1
ผมไปอิสราเอลในปี 2000
แล้วผมก็ได้รู้จักเขา – นักร้องร็อคสตาร์ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของอิสราเอล, เอวิฟ เกฟเฟน
เปล่าครับ, ไม่ได้พบหน้าค่าตาเขาเป็นๆ แต่พบจากโทรทัศน์อิสราเอลช่องหนึ่งที่สัมภาษณ์เขาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งหากไม่ได้เดินทางไปที่นั่น ผมอาจไม่มีวันได้รู้จักเขาเลยก็เป็นได้
Aviv Geffen อาจเป็นนักร้องร็อคสตาร์ที่แลดูวัยรุ่นอย่างยิ่งในเวลานั้น แต่เขากลับมีความผูกพันกับการเมืองอิสราเอลอย่างลึกซึ้งหลายมิติ
มิติแรกก็คือ เขาเป็นญาติกับโมเช ดายัน อดีตทหารและนักการเมืองอิสราเอลผู้มีบทบาทสำคัญในการรบกับอาหรับหลายครั้ง (ใครเกิดทันยุคของโมเช ดายัน คงนึกออกถึงสัญลักษณ์ที่เป็นผ้าคาดตาซ้าย เขาตาบอดเนื่องจากถูกสะเก็ดจากการยิงปลิวเข้าตาในการรบในปี 1941)
แต่มิติที่ทำให้ผมต้องค้นเรื่องของเขาเพิ่ม – ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเขากับยิตซัค ราบิน นายกรัฐมนตรีคนที่ห้าของอิสราเอล ผู้ถูกลอบสังหารในตำแหน่ง ขณะอยู่กลางแจ้ง ขณะอยู่ในที่สาธารณะ ขณะกำลังดำเนินการเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างยิวกับปาเลสไตน์
การตายของราบินคือเรื่องสั่นสะเทือนโลกในปี 1995 อย่างยิ่ง เพราะขณะนั้น ทั่วโลกกำลัง ‘ลุ้น’ ว่าสันติภาพระหว่างยิวกับปาเลสไตน์ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ผมไปที่นั่น – ในจังหวะที่ประวัติศาสตร์กำลังเปิดกว้าง โอบรับ และการกล่าวคำว่าชาโลมของยิวหรือซาลามของอาหรับ ก็มีความพยายามบรรลุถึงความหมายว่าสันติภาพตามตัวคำจริงๆ ดังนั้น ผมจึงได้ตระเวนไป จากเทลอาวิฟ สู่เยรูซาเล็ม ผ่านเจริโคห์ เข้าเบธเลเฮ็ม ไปเรียนรู้โศกนาฏกรรมบนที่ราบมาซาด้า แล้วเดินทางผ่านฉนวนกาซ่าเพื่อเข้าสู่อียิปต์ทางรถยนต์ อันเป็นเรื่องที่ปัจจุบันคงทำไม่ได้ง่ายๆ อีกแล้ว
แต่ทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับ เอวิฟ เกฟเฟน, ยิตซัก ราบิน, เบนจามิน เนธันยาฮู, โดนัลด์ ทรัมป์ และการล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่าของความศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเยรูซาเล็มด้วยเล่า
2
ใครๆ ก็คงรู้ว่า เยรูซาเล็มเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของสามศาสนาใหญ่ของโลก ซึ่งทั้งสามศาสนาล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแน่นหนา ได้แก่ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
แต่คุณรู้ไหม ว่าการก่อกำเนิดแต่ละศาสนาไม่ใช่เรื่องง่าย Simon Sebag Montefiore ผู้เขียนหนังสือ Jerusalem : The Biography ถึงขั้นเสนอไว้ว่า เป็น ‘การล่มสลาย’ ของเยรูซาเล็มครั้งแล้วครั้งเล่านี่แหละ ที่ทำให้แต่ละศาสนาแข็งแกร่งในศรัทธาขึ้นมาได้
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เมื่อติตุส (Titus) นักรบชาวโรมัน ผู้เป็นโอรสของจักรพรรดิเวสปาเซียน (Vespasian) ออกคำสั่งในวันที่ 8 ของเดือน Ab ตามปฏิทินของชาวยิว (ตรงกับปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ.70) ให้บุกโจมตีเยรูซาเล็มหลังล้อมนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มานานสี่เดือนแล้วนั้น เขาไม่รู้เลยว่า มันคือวันเดียวกันกับเมื่อ 657 ปีก่อน เมื่อจักรพรรดิแห่งบาบิโลน คือพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ (Nebuchadnezzar) ได้ล้อมและบุกเข้าเผาทำลายเยรูซาเล็มจนสิ้นซาก และทำลาย ‘ใจกลาง’ ของเยรูซาเล็ม คือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ หรือ The Temple Mount ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าโซโลมอนในราว 971-931 ปีก่อนคริสตกาล
นั่นคือพระวิหารศักดิ์สิทธิ์วิหารแรก (The First Temple)
ประวัติศาสตร์ของเยรูซาเล็มนั้นสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะนี่คือเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ถูกปิดล้อมถึง 23 ครั้ง ถูกโจมตี 52 ครั้ง ถูกยึดและยึดคืน 44 ครั้ง และด้วยความที่เกี่ยวพันกับศาสนาเก่าแก่ถึงสามศาสนา
พื้นที่เล็กๆ แค่ 0.9 ตารางกิโลเมตร (คือไม่ถึง 1 x 1 กิโลเมตร) ของส่วนเมืองเก่าแห่งเยรูซาเล็ม จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ ‘เข้มข้น’ ที่สุดในโลก ในเรื่องการดำรงอยู่ของศรัทธาที่ปะทะสังสรรค์ระหว่างกัน
ทุกคริสต์มาส เรามักได้ยินชื่อของ ‘กษัตริย์เฮโรด’ กษัตริย์ชาวโรมันผู้สั่งให้ประหารบุตรชายคนโตของทุกบ้าน (เรียกว่า Massacre of the Innocents) โดยมีเป้าหมายจะกำจัดพระกุมารเยซูที่คิดว่าจะมาเป็นกษัติรย์ของชาวยิว จนหลายคนรู้สึกชิงชังรังเกียจกษัตริย์องค์นี้เพราะมองเหมือนเป็น ‘ตัวร้าย’ ในประวัติศาสตร์ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง หลายคนอาจไม่รู้ว่า กษัตริย์เฮโรดได้ชื่อว่าเป็น Herod the Great หรือเฮโรดมหาราช ผู้ทรงสร้างคุณูปการให้กับเยรูซาเล็มมากมาย
หลังเยรูซาเล็มล่มสลายเพราะชาวบาบิโลนมาบุกเผาทำลายแล้ว เยรูซาเล็มก็ไม่เคยฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกเลยเป็นเวลาหลายร้อยปี กระทั่งถึงยุคของกษัตริย์เฮโรดนี่แหละครับ
เยรูซาเล็มในยุคของเฮโรดนั้น ได้รับคำยกย่องจากนักเขียนพงศาวดารแทบทุกคน พลินี (Pliny) นักบันทึกพงศาวดารชาวกรีกบอกว่า เยรูซาเล็มในยุคของเฮโรดนั้นเป็น The Most Celebrated City of the East ในขณะที่นักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวยิวร่วมสมัยอย่าง โจเซฟุส (Josephus) ก็บอกว่า เยรูซาเล็มในยุคของเฮโรดนั้นงดงาม ‘จนเกินความสามารถที่จะบรรยายได้’
ในตอนที่เฮโรดปกครองเยรูซาเล็มนั้น มีการสร้าง ‘วิหารที่สอง’ (The Second Temple) แล้ว วิหารที่สองสร้างขึ้นหลังถูกทำลายลงไม่นานนัก (คือราว 516 ก่อนคริสตกาล) แต่ทั้งวิหารที่สองและความยิ่งใหญ่ตระการตาของเยรูซาเล็มก็ล่มสลายลงอีกครั้งเมื่อติตุสบุกเข้าทำลายเยรูซาเล็มครั้งที่สอง เพื่อปราบชาวยิวที่ไม่ยอมศิโรราบอยู่ใต้อำนาจของโรมันหลังจากจักรพรรดิเนโรสิ้นพระชนม์และอำนาจของโรมันเริ่มเสื่อมถอยลง
สิ่งที่เฮโรดสร้างขึ้นคือกำแพงล้อมรอบ Temple Mount (ซึ่งโดยส่วนตัวแอบเรียกว่า ‘เขาพระวิหาร’ เนื่องจากเป็นเนินเขาที่มีวิหารสำคัญของหลายศาสนาอยู่บนนั้น) ทำให้ติตุสต้องล้อมเยรูซาเล็มเอาไว้เป็นเวลานานจนอ่อนแรง ถึงจะบุกเข้าโจมตีได้โดยต้องใช้กลยุทธ์มากมาย กำแพงที่ยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันคือกำแพงด้านตะวันตก เรียกว่า ‘กำแพงร้องไห้’ (Wailing Wall) ที่ชาวยิวจะไปภาวนาและสอดกระดาษอธิษฐานเอาไว้ตามร่องของกำแพง
มีบันทึกถึงความโหดเหี้ยมในการทำลายเยรูซาเล็มครั้งนั้นว่า ติตุสสั่งให้ตรึงกางเขนเชลยหรือคนที่ป่วยจนทำอะไรไม่ได้แล้ว ปรากฏว่ามีชาวยิวถูกตรึงกางเขนวันละห้าร้อยคน ทั่วทั้งภูเขามะกอกและภูเขาอื่นๆ รอบเมืองเต็มไปด้วยกางเขนจนไม่เหลือที่ให้ตั้งไม้กางเขนอีก ทั้งยังไม่เหลือไม้ให้ตัดมาทำกางเขนด้วย ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายเท่าไหร่ ทาซิตุส (Tacitus) นักประวัติศาสตร์โรมันประมาณว่าน่าจะอยู่ที่หกแสนคน แต่โจเซฟุสบอกว่าน่าจะมากกว่าล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มหาศาลมากเมื่อเทียบกับขนาดของเมือง
ที่สำคัญ วิหารที่สองของชาวยิว ยังถูกทำลายลงไปด้วย โดยเฉพาะวิหารด้านในที่เรียกว่า The Holy of Holies หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง
ในตอนนั้น ชาวคริสต์ยังเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ มีคนไม่มากนัก มีผู้นำคือซีโมนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู และสามารถหนีออกจากเมืองได้ก่อนที่โรมันจะมาปิดล้อม แต่การที่วิหารที่สองของชาวยิวถูกทำลายลงไป จึงทำให้ชาวคริสต์เริ่มเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นว่า ไม่ใช่ชาวยิวหรอกที่ ‘ถูกเลือก’ โดยพระเจ้า แต่เป็นกลุ่มของตัวเองต่างหาก Simon Sebag Montefiore จึงวิเคราะห์ว่า การล่มสลายของเยรูซาเล็มนั้น กลับเป็นจุดกำเนิดแห่งความแข็งแกร่งของชาวคริสต์ และในอีกราว 620 ปีถัดมา เมื่อนบีมูฮัมหมัดก่อตั้งศาสนาอิสลาม แม้พระองค์จะรับธรรมเนียมหลายอย่างของชาวยิวมา รวมถึงการยอมรับประกาศกของยิวและคริสต์ และการอธิษฐานภาวนาที่ต้องหันหน้า (เรียกว่า ‘ชุมทิศ’) ไปทางกรุงเยรูซาเล็ม แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อด้วยว่า การล่มสลายของเยรูซาเล็มเมื่อหกร้อยปีก่อน คือข้อพิสูจน์ว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงอำนวยพรให้กับชาวยิวกลุ่มเดิมอีกต่อไปแล้ว
3
ความศักดิ์สิทธิ์ของเยรูซาเล็มอยู่ตรงไหนบ้าง
สำหรับชาวยิว : ’เขาพระวิหาร’ หรือ Temple Mount นั้น คือพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวยิว ชาวยิวเชื่อว่า ตรงนี้คือที่ที่พระเจ้าทรงปรากฏพระองค์บ่อยครั้งยิ่งกว่าสถานที่ใด บางคนก็เชื่อว่า ตรงนี้คือที่ที่พระเจ้าใช้สร้างโลก คือเป็นจุดแรกที่กำเนิดโลก แล้วโลกค่อยๆ แผ่ขยายออกไป รวมทั้งเป็นที่ที่พระเจ้ารวบรวมดินมาสร้างเป็นมนุษย์คนแรก คืออดัมด้วย
นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังเป็นที่ที่อับราฮัมมาบูชายัญอิซอัค รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์อีกหลายเหตุการณ์ ต่างก็เกิดขึ้นที่จุดนี้จุดเดียวทั้งนั้น ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โอรสของกษัตริย์เดวิด คือกษัตริย์โซโลมอน คือผู้สร้างวิหารแรกขึ้นที่นี่ ดังนั้น พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นที่ ‘ศักดิ์สิทธิ์แห่งศักดิ์สิทธิ์’ (Holy of Holies) คือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับหนึ่งของชาวยิว
