สี่ปีที่แล้ว จัสติน ทรูโด ดูจะเป็น ‘ความหวังใหม่’ ของแคนาดา เมื่อเขาพาพรรค ‘เทียร์สอง’ อย่างพรรคลิเบอรัลกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ส่งให้นักการเมืองอายุน้อยผู้พกแนวคิด ‘เสรีนิยม’ อย่างเต็มเปี่ยมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความหวังของฝ่ายประชาธิปไตยทั่วโลกว่าจะเป็นผู้กอบกู้อนาคตของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังถดถอย ในกระแสที่ระบอบ ‘อำนาจนิยม’ ทั่วโลกกำลังเข้มแข็งมากขึ้น
แน่นอนทรูโดไม่ใช่ ‘โนบอดี้’ เขาเป็นลูกชายคนโตของนายกฯ พีเอร์ ทรูโด หนึ่งในนายกฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรูโดเติบโตในบ้านพักนายกฯ นั่นทำให้คนแคนาดาเห็นเขามาตั้งแต่เด็ก ด้านประวัติการศึกษาก็ดีเยี่ยม เขาเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ จบปริญญาโทด้านภูมิศาสตร์ รวมถึงยังเคยแสดงละครทีวี
ทรูโดจับทิศทางเรื่องที่เป็นกระแสในปี ค.ศ.2015 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเรื่องความเหลื่อมล้ำได้อย่างตรงจุด ทั้งยังมีวาทศิลป์ที่ดึงดูดใจคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ หลังจากแคนาเดียนเบื่อการเมืองเก่าที่น้ำเน่า และเน้นสาดโคลนไปมาของนายกฯ คนเก่าอย่าง สตีเฟน ฮาร์เปอร์ หัวหน้าพรรค ‘คอนเซอร์เวทีฟ’ ที่เป็นนายกฯ มานานเกือบ 10 ปี เต็มทน นั่นทำให้ ‘แบรนด์’ ทางการเมืองของเขาแข็งโป๊ก
ทรูโดกลายเป็นสิ่งที่นักข่าวเรียกว่า ‘นายกฯ เซเลบริตี้’ คนแรกของแคนาดา
ไม่ว่าจะเดินทางไปเปิดงานที่ไหน เดินทางไปเยือนประเทศไหน ทั้ง ‘เสน่ห์’ ประจำตัว ทั้งสุนทรพจน์ ล้วนดึงดูดใจให้ผู้นำประเทศและนักข่าวประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นทริปประวัติศาสตร์ที่ทรูโด เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา (ณ ขณะนั้น ประธานาธิบดียังเป็น บารัค โอบามา) หรือการไปเยือนประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักร ที่สมเด็จพระราชินีฯ ถึงกับทรงตรัสชมในท่าทางอ่อนน้อมถ่อมตน และบุคลิกของเขา
ไม่เพียงเท่านั้น ทรูโดยังสะท้อนความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการแบ่งคณะรัฐมนตรี โดยให้โควตาชาย-หญิงเท่ากัน เขาสร้าง ‘สภาที่ปรึกษา’ ภาคเยาวชน โดยคัดเลือกคนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 16-24 มานั่งในบอร์ด เพื่อให้คำแนะนำทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสร้างแคนาดา ประเทศที่มีประชากรไม่มากนัก ให้เป็น ‘สวรรค์’ สำหรับบรรดาผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ในห้วงเวลาที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มปฏิเสธผู้ลี้ภัย ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้ภาพของทรูโด ตรงกันข้ามกับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ชัดเจน
ปัญหาก็คือ หลังจากผ่านปีผ่านไป คนแคนาดาเริ่มรู้สึกว่า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากนายกฯ หนุ่ม ผลงานที่เด่นชัดที่สุดของรัฐบาลทรูโดอาจเป็นเรื่อง ‘เสรีกัญชา’ เพื่อการนันทนาการ ที่แม้จะถูกใจบรรดา ‘สายเขียว’ แต่ในทางการเมือง เรื่องกัญชากลับไม่ได้สร้างคะแนนนิยมให้เขาเท่าไหร่
ในเวลาเดียวกัน ‘คณะรัฐบาล’ ที่ตั้งมาแบบเท่าเทียมทางเพศ 50-50 ก็สร้างปัญหาภายหลัง สื่อแคนาดารายงานว่า ภายใน ครม. คนที่เข้าถึงตัวทรูโดได้มีเพียงกลุ่ม ‘วงใน’ เพียงไม่กี่คน รัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง เช่น สเตฟาน ดีออน รมว.ต่างประเทศ ตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานกับนายกฯ หนุ่มได้เพียง 14 เดือน โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบาย และไม่สามารถแม้กระทั่ง ‘สื่อสาร’ กับนายกฯ โดยตรง
มิหนำซ้ำ ทรูโดยังลากประเทศเข้าไปอยู่ในวังวนของคดีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หลังแคนาดาตัดสินใจจับกุม เมิ่ง ว่านโจว ลูกสาวผู้ก่อตั้งหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ตามคำขอของสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็นความขัดแย้งที่คนแคนาดารู้สึกไม่จำเป็น แน่นอนความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้ว เมื่อจีนตัดสินใจแบนการนำเข้า ‘น้ำมันคาโนลา’ จากแคนาดา
นอกจากนี้ ในด้านของชาว ‘ลิเบอรัล’ แคนาดาก็ยังทะเลาะกันเอง ก่อนหน้านี้แม้ทรูโดจะเคยหาเสียงว่าพร้อมรับผู้ลี้ภัยทั้งหมด แต่บรรดาเอ็นจีโอกลับรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ทำน้อยไป ไม่ใส่ใจดูแลบรรดาชาวพื้นเมืองที่ถูกประธานาธิบดีทรัมป์ส่งไปอดอยากในเฮติ หลังอเมริกาเปลี่ยนทิศทางเรื่องผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยที่พยายามเข้ามาในแคนาดาก็ยังต้องติดขั้นตอน ติดปัญหามากมาย และทรูโดยังมีปัญหากับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐออนตาริโอ เกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่ให้กับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่อีก
แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่เท่ากับเรื่องความฉาวโฉ่ที่ทรูโดถูกลากไปพัวพันในคดี ‘คอร์รัปชั่น’ ต้นปี ค.ศ.2019
เขาถูกสื่อมวลชนและฝ่ายค้านกล่าวหาว่า พยายามขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ด้วยการขอให้ โจดี เรย์บูล รมว.ยุติธรรมของเขาเอง หยุดสืบสวนคดีคอร์รัปชันของบริษัท SNC-Lavalin เพราะเกรงว่า หากในที่สุดแล้ว มีการ ‘เอาผิด’ SNC-Lavalin จริง จะส่งผลกระทบทำให้แรงงานจำนวนมากตกงาน และบริษัทต้องย้ายฐานผลิตออกจากมอนทรีออล ซึ่งจะทำร้ายเศรษฐกิจอย่างหนัก
ผลที่ตามมาก็คือ รมว.ยุติธรรมตัดสินใจลาออก เดินแยกทางกับรัฐบาล ไม่เพียงเท่านั้น รมว.กระทรวงชนพื้นเมืองและเลขาธิการนายกฯ ก็ลาออกเพื่อประท้วงการตัดสินใจของทรูโด การทยอยลาออกจากตำแหน่งของ ครม. กลายเป็นแผลฉกรรจ์ที่ติดตัวรัฐบาลทรูโด ในเรื่องการพยายาม ‘อุ้ม’ กิจการที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น หลังจากเรื่องอื้อฉาว ชาวแคนาเดียนเริ่ม ‘เสียงแตก’ 41% รู้สึกว่าทรูโดมีลับลมคมในกับเรื่องดังกล่าว 12% รู้สึกว่าทรูโดไม่ได้ทำผิดอะไร ส่วน 41% รู้สึกก้ำกึ่ง ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ทีมทรูโด หรือทีมรัฐมนตรีที่ลาออกดี
ผลการพิจารณากรรมาธิการด้านจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎรของแคนาดา ได้สรุปแล้วว่า ทรูโด ได้ทำลาย ‘หลักจริยธรรม’ โดยสิ้นเชิงด้วยการใช้กลอุบายที่ไม่โปร่งใส เพื่อดิสเครดิตรัฐมนตรีและ ครม. ของตัวเอง นี่เป็นครั้งแรกที่ทรูโดถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง จนเขาต้องออกมายอมรับว่าแม้จะ ‘ผิดจริยธรรม’ นักการเมือง แต่ก็เป็นการผิดจริยธรรมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ อย่างไรก็แล้วแต่ ท่าทีครั้งนี้ไม่เป็นผลดีเอาเสียเลยกับภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ ‘คลีน’ มาโดยตลอด ความปั่นป่วนเหล่านี้ ยังส่งผลทำให้ทรูโดไม่สามารถเสนอเรื่อง ‘ปฏิรูประบบเลือกตั้ง’ เข้าไปในสภาฯ รอบนี้ได้ เพราะต้องคอยแก้ปัญหาวุ่นๆ เหล่านี้จนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น
สี่ปีของทรูโดกำลังจะครบเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคมแน่นอน ภาพของพรรคลิเบอรัลเริ่มจะดึงดูดชาวแคนาเดียนน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นพวกหัวเอียงซ้าย หรือเอียงขวา แอนดรูว์ เชียร์ ผู้นำพรรคคนใหม่จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และเป็นคู่แข่งคนสำคัญก็ไม่ได้อายุมากนัก ปีนี้เชียร์อายุ 40 และวางนโยบายดึงแคนาดากลับมาอยู่ตรงกลางมากขึ้น หลังจากเอียงซ้ายในสมัยของทรูโด ไม่ว่าจะเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องชนพื้นเมือง หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม คล้ายกับประธานาธิบดีทรัมป์
แต่ก็ใช่ว่าในสมัยทรูโดทุกอย่างจะแย่ไปเสียหมด ชาวแคนาดาที่รักความเป็น ‘เสรีนิยม’ ยังได้เห็นผลงานที่น่าชื่นใจอยู่ไม่น้อย นายกฯ คนหนุ่มมีเรื่องเชิดหน้าชูตาตั้งแต่การช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 4.4 หมื่นคน ให้สามารถเข้ามาตั้งรกรากในแคนาดา เขาสร้างระบบสวัสดิการให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 และครอบครัวที่ยากจนทั่วประเทศ จนทำให้ตัวเลขความยากจนของแคนาดาลงต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 ตัวเลขประชากรแคนาดาที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนก็หายไปกว่า 8 แสนคน จาก 4.2 ล้านรายในปี ค.ศ.2015 เหลือเพียง 3.4 ล้านคน ในปี ค.ศ.2017 ขณะเดียวกัน เรื่องการขึ้นภาษีกลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศ และลดภาษีให้กับชนชั้นกลาง ก็ประสบความสำเร็จในยุคนี้
ปัญหาก็คือ ภาพความมัวหมองเรื่องคอร์รัปชั่น และนโยบายต่างประเทศ ยังคงปกคลุมเงาของทรูโด
เพียงสี่ปีเศษ ภาพของความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ถูกสร้างกระแสอย่างเข้มข้นโดยทีมงานมืออาชีพ จนทำให้เขาชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้หายไปแล้ว ทรูโดในวัย 47 ปี อาจจะยังดูเป็นคนหนุ่มที่หัวสมัยใหม่และไฟแรง แต่คำถามก็คือ ความใหม่จะขายได้อีกนานแค่ไหนสำหรับนักการเมืองที่ได้รับโอกาสเป็นนายกฯ มาแล้วนานถึง 4 ปี และมีภาพของความล้มเหลวบางเรื่องติดตัวไปแล้ว
เพราะการเป็นนายกฯ ไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘ภาพ’ เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใช้ภาพของการเป็นนักบริหาร ทั้งศาสตร์และศิลป์ เรื่องการจัดการคน การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ และกึ๋นที่มากพอในการมองนโยบายภาพรวม ขณะเดียวกัน เมื่อระบบการเมืองอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ก็ยังต้องทำงานกับรัฐสภาที่มีจุดยืนแนวคิดที่หลากหลาย ให้สามารถทำสิ่งที่อยากทำ รวมถึงทำสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ได้ตลอดรอดฝั่ง ข้อดีอย่างหนึ่งของเขาที่สื่อมวลชนแคนาดามองก็คือ แม้ทรูโดจะถูกกล่าวหาว่าอุ้มบริษัทไหนอย่างไร ก็ไม่เคยถูกข้อครหาว่าไปแทรกแซงรัฐสภา หรือใช้อำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม
คาดว่าการเลือกตั้งใหญ่ของแคนาดา จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม ผลโพลล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทรูโดทิ้งห่างคู่แข่งจากพรรคคอนเซอเวทีฟ เพียง 3% แต่เมื่อรวมกับเสียงจากพรรคอื่นก็ยังมีโอกาสได้ตั้งรัฐบาลสูงกว่าอีกฝ่าย
แน่นอน การเลือกตั้งในประเทศเล็กๆ ครั้งนี้จะมีความหมายกับประชาคมโลกเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นบทพิสูจน์ว่า สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยและคุณค่าความเป็น ‘เสรีนิยม’ ไปจนถึงการมองคนเท่ากัน จะยังคงมีความหมายอยู่หรือไม่ ในเวลาที่ทั่วโลกกำลังเอียงขวากันหมด