค้าทาส ณ ช่วงเวลาที่เจน ออสเตนเขียนและตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้นั้นค่อนข้างรุนแรง กลุ่มคนผู้สนับสนุนการเลิกทาสประกาศต่อต้านสินค้าที่ผลิตจากแรงงานทาส ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าน้ำตาลจำนวนมาก ผู้ค้าน้ำตาลที่ไม่ได้ใช้แรงงานทาสแอฟริกันนั้นก็เริ่มติดฉลากระบุว่าน้ำตาลของตนไม่ได้มาจากแรงงานทาส (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่)
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า
เมืองบริสตอลคือเมืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ
ที่อิงกับการซื้อขายทาส ชวนให้เกิดกระแสต่อต้าน
หากคุณยังไม่แน่ใจว่านวนิยายเล่มนี้พูดถึง หรือถกเถียงเรื่องการค้าทาสจริงๆ ขอให้คุณตามดูเหตุการณ์ต่อจากนี้ เมื่อมิสเตอร์เอลตันแต่งงานกับออกัสตา ฮอว์คินส์และได้พากันย้ายกลับมายังไฮเบอรีนั้น ออกัสตานั้นก็กุลีกุจอจัดกิจกรรม และตั้งตนประหนึ่งประธานกลุ่มสตรีไฮเบอรี หรือประธานแม่บ้านนักบวช (ถ้าสมัยนั้นมีตำแหน่งทำนองนี้ ออกัสตาคงไม่พลาดแน่)
เธอได้พบกับเจน แฟร์แฟกซ์ หญิงสาวซึ่งเอมม่าหมั่นไส้ เพราะเจนคือผู้หญิงที่ทำทุกอย่างได้สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานผู้หญิงในสมัยนั้น ทั้งเล่นเปียโน ร้องเพลง พูดภาษาต่างประเทศ เจน แฟร์แฟกซ์นั้นไมได้มีฐานะดีอย่างเอมม่า เธอเป็นเด็กกำพร้า เลี้ยงมาโดยป้าและยายผู้ยากจน ก่อนที่ครอบครัวทหารครอบครัวหนึ่งขอเจนไปอุปถัมภ์เพราะเห็นว่า เจนเป็นเพื่อนที่ดีของลูกสาว อย่างไรเสีย เจนก็ไม่น่าจะได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลนั้นสักเท่าไรนัก
ในช่วงเวลาที่เจนกำลังดิ้นรนหาเงินเลี้ยงตัวเอง ประธานสมาคมแม่บ้านของเราก็เข้าไปช่วยเหลือทันที ออกัสตาเห็นว่าเจนเก่ง น่าจะสอนหนังสือให้ลูกหลานของมิสซิสซัคลิง (Mrs. Suckling) พี่สาวเธอได้ แต่เจนก็ยังยืนยันว่าจะขอหางานเอง เจนบอกว่าจะหางานกับสำนักงานที่เน้นค้าขายสติปัญญามนุษย์ (human intellect) มากกว่าเรือนกาย (human flesh) พอได้ยินคำว่าค้าขายร่างกายมนุษย์เท่านั้นเอง แม่ออกัสตาก็เต้นผาง รีบพูดว่ามิสเตอร์ซัคลิงพี่เขยเธอนั้นเป็นเพื่อนกับขบวนการปลดแอกทาสมาตลอด เจนก็เน้นย้ำว่า เปล่าค่ะ ไม่ได้พูดเรื่องค้าทาส พูดเรื่องทำงานเป็นครูสอนพิเศษตามบ้าน (governess) เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เจนเสริมว่า “ผู้ค้าทาสย่อมแบกรับความรู้สึกผิดมากน้อยต่างกันหลากหลายระดับ แต่ความทุกข์ทนอันหนักหนามากกว่าของเหยื่อการค้าทาสนั้น ดิฉันไม่ทราบเลยว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน”
มีประเด็นน่าคิดสองประเด็น ประเด็นแรกคือการค้าทาสถูกเทียบกับการค้าร่างกายผู้หญิง ที่ไม่ได้หมายถึงโสเภณีในกรณีนี้ การใช้ร่างกายเปลี่ยนเป็นสินค้า หรือทรัพย์สินของทั้งทาสและผู้หญิงถูกเทียบกัน และชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษาสำหรับผู้หญิงชนชั้นกลางระดับสูงในยุคนั้น (อันที่จริง ประเด็นชนชั้นในเอมม่าน่าสนใจมาก เราแทบจะไม่เห็นตัวละครที่เป็นขุนนางมียศศักดิ์เลย มีแต่เศรษฐีใหม่ กับเศรษฐีใหม่กว่าแข่งกันเป็นผู้ดี หรือสร้างมาตรฐานความดีแบบใหม่ๆ)
