“มีเงินให้ยืมก่อนไหม”
“เดือนนี้เงินไม่พอ โอนเงินมาให้หน่อยได้หรือเปล่า”
ถ้าเริ่มมีประโยคนี้ซ้ำๆ เราคงรู้แล้วว่าสภาพการเงินของผู้พูดกำลังเกิดปัญหาอย่างจริงจัง หากเป็นคนอื่นไกลแล้วเราไม่พร้อม คงพอจะปฏิเสธได้ไม่ยาก แต่พอเป็น ‘พ่อแม่’ การจะปฏิเสธออกไปกลายเป็นเรื่องลำบากใจ แม้สุขภาพการเงินของเราจะอยู่ในขั้น ‘ดิ้นรน’ หรือเพิ่งสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ระบุว่า ผู้สูงอายุ 45.7% ไม่มีเงินออม โดย 32.2% ยังพึ่งพารายได้หลักจากลูก และผู้สูงอายุเพียง 1.5% เท่านั้นที่มีรายได้หลักมาจากเงินออมหรือดอกเบี้ย
เมื่อเจอสถานการณ์นี้ บางคนอาจเต็มใจและพร้อมดูแลพ่อแม่ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีรายได้มากพอ ซ้ำร้ายบางครอบครัวอาจไม่ได้ดูแลใส่ใจลูกแล้วปล่อยให้ดิ้นรนเองมาตั้งแต่ยังเล็ก พอลูกเริ่มสร้างตัวได้ กลับกลายเป็นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ไปด้วย
“ใจหนึ่งก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว แต่อีกใจ ก็เป็นห่วงพ่อแม่และรู้สึกผิดถ้าช่วยเหลือไม่ได้มากเท่าที่เขาต้องการ”
ถ้าคุณกำลังสับสนแบบนี้ เราคือเพื่อนกัน และเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่ยังคงคิดไม่ตกว่าควรทำอย่างไร เราเลยรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแหล่งมาในบทความนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า หรือพอจะปรับใช้กับคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์นี้อยู่
เปิดใจคุยเรื่องเงินกับพ่อแม่ (แต่ไม่ใช่การตำหนิ)
คาเมรอน ฮัดเดิลสตัน (Cameron Huddleston) ผู้เขียน Mom and Dad, We Need to Talk: How To Have Essential Conversations With Your Parents About Their Finances. แนะนำว่า การพูดคุยถึงสภาพการเงินและแผนวัยเกษียณของพ่อแม่ ช่วยให้เราวางแผนได้ถูกจุดว่าควรจะทำอย่างไรต่อ แต่ไม่ควรเริ่มด้วยการต่อว่าหรือตำหนิ เพราะทำให้คนฟังอยากจะปิดใจไม่คุยด้วยมากกว่า
ดังนั้นเราอาจจะลองเปลี่ยนมาเป็น ‘การถาม’ ที่ไม่ใช่ถามจี้ แต่ถามกว้างๆ ว่าพ่อแม่วางแผนวัยเกษียณไว้แบบไหนบ้าง แทนการถามว่ามีเงินเก็บเท่าไรแล้ว หรือถ้าบางบ้าน พ่อแม่ไม่สบายใจจะแชร์เรื่องนี้ออกมาทันที เราอาจจะเริ่มจากการแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองก่อน เช่น เข้าไปปรึกษาว่าเรากังวลเรื่องวัยเกษียณของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะมีเงินเก็บพอไหม แล้วถามความคิดเห็นหรือขอคำแนะนำจากพ่อแม่ ก่อนจะเปิดบทสนทนาที่ลึกลงไปว่าพ่อแม่วางแผนไว้ยังไงบ้าง เพื่อหาทางออกร่วมกันและให้ความรู้สึกว่า ‘เราเป็นทีมเดียวกัน’ มากกว่า แต่วิธีการสื่อสารไม่ได้ตายตัวว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วก็คงต้องปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละครอบครัว
ส่วนอีกวิธีที่น่าสนใจจาก แกรี่ ชอว์ (Gary Shaw) ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน แนะนำว่า เราอาจจะลองใช้สื่อกลางอื่นๆ มาช่วยเปิดบทสนทนา เช่น ‘family love letter’ จดหมายถึงคนที่เรารักที่ออกแบบมาเพื่อเตรียมรับมือในวันที่พ่อแม่จากไป โดยมีทั้งข้อมูลสำคัญด้านการเงินและสุขภาพเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการคุยเรื่องนี้ สำหรับคนที่รู้สึกเขินหรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นถามยังไงดี (ถ้าเป็นบ้านเราคงคล้ายๆ ‘สมุดเบาใจ’ ฉบับเติมข้อมูลด้านการเงินลงไปด้วย)
วางแผนงบประมาณจากรายรับ-รายจ่ายของพ่อแม่
เมื่อพ่อแม่เปิดใจพูดคุยแล้ว คำถามต่อมาคือเราควรคุยเรื่องอะไรบ้าง? เบรนท์ ไวส์ (Brent Weiss) นักวางแผนการเงินและผู้ร่วมก่อตั้ง Facet Wealth บริการวางแผนการเงิน แนะนำว่า 3 เรื่องที่เราควรเช็คก่อนวางแผน ได้แก่
- สิทธิและสวัสดิการที่พ่อแม่ได้รับในวัยเกษียณหรือยามเจ็บป่วย เช่น เงินบำเหน็จ-บำนาญจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากภาครัฐ สิทธิบัตรทอง
- เงินออมและสินทรัพย์ของพ่อแม่ เช่น บ้าน รถ ประกันสุขภาพ แหล่งรายได้หลักในแต่ละเดือน
- รายจ่ายของพ่อแม่ โดยค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม ได้แก่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางและค่าอาหาร ซึ่งมักจะอยู่ในสัดส่วนราวๆ 60% – 70% ของงบวัยกษียณ ยังไม่รวมเบี้ยประกัน ของใช้ส่วนตัว การเดินทาง หนี้สินที่ยังผ่อนจ่ายไม่หมด และอีกหลายอย่างที่อาจจะเพิ่มเข้ามาด้วย
การรับรู้รายได้ สินทรัพย์และค่าใช้จ่ายทั้งหมดช่วยให้เราเห็นภาพรวมด้านการเงินพ่อแม่และสามารถวางแผนได้ว่า รายจ่ายเรื่องไหนที่พอจะใช้สิทธิหรือทรัพย์สินที่มีอยู่มาสำรองจ่ายได้ หรือเรื่องไหนที่เราเข้าไปช่วยจ่ายได้บ้าง รวมทั้งสามารถลำดับความสำคัญได้ว่าเรื่องไหนเร่งด่วน เรื่องไหนรอได้ และทำให้รู้ว่าในอนาคตเราควรเก็บเงินสำรองไว้เท่าไร ควรหาวิธีเตรียมพร้อมยังไงได้บ้าง เรียกอีกอย่างว่าเป็นการคุยเพื่อให้เห็นว่าปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน แล้วเตรียมพร้อมและแก้ได้ถูกจุด
ลองหางานสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับพ่อแม่ที่ยังแข็งแรง แต่ไม่มีรายได้ เราอาจจะลองหางานที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุเผื่อไว้ เช่น ‘เทสโก้โลตัส’ ที่มีโครงการ 60 ยังแจ๋ว ‘ซีเอ็ดบุ๊ค’ ที่มีโครงการ 60 ปีมีไฟ ‘อิเกีย’ ที่เปิดรับผู้สูงวัยอายุ 55 – 60 ปีขึ้นไปเข้ามาทำงานในบางตำแหน่ง หรือบางคนอาจจะลองชวนพอแม่มาทำอาชีพที่ไม่ต้องออกจากบ้านไกล อย่างการไลฟ์ขายของหรืออาชีพที่ไม่หนักเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ (สำหรับคนที่สนใจงานสำหรับผู้สูงอายุ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ portal.info.go.th)
แต่ใช่ว่าเราจะบอกให้พ่อแม่ทำงาน แล้วไม่ช่วยเหลืออะไรเลย เพียงแต่งานเหล่านี้ช่วยให้มีรายได้เสริมซึ่งเป็นเหมือนฐานรองรับและแบ่งเบาในวันที่เราจ่ายไม่ไหว เพราะถ้าเราเป็นเดอะแบกที่รับไว้หนักจนกลายเป็นหนี้และดูแลตัวเองไม่ได้ สุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็จะไม่สามารถพึ่งพาเราได้เช่นกัน
นอกจากนี้การหางานสำหรับผู้สูงอายุ ยังช่วยสร้างสังคมใหม่ๆ ให้พ่อแม่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาจนเกินไป และสำหรับลูกหลาน เราคงเบาใจได้มากกว่าการปล่อยให้ท่านอยู่บ้านเพียงลำพัง เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอะไรฉุกเฉินก็มีคนมองเห็นและช่วยเหลือได้เร็วกว่า
สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง
แน่นอนว่า รูปแบบการดูแลพ่อแม่ของแต่ละคนแตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อม การเติบโต และความพร้อมทางการเงินของแต่ละคน เช่น ใครที่ยังพอมีเวลาและงบประมาณ แต่เป็นห่วงสุขภาพการเงินของพ่อแม่ ก็อาจจะทำประกันสะสมทรัพย์หรือเก็บออมแยกไว้ เพื่อเป็นงบสำหรับพ่อแม่ในวัยเกษียณ
ส่วนคนที่ไม่ได้มีงบสูงและเพิ่งจะเริ่มทำงาน ก็อาจจะช่วยเท่าที่ทำได้ เช่น ให้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ฉุกเฉินและจำเป็น บางคน (ที่ไหว) อาจจะหางานเสริมหรือเปลี่ยนไปทำงานที่ค่าตอบแทนสูงกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน สิ่งสำคัญคือช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ซึ่งเราเข้าใจดีว่าเรื่องนี้ก็พูดง่ายทำยากสำหรับใครหลายคน
“ฉันกลัวมากๆ ว่าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านี้เมื่อพ่อแม่เกษียณและไม่รู้จริงๆ ว่าเราจะช่วยพวกเขายังไง เพราะฉันเองก็กำลังพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างอนาคตของตัวเอง” เจสสิก้า เค. (Jessica K.) สัมภาษณ์กับ ramseysolutions พร้อมกับบอกว่าเธอรู้สึกผิดและคิดว่าเป็นความรับผิดชอบที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือพ่อแม่ในยามลำบาก
แต่เราอยากจะบอกว่า ไม่เป็นไรเลยถ้าเราจะทำเท่าที่ไหว เพราะจริงๆ แล้วการดูแลตัวเอง ในอีกทางหนึ่งคือการแสดงออกถึงความรักและห่วงใยต่อพ่อแม่ด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายความว่าเราอยากเป็นที่พึ่งให้เขาได้ในระยะยาว วันนี้เราอาจจะทำเท่าที่ไหว แต่ใช่ว่าจะเป็นแบบนี้ตลอดไป เพราะในอนาคตเราอาจจะช่วยได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังของตัวเอง ซึ่งคงจะดีกว่าการช่วยเหลือจนเราเดือดร้อน เพราะวันที่เราล้ม พ่อแม่ก็ไม่สามารถพึ่งพาเราได้เช่นกัน และถ้าบางคนมีลูก การกู้หนี้ยืมสินไปเรื่อยๆ จนตัวเองเดือดร้อน ท้ายที่สุด เราอาจส่งต่อปัญหาไปยังรุ่นลูกและกลายเป็นวงจรที่ไม่มีวันสิ้นสุดอีกต่อไป วันนั้นอาจเป็นฝันร้ายและชวนรู้สึกผิดมากกว่าการช่วยเท่าที่เราทำได้ซะอีก
เพราะการดูแลตัวเองให้ดี ทั้งสุขภาพกายใจและสุขภาพการเงินคือพื้นฐานสำคัญก่อนที่เราจะยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆ ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็นพ่อ แม่ คนที่เรารัก หรือใครก็ตามในชีวิต
อ้างอิงจาก