ถ้ามีคนมาแตะต้องตัวเด็กคนหนึ่งโดยไม่ขออนุญาต แล้วเด็กคนนั้นสะบัดออก เราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งนี้?
เด็กคนนั้นไม่มีมารยาท? พ่อแม่ไม่ได้สอนให้มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่? หรือเป็นเด็กก้าวร้าว? แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะตอบแบบนี้ แต่เชื่อว่าภายในสังคมของเรามีหลายๆ คนที่เชื่อเช่นนั้น ไม่ว่าจะด้วยความเคยชินและค่านิยมที่เราแต่ละคนได้รับการปลูกฝังมา การจับต้องร่างกาย การกอดหอม การหยอกล้อด้วยมุกตลกที่น่าตั้งคำถาม การกระทำที่กล่าวมาล้วนเป็นตัวอย่างของความเคยชินที่มาพร้อมกับความ ‘เอ็นดู’ และบ่อยครั้งนั้นเป็นความเอ็นดูที่บริสุทธิ์ใจ
เพราะบริสุทธิ์ใจ จึงแปลว่าไม่มีผลเสีย?
วัยเด็กของคนคนหนึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตและการเรียนรู้ผ่านวิธีการต่างๆ ตามช่วงวัย คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรากำลังสอนอะไรเด็กคนนั้น ในเมื่อเราเข้าถึงร่างกายของเขาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต? จะเกิดอะไรขึ้น หากเรากลับต่อว่าเมื่อเด็กคนนั้นปฏิเสธ? และเขาจะเรียนรู้อะไร หากปฏิเสธไปแล้วสิ่งที่พ่อแม่ทำคือขอโทษคนที่เข้าถึงเนื้อตัวของเขา?
เรากำลังสอนให้คนคนหนึ่งไม่สนใจสิทธิในร่างกายของตัวเอง และมากไปกว่านั้นคือไม่เข้าใจแนวคิดหลักของคอนเซนต์ (Consent) หรือการยินยอม หรือขอความยินยอมในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะการเข้าถึงร่างกายใครสักคนนั่นเอง ฉะนั้นแล้ว เราจะทำยังไงเพื่อสอนเรื่องดังกล่าวให้กับเด็กคนหนึ่ง? และทำไมมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำ?
ก่อนจะรู้ได้ว่าเราควรจะสอนเรื่องคอนเซนต์ยังไง สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ก่อนคือ ในช่วงวัยของเด็กคนหนึ่งเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตยังไงบ้าง? เนื่องจากกระบวนการพัฒนาสมองของเด็กแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ในวัยทารก เราเรียนรู้โลกผ่านสัมผัสทั้ง 5 เมื่อสมองของเราพัฒนาขึ้นในวัย 2-7 ปี เราเริ่มสามารถมีความนึกคิดอันเกี่ยวข้องกับตัวเองได้มากขึ้น โดยเรียกว่า ระยะวิกฤต (Critical Period) เป็นช่วงเวลาที่คนเราจะซึมซับทักษะ และสร้างลักษณะนิสัยของตัวเองในห้วงเวลาถัดๆ ไปในชีวิตของเราได้มากที่สุด หลังจากนั้นสมองจะเริ่มสนใจเรียนรู้ และเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ รอบตัวมากกว่าเดิม
การแจกแจงการพัฒนาสมองมาในรูปแบบนี้ จะทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้ของคนคนหนึ่งในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันออกไป ซึ่งหมายความว่าวิธีการที่สอนนั้นต้องแตกต่างออกไปด้วย และการสอนในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความถึงเพียงด้านคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่ในวัยที่เด็กยังไม่เคยพบเจอโลกความจริงเลย ทุกอย่างจึงถือเป็นบทเรียนหรือไม่? การบอกว่าใครๆ สามารถเข้าถึงร่างกายของเราในวัยนั้นได้โดยเป็นเรื่องธรรมดา ก็นำไปสู่ความเคยชินที่ติดตัวไปจนโต และความเคยชินนั้นนอกจากจะเป็นผลต่อตัวเองแล้วมันอาจผลต่อผู้อื่นอีกด้วย
ในหนังสือ A Whole-Brain Child โดย แดเนียล ซีกัล (Daniel Siegal) ศาสตราจารย์จากสาขาจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เสนอว่าห้วงเวลา 2-7 ปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ต้องสอนความเข้าใจและความรู้สึกที่ตัวเด็กกำลังรู้สึกอยู่ เพราะความเห็นอกเห็นใจเริ่มจากการเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เช่นเดียวกัน การรู้และเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกไม่พอใจเมื่อมีคนเข้าถึงตัวของเด็ก จะสามารถทำให้เขาเชื่อมโยงความรู้นั้นเพื่อเรียนรู้การปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นได้
เมื่อผ่านระยะวิกฤตไป เด็กจะเริ่มหันความสนใจออกจากตัวเองคนเดียว แล้วมองไปยังโลกรอบๆ ของเขามากขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การสอนเรื่องคอนเซนต์ต่อเด็กในช่วงวัยดังกล่าวจึงสำคัญมากๆ เพราะมันเป็นฐานความเข้าใจที่เชื่อมต่อไปยังวิธีที่เขาจะปฏิบัติต่อคนหมู่มากในอนาคต
พูดไปก็เหมือนง่าย แต่เราจะสอนมันยังไงให้เด็กเข้าใจ?
ในบทความ How children learn โดย สเตลลา โวสนีอาดู (Stella Vosniadou) จาก National and Kapodistrian University of Athens ใช้จิตวิทยาตีความวิธีการที่เด็กคนหนึ่งเรียนรู้และนำมารวบรวมเป็นวิธีการสอนเด็ก โดยมีหลายหัวข้อที่เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อค้นหา และปรับใช้กับวิธีการที่เราจะสอนเด็กคนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ซับซ้อนได้
หัวข้อที่ 4 ของบทความคือ ‘Relating new information to prior knowledge’ พูดถึงวิธีการเรียนรู้ของคนว่าเขาจำเป็นต้องมีฐานความรู้เดิมเคียงข้างกับเรื่องที่เราจะสอนเขาเสียก่อน เขาจึงจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ได้ ซึ่งความยากของการสอนเกี่ยวข้องกับคอนเซนต์ คือมันไม่ใช่เรื่องที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นจุดตัดระหว่างประเด็นที่หลากหลาย ยากจะพูดถึงและยากจะทำความเข้าใจอย่างตรงๆ
ส่วนใหญ่แล้วในวัยที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่ เด็กยังไม่แม้แต่เข้าใจว่าเซ็กซ์คืออะไร? ปฏิกิริยาตอบรับของร่างกายเมื่อมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวกับเพศนั้นหมายความว่าอะไร? สิทธิคืออะไร? อะไรคือความหมายของการเป็นเจ้าของ? ฯลฯ ฉะนั้น ก่อนจะสอนเกี่ยวกับคอนเซนต์ ผู้ปกครองจึงจำเป็นที่จะต้องสอนลูกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่อยู่รอบๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนด้วย
ในการเรียนรู้ ย่อมมีความผิดพลาดอยู่เสมอ เมื่อเราสอนเด็กว่าอย่าให้ใครแตะต้องตัวโดยไม่ได้ขออนุญาต ก็ง่ายมากที่เด็กจะได้ข้อสรุปว่า การสัมผัสและเซ็กซ์เป็นเรื่องไม่ดี หรืออาจจะเป็นว่าการบอกว่าสิทธิในร่างกายของเราเป็นของเราคนเดียว เด็กก็อาจเข้าใจได้ว่างั้นฉันจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องฟังคนอื่น หรืออีกร้อยพันความเป็นไปได้ที่เด็กจะสามารถเข้าใจไปได้ ฉะนั้น การสอนก็ไม่ใช่จุดจบ แต่ต้องมีการสังเกตและแก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่เสมอ
ในหัวข้อที่ 6 ของบทความคือ ‘Engaging in self-regulation and being reflective’ หรือความสามารถของเด็กในการเปลี่ยนความคิดของตัวเอง นั่นคือเมื่อเด็กเข้าใจผิดในประเด็นอะไรบางอย่าง เด็กสามารถสะท้อนความเชื่อและความเข้าใจนั้นกับตัวเองได้ และทางที่จะสามารถทำให้เขาเริ่มสะท้อนได้ คือการส่งเสริมให้มีข้อถกเถียงและมีการแลกเปลี่ยนทางความคิด รวมถึงการเขียนเรียงความ ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและปกป้องความคิดของเขา และหากมันไม่ถูกต้อง ผู้สอนจะสามารถสอนใหม่ได้ตรงจุด ความเข้าใจใหม่ก็จะเกิดขึ้น
ทว่าการไม่รู้และไม่ถูกสอนเรื่องคอนเซนต์ตั้งแต่วัยเด็ก จะทำให้เราเข้าใจมันไม่ได้เลยหรือ? คำตอบคือไม่เสมอไป หัวข้อที่ 7 ของบทความอย่าง ‘Restructuring prior knowledge’ หรือการรื้อและสร้างความรู้เดิมอีกครั้ง ที่เล่าถึงอุปสรรคของมนุษย์ในการเรียนรู้เรื่องอะไรใหม่ๆ นั่นคือชุดข้อมูลเก่าที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว “มันเกิดจากความเข้าใจของเราที่เกี่ยวกับโลก สังคม ประวัติศาสตร์ ตัวเลข ฯลฯ เป็นผลพวงของความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมนับพันปี ซึ่งเปลี่ยนวิธีการที่เราจะอธิบายบางสิ่ง” ผู้เขียนกล่าว ดังนั้น ข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่เพียงใช้ได้กับเด็ก แต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย
วิธีการแก้ไขโครงสร้างความเชื่อเดิมนี้ อาจมาจากการเปิดโลกโดยใครสักคนที่เล็งเห็นถึงความเข้าใจผิดเหล่านั้น สร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่เติบโตขึ้นผ่านการใช้ตัวอย่าง อาจจะทางวิทยาศาสตร์หรือแหล่งอื่นๆ ที่เป็นเหตุเป็นผล เช่น ประวัติศาสตร์ หรือปรัชญา
ในประเด็นคอนเซนต์นี้ นอกจากเด็กแล้ว บ่อยครั้งความเชื่อและความเคยชินเดิมๆ เช่น การคิดว่าหากมีเจตนาที่ดีถือว่าไม่ผิด ก็ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนเข้าใจและมองภาพการสอนเรื่องความยินยอมนี้ผิดเพี้ยนออกไป ซึ่งอาจส่งผลให้มีการส่งต่อพฤติกรรมและทัศนคติที่เป็นปัญหาไปยังเด็กได้ แย่ไปกว่านั้นคือการนำมันไปปฏิบัติเองอีกด้วย
ฉะนั้น ผู้ใหญ่เองก็ต้องปรับมุมมองว่าการหวงแหนร่างกายของตัวเด็ก ไม่ใช่การไม่มีสัมมาคารวะ แต่ในที่สุด มันคือการสร้างความปลอดภัยให้แก่เด็ก และสร้างสังคมที่ไม่มีใครล่วงละเมิดใคร
อ้างอิงจาก