น่าคิดที่ว่าตัวละครหญิงในนวนิยายเรื่องนี้ หรือนวนิยายอื่นๆ ของเจน ออสเตนจะต้องถูกอบรมบ่มเพาะให้พร้อมเป็นศรีภรรยาของผู้ชายมีฐานะ พร้อมสร้างความสุขให้สามีและผู้อื่น การเรียนการสอนของผู้หญิงในยุคนั้นเน้นสอนศิลปะ ดนตรี และภาษาที่ส่งเสริมสุนทรียะแบบผู้ดี (เช่นภาษาอิตาเลียน หรือภาษาฝรั่งเศส) เพื่อให้เป็นผู้หญิงถึงพร้อม (accomplished women) การศึกษาเหล่านี้ก็ทำให้ผู้หญิงเป็นไปตาม ‘ตลาด’ การแต่งงาน เพื่อให้เธอได้เข้าถึงเงินทอง
ผู้หญิงชนชั้นกลางระดับสูงไม่ได้ถูกกำหนดให้ทำงาน ไม่ได้รับโอกาสให้ทำงานมากขนาดนั้น ผู้หญิงหลายๆ คนจึงอยู่ในลักษณะของสินค้า ที่ต้องมีคุณสมบัติบำรุงบำเรอสามีและแขกเหรื่อผู้ดี เพื่อให้เธอได้โอกาสเข้าถึงเงินทองเลี้ยงชีพตัวเอง คนที่อยู่ในสถานะครึ่งๆ กลางอย่างเจน แฟร์แฟกซ์ก็ต้องนำการศึกษา เพื่อให้เป็นกุลสตรีจากบ้านครอบครัวดิกสันใช้เป็นเครื่องทำมาหากิน ค้าขาย และผลิตผู้หญิงให้เป็นสินค้าต่อไป ประเด็นนี้เรื่องพูดถึงมาตั้งแต่ต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกุลสตรี หรือการจัดหาคู่ครองให้ผู้หญิงในสายตาของเอมม่า
การเชื่อมโยงความทุกข์ของทาสและการกดขี่ผู้หญิงนั้นเป็นที่ประจักษ์ในสังคมช่วงนั้นจริง เพราะผู้หญิงหลายคนเข้าร่วมสภาการปลดแอกทาส แต่ในที่ประชุมนั้นพวกเธอไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นใดใดได้แต่นั่งฟัง จนทำให้การเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้แก่สตรีถูกผลักดันมากขึ้น จากเดิมที่แมรี โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wolestonecraft) แม่ของแมรี เชลลี (Mary Shelley) ได้เขียนหนังสือเรื่องสิทธิสตรีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว แม้เรื่องนี้จะจบลงด้วยความสุขของทุกคู่ ไม่มีใครต้องไปสอนพิเศษตามบ้านให้ใคร ครอบครัวเอลตันนั้นถึงแม้จะไม่เป็นที่พอใจของหลายๆ คน ก็ไม่ได้ถูกขับไล่ไปไหน แต่ตัวเรื่องก็เปิดปมนี้ให้เราเห็นแล้ว ทั้งเรื่องผู้หญิงต้องพึ่งเงินผู้ชาย และเงินส่วนสำคัญของจักรวรรดิมาจากการค้าทาส
คุณอาจถามว่า ทำไมเจน ออสเตนถึงไม่พูดตรงๆ หรือเขียนเรื่องค้าทาสตรงๆ ทำไมไม่พูดออกไปว่าเธอต้องการร่วมปลดแอกทาส (เพื่อนนักวิชาการชาวอินเดียคนหนึ่งของดิฉันบอกว่า ไม่ว่าจะผู้หญิงชนชั้นไหนก็ตาม สมัยนั้นเขาก็แย่งชิงเงินจากจักรวรรดิกันทั้งนั้น) หรือทำไมเธอไม่เขียนนวนิยายว่าด้วยตัวละครทาสผิวดำไปเลย
คำตอบหนึ่งที่พอจะตอบได้คือ ณ ช่วงเวลาแห่งความผันผวน สงครามระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสทำให้ทหารมีอำนาจมาก การปราบปรามผู้ประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นักคิดผู้สนับสนุนความเท่าเทียมถูกลงโทษ นักเขียนหญิงหลายคนก่อนหน้าเธอถูกสังคมกดดันให้แก้งานเขียนของเธอ
ออสเตนจึงจำต้องเขียนประเด็นทางการเมืองของเธอ
สอดแทรกไว้ระหว่างบรรทัด
และอาจเป็นไปได้ด้วยว่างานของเธอถูกบรรณาธิการตัดทอน เธอเองก็อาจจะแอบคาดหวังว่าผู้อื่นจะอ่านประเด็นที่เธอซ่อนไว้แตก รวมถึงอาจจะคาดหวังด้วยว่า ผู้อ่านน่าจะมองเห็นว่าสังคม ณ ช่วงเวลานั้นปิดกั้นเสรีภาพของผู้คนแค่ไหน น่าคิดว่า ในตอนหลัง (หรือแม้แต่ในตอนนั้นเอง) ผู้อ่านสนใจเจน ออสเตนในเชิงสังคมการเมืองน้อยลง และมองเห็นเพียงความงดงามของความโรแมนติก จนแทบจะมองไม่เห็นการเมืองในนวนิยายของเธอเลย
