ทุกครั้งที่ไปโตเกียว สิ่งที่ผมขาดไม่ได้เลยคือ SUICA บัตรเติมเงินของบริษัท JR East ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แถมยังสามารถใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องคอยห่วงเรื่องเหรียญเงิน กลายเป็นความสะดวกสบายสำหรับนักท่องเที่ยวเอามากๆ แต่ก็พบว่า ถ้าเกิดคนที่ใช้ไม่ได้กลับมาญี่ปุ่นบ่อยๆ แบบผม แล้วอยากจะเลิกใช้บัตร SUICA เพื่อรับเงินมัดจำ 500 เยนคืน ก็ต้องใช้เงินที่เหลืออยู่ในบัตรให้หมด แล้วค่อยเอาไปคืนที่เคาเตอร์ของ JR บางจุด เพราะถ้าเงินเหลือเขาก็จะหักเงินค่าธรรมเนียม 220 เยน ไปเปล่าๆ แล้วค่อยคืนเงินที่เหลือจากนั้นบวกค่ามัดจำ 500 เยนให้เรา กลายเป็นความจุกจิกน่ารำคาญเล็กๆ น้อยๆ ไป
พอมานั่งคิดอีกที เจ้าบัตร SUICA ที่เหมือนจะสะดวก มันก็ค่อนข้างวุ่นวายไม่น้อยกับการต้องเติมเงินเก็บไว้ เหมือนเอาเงินไปนอนในบัญชีคนอื่นไว้เฉยๆ แถมถ้าเป็นนักท่องเที่ยวอย่างพวกเราที่ลงทะเบียนไม่ได้ด้วยนี่ พอหายแล้วก็หายเลย (แต่ถ้าลงทะเบียนแล้วมีคนเก็บได้ ถ้าเขาใจดีเอาไปให้เจ้าหน้าที่เช็กก็หาเจ้าของได้นะครับ) ตรงนี้เลยเป็นความเสี่ยงตรงนี้สำหรับนักท่องเที่ยว ไม่ต่างอะไรกับบัตรเติมเงินคล้ายๆ กันของแถวๆ นี้ (แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือ บัตรเดียวใช้บริการได้เกือบครบหมด ไม่ใช่ว่าต้องให้ชาวบ้านรอแล้วรออีกว่าตกลงจะใช้ร่วมกันได้รึยัง)
ยิ่งพอหันไปมองประเทศคู่แข่งแบบจีนและเกาหลีก็สังเกตได้ว่า ระบบการเงินของสองชาตินั้นไปไกลกว่าของญี่ปุ่นเยอะมากๆ ทุกวันนี้ยิ่งพัฒนาเข้าใกล้สังคมไร้เงินสดเข้าไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเจ้าพ่อเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นกลับยังคงใช้เงินสดกันเป็นหลัก คนใช้บัตรเติมเงินกันเป็นเรื่องปกติ ยิ่งระบบธนาคารของญี่ปุ่นนี่เอาจริงๆ ผมจะบอกว่าบ้านเราพัฒนากว่าก็ยังได้เลยครับ แต่ก็อาจจะไม่แปลกสำหรับประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่นที่พัฒนาตัวเองอย่าง unique (เสียงสูง) และชอบมีเศษซากวัฒนธรรมหลงเหลือเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพจเจอร์ที่บริษัทสุดท้ายเพิ่งปิดให้บริการไปหมาดๆ รวมไปถึงโทรสารที่ยังคงเป็นการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการของเขา แผ่นดีวีดีข้อมูลที่ทุกวันนี้หาเครื่องอ่านได้ยาก ล่าสุดผมยังไปเจอว่ามีแผ่นฟลอปปีดิสก์วางขายอยู่อีก และโทรเลขก็ยังคงเป็นการส่งข้อความความคิดถึงหากัน …แต่กลับมาดูระบบธนาคารกันก่อนดีกว่าครับ
ระบบธนาคารของญี่ปุ่นและตู้ ATM ของญี่ปุ่นน่าทึ่งเอามากๆ ตรงที่ว่า ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ธนาคารเปิด 9 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 จะทำธุรกรรมอะไรก็ได้แค่ตอนนี้ละครับ และก็ต้องไปรอคิวแบบอนาล็อกกัน นั่งไปเรื่อยๆ จิบชารอก็พอไหว แต่เขาทำงานกันแค่จันทร์ถึงศุกร์นะครับ จะไปหาธนาคารในห้างแบบบ้านเรานี่คงยาก (เท่าที่นั่งนึกนี่ยังไม่เจอเลย) ที่เวลาทำการน้อยก็เพราะว่าต้องให้พนักงานเตรียมตัวก่อนเปิด และเคลียร์ทุกอย่างหลังปิดก่อนกลับบ้าน แหม่ เหมือนห่วงพนักงานเลย แต่จริงๆ ก็ไม่น่าจะได้กลับตรงเวลาห้าโมงเย็นหรอกครับ ตัวธนาคารว่าชวนปวดหัวแล้ว ตู้ ATM ที่ควรจะสะดวกสบายกลับกลายเป็นว่า ตู้ ATM จำนวนไม่น้อยก็มีเวลาทำการพอๆ กับธนาคาร