It is a truth universally acknowledged, that a single man in possession of a good fortune, must be in want of a wife.
‘รักแท้ หรือแค่มั่นคง’ คงจะเป็นสิ่งที่เจน ออสเตนเปิดประเด็นไว้ใน Pride and Prejudice นวนิยายที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งในงานที่คนทั่วโลกรักมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเธอ ลองนึกภาพผู้หญิงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ที่แน่ล่ะว่าชีวิตและความสำเร็จของการเป็นผู้หญิงอยู่ที่การหาสามีรวยๆ เพื่อนำตัวเธอและครอบครัวไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและมีสถานะทางสังคมที่มั่นคง
เจน ในฐานะนักเขียน ‘หญิง’ อาชีพ เธอเลือกที่จะเริ่มนวนิยายด้วย ‘สัจธรรม’ คือค่านิยมหลักของสังคมอังกฤษในยุคนั้น คำพูดที่ว่า นี่ไง ใครๆ ก็รู้ว่าผู้ชายรวยๆ ยังไงสาวๆ ทั้งหลายก็ต้องวิ่งเข้าใส่ ดังนั้นโดยตลอดทั้งเรื่องจึงมีหนุ่มโสดฐานะดี และเห็นความพยายามของครอบครัวชนชั้นกลางในชนบทที่ต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกสาวของตัวเองได้ตกร่องปล่องชิ้นกับสุภาพบุรุษผู้ร่ำรวยนั้น
โดยความเป็นจริงแล้ว แค่รวย อาจจะไม่พอ (เสียงพี่อ้อย) เพราะความรักปะปนด้วยปัจจัยทั้งสถานะสังคมและตัวตนของคนสองคน ความรักเป็นเรื่องซับซ้อน และแน่ล่ะว่าเจนเองก็คงเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องอยู่ในวังวนของการหาสามีดีๆ เธอเองก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาด้วยอารมณ์ขันและมุมมองที่คมคาย
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2017) ได้ครบรอบ 200 ปี ที่เจน ออสเตน นักเขียนหญิงผู้มีชื่อเสียง และทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 41 ปี ในปี 1817
Pride and Prejudice เป็นนวนิยายที่โด่งดัง หลายคนคงเคยได้อ่านหรืออาจจะเคยได้ดูฉบับหนัง นำแสดงโดยเคียรา ไนต์ลีย์ นอกจากตัวหนังและหนังสือแล้ว แนวเรื่องแบบพ่อแง่แม่งอน แบบที่ตัวละครจริงๆ แล้วชอบพอกัน แต่ทำมาเป็นไม่ชอบหน้า รักษาศักดิ์ศรี ทำให้คนอ่านคนดูต้องลุ้นกันจนตัวโก่งว่าบอกความในใจไปซะที!
เรื่องราวแบบรักโรแมนติกที่ไม่เข้าใจกันซักทีก็ถือว่าเป็นแนวเรื่องที่เจน ได้สร้างอิทธิพลไว้ต่อวงวรรณกรรม ละคร และสื่อบันเทิงอื่นๆ
คำถามและปัญหาของผู้หญิง อยู่ที่ชีวิตของเธอคือการหาผัวรวยๆ ซักคนจริงหรือ แล้วแค่ผู้ชายรวยๆ ผู้หญิง (ดีๆ ?) ก็จะวิ่งวุ่นเข้าหา แล้วชีวิตก็จะสุขสมบูรณ์จริงหรือ ถ้าเรามองเจนในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องอยู่ท่ามกลางค่านิยมเรื่องการต้องแต่งงานเป็นปลายทางของชีวิต สิ่งที่ออสเตนทำคือการเป็น ‘นักเขียนอาชีพ’ เป็นการทำมาหากินหาเลี้ยงชีพด้วย ‘วิชาความรู้’ ด้วยงานเขียน ผู้หญิงก็เป็นนักเขียนได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแต่เมียหรือแม่เท่านั้น ออสเตนจบชีวิตลงไปโดยไม่ได้แต่งงาน
ในทำนองเดียวกันกับตัวละครเอกทั้งหลายของเจน ที่ไม่ได้มีลักษณะ ‘ตามความต้องการของสังคม’ ที่มีต้องผู้หญิง คือไม่ได้เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ เชื่อฟังคำสั่งของคนอื่น แต่ตัวละครของเจนเต็มไปด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ความเฉลียวฉลาด ความมั่นใจ ซึ่งก็อาจจะเจือไปด้วยความดื้อรั้นหน่อยๆ
ตัวละครสาวมั่นแบบนี้ส่งอิทธิพลข้ามน้ำข้ามเวลาต่อนวนิยายและละครไทย เราจะเห็นภาพของนางเอกที่มีลักษณะดื้นรั้น หัวสมัยใหม่ อย่างที่เราเห็นภาพจากเรื่องปริศนา ไปจนถึงโครงเรื่องที่หญิงสาวผู้แสนมั่นใจและชายหนุ่มสุดเฉยชายที่กว่าจะลงเอยกันได้ก็ปาเข้าไปถึงตอนจบของละคร ล้วนต่างเป็นกลิ่นอายและอิทธิพลที่เจน ออสเตน ได้วางรากฐานอันอบอวลไว้ให้กับวงวรรณกรรมและสื่อบันเทิงร่วมสมัย
แม้ว่าจะจากโลกนี้ไปแล้วถึง 2 ศตวรรษก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก