ในปี ค.ศ.2020 สมาคมกระโดดร่มแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Parachute Association หรือ USPA) ได้บันทึกอุบัติเหตุการกระโดดร่มในปีนั้นว่า มีผู้เสียชีวิต 11 คน จากการกระโดดร่มทั้งหมด 3 ล้านครั้ง ซึ่งเทียบอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 0.39 ครั้ง ต่อการกระโดด 100,000 ครั้ง น้อยกว่าที่ปี ค.ศ.2019 ที่อัตรา 0.45 ครั้งต่อ 100,000 ครั้ง
ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาต่างเสียชีวิตจากร่มที่กางไม่สมบูรณ์หรือร่มที่ไม่กางเลย ทว่า ความเป็นไปได้ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยกลับเกิดขึ้นในกรณีการรอดชีวิตของ โจน เมอร์เรย์ ในปี ค.ศ.1999
ปัจจัยการรอดชีวิตของเมอร์เรย์มีอยู่หลายประการด้วยกัน แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ หัวใจของเธอที่ยังเต้นอยู่ในช่วงเวลาที่บาดเจ็บที่สุด เหตุเป็นเพราะการกัดของ ‘มดคันไฟ’
โจน เมอร์เรย์ เป็นผู้บริหารของธนาคาร Bank of America วัย 47 ปี ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา เมอร์เรย์หลงใหลการกระโดดร่มเป็นอย่างมาก เธอกระโดดร่มมาแล้วถึง 35 ครั้ง
วันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1999 เมอร์เรย์ตื่นขึ้น เดินทางไปเชสเตอร์เคาน์ตี้ รัฐเซาท์แคโรไลนา เตรียมพร้อมทำสิ่งที่ชอบอีกครั้งด้วยความรู้สึกสนุกสนาน กับการกระโดดร่มครั้งที่ 36 ที่จะไม่มีวันลืม เมอร์เรย์ขึ้นเครื่องบินสู่ท้องฟ้าเพื่อกระโดดร่มแบบกระตุกเอง (free fall) เวลาเพียงไม่กี่นาที เครื่องบินก็พามาถึงความสูง 14,500 ฟุต เมอร์เรย์จึงกระโดดออกจากเครื่องบิน
ลมที่ปะทะผิวหน้ากับวิวทิวทัศน์ที่คุ้นเคย เป็นเวลา 45 วินาที ที่เมอร์เรย์ร่วงหล่นสัมผัสกับความรู้สึกอิสระเคลื่อนไหวไปในอากาศดั่งนก เวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วจนถึงความสูงที่ต้องกางร่ม เมอร์เรย์เอื้อมมือไปกระตุกร่มชูชีพ คาดหวังว่าร่มจะค่อยๆ ปล่อยออกมา และมันจะทำให้เธอร่อนลงกับพื้นอย่างปลอดภัย
แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น … ร่มยังคงไม่กาง และเธอยังคงร่วงหล่นเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยอัตราเร่งของแรงโน้มถ่วงพุ่งเข้าสู่ผิวโลก
เมอร์เรย์ต้องคิดอย่างรวดเร็ว ร่มหลักของเธอไม่ทำงานเหมือน 35 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่เธอยังมีร่มสำรอง และมันมีไว้เพื่อรับเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นแบบนี้ เธอดึงมันทันที ร่มสำรองกางออกมาไม่กี่วินาทีต่อจากนั้น แต่มันไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ร่มสำรองกลับไม่ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น สายร่มของเธอพันกันอย่างยุ่งเหยิง มันทำเธอหมุน จากหมุนช้าๆ กลับกลายเป็นหมุนอย่างรวดเร็ว เมอร์เรย์ร่วงหล่นลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง
แม้เมอร์เรย์จะพยายามแก้ไขสุดความสามารถ แต่ร่มสำรองก็ยังคงไม่หลุดออกจากการเป็นขดเกลียวและความยุ่งเหยิง เธอพุ่งเข้าหาโลกด้วยความเร็ว 80 ไมล์/ชั่วโมง ร่างกายกระแทกกับพื้นอย่างรุนแรง เพื่อนนักกระโดดร่มรีบแจ้งหน่วยฉุกเฉินและรีบเร่งไปยังที่เกิดเหตุทันที
ทีนี้ เรามาลองดูข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกกันก่อน การตกจากที่สูง (จากทุกอย่าง) เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในโลกที่รองมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 646,000 รายในแต่ละปี
มีคำกล่าวที่ว่า “การร่วงตกไม่ได้ฆ่าคุณ แต่เป็นการหยุดกะทันหันเมื่อสิ้นสุดการตกต่างหากที่เป็นตัวฆ่าคุณ” มันคือเรื่องจริง เราสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยด้วยอัตราความเร็วที่ไร้ขีดจำกัด ลองนึกถึงการบิน การกระโดดร่ม หรือการกระโดดบันจี้จัมพ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความเร็วที่น่ากลัว แต่เราจะไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ เกิดขึ้น ตราบใดที่เราลดความเร็วของมันลงอย่างช้าๆ
ดังนั้นมันจึงหมายความว่ายิ่งความสูงมาก อัตราความเร็วสู่พื้นยิ่งเร็วขึ้น ปัจจัยผลกระทบที่มากกว่า ทำให้ความเสี่ยงต่อการทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ยิ่งมากขึ้น
ณ การตกจากความสูงประมาณ 48 ฟุต หรือเทียบเท่าตึก 4 ชั้น โอกาสที่จะรอดชีวิตมีอยู่ 50% และลดลงเรื่อยๆ ตามความสูง ที่ความสูง 84 ฟุต หรือเทียบเท่าตึก 7 ชั้น โอกาสที่จะรอดชีวิตลดเหลือเพียงแค่ 10%
ส่วนการตกกระแทกของเมอร์เรย์ที่ยังมีร่มสำรองที่กางไม่สมบูรณ์พอจะฉุดความเร็วได้บ้าง มันเทียบเท่าได้ที่การตกจากความสูง 700 ฟุต หรือตึกสูง 65 ชั้น เราน่าจะพอเดาตัวเลขที่ความสูงมากขนาดนี้ออกว่าอยู่ที่ 0%
ร่างกายด้านขวาทั้งหมดของเธอถูกกระแทกจนแหลก เมื่อหน่วยกู้ภัยไปถึงพวกเขามั่นใจว่า นักกระโดดร่มคนนี้ต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอน แต่ไม่เลย เธอยังคงมีชีพจร พวกเขารีบนำเธอไปยังโรงพยาบาลทันที ในทีแรกแพทย์ยังคงรู้สึกงุนงงว่าอะไรที่ทำให้เมอร์เรย์ยังคงมีชีวิตอยู่ และแล้วพวกเขาก็สังเกตเห็นตุ่มสีแดงเล็กๆ ทั่วร่างกายของเธอ
มันคือตุ่มที่เกิดจากมดคันไฟกัด เธอถูกกัดมากกว่า 200 แห่งทั่วร่างกาย และนั่นก็สามารถอธิบายได้ถึงการมีชีวิตรอดอยู่ของ โจน เมอร์เรย์
เมอร์เรย์ตกลงไปที่กลางรังมดคันไฟพอดี
และมันก็คลานเข้าไปกัดเธอทั่วร่างกายตามสัญชาตญาณของมัน
มดคันไฟเมื่อกัดเรา มันจะปล่อยพิษที่เรียกว่าโซเลนอปซิน (Solenopsin) โดยพื้นฐาน สารนี้จะไปกระตุ้นระบบประสาทและทำให้หัวใจเต้นรัวขึ้น โดยทฤษฎีแล้วถ้าเราถูกกัดมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ในกรณีของเมอร์เรย์อาจตรงกันข้าม สารพิษนี้กลับทำให้หัวใจของเธอไม่หยุดเต้น มันกระตุ้นหัวใจของเธอให้เต้นต่อไป
คริส เรย์เนอร์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อและแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาชาวอเมริกัน กล่าวถึงกรณีการบาดเจ็บของเมอร์เรย์ว่า เธอโชคดีมากที่อวัยวะสำคัญบริเวณท้องรวมถึงศีรษะไม่มีส่วนไหนที่ฉีกขาดหรือเสียหายหนัก และสิ่งที่ทำให้เธอมีชีวิตรอดอย่างหนึ่ง คือการตกสู่รังมดที่เป็นชั้นดินโพรง ซึ่งไม่แข็งและเปราะบางพอที่จะลดอาการบาดเจ็บจากการกระแทกได้ รวมถึงมดที่รุมกัดเธอเสมือนพยายามปลุกให้หัวใจยังคงเต้นอยู่ตลอดเวลา
เมอร์เรย์ยังคงอยู่ในอาการโคม่าเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ แต่หลังจากนั้นเธอก็สามารถฟื้นตัวได้เรื่อยๆ หลังจากผ่าตัดกว่า 20 ครั้ง การถ่ายเลือด 17 ครั้ง และการทำกายภาพบำบัดนับไม่ถ้วน เมอร์เรย์ก็สามารถนั่งรถเข็นออกจากโรงพยาบาลได้
ถึงแม้ร่างกายของเธอจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เมอร์เรย์ยังคงสามารถกลับไปทำงานที่ Bank of America ได้เหมือนเดิม สองปีหลังจากอุบัติเหตุ เธอกลับไปกระโดดร่มครั้งที่ 37 ของเธออีกครั้ง
และครั้งนี้มันออกมาสมบูรณ์แบบ
สุดท้ายนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วเคยมีผู้รอดชีวิตจากการตกที่ความสูงสูงที่สุดเท่าไหร่?
คำตอบคือ ณ ความสูง 33,000 ฟุต ความสูงที่ Guinness World Record ต้องบันทึกไว้ว่า “เป็นความสูงที่สูงที่สุดที่มนุษย์ตกมาแล้วไม่เสียชีวิต” โดย เวสนา วูโลวิช แอร์โฮสเตสสาวชาวยูโกสลาเวีย วัย 22 ปี เธอหลุดออกมาจากเครื่องบินโดยที่ไม่มีร่มชูชีพใดๆ ในวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1972 เธอโคม่าอยู่สิบวัน และต้องอยู่โรงพยาบาลหลายเดือน ในช่วงแรกเธอเป็นอัมพฤกษ์ในช่วงล่าง จากนั้นอีกหลายปีก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก