เมื่อตอนเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.2011 ชาวโลกก็ต้องทึ่งกับระเบียบของชาวญี่ปุ่น ที่แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็ยังต่อคิวรอรับความช่วยเหลือหรือรอซื้อของกันเป็นระเบียบอย่างน่าทึ่ง
ตัดภาพมาปี ค.ศ.2020 ที่มีการระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลก รวมถึงญี่ปุ่นที่ทีแรกก็ดูเหมือนจะโอเค แต่ไปๆ มาๆ ตัวเลขชักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองอย่างเต็มสูบ แต่เลือกใช้การขอความร่วมมือ ซึ่งหลายกิจการก็ให้ความร่วมมือ แต่ในเมืองที่ถูกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินกลุ่มแรกอย่างโอซาก้า กลับมีร้านปาจิงโกะที่ไม่ยอมร่วมมือปิดให้บริการ จนทางการประกาศชื่อออกสื่อเป็นการประจานหวังกดดัน แต่กลายเป็นได้ผลตรงข้าม เมื่อเซียนพนันเห็นประกาศ ก็รีบพุ่งไปต่อคิวเล่นกันเหมือนลงแดง
เห็นแล้วหลายคนคงเกาหัวและสงสัยว่า นี่คือคนชาติเดียวกันเหรอ? นอกจากนี้ยังมีภาพออกสื่อว่าบางสถานีก็มีคนใช้งานแทบไม่ต่างจากเดิม เช่น ชินากาวะ สถานีที่มีบริษัทต่างๆ อยู่เยอะ เห็นจำนวนคนแล้วก็แทบไม่ได้ลดเลย แล้วตกลงมันเป็นอย่างไรกันแน่
ถ้าให้ผมตอบห้วนๆ ก็คงบอกได้ว่า ทั้งหมดนั่นก็คือคนญี่ปุ่นเหมือนกันหมดนั่นล่ะ แต่ประเด็นก็คือ
สถานการณ์มันต่างกัน พฤติกรรมก็ต่างกัน
อันนี้ขอเริ่มจากในแง่ของพฤติกรรมส่วนบุคคล จากการสังเกตส่วนตัวของผมก่อนแล้วกันนะครับ อย่างที่เรารู้กันก็คือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พูดตรงๆ ว่า ไม่น่าเชื่อว่ารอดกันมาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะสภาพภูมิศาสตร์นี่โหดร้ายเอาเรื่อง มีภัยธรรมชาติบ่อยกว่าประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง จนการเตรียมการกับภัยธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวญี่ปุ่นไปแล้ว ดูง่ายๆ ก็เรื่องเซ็ตอุปกรณ์จำเป็นเวลามีภัยที่ผมเคยเขียน ว่าพวกเขาต้องเตรียมอะไรบ้าง และอะไรจำเป็นบ้าง อย่างที่บ้านผมก็มีและรวมไปถึงอาหารสำรองที่มีตุนไว้เสมอ
แต่นั่นก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน และเป็นภัยที่เห็นได้แบบเป็นรูปธรรมนั่นล่ะครับ ไม่ว่าจะแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือน้ำท่วม ของพวกนี้เขาเคยเจอมาหมดแล้ว และมีแนวทางป้องกันพร้อมเป็นบทเรียนมาก่อน ทำให้มีแบบแผนการปฏิบัติตัวอย่างชัดเจน ทุกคนรู้ถึง ‘ภัย’ อย่างชัดเจน และรู้ว่าต้องทำอย่างไรถ้าอยากจะรอดไปด้วยกัน
พอมาภัยไวรัสในครั้งนี้ มันไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมแบบที่ผ่านมาสิครับ มันคือภัยที่มองไม่เห็น และไม่ได้เห็นความน่ากลัวชัดเจน (เมื่อเทียบกับภาพอาคารถล่มเพราะแผ่นดินไหว) มันเลยไม่สะเทือนขวัญพอ กลายเป็นว่า หลายคนก็รู้สึกว่า เอ้อ อันตราย แต่ไม่น่าเกี่ยวกับเราหรอก หรือเราคงไม่ติดหรอก เพราะว่ายังไม่เห็นคนใกล้ตัวเป็นอะไร หรือไม่ได้เห็นความน่ากลัวของการติดเชื้อแบบเต็มๆ แถมอีกปัญหาหนึ่งคือ มันไม่ใช่ภัยที่เกิดขึ้นแล้วจบลงในทันที โดยเราต้องจัดการกับผลกระทบของมันต่อ แต่มันเป็นภัยระยะยาว ที่เกาะอยู่กับชีวิตของประจำวัน ความรู้สึกมันเลยต่างกันกับภัยพิบัติที่ผ่านมามาก
และประชาชนเอง
ก็อาจไม่พร้อมกับศึกระยะยาวแบบนี้
ปัญหาหนึ่งคือ รัฐไม่มีอำนาจสั่งปิดสถานที่หรือกิจการต่างๆ ที่ไม่ใช่ของรัฐ ได้แต่ขอความร่วมมือ ทำให้หลายกิจการเลือกที่จะไม่แคร์ ยิ่งกิจการอย่างปาจิงโกะที่เอาจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเลย แต่กลับเปิดอย่างไม่สนใจ ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่แล้วกิจการเหล่านี้ก็คือกิจการสีเทาอยู่แล้ว และคนที่พยายามดั้นด้นไปเล่นแม้จะเป็นช่วงเวลาแบบนี้ ก็คงจะไม่ได้แคร์ทั้งตัวเองและคนอื่นเท่าไหร่ จะเรียกว่า ขนมพอสมน้ำยา ก็ว่าได้ (ห่วงก็แต่พนักงานถ้าไม่ได้มาทำงานโดยสมัครใจ) ซึ่งก็คงจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีมาตรการสั่งปิด หรือการปรับเงินกิจการเหล่านั้น ซึ่งอย่างหลังก็เห็นทางรัฐบาลท้องถิ่นกำลังพิจารณากันอยู่ ตรงนี้ก็คงต้องมาคอยดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ตัดส่วนคนไปเล่นปาจิงโกะออกไป หลายครั้งที่เห็นภาพออกสื่อว่า มีคนญี่ปุ่นอยู่ตามสถานีนั้นนี้เยอะ ดูแล้วชวนให้รู้สึกกลัวการระบาดอย่างหนัก ตรงนี้ก็มีความน่าสนใจเช่นกัน เพราะว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว เมื่อดูจากข้อมูล GPS ที่ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์สำรวจดูแล้ว ความจริงคือ ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณคนที่สถานีใหญ่ๆ ชื่อดังทั้งหลายเช่น ชินจูกุ ชิบุยะ ก็ลดฮวบลง 80% ซึ่งก็สอดคล้องกับจำนวนตัวเลขจากทางผู้ให้บริการรถไฟ ที่ปริมาณคนก็ลดลงอย่างชัดเจน รวมไปถึงวันธรรมดาที่คนก็ลดลง อย่างที่ผมไปสัมผัสเองก็ที่สถานีอิเคะบุคุโระที่ผมปั่นจักรยานไปทำธุระวันจันทร์ ก็เรียกได้ว่าเป็นเมืองร้างแบบไม่เคยเห็นมาก่อนครับ คือมีคนนั่นแหละ แต่ร้านรวงปิดเงียบ มีแค่คนที่จำเป็นต้องไปทำงานกันจริงๆ
แต่ในทางกลับกัน ปัญหาคือ ในสถานีใหญ่ๆ คนไม่ไปกัน แต่กลายเป็นว่า คนไปทำธุระแถวละแวกบ้านตัวเองแทน กลายเป็นว่าแถวชุมชนตัวเองจอแจแทนซะงั้น ยิ่งแถบที่มีย่านการค้าอยู่ กลายเป็นย่านการค้าคนแน่นแทน แบบนี้ก็ชวนเป็นห่วงเหมือนกัน บางคนก็บอกว่า ไม่รู้จะอยู่บ้านทำอะไร
ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ ผมก็มองว่ามาจากทั้งการสื่อสารของทางรัฐ ประกอบกับการที่รัฐไม่กล้าใช้การล็อกดาวน์อย่างหนักแบบทางยุโรป เพราะกลัวเศรษฐกิจมีปัญหา อันนี้เป็นมุมมองของทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่พยายามจะคุมทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่จะจัดการแต่ไวรัสโดยเอาเศรษฐกิจมาทีหลัง
แต่การพยายามสื่อสารของทางรัฐ
ยังดูจะไม่ตรงจุดเท่าไหร่นัก
สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นทั้งระดับชาติและท้องถิ่นพูดอยู่เสมอในการป้องกันการติดไวรัสคือ ให้เลี่ยง 3Mitsu (3密) ที่ต้องเลี่ยง Mitsu ที่ว่าคือ 密閉空間 (Mippei Kuukan) หรือพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเท 密集場所 (Misshuu Basho) สถานที่ที่มีคนแน่น และ 密接場面 (Missetu Bamen) สถานการณ์ที่ต้องพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสามคือควรเลี่ยงให้มากที่สุด ยิ่งที่ๆ มีทั้งสามคุณสมบัติครบ เช่น คลับ คอนเสิร์ต ยิ่งอันตราย มีโอกาสที่จะติดเป็นกลุ่มใหญ่ได้ (จะว่าไป สนามมวย ก็เข้าข่ายนี้) นี่คือสิ่งที่มีการพูดออกทีวีบ่อยมาก กระทั่งแผ่นพับในหน้ากากฟรีภาษีประชาชนของนายกฯ อาเบะก็มีการย้ำเตือนเรื่องนี้
แต่นั่นล่ะครับ เน้นประเด็นป้องกันการติดเชื้อกลุ่มใหญ่แบบคลัสเตอร์ แต่กลับไม่ได้เน้นแนวทาง social distancing เท่าไหร่นัก แน่นอนว่าในห้างร้านต่างๆ ก็พยายามที่จะแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าควรตั้งแถวห่างกันแค่ไหน วางตัวอย่างไร แต่สุดท้ายแล้ว ก็ปฏิบัติน้อยอยู่ดี จนรู้สึกว่า ขาดการประชาสัมพันธ์แนวทางนี้เกินไป จนสงสัยว่าเพราะมันทำได้ยากในสภาพเมืองที่มีประชากรแน่นหนาแบบนี้รึเปล่า
ปัญหาการเน้นเรื่องการเลี่ยง 3Mitsu ยังทำให้คนหลงประเด็น กลายเป็นว่าคนคิดว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในที่เหล่านั้นก็โอเคแล้ว ดังนั้นในช่วงวันหยุดที่ผ่านๆ มา ก็สามารถพบคนเมืองทั้งหลายไปใช้เวลาว่างในสถานที่สาธารณะเช่นสวนสาธารณะ หรือไปตั้งแคมป์ รวมไปถึงไปทะเล เพราะว่าเชื่อว่า ‘ก็มันเป็นพื้นที่โล่ง’ ทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อย โดยไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงระหว่างการเดินทาง หรือโอกาสที่จะติดแม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปิด
อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนตั้งข้อสังเกตก็คือ มีการใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์ในการแถลงข่าวมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแถลงข่าวของผู้ว่ากรุงโตเกียว ที่มีการใช้คำว่า cluster และ overshoot อยู่มาก แม้จะมีคำที่ตรงกันในภาษาญี่ปุ่นอยู่ ก็มีการมองว่าเลือกใช้คำภาษาอังกฤษเพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากการแพร่ระบาดที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นว่าอาจจะส่งผลในทางกลับกันเมื่อคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษทำให้คนญี่ปุ่นไม่ได้รู้สึกถึงอันตรายอย่างที่ควรเป็น กลับกลายเป็นว่า ‘มันแปลว่าอะไรนะ’ แทน
ก็ยังดีที่ได้เห็นความพยายามของหน่วยงานหลายๆ ส่วนที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหลายที่ยอมเสียรายได้ ปิดไม่ให้คนเข้ามาเที่ยว ไล่นักท่องเที่ยว หรือใช้มาตรการโหดเช่นตัดดอกไม้ที่คนอยากจะมาดูทิ้ง จะได้ไม่ต้องมา ก็ถือเป็นความพยายามและการยอมเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ตอนที่ผมเขียนอยู่นี่กราฟของญี่ปุ่นก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้ว ก็ดูเป็นแนวโน้มที่ดี ที่สามารถกดกราฟลงได้โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักเหมือนมาตรการปิดเมือง แต่ที่สำคัญก็คือ exit strategy ที่จากนี้จะทำอย่างไร และจะผ่อนปรนเมื่อไหร่ เพราะอย่างฮอกไกโดที่ปิดเมืองไปรอบนึงแล้วได้ผล แต่พอเปิดเมืองเร็วเกินไป กลายเป็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ก็คงต้องดูกันไปยาวๆ กับสงครามแบบนี้ครับ