ไม่ได้ทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงทุกตู้ เรียกได้ว่ามาช่วยแบ่งเบาภาระของพนักงานเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มความสะดวกอะไรเลย (แต่ต้องขอชมระบบตู้ที่สามารถฝากถอนโอนจ่ายในตู้เดียวได้นานแล้ว แถมหลายรุ่นยังรับเงินเหรียญอีกต่างหาก) และที่ชวนปวดหัวมากอีกอย่างหนึ่งคือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารญี่ปุ่นนี่เยอะหยุมหยิมจุกจิกมาก เดี๋ยวก็หักเดี๋ยวก็หัก แต่น่าทึ่งว่าคนก็ยังใช้กันอยู่
เท่านั้นไม่พอ พอค่าธรรมเนียมการฝากถอนโอนข้ามธนาคารมันเยอะ หลายคนเลือกมีบัญชีในหลายๆ ธนาคารเพื่อทำธุรกรรมต่างกันออกไป อย่างสมัยผมเรียนอยู่ที่นู่น ผมก็จำเป็นต้องไปเปิดบัญชีธนาคารท้องถิ่น เพื่อที่จะใช้ในการหักบัญชีค่าเช่าอพาร์ตเมนต์โดยเฉพาะ เพราะเจ้าของเขาไม่รับบัญชีธนาคารอื่นเลย เล่นเอาต้องบริหารบัญชีกันให้วุ่น และที่บอกไปว่าเป็น ‘ธนาคารท้องถิ่น’ ซึ่งบ้านเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเพราะมีแต่ธนาคารเจ้าใหญ่ แต่ประเทศท้องถิ่นรุ่งเรื่องแบบญี่ปุ่นก็มีธนาคารตามท้องถิ่นแยกไปอีกครับ อย่างในกิฟุก็จะมี Juuroku Bank หรือแปลง่ายๆ คือธนาคาร 16 (ตั้งชื่อกันแบบนี้ล่ะ) เป็นธนาคารท้องถิ่น หาสาขาได้ตามเมืองต่างๆ ในจังหวัด นาโกย่าก็มี Bank of Nagoya แยกไปอีก ถ้าระดับจังหวัดว่าหนักแล้ว บางอำเภอก็มีธนาคารของตัวเองอีกต่างหาก เช่น ธนาคาร Ogaki ในเมือง Ogaki จังหวัดกิฟุนั่นละครับ เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าคุณรักท้องถิ่นมากๆ ก็ยังมี Shinyou Kinko หรือที่แปลคร่าวๆ ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เน้นลูกค้าท้องถิ่นเช่นกัน และทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ก็ยังทำงานแบบอนาล็อกซะเป็นส่วนใหญ่ จะทำอะไรทีก็ต้องถือสมุดบัญชีกับตราประทับไปธนาคาร
ปัญหาก็คือ พอระบบเป็นแบบนี้ ในยุคที่ประชากรน้อยลงเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายในการบริหารแต่ละสาขาก็ดูเหมือนจะเป็นภาระที่ไม่คุ้มค่า
ตัวธนาคารญี่ปุ่นเองเริ่มเข้าใจและยอมรับว่าจำเป็นต้องทยอยปิดสาขาและเน้นการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวรัฐบาลเองก็ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้เงินแบบ cashless ของชาวญี่ปุ่นให้เพิ่มจาก 18.4% ในปี 2015 ให้เป็น 40% ในปี 2027 ให้ได้ จะว่าไปก็ถือว่าน้อยมาก ยิ่งเมื่อมองว่าเป็นอนาคตอีกเกือบ 10 ปีข้างหน้า เพราะว่าเกาหลีก็ซัดไป 89% และจีนก็เกิน 60% ไปแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลก็ต้องพยายามผลักดันตรงส่วนนี้ให้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงเพราะปัญหาประชากรหดตัวจนขาดแคลนแรงงาน แต่ยังรวมไปถึงการนำเงินที่เคยหมุนเวียนเป็นเงินสดมาเปลี่ยนเป็นเงินดิจิตทัล มีหลักฐานในการหมุนเวียนชัดเจน และสามารถเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง
แต่ปัญหาก็ยังติดอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคนั่นละครับ คนญี่ปุ่นยังคงนิยมในการใช้เงินสดกันอยู่ หลายความเห็นก็บอกว่าเพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะถือเงินสดไปไหนมาไหน ไม่มีความเสี่ยงจะโดนจี้ปล้นได้ง่ายๆ (ขนาดจะตั้งบริษัททียังเอาเงินเป็นกองๆ ยกไปธนาคารกันเลย) ตัวธนบัตรญี่ปุ่นก็มีความเสี่ยงในการปลอมแปลงน้อย คือแทบจะไม่ค่อยเห็นข่าวคนปลอมเงินญี่ปุ่น (เคยเจอข่าวเด็กวัยรุ่นปรินต์เงินออกมาจากปรินเตอร์แล้วจะเอาไปใช้กับตู้กดน้ำ…โดนจับสิครับ) ความน่าเชื่อถือของเงินสดยังสูงอยู่ และชาวญี่ปุ่นก็ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นอย่างมาก จึงมีทัศนคติไม่ค่อยดีกับการที่ระบบสามารถตรวจสอบได้ว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้างแบบเรียลไทม์ และอีกอย่างหนึ่งที่ผมเคยได้ยินคนพูดกันบ่อยก็คือ เวลาเกิดภัยพิบัติ และข้อมูลต่างๆ มักจะติดต่อสื่อสารกันไม่ได้ ด้วยความที่ไม่รู้จะใช้เงินอิเล็กโทรนิกส์ยังไง เงินสดนี่ล่ะครับที่มีค่าในมือที่สุด ซึ่งก็คงเถียงไม่ได้จริงๆ ยังไม่นับว่าการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้สูงอายุจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะให้ผู้สูงอายุหันไปใช้แอพฯ ธนาคารกันได้ง่ายๆ เหรอ ในเมื่อสมาร์ทโฟนยังต้องมีรุ่นที่ดีไซน์มาเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้โดยเฉพาะ เป็นปัญหาที่ยากเอาเรื่องเลยละครับ มิตรสหายบางท่านก็เคยให้ความเห็นว่า เพราะญี่ปุ่นดันล้ำหน้าไปก่อนเขา (เช่น การทำบัตรเติมเงิน) เลยพัฒนาระบบของตัวเองไปล่วงหน้า แต่พอเทรนด์ของโลกไปอีกทาง ไอ้การจะปรับตัวตามก็ยาก เลยใช้ของที่สะดวกในประเทศไปแล้วกัน
แต่ถึงยังไงก็หนีเทรนด์นี้ไม่พ้นครับ เพราะเมื่อโลกเชื่อมต่อกัน ประเทศเกาะก็ต้องทำมาหากินกับโลกภายนอก ไม่สามารถทำตัวเป็นเทพอยู่แบบโดดๆ ได้อีกต่อไป ขบวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่แห่เข้ามาในญี่ปุ่นก็มาพร้อมกับความจำเป็นในการที่จะต้องเปิดรับระบบการจ่ายเงินแบบต่างๆ ทำให้บริษัท FinTech ทั้งหลายของจีนก็เล็งญี่ปุ่นไว้เป็นตลาดใหม่ รวมถึง Line ที่แม้จะเกิดในญี่ปุ่นแต่ก็เป็นของบริษัทเกาหลี บริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มเร่งรุกเข้ามาอย่างหนัก แถมยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นบริษัทต่างๆ เช่น 7-Eleven ที่หันมาให้บริการทางการเงินด้วยจุดเด่นคือตู้ ATM ในร้านของตัวเองซึ่งสะดวกกว่าของธนาคารมาก เจอแบบนี้เข้าไป ไม่ปรับตัวก็มีแต่จะตายเอาครับ (แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ธนาคารญี่ปุ่นแม้จะดูล้าหลัง แต่จริงๆ ก็ไปกว้านลงทุนซื้อหุ้นธนาคารในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ้านเรานี่ก็ไม่น้อยครับ)
ต้องคอยดูว่าญี่ปุ่นจะสามารถพัฒนาตัวเองเป็นสังคมเงินสดแค่ไหน และคนจะรู้จักปรับตัวเข้ากับโลกได้เท่าไหร่ เอาจริงๆ ผมอ่านนิตยสารสายแกดเจ็ตของญี่ปุ่นก็เห็นเทรนด์น่าสนใจนะครับ เช่น สอนการใช้แอพฯ ธนาคารที่น่าสนใจ กดเงินได้โดยไม่ต้องใช้บัตร หรือแอพฯ ไหนสามารถรวมบัตร ‘สะสมแต้ม’ สารพัดสารพันของห้างร้านญี่ปุ่นที่เป็นตัวทำให้กระเป๋าสตางค์หนาปึกได้อย่างดี หรือแนะนำการใช้ Apple Pay ว่าใช้บัตรตัวไหน ใช้กับอะไรจะได้แต้มสะสมสูงสุด (จริงๆ ญี่ปุ่นมีบล็อกเนิร์ดๆ เรื่องสะสมแต้มพวกนี้เยอะ) หรือในห้างร้านบางแห่งที่เริ่มระบบจ่ายเงินด้วยตัวเอง อย่าง GU ร้านเสื้อผ้าราคาประหยัดที่นำระบบนี้มาใช้ ก็ช่วยลดงานให้ชาวบ้านได้เหมือนกันครับ
ส่วนตัวผมเองก็ได้แค่หวังว่ารถไฟฟ้าในบ้านเรานี่เมื่อไหร่ถึงจะได้ใช้บัตรร่วมกันบัตรเดียวซะที รวมถึงทำระบบการซื้อบัตรให้ง่ายกับผู้บริโภคซะทีเถิดครับ ฮือๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก