หนึ่งในประเด็นร้อนที่มักจะเห็นเสมอเมื่อผมเลื่อนฟีดในโซเชียลเน็ตเวิร์กคือ ‘เด็กยุค 90s’ หรือ ‘วัยรุ่นยุค 90s’ เพราะเป็นกรณีพิพาทเสมอเมื่อมีเด็กรุ่นที่ไม่ได้ผ่านยุคนั้นมาจริงๆ แล้วพยามเขียนเรื่องราวให้เหมือนกับว่านั่นคือยุค 90s เช่น เด็กยุค 90s ฟังกามิกาเซ่บ้าง หรือต้องโทรศัพท์มือถือหากันเวลานี้บ้าง ทำให้เด็กยุคนั้นตัวจริงต้องออกมาสวนกลับ (ส่วนผมไม่สวนกลับครับ กลัวคนบอกว่าแก่)
กลายเป็นที่สงสัยกันว่า ทำไมคนชอบพูดเรื่องยุค 90s กันจริง หลายคนที่เคยผ่านยุคนั้นมาจริงๆ ก็มักจะอธิบายกันว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่ามันคือยุคสุดท้ายของอนาล็อก ใครผ่านยุคนั้นมาคือได้สัมผัสสองโลกทั้งอนาล็อกในวัยเด็กและดิจิทัลในตอนโต ขนาดที่ฝรั่งเขายังมีคำเรียกของคนเจนนี้ว่า Xennials คือคนที่เกิดช่วงปลายยุค 70s และต้น 80s เป็นเจนเล็กๆ ที่คั่นระหว่างเจน X และ Y บางทีก็เรียกว่า Oregon Trail Generation ตามชื่อเกมยอดฮิตของคนเจนนี้ ซึ่งของไทยเองก็อาจจะเหลื่อมกันหน่อย (ดิจิทัลมาช้ากว่า)
คนเจนนี้นี่ล่ะครับที่เป็นวัยรุ่นยุค 90s ใส่กางเกงแบ็กกี้ เสื้อสีสด แย่งค่าย RS ชนกับ Grammy ดูหนังก่อนโรงมัลติเพล็กซ์ พกเพจเจอร์ ส่วนสมัยเป็นเด็กก็อ่านมานะ มานี ลุ้นว่าปีนี้รองเท้านักเรียนจะแถมอะไร ซื้อขนมกับอาแปะหน้าโรงเรียน สะสมสติกเกอร์ เล่นเกมแฟมิคอม (ใครศักดินาก็มีอาตาริ) ไอ้ความอนาล็อกแบบนี้เลยดูเหมือนมีเสน่ห์สำหรับเจนหลังที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนก็ได้
แต่เอาจริงๆ มีเรื่องหนึ่งที่ผมมองว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงแต่คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาชวนถวิลหาก็คือ เศรษฐกิจฟองสบู่ …โอเค หลายคนอาจจะบอกว่า จำความเลวร้ายหลังปี 1997 หลังปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวได้ไหม แน่นอนครับว่าหลังจากฟองสบู่แตกมันเลวร้าย แต่ว่าในช่วงสั้นๆ ประมาณ 5 ปี หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจนถึงเงินบาทลอยตัว เป็นช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ที่มาพร้อมกับบรรยากาศความเสรีที่คนเชื่อกันว่าประชาธิปไตยเอาชนะการรัฐประหารได้
มันเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าสนุกสนานและบ้าคลั่งไม่น้อยสำหรับคนเคยผ่านยุคนั้น ใครเคยผ่านมาคงเห็นความบ้าคลั่งของราคาที่ดินและคอนโด คนจับจ่ายใช้สอยอย่างบ้าคลั่ง จะบอกว่ายุคนั้นยังไม่ได้เคร่งกับการกำหนดอายุคนเข้าสถานบริการ เด็กมัธยมรุ่นผมนี่เข้าผับเข้าบาร์กันเป็นเรื่องปกติ ยุคนั้นกินแบล็คเลเบิลกันเป็นเรื่องปกติ บ๋อยก็รับทิปกันหนัก วงการโฆษณาก็ได้ปล่อยของกันเต็มที่ (ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค) วงการสิ่งพิมพ์ก็เกิดนิตยสารใหม่ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น (ใครทัน Hyper คงรู้ความบ้าดี) ไม่แปลกที่ใครเคยได้ยินเรื่องราวของยุคฟองสบู่จากคนรุ่นพี่แล้วจะอิจฉาอยากจะลองไปสัมผัสยุคนั้นบ้าง
ช่วงพีคของประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายโชวะต่อต้นเฮเซ (ปี 1986 ถึงปี 1991) ที่เรียกว่าเป็นยุคฟองสบู่ของชาวญี่ปุ่น เพราะมันคือยุคที่เรียกได้ว่าประเทศญี่ปุ่นบ้าดีเดือดเหลือเกิน จากประเทศแพ้สงคราม พวกเขาค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจนกลายมาเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้
เรื่องยุค 90s หรือไม่นี่ ผมเองก็พยายามมองไปทางญี่ปุ่นว่าเขามีอะไรแบบนี้มั้ย เท่าที่ดูก็ไม่ค่อยเห็นการตีเคลมผิดว่าตัวเองเกิดยุคนั้น แต่ที่แน่ๆ มักมีบรรยากาศความถวิลหายุคโชวะ ซึ่งลากยาวตั้งแต่ปี 1926 ถึงปี 1989 แต่ที่ถวิลหากันจริงๆ ก็เป็นช่วงปลายๆ ที่ญี่ปุ่นเริ่มรุ่งเรือง และที่พบได้ในสื่อหรือวงการบันเทิงบ่อยๆ ก็คือการถวิลหาช่วงพีคของประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายโชวะต่อต้นเฮเซ (ปี 1986 ถึงปี 1991) ที่เรียกว่าเป็นยุคฟองสบู่ของชาวญี่ปุ่น
มันคือยุคที่เรียกได้ว่าประเทศญี่ปุ่นบ้าดีเดือดเหลือเกิน จากประเทศแพ้สงคราม พวกเขาค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจนกลายมาเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้ กลายเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจที่ขึ้นมาเขย่าโลก แถมยังแพร่อิทธิพลไปต่างประเทศด้วยการขยายฐานการผลิตยังประเทศอื่นๆ ตามเงื่อนไข Plaza Accord จนกลายเป็นการส่งออกวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับซาลารี่มังที่ไปทำงานในต่างประเทศ และความรุ่งเรืองในยุคนี้ก็ถูกเล่าขานผ่านสื่อต่างๆ เสมอ ราวกับเป็นการมองย้อนไปในอดีตที่รุ่งเรืองด้วยความคิดถึงอย่างหนัก
เรื่องราวตำนานความบ้าคลั่งของยุคฟองสบู่ญี่ปุ่น สำหรับตัวผมเองที่ได้สัมผัสผ่านสื่อบันเทิงในยุคนั้น ก็คงเป็น มังงะ นั่นเอง ใครได้อ่านมังงะที่ตีพิมพ์ในช่วงนั้นจะเห็นเทรนด์ของยุคนั้นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถอยรถหรูออกมาขับกันราวกับเป็นของถูก ที่ฮิตสุดๆ ก็ต้องรถสปอร์ตอิตาเลียนพวงมาลัยซ้ายที่วิ่งกันในถนนเป็นเรื่องปกติ และอีกเทรดมาร์กหนึ่งของยุคก็คือ ดิสโก้ โดยเฉพาะเจ้าดัง จูเลียนน่า ที่มีจุดเด่นคือ มีแท่นยกให้สาวๆ ขึ้นไปเต้น และเครื่องแบบของสาวๆ ยุคนั้นก็คือ บอดี้คอน ชุดเดรสสั้นรัดแน่นเปรี๊ยะ โชว์เรือนร่างชัดเจน รองเท้าส้นเข็ม มีพู่ขนนกยาวๆ มาพาดบ่า พร้อมทั้งพัดขนาดใหญ่ใช้พัดไปมาประกอบท่าเต้น กับเพลงแนวเรฟและเทคโนที่เปิดดังลั่น ทุกวันนี้ก็ยังหาเพลงพวกนี้ฟังในเพลย์ลิสต์ยุค Bubble ใน YouTube ได้ ใครเคยอ่านเรื่อง Ghost Sweeper Mikami คงคุ้นกับฉากเหล่านี้ดี
พอได้คุยกับคนรู้จักที่เคยผ่านยุคฟองสบู่ในช่วงวัยรุ่นมาก่อน เขาก็เล่าเรื่องราวความสนุกของยุคนั้นให้ฟังอย่างเพลิดเพลิน ตั้งแต่เรื่องการใช้เงินอย่ามือเติบเหลือเกิน ยุคนั้นชาวญี่ปุ่นพร้อมจ่ายให้กับสินค้านำเข้ากันอย่างสบายใจ เพราะค่าเงินเยนแข็งขึ้นกว่าเดิมมาก การใส่สูทราคาแพงหลักแสนไปอวดกันในที่ทำงานก็เป็นเรื่องปกติ รวมถึงการเที่ยวกลางคืนที่จ่ายกันแบบหนักไม่เกรงกลัวกระเป๋าฉีก ไม่แปลกอะไรที่ทุกวันนี้คนรุ่นนี้ยังไปเที่ยว Cabaret Club แล้วจ่ายคืนละเป็นแสนกันได้ เพราะเคยผ่านการเที่ยวแบบเปย์ไม่อั้นมาแล้ว
ด้วยความที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นพุ่งแรงไม่หยุด ทำให้พนักงานต้องทำงานหนักชนิดว่าได้หยุดแค่เดือนละวันสองวัน เกิดปรากฏการณ์พนักงานไม่พอ จนยุคนั้นมีการแย่งตัวพนักงานกันเลยทีเดียว เด็กจบใหม่ยุคนั้นถือว่าโชคดีมากๆ เพราะแทบไม่ต้องทำอะไร แค่สมัครงานไปก็ได้รับการตอบรับแล้ว ยิ่งบริษัทใหญ่ๆ ถึงขนาดที่ว่าคัดเลือกสัมภาษณ์เสร็จแล้ว พอประกาศผลว่าผ่าน ก็รวบรัดจัดสัมมนาอบรมก่อนเข้าทำงานทันที ด้วยการพาไปสัมมนาในรีสอร์ตต่างจังหวัด หรือถ้ารวยหนักก็จัดที่ต่างประเทศ จะได้ปิดการติดต่อสื่อสารกับบริษัทอื่น ป้องกันการโดนแย่งตัวพนักงานไปทำงาน
แล้วยังก่อให้เกิดการข้ามสายงานอีก เพราะในยุคนั้นนอกจากธุรกิจการเงินแล้ว ธุรกิจที่รุ่งเรืองมากคืองานสายครีเอทีฟ งานโฆษณา ทำรายการทีวี ทำให้มีเด็กเรียนจบสายวิทย์ข้ามไปสมัครงานในบริษัทสายนี้มากขึ้นกว่าเดิม
ปัญหาการรับคนเข้าทำงานแบบไม่ได้พิจารณาคุณภาพจริงจัง ก็ก่อให้เกิดปัญหาลามมาถึงปัจจุบันเมื่อคนรุ่นนั้นกลายมาเป็นหัวหน้างานที่ไม่ได้มีฝีมือจริงๆ อาศัยแค่อยู่บริษัทมานานเพียงเท่านั้น
แต่ด้วยความเฟื่องฟูนี่ล่ะครับ ทำให้คนได้เงินและใช้เงินกันอย่างบ้าคลั่งจนมีตำนานหลายต่อหลายเรื่องให้เราได้ยินกัน ตั้งแต่แค่เริ่มทำงานปีแรกก็ได้เงินเดือน 500,000 เยนกันแล้ว (ปัจจุบันได้เฉลี่ยประมาณ 200,000 เยน) แถมโบนัสก็ยังเกินล้านเยน ทำงานพิเศษเฉยๆ ก็ยังได้เงินเพียงพอที่จะเที่ยวเล่นแล้วยังเหลือเงินเก็บสบายๆ
หลายคนที่ยุคนี้ขับรถอีโคคาร์ สมัยฟองสบู่นี่อย่างต่ำก็ขับ BMW กัน และก็เป็นยุคเดียวกันนี้เองที่ไม่เพียงแต่รถต่างประเทศขายดี แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีการผลิตรถสปอร์ตสมรรถนะสูงออกมารับรองตลาด กลายเป็นของเล่นของคนหนุ่ม ที่เมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วจำนวนการผลิตและรุ่นน้อยกว่าในยุคนั้นมาก (ใครอ่าน Initial D คงหายสงสัยว่าทำไมในเรื่องมีแต่รถรุ่นเก่า เพราะมันคือผลพวงจากยุคนี้ล่ะครับ) ส่วนราคาอสังหาริมทรัพย์ก็พุ่งขึ้นรัวๆ จนเห็นข่าวที่ดินที่แพงที่สุดในโลกก็อยู่ในโตเกียวนั่นเองล่ะครับ
ความรุ่งเรืองของญี่ปุ่นในยุคนี้ไม่ได้จบแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ด้วยการออกไปลงทุนในต่างชาติตามที่ได้บอกไป ทำให้ตะวันตกเริ่มเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นอำนาจใหม่ที่น่ากลัว แม้เรื่องการทหารจะสู้ไม่ได้ (ตามเงื่อนไข) แต่บริษัทญี่ปุ่นรุ่งเรืองไปทั่ว ขนาดเล่นเอาอเมริกายังต้องกลัวจนรู้สึกว่าเป็นภัยคุกคาม สังเกตได้จากสื่อบันเทิงอเมริกายุคนั้นที่มองญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามในขณะเดียวกันก็หลงไหลวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปในตัว
ตัวอย่างง่ายๆ ก็หนังอย่าง Karate Kid, Showdown in the Little Tokyo หรือนิยายเรื่อง Rising Sun ที่เราจะได้เห็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นในสื่อเหล่านี้ได้เต็มไปหมด และหมุดหมายที่ทำให้ชาวอเมริกันรู้สึกกลัวชาวเอเชียตัวเล็กเหล่านี้คงเป็นการทุ่มเงินซื้อตึก Rockefeller Center โดยบริษัท Mitsubishi ด้วยเงินจำนวน 220,000 ล้านเยน และการกว้านซื้อบริษัทใหญ่ๆ โดยบริษัทจากญี่ปุ่น เช่น Sony Pictures เข้าซื้อ Columbia Pictures และยังรวมถึงการเข้าร่วมสนามแข่ง F1 ของบริษัท Toyota และ Honda ที่ทำให้ชาวตะวันตกต้องหวาดหวั่นกับพลังเงินเยนของชาวญี่ปุ่น กลายเป็นความภูมิใจของชาวญี่ปุ่นที่สามารถเอาชนะในสงครามเศรษฐกิจได้
แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า อะไรที่มันดีเกินไป มันก็ไม่มีทางจะจีรังได้ เพราะเมื่อได้ชื่อว่าฟองสบู่ มันก็มีวันที่ต้องแตกดังโพละ และในปี 1991 ฟองสบู่ก็แตก ส่งญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค Lost Decade
เป็นเหมือนหมัดฮุก ทำให้ทุกคนได้เข้าใจว่าความจริงของโลกคืออะไร ไม่ใช่สิ่งที่ปั่นกันจนเกินราคา ความจริงมันก็แค่ภาพลวงตา กลายเป็นว่าคนที่เป็นเศรษฐีในปัจจุบัน คือเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าราคาประหยัดอย่าง Uniqlo ไปแทน นี่ก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่นได้ชัดเจนดี
ไม่แปลกอะไรที่สำหรับผู้ใหญ่หลายต่อหลายคน ปฏิทินของพวกเขาก็ยังหยุดอยู่ที่ปี 1991 ช่วงที่พวกเขายังรุ่งเรืองกันอยู่ ทำให้ทุกวันนี้ก็ยังคงมีการเล่าขานความบ้าคลั่งของยุคนั้นในสื่อเสมอ ขนาดที่ตลกสาวมาแรงในปีนี้อย่าง Hirano Nora ที่เล่นมุขตลกล้อเลียนยุคฟองสบู่ด้วยเสื้อผ้าสีจัดและใส่เสริมไหล่ซะกว้าง พกโทรศัพท์มือถือรุ่นกระดูกสุนัข พูดจาด้วยคำศัพท์ยอดนิยมในยุคนั้นก็ยังสามารถเป็นที่นิยมในยุคนี้ได้
แสดงว่ามรดกของยุคฟองสบู่มันยิ่งใหญ่จนหลายต่อหลายคนได้แต่มองย้อนกลับไปด้วยความคิดถึงจริงๆ