“มากินข้าวได้แล้ว”
หากมีคำถามว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร แม้ใจความของมันจะมีเพียงเรื่องอาหารการกิน เหมือนกับต้องการเชื้อเชิญให้ผู้ฟังมายังโต๊ะกินข้าวเมื่อถึงเวลาอันควร แต่หากเราเป็นเด็กที่เติบโตมาครอบครัวชาวเอเชียนจะรู้ดีว่า ผู้พูดไม่ได้อยากให้เรากินข้าวเพราะมันถึงเวลามื้ออาหารจริงๆ หรอก แต่ผู้พูดกำลังง้อ ปลอบใจ หลังจากการปะทะทางอารมณ์ครั้งใหญ่ก่อนหน้านั้นต่างหาก
ตั้งแต่เล็กจนโต เราได้ยินเรื่องราวจากปากพ่อแม่มามากมาย ทั้งเรื่องเล่านิทานก่อนนอน สอนการบ้านในวัยเรียน พูดคุยถึงชีวิตความเป็นไปในวัยที่โตขึ้น และอีกเรื่องร้อยแปดพันเก้าที่เราได้ฟัง แต่สิ่งที่ให้ตายยังไงก็ได้ยินจากปากพ่อแม่ยากนักคงจะเป็นคำชื่นชม โดยเฉพาะคำชมที่ได้รับต่อหน้า “เก่งมากแล้วล่ะ ทำได้ดีมากเลย” หากจำความได้คงเป็นครั้งที่เราเดินเตาะแตะได้ครั้งแรก เรียกพ่อแม่ได้ก่อนคำไหน แต่หลังจากนั้นมา ไม่ว่าเราจะวิ่งผ่านเส้นชัยที่พ่อแม่ขีดเขียนไว้ให้สักกี่รอบ คำชื่นชมกลับเบาบางลงไปจนไม่รู้ว่าชีวิตหนึ่งจะได้ฟังกันคนละสักกี่ครั้งกัน
เมื่อคำชื่นชมไม่เคยมาถึง แม้ว่าจะพยายามทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการแค่ไหน มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำนั้นคือสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องชื่นชมอะไรหรอก เราถึงไม่ได้รับคำชมเชยไงล่ะ หรือเป็นความรู้สึกที่ทำดีแล้ว แต่ยังดีไม่พอที่จะได้รับคำชื่นชม เราต้องยิ่งผลักดันตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม ดีกว่าเดิม เพราะหวังจะเห็นรอยยิ้มยินดี พร้อมเสียงชื่นชมจากพ่อแม่สักครั้ง
เมื่อความกดดันทับถมหนักเข้า ลูกหลายคนทวงถามถึงความชื่นใจจากการกล่าวชมเชยสักครั้ง เหนื่อยเพื่อพ่อแม่ขนาดนี้แล้วทำไมยังไม่เคยได้ฟังเลย พ่อแม่หลายคนมักตอบว่า “ทำไมฉันจะไม่ชมล่ะ ฉันชมแกบ่อยจะตาย เล่าให้คนนู้นคนนี้ฟังว่าแกเก่งแค่ไหน ไม่เชื่อไปถามคนนั้นสิ” เสียงค้านตอบกลับมา เพราะพ่อแม่เองก็มั่นใจเช่นกันว่าตนนั้นไม่ใช่ว่าไม่เคยเอ่ยชมเลย พวกเขาเอ่ยชมอยู่เสมอนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ให้ลูกได้ยินเท่านั้น
การชมเชยที่ไม่เคยไปถึงตัวผู้รับมันเรียกว่าชมได้หรือเปล่า? แล้วทำไมแค่การเอ่ยชมกันต่อหน้าถึงได้กลายเป็นเรื่องยากไปได้นะ?
เลี้ยงลูกอย่างเสือ แต่ลูกไม่เหลือความมั่นใจ
‘Asian Parents’ กลายมาเป็นมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เอาไว้บอกเล่าเรื่องราวของพ่อแม่แสนเข้มงวดกับการเรียนของลูก ในแบบที่ผู้คนในวัฒนธรรมอื่นคาดไม่ถึง เช่น สอบได้ 98/100 งั้นเหรอ แกพลาดไปตั้ง 2 คะแนนได้ยังไงกัน สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องขำขันพอๆ กับคำว่า ‘Asian Level’ ที่เอาไว้ชื่นชมคนที่ทำอะไรได้ดีมากกว่าคนอื่นในระดับที่ใครก็ทำตามไม่ได้ นั่นเพราะผู้คนในวัฒนธรรมอื่นมองว่าคนเอเชียมักทำอะไรได้เก่งกาจเสมอ ด้วยเติบโตมาในครอบครัวที่เคี่ยวเข็ญให้ทุกคนต้องเป็นที่หนึ่งเท่านั้น ว่าง่ายๆ คนที่เก่งระดับ Asian Level เป็นผลผลิตมาจาก Asian Parents นั่นแหละ
แม้จะดูเป็นเรื่องขำขันถึงความเอาจริงเอาจังเกินเหตุ แต่นี่คือสิ่งที่เด็กในครอบครัวเอเชียต้องเผชิญจริงๆ หากจะมีคำไหนที่นิยามวัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบนี้ได้ดี คงจะเป็น ‘Tiger Parenting’ หรือการเลี้ยงลูกอย่างเสือ ที่ไม่ได้หมายถึงให้ลูกโตมาเป็นเจ้าป่าตัวแรงแซงหน้าคนอื่น แต่หมายถึงพ่อแม่ดุอย่างกับเสือต่างหากล่ะ การเลี้ยงลูกแบบนี้คือการเลี้ยงลูกในแบบครอบครัวเอเชียที่เราคุ้นเคย เน้นวิชาการ เน้นผลสอบ เน้นเกรด อะไรก็ได้ที่จะบ่งบอกได้ว่าเราเก่งแค่ไหน หรือหากจะมีงานอดิเรก อย่างดนตรี กีฬา ก็ต้องทำสิ่งนั้นให้ได้ดีพอกัน ไม่เช่นนั้นก็เอาเวลาไปทุ่มวิชาการให้เต็มที่ดีกว่า
ความเข้มงวดจากการเลี้ยงลูกอย่างเสือนั้นขับเคลื่อนไปด้วยวิธีกดดันเพื่อผลักดัน ยิ่งเข้มงวดเท่าไหร่ พ่อแม่ยิ่งคิดว่าจะยิ่งเป็นแรงผลักให้ลูกไปได้ไกลเท่านั้น แน่นอนว่าทั้งหมดนั้นทำไปด้วยความหวังดีของพ่อแม่ แต่มันกลับทำลายความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในตัวเองของลูกไปจนหมด เพราะไม่ใช่แค่คำชมเพียงเท่านั้นที่เหือดหายไป คำพูดต่างๆ ที่แสดงออกถึงอารมณ์อ่อนไหว อย่างขอบคุณ ขอโทษ ก็ยากที่จะได้ฟังเช่นกัน ราวกับว่าพอเป็นพ่อแม่แล้วก็พร้อมจะเปิดโหมดเย็นชา โดยมีความก้าวหน้าในอนาคตของลูกเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องเปิดโหมดนี้
ในอีกมุมหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่กลายเป็นคนปากหนัก พูดได้แต่เรื่องจริงจังเพื่อผลักดันลูก ไม่แสดงออกถึงความรัก อาจเพราะนั่นเป็นวิธีที่พวกเขาถูกเลี้ยงดูมาเช่นกัน จึงเชื่อว่าวิธีนี้แหละเป็นวิธีที่เรารู้จักมันดี เป็นวิธีที่เราเติบโตกันมันมา พ่อแม่ก็หวังดีกับเราถึงทำแบบนี้ หากเราหวังดีกับลูก เราก็ต้องใช้วิธีนี้เหมือนกัน นั่นเลยทำให้พ่อแม่ไม่ตั้งคำถามถึงวิธีที่ตัวเองปฏิบัติกับลูก เพราะในตอนที่ตนเองเป็นลูกก็ถูกพ่อแม่ปฏิบัติแบบนี้มาเช่นกัน
