ช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นช่วงวันหยุดยาวสำหรับคนทำงานทั้งหลายแล้ว วันหยุดปีใหม่ยังเป็นช่วงที่มักจะมีการเคลื่อนไหวแปลกๆ เกิดขึ้น อาศัยจังหวะเฉี่อยๆ แบบนี้เนียนทำอะไรโดยพลการ อย่างบ้านเราจู่ๆ ก็มีอนุสาวรีย์เปิดวาร์ปได้ รวมไปถึงนาฬิกาแพงแค่ไหน ยืมมาใช้ก็ไม่เป็นไรแล้ว
ในขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการเคลื่อนไหวส่งท้ายปีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เล่นเอาชาวโลกต้องตะลึง นั่นคือการตัดสินใจลาออกจากการเป็นชาติสมาชิก International Whaling Commission (IWC) หรือคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ และจะเริ่มต้นการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์อย่างเต็มตัวในปีนี้ กลายเป็นการตัดสินใจที่เล่นเอาชาวโลกงงและตื่นตระหนกกับการตัดสินใจครั้งนี้ของญี่ปุ่น ว่าจะส่งผลเสียกับการรักษาพันธุ์วาฬเพียงแค่ไหน
ญี่ปุ่นกับการล่าวาฬเป็นประเด็นที่ถูกประชาคมโลกประณามมาเป็นเวลานานมาก เพราะตั้งแต่ IWC ประกาศระงับการล่าวาฬเพื่อการค้าตั้งแต่ปี 1982 ก็มีญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติที่ยังคงออกล่าวาฬอยู่ เพียงแต่การล่าวาฬของญี่ปุ่นกระทำโดยอาศัยช่องโหว่ของการประกาศดังกล่าว เพราะพวกเขาอ้างว่าเป็นการล่าเพื่อทำการ ‘วิจัย’ ที่ต้องออกไปล่าเนี่ย ก็เพราะว่าต้องการทำการวิจัยจำนวน อายุสืบพันธุ์ บลา บลา…ของวาฬเหล่านี้นะ ส่วนเนื้อที่เหลือ จะทิ้งก็เสียของ เลยปล่อยขายไปล่ะกัน ออกจะสมาร์ต
เลี่ยงบาลีกันแบบนี้ ก็ไม่แปลกที่จะถูกก่นด่าไปทั่ว เรื่องที่น่าสนใจอย่างแรกคือ แม้ญี่ปุ่นจะไม่ใช่ชาติเดียวที่ล่าวาฬ เพราะยังมีนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ที่ล่าวาฬเช่นกัน โดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นวัฒนธรรมของพวกเขา แต่ที่ต่างกันก็คือ ในขณะที่สองชาตินั้นล่าวาฬอยู่ในพื้นที่ตัวเอง ญี่ปุ่นกลับออกเรือเดินสมุทรไปล่าวาฬถึงขั้วโลกใต้ บอกว่าเป็นวัฒนธรรมก็ดูจะเป็นการแถเกินไป เพราะวาฬหลายชนิดที่ญี่ปุ่นล่าในปัจจุบันก็ไม่เคยขึ้นมาเกินเส้นศูนย์สูตร จะบอกว่ากินวาฬสายพันธุ์เหล่านี้มาแต่โบราณก็คงตลกไปหน่อย
จริงอยู่ที่ชาวญี่ปุ่นล่าวาฬมาเป็นเวลานานมาก แต่เดิมในยุคสมัยโจมง (14,000 ปี ถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ก็มีหลักฐานว่าชาวญี่ปุ่นล่าวาฬแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการออกล่าวาฬที่หลงเข้ามาในน่านน้ำมากกว่า เช่นเดียวกับชาวไอนุ ชาวท้องถิ่นในฮอกไกโดที่มีการล่าวาฬมานาน พอเริ่มเข้ายุคไฟสงคราม ช่วงประมาณคริสต์ศักราชที่ 1600 ก็เริ่มมีขุนนางออกล่าวาฬกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งในมุมมองของชาวญี่ปุ่นแต่เดิมถือเป็นกิจกรรมเพื่อการดำรงชีพ และล่าวาฬเพื่อนำเอาชิ้นส่วนทุกส่วนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ (คล้ายกับประเพณีของชาวไอนุ) ไม่ใช่แค่เอาไขมันมาใช้ประโยชน์เหมือนในตะวันตก แต่ถึงอย่างนั้นพอเข้ายุคสมัยใหม่ก็เริ่มมีความกังวลว่าจะจับกันมากเกินไป จนเริ่มมีความขัดแย้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองและเกิดภาวะอาหารขาดแคลน ชาวญี่ปุ่นก็ต้องออกล่าวาฬมากขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารสำคัญ กระทั่งหลังสงครามโลก นายพล Douglas McArthur ที่เข้ามาดูแลญี่ปุ่นหลังสงครามโลกก็สนับสนุนการออกไปล่าวาฬในน่านน้ำอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะอาหารขาดแคลน ถึงขนาดช่วยดัดแปลงเรือเพื่อให้สามารถไปล่าวาฬไกลๆ ได้
วาฬกลายมาเป็นอาหารที่ถูกรับประทานในวงกว้างในสังคมญี่ปุ่นช่วงฟื้นฟูประเทศ คนที่โตมาในช่วงหลังสงครามเลยเจอเนื้อวาฬเป็นอาหารที่ทางโรงเรียนจัดให้เป็นประจำ
แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นร่ำรวยขึ้น อุปสงค์ของเนื้อวาฬก็ลดลงเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีขายอยู่เหมือนเดิม แต่ยอดขายและปริมาณการบริโภคลดลงเรื่อยๆ ขนาดเจ้าของร้านอาหารที่เน้นด้านเนื้อวาฬยังยอมรับว่าทุกวันนี้มีแต่คนวัยกลางคนที่คิดถึงรสชาติที่เคยกินตอนเด็กๆ และสั่งมากินเท่านั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจที่จะกินเนื้อวาฬ จริงอยู่ว่าเนื้อวาฬอร่อย ยิ่งสำหรับคนที่มาจากพื้นที่ที่มีการล่าวาฬกันอยู่แล้ว แต่ด้วยคำพูดที่ว่า “ไม่ว่าใคร พอได้ลองกินเนื้อวัว ก็ไม่คิดอยากจะกินเนื้อวาฬอีกหรอก” ก็ค่อนข้างบ่งบอกชัดว่าเนื้อวาฬก็ไม่ใช่ของที่คนปรารถนาจะกินกันเท่าไหร่
ผมเองสารภาพตามตรงว่าเคยกินเนื้อวาฬเหมือนกัน ด้วยความอยากรู้อยากเห็นนั่นล่ะครับ มีขายในร้านซูชิให้สั่งก็ลองสั่งดู พอกินแล้วก็ขอบายตลอด เพราะวาฬคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลา เนื้อดิบเลยมีความคาว (เลือดแดงมาเต็มเลย) ถ้าเจอร้านดีๆ คงจะอร่อย แต่คงไม่บากบั่นขนาดนั้นครับ และในตลาดปัจจุบัน เนื้อวาฬก็คือเนื้อเกรดล่างที่ไม่ได้มีใครตั้งใจจะกินนัก (ยกเว้นวัยกลางคนอย่างที่บอก) ส่วนใหญ่ก็นำไปทำอาหารแบบปริมาณมากๆ ในราคาถูก หรือกระทั่งเอาไปทำอาหารสัตว์
แล้วญี่ปุ่นจะยังอย่างล่าวาฬทำไมในเมื่อดูแล้วไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเลย
นั่นก็เป็นคำถามในใจหลายต่อหลายคนที่ติดตามกรณีนี้ละครับ ยิ่งการถอนตัวออกจาก IWC อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกก็ได้ จริงๆ แล้วญี่ปุ่นพยายามที่จะขอให้ IWC ยกเลิกการห้ามจับวาฬเพื่อการค้ามาตลอดนะครับ ในมุมมองของญี่ปุ่นคือ IWC ควรทำหน้าที่กำกับให้สามารถล่าวาฬได้อย่างยั่งยืน คือ ออกโควตาคุมจำนวนการจับ ควบคุมปริมาณเพื่อให้วาฬรอดพอที่จะสืบสายพันธุ์ต่อได้ แต่ในตอนนี้กลายเป็นว่า IWC คือองค์กรทำหน้าที่ต่อต้านการล่าวาฬโดยสิ้นเชิง ขัดกับแนวคิดของญี่ปุ่น และเมื่อการพยายามยื่นขอจับวาฬอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีที่ผ่านมาไม่ได้ผล สุดท้ายเลยตัดสินใจออก แต่จริงๆ แล้ว ถึงจะออกจาก IWC ก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นจะสามารถออกไปจับวาฬได้ตามใจชอบนะครับ เพราะก็ยังคงมีกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ควบคุมอยู่ ที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นไม่สามารถจะออกไปจับวาฬในน่านน้ำอื่นเช่นในเขตมหาสมุทรแอนตาร์ติกได้ (ที่แต่เดิมไปขนาดนั้นได้เพราะไปในนาม การวิจัย) ญี่ปุ่นจะสามารถล่าวาฬที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตัวเองเท่านั้น เรียกได้ว่าพื้นที่ล่ายิ่งน้อยกว่าเดิมอีก
แม้การล่าวาฬของญี่ปุ่นจะฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลหนักพอเท่าไหร่ แต่ญี่ปุ่นก็มีเหตุของตัวเองครับ อย่างชาวประมงที่ล่าวาฬ ญี่ปุ่นก็มองว่า วาฬคือ ‘อาหาร’ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ยักษ์ที่สง่างาม ฉลาด และน่าทึ่งแบบที่ชาวตะวันตกยุคหลังมองกัน อาหารก็คืออาหาร บางคนก็สวนว่า ทีคนอังกฤษยังเอากระต่ายน่ารักมาทำพายกินเลย ญี่ปุ่นไม่ทำนะ (ซึ่งจริงๆ การเปรียบเทียบแบบนี้มันก็มีปัญหาในตัวมันเอง แต่ก็พอเข้าใจได้ เหมือนกับบางชาติที่กินเนื้อหมากันทั้งๆ ที่เราเห็นว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด แต่สำหรับเขาคือของอร่อย) และญี่ปุ่นก็ยังอ้างว่า วาฬสายพันธุ์ที่พวกเขาจับมาเช่นวาฬ Minke ก็ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ซะหน่อย ขึ้นชื่อว่าวาฬเหมือนกันแต่มีตั้งหลายสายพันธุ์
แต่เหตุผลที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรื่องของการเมืองล้วนๆ
เรื่องของเรื่องก็คือ แม้เมืองที่มีอาชีพล่าวาฬจะไม่ได้มีเยอะมาก แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีทักษะอื่น เกิดวันหนึ่งล่าวาฬไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร ถ้าใครยกเลิกก็รับรองว่าโดนชาวเมืองเกลียดแน่นอน ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นคนไหนก็ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนยกเลิกแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นตัวนายกฯ Abe Shinzo เองก็มาจากพื้นที่ที่มาจากการล่าวาฬด้วย ก็ไม่แปลกอะไรที่จะไม่อยากเลิก เพราะเลิกนี่คงมองหน้าคนในท้องถิ่นลำบาก รวมถึงนักการเมืองในพื้นที่ด้วย
ถ้าคิดว่านั่นแย่แล้ว ที่หนักกว่าคือ ไอ้การไปล่าวาฬเพื่อ ‘วิจัย’ ของญี่ปุ่นนี่ เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ผลิดอกออกผลมาเป็นกำไรอย่างที่บอกนะครับ เพราะเนื้อมันไม่ได้ขายได้ราคาดีอะไรนักหนา แต่ชาวประมงอยู่ได้ก็เพราะการอุดหนุนจากรัฐบาล พอเป็นการวิจัย”ก็สามารถตั้งหน่วยงานในกรมประมงคอยช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและเรื่องต่างๆ ทำให้พวกเขาสามารถออกไป ‘วิจัย’ และถ้าเกิดจู่ๆ มายกเลิกการทำการวิจัย งบก็หาย ไม่ใช่แค่ชาวบ้านที่เดือดร้อนหรอกครับ งบหายก็ต้องยุบหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ก็โดนย้าย ไม่ก็อาจจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งหน่วยงานแบบนี้มีคนไม่ใช่น้อยด้วย แล้วปลัดกระทรวงคนไหนจะกล้าทำเรื่องแบบนี้ให้เป็นจุดด่างพร้อยในอาชีพตัวเองละครับ
ฟังดูแล้วการล่าวาฬของญี่ปุ่นก็ดูจะไม่ได้เมกเซนส์อะไรในแง่ธุรกิจ แต่ก็ต้องดำเนินต่อไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในระบบการเมืองและราชการ ทีนี้ พอกลับมามองเรื่องการถอนตัวจาก IWC เอาจริงๆ นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับวาฬด้วยซ้ำไป เพราะอย่างน้อยสุด ญี่ปุ่นก็ไม่มีโอกาสที่จะไปล่าวาฬในน่านน้ำอื่นแล้ว ญี่ปุ่นมีโอกาสล่าแค่ในน่านน้ำพิเศษของตัวเอง พื้นที่ถูกจำกัดลงมาก และที่น่าติดตามต่อมากๆ คือ เมื่อเป็นการล่าเพื่อ ‘การพาณิชย์’ แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทางการจะไม่มีงบอุดหนุนเช่นเคยเมื่อเทียบกับในสมัยที่ยังเป็นการวิจัย ปล่อยให้ชาวประมงต้องออกไปล่าวาฬโดยจัดสรรเงินทุนเอง ขายไม่ได้ก็เรื่องของคุณละทีนี้ ถ้าเป็นแนวทางนี้จริงๆ ก็อาจจะเป็นการเลือกตัดหางปล่อยวัดชาวประมงล่าวาฬด้วยวิธีที่เนียนกว่าที่คิด แม้จะโดนเสียงก่นด่าจากประชาคมโลกในรอบแรกๆ แต่ในเมื่อเวลาผ่านไป นักล่าวาฬทั้งหลายก็อาจจะค่อยๆ ลดหายไปเอง เพราะทำไปไม่คุ้ม ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม
แต่การตัดสินใจครั้งนี้ก็แปลกจริงๆ แต่ถ้าโดนด่าแล้วสามารถลดปัญหาตรงนี้ไปในระยะยาวได้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือเป็นความพยายามในการรักษาหน้าของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยว่า นี่ไง ก็พยายามทำเพื่อชาวประมงขนาดที่ยอมสู้กับชาวโลกแล้วนะ (แต่ถ้าคุณแข่งขันไม่ได้อันนี้ผมก็ไม่เกี่ยวแล้ว) แถมรัฐบาลยังไม่ต้องคอยปวดหัวเวลาเรือล่าวาฬออกไปในน่านน้ำสากลแล้วเจอเรือล่าเรือล่าวาฬอย่าง Sea Shepperd ของ Green Peace ค่อยเล่นงานอีก
งานนี้บอกได้แค่ว่า คงต้องรอดูไปก่อน เพราะยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ ฝุ่นจางลงแล้วคงเห็นภาพอะไรชัดขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก