ไม่นานมานี้มีเรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น เป็นสัญญาณดีๆ ของความสงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นั่นคือการประกาศยุติสงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หลังจากทั้งสองอยู่ในสภาวะสงครามยืดเยื้อเป็นเวลานาน
โดยก่อนนั้นก็มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นระยะ ตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศว่าพร้อมที่จะพบกับคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการที่คิม จองอึนไปเยือนประเทศจีน ทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองเกาหลีก็มากขึ้นอย่างน่าสนใจ จนกลายมาเป็นการสงบศึก และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาการประชุมเพื่อความสงบของสองเกาหลีก็ถูกจัดขึ้นไปเรียบร้อย
แต่…ดูขาดๆ อะไรไปใช่ไหมครับ นั่นล่ะ ญี่ปุ่นอยู่ไหน? เรียนตามตรงว่างานนี้ญี่ปุ่นกลายเป็นคนวงนอกของเวทีเจรจา ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้มาโดยตลอด เวลามีเรื่องมีราวอะไร ญี่ปุ่นก็ต้องผวาทุกที แต่พอจะสงบศึกกลับกลายเป็นว่าไม่มีที่ในวงสนทนาซะงั้น สาเหตุก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะว่าญี่ปุ่นไม่มีไพ่ในมืออะไรที่จะเข้าไปร่วมการต่อรองครั้งนี้ได้เลย สุดท้ายเลยต้องอยู่นอกวง
แม้นายชินโซ อาเบะ ชินโซ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น อยากจะเข้าร่วมวงสนทนานี้แค่ไหนก็คงทำได้ยากเหลือเกิน เพราะไม่รู้จะเข้าไปในฐานะอะไร ตัวนายอาเบะเองก็ดูเหมือนกำลังค่อยๆ กลับมารุ่ง หลังจากโดนถล่มเรื่องโรงเรียนโมริโมโตะที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวตั้งแต่ปีก่อน เพราะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ผู้บริหารโรงเรียนนิยมขวาจัดแห่งนี้สามารถจัดซื้อที่ดินจากรัฐได้ในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ดูเหมือนอาเบะจะเอาตัวรอดมาได้ และยังสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่ผ่านมา แถมได้คะแนนความนิยมเกิน 50% แต่พอเรื่องเดิมกลับมาพร้อมกับปัญหาใหม่ นั่นคือ มีการตกแต่งเอกสารทำให้ชื่อของอาเบะและภรรยาหายไป เพื่อช่วยกลบเรื่องอื้อฉาว กลายเป็นเรื่องเก่ากลับมาทิ่มแทงจนคะแนนความนิยมตกลงเหลือแค่ 30% เท่านั้น แค่ศึกในบ้านก็แย่แล้ว จะไปดีลกับเรื่องนอกบ้านก็คงยาก
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นคือการผูกติดอยู่กับอเมริกามาโดยตลอด และที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ทำหน้าที่เป็นพันธมิตรที่ดีของอเมริกาในเอเชียแปซิฟิก เป็นที่ตั้งฐานทัพที่สำคัญของอเมริกา และด้วยการที่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นอนุญาตให้ญี่ปุ่นมีได้เพียงกองกำลังป้องกันประเทศ ทำให้ฐานทัพและกองกำลังอเมริกาเป็นความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงความพยายามในการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Trans-Pacific Partnership ที่อาเบะคาดหวังไว้เหลือเกินว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาพุ่งเหมือนเดิม แต่กลายเป็นว่า เมื่อทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์เลือกแนวทางลัทธิโดดเดี่ยว (isolationism) หันหลังให้การการร่วมมือทางการค้าแบบพหุภาคี โดยเชื่อว่าการเจรจาแบบทวิภาคีจะทำให้อเมริกาได้เปรียบมากกว่า อเมริกาจึงถอนตัวจาก TPP ปล่อยให้ญี่ปุ่นได้แต่รอคอยอย่างแห้งเหี่ยว เพราะจะให้ไปร่วมมือกับจีนตอนนี้ก็คงลำบากแล้ว ดูจากท่าทางแล้ว ทรัมป์เองก็ไม่ได้ยี่หระกับพันธมิตรเก่าแก่นี้เท่าไหร่นัก ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายญี่ปุ่นที่ต้องการพันธมิตรแบบทวิภาคีกับอเมริกายิ่งกว่าเดิม
งานนี้ญี่ปุ่นก็ได้แต่หวังว่า จะให้อเมริกาช่วยสร้างโอกาสในการเข้าร่วมหารือเพื่อสันติของสองเกาหลีในครั้งนี้ด้วย แต่ดูแล้วท่าทางจะยาก คงต้องหวังให้อเมริกาเป็นตัวแทนช่วยเอาประเด็นที่จำเป็นต่อญี่ปุ่นเข้าไปคุยเอง รวมไปถึงการฝากฝังเกาหลีใต้ให้เป็นตัวแทนช่วยนำประเด็นสำคัญเข้าไปคุยด้วยอีกแรง
ประเด็นสำคัญที่ญี่ปุ่นน่าจะหวังพึ่งอเมริกาเป็นอย่างมากคือการจัดการทำลายขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทดลองอยู่เรื่อยๆ และปีก่อนก็ยิงข้ามหัวประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ด้านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธสงครามก็คาดว่าเกาหลีเหนือสามารถพัฒนาขีปนาวุธวิสัยไกลที่สามารถยิงไปถึงอเมริกาได้แล้ว แน่นอนว่าสำหรับอเมริกาแล้วการปลดอาวุธตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ส่วนญี่ปุ่นนั้นก็ได้แต่หวังว่าอเมริกาจะเป็นตัวแทนช่วยเจรจาให้ขอบเขตการปลดอาวุธไม่ได้จำกัดอยู่ที่ขีปนาวุธวิสัยไกลที่คุกคามอเมริกาเท่านั้น แต่ต้องการให้รวมถึงวิสัยใกล้ในระยะที่สามารถยิงญี่ปุ่นได้ด้วย ไม่อย่างนั้นญี่ปุ่นก็แทบจะไม่ได้อะไรจากการปลดอาวุธครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย แม้เกาหลีเหนือจะประกาศเลิกทดลองขีปนาวุธแล้ว แต่ดูจากท่าทีของญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังจะไม่ไว้ใจเกาหลีเหนือจนกว่าจะมีการปลดอาวุธโดยเด็ดขาดอยู่ดี
และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ประเด็นเรื่องชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือซึ่งยืดเยื้อคาราคาซังมานาน เพราะในช่วงยุค 70s และ 80s มีชาวญี่ปุ่นโดนลักพาตัวไปเกาหลีเหนือรวม 17 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาล) คนเหล่านี้ถูกลักพาตัวให้ไปสอนสายลับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับญี่ปุ่น รวมถึงขนบธรรมเนียมและการวางตัว เพื่อจะได้เข้ามาแทรกซึมในญี่ปุ่นได้อย่างแนบเนียน โดยใน 17 คนนั้น 5 คนได้กลับประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีก 8 คน เกาหลีเหนือก็บอกว่าเสียชีวิตแล้ว และอีก 4 คนที่เหลือไม่เคยเข้ามาในประเทศเกาหลีเหนือ นับเป็นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับไม่ได้ และต้องการที่จะหาความกระจ่างชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้
ช่วงที่ผมเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เรื่องการถูกลักพาตัวกำลังเป็นข่าวใหญ่อยู่ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่ทยอยส่งผู้ถูกลักพาตัวกลับ และยังมีกรณีดังของคุณ ฮิโตมิ โซกะ ที่ถูกลักพาตัวไปพร้อมกับ มิโยชิ โซกะแม่ของเธอ ซึ่งในภายหลังเมื่อส่งตัวฮิโตมิกลับ ทางการเกาหลีเหนือกลับปฏิเสธว่าคุณมิโยชิไม่ได้ถูกลักพาตัวมาด้วย ขัดแย้งกับคำแถลงของฮิโตมิหลังถูกปล่อยตัว นอกจากนี้ ฮิโตมิ โซกะยังเป็นข่าวดังมากในช่วงนั้นเนื่องจากได้พบรักกับ ชาลส์ โรเบิร์ต เจนกินส์ ทหารอเมริกันที่แปรพักตร์ไปอยู่ในเกาหลีเหนือ ที่สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้รับการปล่อยตัว โดยทีแรกเจนกินส์ต้องไปที่อินโดนีเซียก่อนเพราะกลัวโดนทางการอเมริกาลงโทษ แต่สุดท้ายก็ได้กลับไปพบกับภรรยาที่ญี่ปุ่นและรายงานตัวกับค่ายทหารอเมริกัน ก่อนจะถูกปลดประจำการและลงโทษสถานเบา จริงๆ แล้วการปล่อยตัวผู้ถูกลักพาตัวกลับในครั้งนั้นมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ถูกปล่อยตัวต้องเดินทางกลับเกาหลีเหนือ แต่ก็ ใครจะกลับไปล่ะครับ จุดนี้เลยกลายมาเป็นข้อพิพาทอีกข้อระหว่างสองชาติเพิ่มเข้าไปอีก
เรื่องคนโดนลักพาตัวเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วก็มีคนไทยถูกลักพาตัวไปด้วย นั่นคือ อโนชา ปันจ้อย ถูกลักพาตัวไปจากมาเก๊าในปี 1978 และทุกวันนี้ก็ไม่มีใครทราบชัดเจนว่าชะตากรรมของเธอในเกาหลีเหนือเป็นอย่างไรบ้าง เพราะข้อมูลต่างๆ ก็ดูสับสนเหลือเกิน ใครสนใจก็ลองไปหาข้อมูลอ่านต่อจากชื่อนี้ได้เลยครับ ผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามีคนไทยโดนลักพาตัวก็จากตอนที่ ฮิโตมิ โซกะ ถูกปล่อยตัวออกมาแล้วมีการพูดถึงอโนชาในสื่อญี่ปุ่นด้วย
ยังดีที่ประธานธิปดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ก็ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นผู้ถูกลักพาตัวว่าพร้อมจะนำเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น อย่างน้อยรอบนี้ญี่ปุ่นก็คงมีความหวังมากขึ้น แม้จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ยังพอหวังได้จากชาติอื่นๆ ที่พอจะมีผลประโยชน์ร่วมกันได้อยู่ ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเช่นไร แต่คิดว่าในสภาญี่ปุ่นคงลุ้นกันแบบนั่งไม่ติดเก้าอี้แน่นอน