ในฐานะคนที่พยายามรักษาสิ่งแวดล้อมจากการพยายามลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการแบกเป้ แบกกระเป๋าไปไหนมาไหนมาตลอดตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ผมเองก็ดีใจที่คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ขนาดที่พยายามหาหลอดชนิดอื่นมาใช้แทนหลอดพลาสติกเพื่อลดสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาขยะในทะเลมันก็หนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพอเราทราบถึงผลกระทบของ micro plastic นี่ยิ่งชวนปวดหัวครับ เพราะมันน่ากลัวจริงๆ
พอย้ายมาอยู่ในประเทศที่มีทะเลล้อมรอบแบบญี่ปุ่นนี่ยิ่งเข้าใจความสำคัญของการลดการใช้พลาสติกครับ เพราะเราคงไม่อยากให้ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญต้องสกปรก จะพูดว่าเขาให้ความสำคัญกับทะเลแค่ไหน ก็ถึงขนาดที่ชาวญี่ปุ่นเขามี ‘วันทะเล’ เป็นวันหยุดราชการเลยทีเดียว ซึ่งวันทะเลที่ผ่านมาก็มีหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่ทำปกพิเศษ ด้วยการเขียนข้อความทั้งหมดบนทราย แล้วถ่ายรูปขึ้นเป็นปกหน้า เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทะเล นอกจากนี้ก็ยังตั้งให้วันที่ 30 เดือนพฤษภาคม เป็นวันลดขยะเหลือ 0 เป็นการเล่นคำกับการอ่านออกเสียงตัวเลขของญี่ปุ่น 5/30 เป็น Go Mi Zero โดย Gomi แปลว่า ขยะ นั่นเองครับ
ชาวญี่ปุ่นเองก็ได้ชื่อว่า มีระบบการทิ้งขยะที่เข้มงวดมาก ถ้าใครเคยมาอยู่ญี่ปุ่นคงจะเข้าใจว่าในช่วงแรกๆ นั้นงงแค่ไหน นอกจากต้องเสียเงินซื้อถุงขยะมาเพื่อทิ้งขยะ ที่นับเป็นการจ่ายเงินค่าบำรุงการทิ้งขยะตามปริมาณขยะที่เราผลิตแล้ว ยังต้องแยกขยะนานาชนิด ทิ้งตามวันที่กำหนดอีก จนเล่นเอาซะเป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติฮือฮากับความยากลำบากในการทิ้งขยะของญี่ปุ่น แต่ก็ช่วยให้ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการ ‘แยกขยะ’ เป็นอย่างดี ถึงขนาดที่ได้รับคำชมในระดับนานาชาติ แถมญี่ปุ่นก็ยังภูมิใจกับตัวเลขการ ‘รีไซเคิล’ ขยะพลาสติก ของตัวเองมากว่าสูงถึง 84% เลยทีเดียว อะไรจะว้าวขนาดนี้
แต่… (ทุกเรื่องดีๆ มักจะมีคำว่า ‘แต่’ พ่วงมาเสมอ) เบื้องหน้าที่โชว์ตัวเลขสวยงามนั้น เนื้อหาของมันเป็นอย่างไรกันล่ะ?
ปัญหามันอยู่ที่การตีความหมายของคำว่า ‘รีไซเคิล’ นี่ล่ะครับ
รัฐบาลญี่ปุ่นแบ่งการรีไซเคิลเป็นสามประเภทคือ ‘material recycle’ หรือ รีไซเคิลวัตถุดิบ เป็นการนำพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกอีกครั้ง เช่นขวด PET ก็เอามาทำเป็นขวด PET อีก ซึ่งก็มีปัญหาว่า คุณภาพของพลาสติกจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ทำให้มีขีดจำกัดในการนำมารีไซเคิล
ประเภทที่สองคือ ‘chemical recycle’ หรือ การรีไซเคิลเชิงเคมี เป็นการเอาพลาสติกใช้แล้ว มาย่อยสลายผ่านกระบวนการทางเคมี กลายเป็นเม็ดพลาสติกบริสุทธ์ เพื่อนำมาหลอมทำพลาสติกอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ฟังดูดี แต่ปัญหาก็คือ มันใช้ทั้งเงินและพลังงานมาก
ส่วนวิธีที่สามคือ ‘thermal recycle’ ซึ่งก็คือการรีไซเคิลพลาสติกเป็นพลังงานความร้อน หรือ พูดแบบชาวบ้านเราก็คือ เผาพลาสติกเพื่อเอาความร้อนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ต้มน้ำเพื่อไปหมุนกังหันสำหรับผลิตไฟฟ้า
นั่นล่ะครับ ฟังดูแปลกๆ ไหม รีไซเคิลพลาสติกเป็นพลังงานความร้อน คือเผาพลาสติกเป็นเชื้อเพลิง แล้วมันรีไซเคิลได้อย่างไร เป็นวงเวียนตรงไหน แต่ทางญี่ปุ่นเขาก็บอกว่า ก็เอามาใช้งานใหม่เป็นพลังงานนี่ไง เลยตีว่าเป็นการรีไซเคิลไปด้วย ในขณะที่ชาวโลกก็ต่างอี๋กับการเผาขยะพลาสติก เพราะเป็นการสร้างมลพิษชัดๆ แต่ทางญี่ปุ่นกับตีความดื้อๆ ว่าเป็นการรีไซเคิล แถมยังเอาตัวเลขการรีไซเคิลนี้มาอวดชาวโลกโดยฉาบหน้าด้วยชื่อ รีไซเคิล สวยๆ อีกต่างหาก
คือจะบอกว่าโกหก ก็อาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเขาก็เอาพลังงานตรงนี้มาใช้อีกครั้ง แต่อาจจะบอกว่า ทำให้เข้าใจผิด เสียมากกว่า แต่ก็นั่นล่ะครับ สุดท้ายมันก็คือปัญหาอยู่ดี
แล้วที่อวดตัวเลขว่า ขยะพลาสติกถูกนำมารีไซเคิลถึง 84% นั้น พอไปดูรายละเอียดจริงๆ มีการนำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบอยู่ 23% เท่านั้น ส่วนการรีไซเคิลแบบเคมียิ่งน้อยไปใหญ่คือ แค่ 4% เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลงในนามการรีไซเคิลเป็นความร้อนแบบชาวญี่ปุ่นเขานั่นล่ะครับ ฟังดูแล้ว ก็ยิ่งชวนสลดใจกับการพยายามเล่นกับการใช้คำ เพื่อแสดงตัวเลขความสำเร็จ
และยังไม่นับว่า ญี่ปุ่นส่งออกพลาสติกไปทิ้งในต่างประเทศมานาน โดยเฉพาะจีนที่เป็นปลายทางหลัก แต่หลังจากการปรับปรุงสนธิสัญญาบาเซิล และการตัดสินใจเลิกรับขยะพลาสติกของจีน ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องปวดหัวว่าจะหาที่ส่งขยะที่ใหม่ที่ไหนดี เพราะที่ผ่านมา ญี่ปุ่นผลิตขยะพลาสติกปนเปื้อน (ไม่สามารถนำมารีไซเคิลวัตถุดิบได้ เช่น ขวด PET ที่มีก้นบุหรี่ พลาสติกเปื้อนเศษอาหาร หรือผืนพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร) ประมาณ 9 ล้านตัน
โดยปี ค.ศ. 2017 ก็ส่งออกไปเป็นเชื้อเพลิง (คำสวยๆ ของ ‘เอาไปเผา’) ที่จีน 1.75 ล้านตัน พอจีนไม่รับ ญี่ปุ่นก็กุมหัว แถมสนธิสัญญายังมีเงื่อนไขว่า ประเทศที่รับไปก็ต้องมีเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบเดียวกับประเทศที่ส่งออก แล้วจะหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการจัดการขยะได้เท่ากับญี่ปุ่นได้อย่างไรล่ะครับ ทำให้สุดท้ายก็ต้องเริ่มคิดแนวทางในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้ในประเทศตัวเอง
นอกจากเรื่องการโปะหน้าปัญหาด้วยตัวเลขและคำสวยๆ แล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้นในทะเลรอบๆ ประเทศอย่างหนัก เพราะเมื่อวัดออกมาแล้ว ตัวเลขของปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลรอบญี่ปุ่น สูงกว่ามาตรฐานโลกถึง 27 เท่าเลยทีเดียว!