สำหรับชาวมุสลิม : ในศาสนาอิสลาม สมัยที่นบีมุฮัมหมัดยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เยรูซาเล็มคือเมืองแรกที่เป็น ‘ชุมทิศ’ (Direction of Prayer) ในการทำละหมาดของชาวมุสลิมยุคนั้น ก่อนที่ในภายหลังจะเปลี่ยนมาเป็นเมืองเมกกะ
แต่แง่มุมสำคัญที่สุดของเยรูซาเล็ม ก็คือเรื่องในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เล่าถึงการเดินทางของนบีมุฮัมหมัดไปยัง The Farthest Mosque หรือมัสยิดที่อยู่ไกลที่สุด ซึ่งเชื่อกันว่าคือพื้นที่ที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ใจกลางกรุงเยรูซาเล็ม หรือ Temple Mount นี่เอง ที่นี่ นบีมุฮัมหมัดได้เสด็จฯ ขึ้นสวรรค์ โดยพระเจ้าได้ส่งทูตที่เรียกว่า Buraq มารับ ในราว ค.ศ. 690-800 มีการสร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลามขึ้นที่บริเวณนี้ คือ Dome of the Rock ซึ่งสร้างขึ้นบนจุดที่เป็นวิหารที่สองของชาวยิวพอดี รวมถึงมัสยิดสำคัญ คือ Al-Aqsa Mosque ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่สามของชาวมุสลิม รองจากกรุงเมกกะและเมืองเมดินา
สำหรับชาวคริสต์ : กรุงเยรูซาเล็มเป็นที่ ‘สร้างชื่อ’ ให้กับพระเยซูตั้งแต่ยังมีอายุ 12 ปี เมื่อทรงมาสนทนากับบรรดาอาจารย์ชาวยิวในพระวิหาร (เชื่อว่าก็คือ Temple Mount นี่แหละครับ) และหลังไปเผชิญการล่อลวงโดยปีศาจในทะเลทรายมาแล้ว พระองค์ก็เสด็จฯ เข้าเมืองเยรูซาเล็มอย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงเป็นที่ที่ไปสวดภาวนาบนเนินมะกอก ถูกจับ ถูกพิพากษา แบกกางเขน และถูกตรึงกางเขนด้วย โดยจุดที่ชาวคริสต์ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ก็คือถนน Via Dolorosa ที่ทรงแบกกางเขน และโบสถ์ Church of the Holy Sepulchre (หรือ Church of the Resurrection) ซึ่งเชื่อว่าเป็นบริเวณที่ถูกตรึงกางเขนและเป็นหลุมศพของพระเยซู คือตัวโบสถ์ใหญ่มากจนคร่อมพื้นที่ทั้งสองแห่งเอาไว้ด้านใต้
จะเห็นได้เลยว่า เยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางที่ ‘เข้มข้น’ ในทางศาสนามากขนาดไหน ดังนั้น การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศก้องเพื่อเอาใจเสียงในประเทศจนทำให้เกิดอาการ ‘เอียง’ ไปข้างใดข้างหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ ต่อสันติภาพของภูมิภาค, และของโลก
4
เมื่อยิตซัก ราบิน ถูกยิงตาย เอวิฟ เกฟเฟน ร้องไห้ให้กับการจากไปของเขาตลอดคืน
ยุคเก้าศูนย์ไม่ใช่แค่ยุคทองของดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นยุคทองของสันติภาพระหว่างอิสราเอลและอาหรับด้วย
ตลอดทศวรรษ มีความพยายามสร้างสันติภาพขึ้นตั้งแต่หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นตักลางจัดประชุมที่กรุงแมดริดในสเปนเพื่อหาข้อยุติในความขัดแย้งระหว่างอาหรับและอิสราเอล แต่ไม่เกิดผลอะไรมากนัก
ครั้งถัดมามีนอร์เวย์เป็นเจ้าภาพ เรียกว่า Oslo Accords เป็นข้อตกลงเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างกัน ในที่สุดก็มีการลงนามในปี 1993 ส่งผลให้ทั้งยิตซัก ราบิน นายกรัฐมนตรีอิสราเอล, ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ และชิมอน เปเรซ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี 1994
แต่ไม่มีใครรู้เลย ว่าในปีรุ่งขึ้น ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1995 ยิตซัก ราบิน จะถูกลอบสังหารเพราะเหตุที่เขาไปลงนามใน Oslo Accords นั่นเอง
ในวันนั้น มีการจัดเดินขบวนเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ เอวิฟ เกฟเฟน ได้ขึ้นแสดงเพลงที่เขาแต่งเองเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่มีชื่อว่า Livkot Lekha แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Cry for You
เกฟเฟนไม่รู้อีกเช่นกัน ว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เพลงนี้จะกลายเป็นเหมือนคำพยากรณ์ชีวิตของราบิน เมื่อเขาถูกยิกาล อมีร์ (Yigal Amir) ซึ่งเป็นชาวยิวขวาจัดหัวรุนแรง ผู้ต่อต้านการลงนามใน Oslo Accords บุกเข้ามายิงขณะที่ราบินลงจากเวทีและเดินออกจากซิตี้ฮอลเพื่อขึ้นรถ
อมีร์ถูกจับทันที เขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้ว เพราะยิตซัก ราบิน กำลังทำสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตของชาวยิว เขาจึงต้องปฏิบัติการตามกฎหมายดั้งเดิมของยิว เพื่อกำจัดราบินเสีย
เพลง Cry of You กลายเป็นเหมือน ‘เพลงชาติ’ ของขบวนการสันติภาพ และถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อบอกเล่าถึงความโหดร้ายอันซับซ้อนนี้ ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังคงดำเนินต่อไป
เอวิฟ เกฟเฟน กลายเป็นนักร้องร็อคสตาร์ที่มุ่งมั่นทำงานรณรงค์เพื่อสันติภาพ และบางคนก็ถึงขั้นคาดหมายว่าในอนาคต เขาอาจกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลก็ได้
แต่ไม่หรอก – เพราะเมื่อเห็นภาพเบนจามิน เนธันยาฮู ขอบคุณทรัมป์สำหรับการยอมรับให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการแล้ว, ผมไม่คิดว่าเกฟเฟนและขบวนการสันติภาพของเขาจะมีโอกาสอะไรเหลือมากมายนัก
ผมไปที่นั่นในปี 2000 ในช่วงกลางปี เพียงเพื่อจะพบว่าหลังจากนั้นไม่นาน ความรุนแรงก็ได้หวนกลับมาในภูมิภาคนี้อีก – เหมือนที่เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ปลายปี 2000 เกิดระเบิดฆ่าตัวตาย 5 ครั้ง แล้วจากนั้นในปี 2001 ก็เกิดระเบิดฆ่าตัวตายอีก 40 ครั้ง ตามด้วย 47 ครั้ง ในปี 2002 (จำนวนมาก กลุ่มฮามาสประกาศความรับผิดชอบ) ก่อนจะค่อยๆ ลดระดับลงมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการป้องกันที่ดีขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีความพยายามจะเจรจาสันติภาพกันอีกหลายครั้ง,
แต่แล้วก็มาถึงยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์
5
ชาวยิวทักกันว่า ชาโลม (Shalom) ส่วนชาวอาหรับทักกันว่า ซาลาม (Salaam) ทั้งสองคำมีรากความหมายเดียวกัน คือแปลว่า ‘สันติภาพ’ ทั้งคู่
ผมคิดว่าคำนี้เป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว จึงรู้สึกเสียดาย – ที่ความศักดิ์สิทธิ์จริงแท้ของเยรูซาเล็มจะต้องถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการทำลายคำคำนี้ และทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ – พร้อมการจากไปของชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา
คำประกาศของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ผมนึกถึงเอวิฟ เกฟเฟน และเพลง Cry for You ของเขา
เกฟเฟนจะต้องร้องเพลงนี้ไปอีกนานเพียงใดหรือ