เมื่อวันก่อนเห็นข่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ หลังจากน้ำลด ภาครัฐก็จะแจกวิทยุทรานซิสเตอร์ ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้คอยฟังข่าวสารจากทางการเพื่อเตรียมพร้อมกับเหตุน้ำท่วม
ฟังแล้วผมก็เกิดอาการปวดขมับขึ้นมานิดนึง ทีแรกผมก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่าคงจะแจกตอนนี้ เพื่อจะได้ไว้ฟังประกาศรายงานสภาพน้ำรายวันจากทางการ ที่ไหนได้ไปเช็กในเพจกรมประชาสัมพันธ์ เขาจะแจกเพื่อเยียวยาตอนน้ำลด เพื่อเอาไว้ฟังประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วม ผมก็ได้แต่คิดว่า นี่เขาต้องเปิดวิทยุทิ้งไว้เพื่อฟังรายงานด่วนเหรอ…
ในกรณีญี่ปุ่น เวลามีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น ฝนตกหนัก น้ำซัด เขาจะรายงานด่วนทางทีวีโดยไม่รอตัดเข้าช่วงข่าวให้คนมาอ่าน แต่จะมีเสียงเตือนดังขึ้นมาก่อน ปิ๊บๆ แล้วก็จะเป็นฟอนต์รายงานปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่สำคัญ เพราะระบบท้องถิ่นเขาแน่นอน ทำให้เราได้เห็นรายงานที่ละเอียดในระดับแต่ละเมืองในจังหวัดนั้นๆ ได้เลยครับ
ถึงผมจะปรามาสเรื่องวิทยุ แต่จริงๆ แล้ว
สำหรับชนชาติที่เจอภัยพิบัติบ่อยๆ แบบญี่ปุ่น
วิทยุ ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์จำเป็น
ที่เขาต้องบรรจุไว้ใน ‘ถุงอุปกรณ์ยามฉุกเฉิน’ เลยนะครับ
ครั้งแรกที่ผมได้เจอเจ้า ‘ถุงอุปกรณ์ยามฉุกเฉิน’ ที่ว่า ก็คือที่อพาร์ตเมนต์ของแฟนในตอนนั้น (เมียในตอนนี้) ซึ่งก็เห็นถุงผ้าแบบสะพายหลังสีขาว มีตรากาชาดแปะอยู่ ก็เลยงงว่าอะไร เปิดออกมามีแต่ของจำเป็นในยามฉุกเฉิน เครื่องยังชีพล้วนๆ แถมมีหมวกกันกระแทกแบบที่เราเห็นตามไซต์งานด้วย
ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา บวกกับความที่มาจากขอนแก่น พื้นที่ที่ไม่เคยเจอภัยธรรมชาติใดๆ เลย (ยกเว้นภัยแล้ง) ผมก็ฮาแตกไปทีนึง โอ๊ย จะตื่นกลัวอะไรขนาดนั้น ส่วนแฟนก็จ้องเขม็ง ส่งสายตาบอกว่า “เดี๋ยวก็รู้”
จนตอนเกิดภัยธรรมชาติใหญ่ แผ่นดินไหวและสึนามิที่โทโฮคุ ปี 2011 นั่นล่ะครับ ผมถึงค่อยได้สำเหนียกว่า การมีของเหล่านี้ติดบ้านไว้จำเป็นแค่ไหน เพราะมันมีผลกับการอยู่หรือตายของเราเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากภัยพิบัติครั้งนั้น ก็เห็นรายการทีวีญี่ปุ่นจัดรายการพิเศษ ให้ทางบ้านโทรมาบริจาคเงินโดยนายกฯ ก็มารับโทรศัพท์…ไม่ใช่สิ จัดรายการพิเศษบรรยายถึงความจำเป็นของสิ่งของต่างๆ วิธีใช้งาน และแนะนำสินค้าอเนกประสงค์ใหม่ๆ ผมดูแล้วก็ได้แต่ทึ่งกับการเตรียมพร้อมของชาวญี่ปุ่นนั่นล่ะครับ