นี่ล่ะครับ ถึงเรียกว่า ความจริงที่หนีไม่ได้
จริงๆ แล้ว แม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมมากในการ “แยกขยะ”
แต่ปัญหากับการจัดการขยะที่แยกแล้วก็ยังคงมีอยู่ครับ
ซึ่งนั่นก็อาจจะไม่ได้มีผลกับปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลรอบประเทศ ซึ่งปัญหาน่าจะมาจากการบริโภคพลาสติกอย่างหนักในประเทศนั่นล่ะครับ
ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ผมเองก็รู้สึกหลายครั้งว่า ความสะดวกสบายหลายต่อหลายอย่างของที่นี่ แลกมากับการผลิตขยะปริมาณมหาศาลจริงๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ร้านสะดวกซื้อ นี่ล่ะครับ เอาแค่ กาแฟสำเร็จรูป ในร้าน ที่เป็นแบบ กดจากเครื่องสดๆ ใหม่ๆ ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าชอบดื่ม เพราะแก้ขัดที่ไม่สามารถหาร้านกาแฟดีๆ ละแวกบ้านได้ แต่ผมจะรักษ์โลก เอาแก้วตัวเองไปไม่ได้ครับ ยังไงก็ต้องหยิบเอาแก้วพลาสติกใส่น้ำแข็งจากตู้แช่ไปจ่ายเงิน แล้วค่อยไปกดกาแฟใส่ในแก้ว
นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ ยังไม่ต้องคิดถึงพลาสติกที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งหลายตั้งแต่ข้าวปั้นยันข้าวกล่อง ที่ผลิตกันออกมาเยอะมหาศาล ยังไม่นับการหมกหมุ่นกับการทำบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเพื่อความสะดวก ด้วยการห่อขนมชิ้นเล็กๆ แยกกันอย่างละเอียด ก่อนจะเอาใส่ถุงหรือกล่องใหญ่เพื่อขายอีกที ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการค่อยๆ แบ่งกินทีละชิ้น หรือจะแบ่งแจกกันง่ายๆ และเจ้าพวกนี้ก็กลายมาเป็นขยะพลาสติกปนเปื้อนที่เอาไปใช้เป็นวัตถุดิบไม่ได้แน่นอน
ซึ่งหลายต่อหลายครั้งเจ้าไมโครพลาสติกในทะเลก็เกิดจากอะไรแบบนี้ล่ะครับ บางทีไม่ได้ตั้งใจ ปลิวออกจากถังขยะ หรือที่เตรียมไว้ทิ้งก็โดนกาเจาะถุง ขยะออกมาแล้วปลิวไปตามลม หรือกระทั่งพลาสติกเช่น พื้นหญ้าเทียม หรือพลาสติกชีทที่ใช้ในการเกษตร ก็ค่อยๆ เสื่อมสภาพหลังจากใช้งานในที่แจ้ง ก็ค่อยๆ สลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกไป ซึ่งก็มักจะพัดจนไปถึงแม่น้ำหรือทะเลนั่นล่ะครับ ไม่แปลกอะไรที่ผลิตออกมาเยอะขนาดนี้แล้ว สุดท้ายมันก็กลับสู่วงโคจรของมันด้วยการไปปนเปื้อนในน้ำ
แม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในการแยกขยะเป็นอย่างดี แต่ก็ยังคงมีปัญหาในการจัดการขยะที่แยกออกมาอยู่ดี และการโปะหน้าด้วยตัวเลขที่สวยหรู ก็เป็นแค่การปกปิดปัญหาเท่านั้น และสุดท้ายคนที่รับผลกระทบก็เป็นชาวเกาะญี่ปุ่นเองนั่นล่ะครับ หวังว่าความรักที่มีต่อทะเลจะทำให้ทั้งชาวญี่ปุ่น และรัฐบาลเองหันมาสนใจปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่พอใจกับการได้ทำแล้ว ตามสไตล์
อ้างอิงข้อมูลจาก