บทความรอบนี้จะเป็นซีรีส์ยาวหน่อยนะครับ แต่ไม่แน่ว่าจะเขียนติดต่อกันไหมเพราะต้องหาข้อมูลเพิ่มหน่อย แต่ซีรีส์นี้คือ เรื่องราวของระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ในการเติบโตมาของเด็กแต่ละคนจะได้เจอกับอะไร และเขาจัดการกันอย่างไร ซึ่งก็ค่อยๆ ไล่ไปตั้งแต่เด็กจนโต เพราะอย่างนั้น เรื่องแรกที่อยากจะพูดในครั้งนี้คือ เรื่องของเนอร์สเซอรี่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อลูกอ่อนอย่างผมกำลังเผชิญหน้าอยู่พอดี
ก่อนที่จะไปดูว่าเนอร์สเซอรี่เขาดูแลเด็กกันยังไง มาดูว่า จะพาลูกเข้าเนอร์สเซอรี่กันยังไงดีกว่าครับ เพราะนี่คือเรื่องปวดหัวของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นแลย
บ้านเราอาจจะคิดไม่ค่อยถึงกันนะครับ ว่าไม่มีเนอร์สเซอรี่ฝากลูก เพราะดูเหมือนจะมีที่รับเลี้ยงเด็กอยู่ทุกที่ บ้านไหนมีฐานะก็จ้างพี่เลี้ยงจ้างแม่บ้าน เคยได้ยินเรื่องปัญหา ไม่มีที่ฝากเลี้ยงเด็กในไทยไหมครับ บางทีอาจจะมีก็ได้แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญมากนัก ฝากญาติ ฝากตายายเลี้ยงไปสิ (ทำให้เราได้เห็นภาพแท็กซี่เลี้ยงลูกในรถ หรือกระทั่งคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งของกระเตงลูกด้วย)
แต่ที่ญี่ปุ่นนี่มันถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าค่าแรงของที่นี่สูงจนการจะจ้างแม่บ้านมาช่วยดูแลนี่คือต้องเป็นครอบครัวระดับเศรษฐีนั่นล่ะครับ (ถึงได้มีคนหลงใหลวัฒนธรรมเมดกันจัง เพราะเอื้อมไม่ถึงนี่ล่ะ) ถ้าครอบครัวไหนอยากจะทำงานนอกบ้านทั้งสามีภรรยา ก็ต้องหาที่รับเลี้ยงเด็ก หรือบางบ้านก็อาจจะฝากตายายที่เกษียณแล้วช่วยดู
ถ้าเป็นต่างจังหวัดหรืออำเภอเล็กๆ แบบบ้านภรรยาผม ก็ไม่ค่อยลำบากหรอกครับ เพราะว่าคนไม่เยอะมาก มีเนอร์สเซอรี่รับเลี้ยงเด็กพอ เพราะเขาต้องการกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้น เลยต้องเตรียมบริการแบบนี้ให้ดี แบบหลานภรรยาผมนี่ก็ไปเนอร์สเซอรี่เหมือนกัน บ่ายแก่ๆ รถก็มาส่งให้แม่ภรรยาผมช่วยดูแลต่อได้
ปัญหามันคือ
เมืองใหญ่ที่คนอยู่เยอะและคนทำงานเยอะ
อย่างโตเกียวนี่ล่ะครับ
เพราะปริมาณประชากรกรุงโตเกียวมีล้นหลามมาก ในขณะที่เนอร์สเซอรี่มีจำกัด เลยกลายเป็นเรื่องปวดหัวให้กับครอบครัวชาวญี่ปุ่น ว่าจะทำอย่างไรดี อยากจะฝากลูกเพื่อที่จะได้ไปทำงานได้ แต่ก็ไม่มีที่รับฝากเพียงพอ จนกลายเป็นประเด็นที่ผู้หญิงญี่ปุ่นร้องเรียนรัฐบาลอย่างหนัก ยิ่งนายกฯ ชินโซ อาเบะ (Abe Shinzō) บอกว่าอยากส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เบ่งบานในด้านการทำงาน (ซึ่งสโลแกนที่ใช้คือ SHINE แต่เหมือนไม่ทันคิดว่า ถ้าอ่านคำนี้ด้วยระบบภาษาญี่ปุ่นจะเป็นอีกความหมายนึง) แต่กลับไม่สามารถที่จะเตรียมเนอร์สเซอรี่ได้เพียงพอ จนครอบครัวชาวญี่ปุ่นก็โวยกันว่า จะให้ไปทำงานยังไงในเมื่อไม่มีที่รับฝากลูก
แล้วทำไมมันถึงไม่พอ? ฟังดูก็น่าแปลกใจนะครับ รู้ว่ามีอุปสงค์ ทำไมไม่มีอุปทาน แต่ ถ้ามันง่ายขนาดอยากจะเปิดขึ้นมาง่ายๆ เหมือนร้านขายของ ก็คงไม่มีปัญหาแบบนี้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ การควบคุมดูแลนี่ล่ะครับ
อย่าลืมว่า เนอร์สเซอรี่ คือสถานรับเลี้ยงเด็ก ที่คอยดูแลชีวิตน้อยๆ ในช่วงที่กำลังเติบโต เป็นช่วงเวลาสำคัญมากๆ และเปราะบางมากเช่นกัน ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ จึงยุบยิบละเอียดมากมาย เขามีกฎเกณฑ์หมดว่า พื้นที่ขนาดนี้รับเด็กได้กี่คน ต้องสอนอะไรบ้าง มีหลักสูตรอย่างไรบ้าง มีพื้นที่ให้เด็กเล่นแค่ไหน มีกิจกรรมอะไร และมีผู้ดูแลเด็กกี่คน
นั่นคือกำแพงด่านแรกครับ และด่านที่สองคือ หาคนมาทำงานผู้ดูแลเด็กไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เอาเรื่อง ก่อนอื่นคือ เนื่องจากญี่ปุ่นเขาเน้นความปลอดภัยและมาตรฐาน การจะทำงานดูแลเด็ก ก็ต้องมีใบอนุญาต ไม่ใช่ว่าอยากจะทำ หรืออยากจะเปิดก็จ้างใครมาดูแลก็ได้ ซึ่งคนที่มีใบอนุญาตนี่ก็ไม่ได้มีเยอะ เพราะว่างานดูแลเด็กนี่เป็นงานที่หนักแต่รายได้กลับไม่ได้เยอะเท่าไหร่นัก จนเป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำ ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าเริ่มมีการแย่งตัวคนทำงานนี้ แม้ว่ารายได้อาจจะไม่ได้มากแต่ก็มีการเสนอสวัสดิการต่างๆ ให้ อย่างที่ผมรู้คือ บางแห่งพร้อมเสนอค่าเช่าบ้านต่อเดือนให้ 80,000 เยนเลย เพราะถ้าไม่เสนอให้ขนาดนี้ หลายคนก็ไม่รู้สึกว่าคุ้มที่จะย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานนี้ในโตเกียว
เพราะการที่มีเนอร์สเซอรี่ไม่พอนี่ล่ะครับ
กลายเป็นปัญหาเด็กไม่มีที่รับฝาก
จนกลายเป็นเรื่องปวดหัวของพ่อแม่ในโตเกียว
ประกอบกับปัจจุบันก็คือการแข่งกันระหว่างเขตต่างๆ ในโตเกียวว่าเขตไหนมีเนอร์สเซอรี่พร้อมกว่ากัน ซึ่งก็แสดงด้วยตัวเลขจำนวนเด็กที่รอเข้าเนอร์สเซอรี่อยู่ และในโตเกียวตอนนี้ ก็มีแค่สองเขตที่มีตัวเลขการรอเข้าเนอร์สเซอรี่เป็น 0 นั่นคือเขตโทชิมะที่ผมอาศัยอยู่ กับเขตสุกินามิ สองเขตเท่านั้นจาก 23 เขต ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ผมเลือกย้ายมาอยู่ที่เขตนี้ตอนหาบ้านที่โตเกียว เพราะอย่างน้อยจะได้มั่นใจได้ว่าสามารถฝากลูกเข้าเนอร์สเซอรี่ได้แน่ ที่แต่ละเขตเขาแข่งกันเรื่องนี้เพราะแต่ละเขตบริหารงานแยกกันและเขาก็ต้องการประชากรเพิ่มในเขต เขตโทชิมะช่วงหนึ่งก็มีปัญหาประชากรลดลงจนเป็นห่วงว่าต่อไปจะบริหารงานไม่ได้เขาเลยชูจุดขายนี้เพื่อที่จะดึงเอาครอบครัวใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในเขต นอกจากเรื่องนี้ก็มีการจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยครับ
แต่ถึงจะว่างั้น มันก็ไม่ใช่ว่าจะสมัครเข้าได้ทันที เพราะเราก็ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าเนอร์สเซอรี่กับเขตก่อน ตรงนี้ผมจะช้ากว่าชาวบ้านเขาหน่อย เพราะว่าย้ายมาตอนลูกอายุได้หลาเดือนแล้ว บางคนเขาแจ้งไว้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องเลยครับ เพราะจะได้เนอร์สเซอรี่ไวกว่า
แจ้งแล้วเขาก็จะมีการประเมินเรื่องความจำเป็นต่างๆ ก่อนว่าจะให้ความสำคัญกับใครในการเข้าเนอร์สเซอรี่ก่อน ตัวอย่างเช่นถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็จะได้โอกาสก่อนเพราะจำเป็นมากกว่า ถ้าทั้งพ่อแม่ทำงานประจำและจำเป็นต้องกลับเข้างาน ก็ได้โอกาส อย่างกรณีผมคือ ผมทำงาน ฝ่ายภรรยายังไม่มีงาน ก็ต้องแจ้งว่า อยากจะฝากลูกเพื่อที่จะหางานประจำทำ คะแนนก็อาจจะไม่สูงเท่าสองกลุ่มแรก ก็ต้องรออันดับไป
นอกจากนี้แล้ว เราก็ต้องไปเลือกดูเนอร์สเซอรี่ก่อนครับ ตอนไปรายงานที่เขตเขาก็จะมีไกด์บุ๊คมาให้ว่ามีที่ไหนบ้าง เราก็โทรไปแจ้งว่าอยากจะเข้าไปดูระบบต่างๆ ก็เหมือนไปทัศนศึกษานั่นล่ะครับ ดูให้สบายใจแล้วค่อยมาเลือกกรอกว่าเราอยากจะเข้าที่ไหนบ้าง โดยใส่ลำดับตามความอยากไว้ อารมณ์แบบเลือกคณะตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เท่าที่ผมดูก็พอแบ่งได้เป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ เนอร์สเซอรี่ขนาดใหญ่ อันนี้คือมีหลายห้องต่อชั้น จำนวนเด็กเยอะ มีพื้นที่เยอะ บางที่ที่ไปดูนี่คือห้องละ 20 คน มีสนามเด็กเล่นครบครัน กับแบบขนาดเล็ก คือเอาห้องในอพาร์ตเมนต์มาดัดแปลงเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่เขาก็มีการกำหนดขนาดไว้ชัดเจนและต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ครบนะครับ แน่นอนว่าเมื่อเป็นแค่ห้องๆ หนึ่ง กิจกรรมเกือบทุกวันก็คือ ต้องพาเด็กออกไปเล่นข้างนอกตามสวนสาธารณะต่างๆ ในละแวกนั้น
นอกจากนี้จริงๆ แล้วยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาต อันนี้อาจจะขัดแย้งกับที่ผมพูดตอนแรกว่าเปิดได้ยาก จริงๆ คือ เปิดได้ครับ เพียงแค่ไม่มีใบอนุญาตจากเขต ดังนั้นอาจจะไม่ได้เข้มงวดเรื่องระบบมากนัก แต่บางที่ก็ตั้งใจเลือกไม่ขอใบอนุญาตเพราะว่าอยากจะจัดการเรียนการสอนตามสไตล์ของตัวเอง ไม่ใช้หลักสูตรของเขต ซึ่งข้อเสียของกลุ่มนี้คือค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่าแบบมีใบอนุญาต (ผมไม่กล้ายืนยันมากเพราะไม่ได้คุยกับกลุ่มนี้เรื่องค่าใช้จ่าย แต่คิดว่าน่าจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากเขตเหมือนแบบมีใบอนุญาต)