แต่ละบ้านต่างมีรายละเอียด การเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน เราเองคงไม่อาจไปบอกว่าวิธีไหนดีกว่ากัน หรือเหมาะกว่ากัน แต่เอาเป็นว่าตอนนี้พ่อแม่หลายคนเชื่อว่า การเลี้ยงลูกอย่างเข้มงวดเท่านั้นที่จะผลักดันลูกได้ดีที่สุด งั้นเรามาดูงานวิจัยจาก University of Texas โดย รศ.ดร.คิม ซูยอง (Kim Sooyoung) เกี่ยวกับ Tiger Parenting ว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้ ไม่ได้สร้างเด็กอัจฉริยะเสมอไป ซึ่งมีการติดตามผลการเลี้ยงดูพ่อแม่ชาวจีน-อเมริกันจำนวน 444 ครอบครัวเป็นเวลา 8 ปี
งานวิจัยดังกล่าวพบว่า วิธีการเลี้ยงลูกนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ เน้นการสนับสนุน 45% เข้มงวด (Tiger Parenting) 28% ง่ายๆ สบายๆ 20% รุนแรง 7% ปรากฏว่าครอบครัวที่สนับสนุนลูกนั้น มีผลลัพธ์พัฒนาการดีที่สุดและคะแนนเฉลี่ยเกรดสูงสุด ส่วนกลุ่มพ่อแม่เข้มงวด (หรือเลี้ยงลูกอย่างเสือ) มีอาการของภาวะซึมเศร้ามากกว่าครอบครัวง่ายๆ สบายๆ และครอบครัวที่สนับสนุนลูก แถมยังลูกมีความรู้สึกแปลกแยกจากพ่อแม่อีกด้วย
ดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกอย่างเข้มงวดจะไม่ได้ทำให้ลูกเก่งกว่าคนอื่นเสมอไป แถมยังฝากรอยแผลมากมายไว้กับลูกอีกด้วย ในโลกนี้ยังมีวิธีการเลี้ยงดูแบบอื่นที่ทำให้ลูกไปถึงเป้าหมาย (ที่พ่อแม่หวัง) ได้ และไม่ทำลายความรู้สึกของกันและกัน นั่นอาจไม่ใช่วิธีที่พ่อแม่เชื่อมาก่อน แต่หากลองเปิดใจให้กับวิธีอื่นๆ แม้เราจะไม่ได้มีลูกที่เก่งที่สุด แต่อย่างน้อยเราก็มีลูกที่มาพร้อมความมั่นใจในตัวเอง เติบโตมาพร้อมการสนับสนุน คำชื่นชม นั่นไม่ใช่สิ่งที่เด็กคนหนึ่งควรได้รับหรอกหรือ?
ไม่ว่าจะมีความคาดหวังในตัวลูกแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็อย่าลืมว่าพวกเขาใช้ชีวิตบนโลกใบนี้มาเพียงไม่นาน น้อยกว่าคนเป็นพ่อแม่ไม่รู้กี่เท่า เราคาดหวังให้เขาเก่งกาจสักแค่ไหนกัน ความสำเร็จก้าวเล็กๆ ของเขาในวันนี้ ในอายุเท่านี้ มันไม่เพียงพอที่จะให้เราเอ่ยชมเขาต่อหน้าสักครั้งเลยหรือ? ไม้แข็งอาจใช้ได้ในบางครั้ง แต่ก็คงไม่ใช่ทุกครั้ง พ่อแม่เองยังหวังให้ลูกอ่อนน้อม ว่าง่าย พูดจารื่นหู ก็ต้องมอบสภาพแวดล้อมแบบนั้นให้เขาเช่นกัน
ความเชื่อบางอย่างที่คิดว่าการแสดงความรู้สึกเป็นเรื่องของความอ่อนไหว อ่อนแอ พ่อแม่ต้องเข้มแข็ง เป็นตัวอย่างที่ดีของลูก อาจทำให้พ่อแม่หลายคนละเลยความจริงที่ว่า ทั้งพ่อแม่และลูกเองต่างเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต่อให้เก่งกาจมาจากไหนก็ย่อมมีข้อบกพร่อง มีวันทำผิดพลาดบ้างในสักวัน มีวันที่ดีใจ เสียใจ โกรธ ผิดหวัง อนุญาตให้ตัวเองได้เป็นพ่อแม่ที่มีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่แตะต้องไม่ได้ และให้ลูกของเราได้เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน
คำชมเชยเพียงเรื่องเล็กน้อยของพ่อแม่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกเงยในใจของลูกเสมอ สักวันมันจะออกดอกออกผลเป็นความรื่นรมย์ให้พ่อแม่ได้ชื่นใจเช่นกัน
อ้างอิงจาก