แน่นอนว่า ส่วนใหญ่รายการทีวีเหล่านั้นก็มักจะแนะนำว่าควรซื้ออะไรไว้บ้าง แต่ทุกวันนี้เพื่อความสะดวก ก็มีการจัดเซ็ตขายเรียบร้อยเลย แค่เราเสิร์ชในเว็บขายของว่า ‘ถุงอุปกรณ์ฉุกเฉิน’ ก็มีมาให้เลือกมากมายครับ จะว่าไปก็เหมือนๆ กับซื้อถังสังฆทานบ้านเรานั่นล่ะ เลือกตามกำลังทรัพย์และความจำเป็นได้ หรือถ้ายังไม่ถูกใจ ก็ไปเลือกซื้อทีละอย่างเองก็ได้เหมือนกันครับ
มาดูดีกว่าว่า หลักๆ แล้วควรมีอะไรบ้าง
อย่างแรกคือถุงใส่นั่นล่ะครับ แต่เดิมก็นิยมเป็นถุงง่ายๆ แต่ปัจจุบันก็หันมาใช้แบบเป้สะพายหลังเพราะสะดวกกว่า และจุเยอะกว่า มีคำแนะนำว่าให้เลือกที่จุได้ประมาณ 25 ลิตร แต่ไม่ควรใส่ของเกิน 15 กิโลกรัม
ส่วนของที่จะใส่ลงไปในถุง สิ่งแรกที่อยากกล่าวถึงคือ วิทยุ นี่ล่ะครับ ตามที่บอกไปแล้วว่าจำเป็นมาก เพราะเวลาเกิดภัยพิบัติแล้ว หลายครั้งโทรศัพท์มือถือก็ไม่มีสัญญาณ การรับข้อมูลจากวิทยุจึงง่ายสุด ซึ่งก็ควรเตรียมแบบที่ใช้พลังงานจากมือหมุนหรือบีบเอามากกว่าจะใส่ถ่านค้างไว้ตลอดนะครับ แบบนี้ใช้ได้เรื่อยๆ แถมรุ่นใหม่ๆ ก็รวมเอาไฟฉายไว้ในตัว หรือหมุนเพื่อสร้างไฟมาชาร์จมือถือได้อีกด้วย สารพัดประโยชน์ (บางรุ่นก็เพิ่มเข็มทิศเข้าไปอีก) บอกแล้วว่าจำเป็น แต่ก็ควรมีถ่านไฟฉายติดไว้บ้างเผื่อจำเป็นนะครับ และถึงจะมีไฟฉายแล้ว แต่อุปกรณ์พื้นฐานอย่างไม้ขีดไฟและเทียนไขก็จำเป็น ยิ่งรุ่นหลังๆ เขาพัฒนาให้ไม้ขีดไฟสามารถจุดไฟได้แม้จะเปียก จัดว่าสะดวกกว่ามาก (ชาวไทยอาจจะต้องเพิ่ม ยากันยุง เข้าไปด้วยนะครับ)
ต่อมาคือน้ำและอาหารในยามจำเป็น น้ำนี่เขาแนะนำให้แบ่งใส่ขวดขนาด 500 มิลลิลิตรไว้ ติดไว้ 3-4 ขวด เพราะขวดขนาดเล็กจะถือดื่มได้ง่าย ไม่ต้องเปลืองแรงยก จะถือไปเดินไปก็สะดวกกว่านั่นเองครับ ส่วนอาหารที่เป็นที่นิยมกันก็คือ คัมปัง (乾パン) หรือแปลว่า ขนมปังแห้ง ดูๆ ไปก็เหมือนขนมปี๊บบ้านเรา แต่เขาจะใส่กระป๋องสุญญากาศไว้ ทำให้เก็บได้นาน เบา และให้พลังงานสูงครับ ซึ่งพวกนี้ก็ต้องคอยเช็คว่าหมดอายุเมื่อไหร่ ไม่ใช่พอจะกินจริงๆ ก็หมดอายุล่ะ ส่วนน้ำ เดี๋ยวนี้มีตัวเลือกใหม่เพิ่มมาคือ แกลลอนบรรจุน้ำแบบทำจากพลาสติกอ่อน เวลาไม่มีน้ำก็พับให้แบนได้ เวลาใส่น้ำก็ค่อยบวมออกมาเป็นทรง วางเรียงกันได้ ติดไว้เผื่อต้องกรอกน้ำก็สะดวกเพราะไม่กินที่ครับ
อุปกรณ์เซ็ตต่อมาคือ ชุดปฐมพยาบาล ซึ่งรวมไปถึง ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา และเขายังแนะนำ ผ้าสามเหลี่ยมแบบผ้าพันคอลูกเสือด้วย เพราะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างตามที่ลูกเสือสอนเรามานั่นล่ะครับ เอาไว้พันรองแขนเวลาเจ็บก็ได้ โพกหัวกันร้อนก็ได้ และแน่นอนว่าควรมีหน้ากากปิดปากและจมูกไว้ด้วย เวลาเจอพื้นที่ฝุ่นเยอะก็ถือว่าสะดวกครับ ใครจะติดชุดเย็บปักถักร้อยเล็กๆ ไว้ก็ช่วยให้สะดวกได้มากขึ้นด้วย
อีกกลุ่มที่จำเป็นคือ เสื้อผ้าและเครื่องนอน ซึ่งอาจจะเตรียมกางเกงในกระดาษไว้เซ็ตหนึ่ง และควรมีผ้าขนหนูไว้ใช้ สำหรับเครื่องนอน ปัจจุบันเขามีตัวเลือกใหม่ๆ เยอะครับ แต่ก่อนอาจจะมีแค่ฟลายชีต หรือผ้าร่มเอาไว้ปูนอนอย่างเดียว แต่ตอนนี้ก็มีทั้งเบาะนอนแบบเป่าลมที่พับแล้วขนาดเหลือนิดเดียว ที่ควรใช้แบบนี้ เพราะนอกจากนอนสบายกว่าแล้ว การที่มีเบาะลมคั่นระหว่างเรากับพื้น ก็ช่วยให้เราไม่ต้องเจอกับสภาพพื้นเย็นๆ ในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะทำให้ป่วยได้ ส่วนผ้าห่ม ปัจจุบันเขาก็หันไปหาแผ่นชีตสีเงินและทองบางเฉียบ ที่พับแล้วเหลือขนาดแค่ฝ่ามือเรา เป็นแบบเดียวกับที่นักปีนเขาเขาใช้กันครับ เพราะแม้จะบาง แต่มันช่วยสะท้อนแสงแดดได้ ช่วยให้ไม่ร้อน หรือในขณะที่อากาศหนาว มันก็เก็บอุณหภูมิร่างกายเราไว้ไม่ให้ตัวเย็นเกินไป พกง่ายแล้วเบาแบบนี้ก็ไม่ควรพลาดแน่นอนครับ บางคนอาจจะเลือกใส่รองเท้าแตะพับไว้ด้วย จะได้เอาไว้เปลี่ยนได้ และสำหรับสตรี ก็ควรมีผ้าอนามัยเก็บไว้ซักชุดครับ
กลุ่มต่อไปคือ เครื่องมือเอาตัวรอดอื่นๆ เช่น ถุงมือช่าง เพราะอาจจะต้องยกของ เศษหิน เลื่อยไม้ ขุดดิน ซึ่งก็ต้องประกอบด้วย พลั่วหรือจอบเล็ก และเลื่อยมือ รวมไปถึง เชือก ที่สามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์
ส่วนที่เหลือคือ ของเพื่อสุขอนามัย ทั้งถุงพลาสติกเอาไว้ใช้สารพัดประโยชน์ และกระดาษทิชชู่ แกะแกนออก แล้วบี้ให้แบนใส่ถุงสุญญากาศไว้ จะได้ไม่กินที่ จริงๆ แล้ว เขาแนะนำให้ติดทิชชู่ขนาดใหญ่แบบที่ใช้ในครัวด้วยอีกเซ็ต เพราะใช้งานได้หลากหลายเช่นกัน และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านเรายังไม่ค่อยเห็นมีขายก็คือ ส้วมแบบพกพา จริงๆ มันก็คือถุงพลาสติกดำนั่นล่ะครับ เอาไปใส่ถังไว้ แล้วถ่ายลงไป หรือถ้าเจอโถชักโครก ถ้าน้ำไม่ไหล ก็เอาถุงนี่ครอบลงไปแล้วก็ถ่ายได้เช่นกัน แต่เขาจะมีสารฆ่าเชื้อให้ใส่ลงไปในถุงก่อนจะมัดทิ้งด้วย สำหรับบ้านเราก็อาจจะใช้ถุงดำแทนไปก่อนนั่นล่ะครับ หรือถ้าพื้นที่พอ ก็ใช้เสียมเล็กในย่อหน้าก่อนขุดแล้วกลบก็ดีครับ
และสิ่งสุดท้ายที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ อย่างไม่น่าเชื่อคือ นกหวีด ครับ ไม่ได้เอาไว้เป่าไล่ใคร แต่ติดไว้เพื่อเป่าชี้ตำแหน่งตัวเอง เกิดเราติดอยู่ในซากปรักหักพัง หรือหลงป่า ทีมค้นหาจะได้ตามหาเราได้ง่ายขึ้นครับ ผู้เชี่ยวชาญเขาบอกเลยว่าอันนี้ขาดไม่ได้เลย โดยเฉพาะช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ ห้อยคอไว้ ปลอดภัยแน่ๆ
ที่ไล่มานี่คือมาตรฐานนะครับ ใครจะเพิ่มอะไรก็ได้ตามสะดวก แต่นอกจากนี้แล้ว ผมไปลองไล่ดูว่ามีอะไรแนะนำอีก ก็มีข้อเสนอน่าสนใจขึ้นเยอะครับ เช่น เตรียมสำเนาหลักฐานแสดงตนไว้อีกชุดด้วย เผื่อจำเป็นมีอะไรจะได้ง่ายขึ้น รวมไปถึง รูปถ่ายครอบครัว เอาไปเคลือบไว้ เพราะมีอะไรจะได้ให้คนช่วยตามหาได้ง่ายขึ้นมาก (ไม่ใช่ต้องรอมีเน็ตแล้วค่อยไปเช็ครูปในเฟซบุ๊คเอา) ส่วนเงิน ให้พกเงินย่อยไว้เยอะๆ แทนที่จะพกแบงค์ใหญ่ เพราะเวลาเกิดเรื่องเหตุจริงๆ การซื้อขายอาจจะไม่มีเงินทอนได้ รวมไปถึงเทปกาวหนา (Duct Tape) และปากกาหมึกซึมแบบที่เขียนได้ทุกอย่าง เพราะสามารถใช้ทำป้ายฉุกเฉินได้ง่ายมาก สำหรับหนุ่มแว่นสาวแว่น ก็ควรเอาแว่นตาเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ใส่ลงไปเผื่อไว้ด้วย และถ้าพกแรปห่ออาหารก็สามารถใช้พลิกแพลงได้ ตั้งแต่ปิดภาชนะของกินกันแมลง เอาไว้รองกินข้าวจะได้ไม่ต้องเปลืองน้ำล้างภาชนะ หรือเอาไว้พันปิดแผลยามจำเป็นก็ได้
ฟังดูแล้วเหมือนจะเยอะ แต่ถ้าเพื่อเอาตัวรอดแล้ว
แค่นี้ผมว่ามันก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรนะครับ
มีของพวกนี้ไว้เพิ่มอัตราการรอดตายได้สูงขึ้นมาก แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือ การให้ความรู้ในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัตินั่นล่ะครับ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวที่คุมะโมโตะเมื่อปีก่อน หนังสือคู่มือการเอาตัวรอดฉบับโตเกียว ก็ขายดีมากขนาดที่ร้านเขาจำกัดให้ซื้อแค่คนละเล่ม เพราะราคามันแค่ 100 เยน แถมมีให้โหลด PDF อ่านฟรีด้วย เพราะรัฐเขาต้องการให้ประชาชนมีความรู้ในการเอาตัวรอดในเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
ส่วนสำหรับรัฐอื่น ก็คงต้องเรียนรู้และหาทางเอาตัวรอดด้วยตัวเองไปก่อน ระหว่างเปิดวิทยุรอฟังคำเตือนนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://matome.naver.jp/odai/2137801188981014801
https://ja.wikipedia.org/wiki/%E9%98%B2%E7%81%BD%E9%9D%9E%E5%B8%B8%E8%A2%8B
https://www.amazon.co.jp/gp/bestsellers/kitchen/2409182051