นอกจากเลือกที่ๆ อยากจะเข้าแล้ว อีกเรื่องที่จำเป็นคือ การกรอกรายละเอียดของผู้ปกครอง ไม่ใช่แค่ใครทำงานอะไรแล้ว แต่ต้องแสดงรายรับที่ผ่านมาด้วย เพื่อที่เขตเขาจะได้ดูว่า แต่ละครอบครัวควรจ่ายเท่าไหร่ ตามศักยภาพของครอบครัวครับ ไม่ใช่มีเงินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่ากันหมด ก็เป็นการช่วยลดภาระของรัฐได้บ้าง และจัดว่าแฟร์เหมือนกัน (ถ้าคุณเชื่อเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง) อย่างผมเองไม่ได้ทำงานบริษัทในญี่ปุ่น ก็ต้องให้ทาง HR ที่อังกฤษออกเอกสารตามรายละเอียดที่เขตต้องการให้ ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นคือ เขามีฟอร์มให้บริษัทกรอกยาวๆ ครับ ตามสไตล์ญี่ปุ่น และต้องประเมินทุกครึ่งปีนะครับ
อย่างกรณีของภรรยาผมคือ ต้องการฝากลูกเพื่อหางาน ดังนั้นก็มีเงื่อนไขครับ ตอนที่ได้รับแจ้งว่าลูกผมได้เนอร์สเซอรี่แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ตั้งแต่วันที่ผมฝากลูกเข้าเนอร์สเซอรี่ ภรรยาผมก็ต้องหางานให้ได้ภายในสามเดือน เพราะเงื่อนไขของบ้านผมคือ ฝากเพื่อกลับไปทำงานประจำ ดังนั้น ถ้าไม่หางาน ก็ผิดเงื่อนไข ไม่สามารถฝากลูกเพื่อตัวเองจะได้ชิลอยู่บ้านเฉยๆ ได้ ถ้าสามเดือนหางานไม่ได้ ก็คือต้องยกเลิกการฝากลูกเข้าเนอร์สเซอรี่ และส่งโควตาให้คนต่อไปครับ ก็ถือว่าเข้มงวดเหมือนกัน แต่ถ้ามองว่าแฟร์ก็แฟร์ เพราะคนอื่นก็ควรได้สิทธิ์ไป ถ้าเราไม่ทำตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะยากเย็นแค่ไหน แต่ก็ดีที่รัฐเขาพยายามช่วยจริง เพราะอย่างกรณีของผมคือ ลูกชายได้เข้าเนอร์สเซอรี่ขนาดเล็ก ที่มีเด็กแค่ 8 คน แต่เท่าที่ดูคือ แต่ละวันมีคนดูแล 4 คน เรียกได้ว่าทั่วถึงแน่ๆ และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายครับ เพราะการประเมินแบบแฟร์ๆ นี่ล่ะครับ ทำให้ครอบครัวผมจ่ายค่าใช้จ่ายแค่เดือนละ 5,400 เยนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ฝากทั้งวัน มีกิจกรรมสารพัด และรวมค่าอาหารเที่ยงและของว่างด้วย ราคาแบบคุ้มจนไม่รู้จะคุ้มยังไง ได้แต่ขอบคุณเขตและรัฐที่ช่วยดูแตรงนี้ แต่ก็เข้าใจว่าการจะแก้ปัญหาเนอร์สเซอรี่ไม่พอมันก็เป็นเรื่องยากอย่างที่บอกไปนั่นล่ะครับ อัดฉีดงบเข้าไปอย่างเดียวคงไม่พอ
นี่เขียนๆ มาตั้งยาว ยังได้แค่ปากทาง ยังไม่ได้พูดถึงระบบการจัดการของเขาเลย คงต้องขอยกยอดไปไว้รอบถัดไปครับ ซีรีส์นี้น่าจะไปได้ยาวๆ รออ่านได้เลยครับ (แฮ่)