เจน ออสเตนวิจารณ์การค้าทาสที่บริสตอลมาเกิน 200 ปีแล้ว ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้น บริสตอลเองก็ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์การค้าทาสของตัวเองอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยในรอบสิบปีที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ด โคลสตันนั้นอาจเป็นบุคคลน่าชื่นชมและสร้างความเจริญงอกงามให้แก่บริสตอลจริง จนมีชื่อของเขาอยู่ทั่วทั้งเมือง
โบสต์เซนต์แมรีกลางเมืองก็มีกระจกสีเล่าประวัติชีวิตเขา แถมขนมโคลสตัน บัน (Colston bun) หรือขนมปังโรยน้ำตาลที่กล่าวไปตอนต้นก็กลายเป็นขนมที่เป็นที่รู้จักของบริสตอลไปแล้ว แต่ผู้คนที่ตั้งคำถามกับการชื่นชมโคลสตันนั้นก็มีมาก ใน ค.ศ.2006 ฮิว ลอค (Hew Locke) ประติมากรอังกฤษร่วมสมัยได้นำสร้อยทองและข้าวของเครื่องประดับจากวัฒนธรรมแอฟริกันและแคริบเบียนพาดทับรูปปั้นของโคลสตัน
ใน วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.2018 วันต่อต้านการค้าทาสอังกฤษนั้น รูปปั้นเล็กๆ จำนวนมหาศาลเรียงกันเป็นรูปเรือจัดวางนอนอยู่ตรงหน้ารูปปั้นเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน นอกจากนี้ เรายังพบแผ่นป้ายทองเหลืองในเมืองบริสตอลบางแห่งที่ระบุด้วยว่าบริสตอลเติบโตจากการค้าทาสและการค้าน้ำตาลจากแรงงานทาส จนมาถึงวันนี้ รูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลสตันก็โดนโค่นทิ้งไปแล้ว
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ได้ไม่นาน มีคนถามดิฉันว่า สรุปแล้ว อังกฤษจะเหลืออะไรบ้าง เงินจากการค้าทาสก็สร้างตึกรามบ้านช่องสารพัด เราต้องตามไปทุบตึกทุกแห่งที่มีชื่อโคลสตันหรือเปล่า ดิฉันคิดว่าพ่อค้าทาส หรือผู้เกี่ยวข้องกับจักรวรรดิอังกฤษเหล่านี้ไม่ควรจะถูกลบหายไป แต่ไม่ควรนำมาเฉลิมฉลองและปิดบังความโหดร้ายเช่นโคลสตัน (ที่รูปปั้นของโคลสตันมีข้อความเขียนบอกว่าเขาเป็นคนมีคุณธรรมและฉลาด (Virtuous and wise) แต่ไม่เคยบอกว่าเขาได้เงินทำบุญมาจากไหน)
เรื่องราวเหล่านี้ควรถูกเขียนถึงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนอังกฤษได้เรียนรู้และจดจำประวัติความเป็นมาของชาติตนเอง ซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรง พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษหลายแห่งเริ่มปรับตัวและเขียนข้อความชี้แจงเพิ่มเติมแล้วว่า พิพิธภัณฑ์ของตนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสและจักรวรรดิอังกฤษอย่างไร
จักรวรรดิอังกฤษถือกำเนิดมายาวนานกว่า 400 ปี อาณานิคมเดิมของอังกฤษหลายแห่งพึ่งจะเป็นเอกราชไม่ถึง 80 ปี ผลพวงของจักรวรรดิมีอยู่ทั่วโลก แทรกอยู่ในทุกอณูของวัฒนธรรมทั้งของประเทศอาณานิคมเดิม (และประเทศกึ่งอาณานิคมแบบประเทศไทย) และประเทศเจ้าอาณานิคม การมองเห็นความรุนแรง หรือการวิจารณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นการตระหนักรู้ว่าเราเป็นประชาคมโลก เราดำรงอยู่ด้วยผู้อื่นเสมอๆ และแยกขาดไม่ได้