ถึงแม้ว่าจะยังก้าวไม่พ้นปี พ.ศ. 2560 แต่ท่านผู้นำของประเทศก็อุตส่าห์ขยันทำงาน ควบคู่ไปกับการแสดงอะไรที่เรียกว่า ‘วิสัยทัศน์’ ด้วยการมอบ ‘คำขวัญวันเด็ก’ ประจำปี พ.ศ. 2561 ให้กับเด็กๆ ชาวไทยทุกคน โดยคำขวัญประจำปีหน้า ที่ใกล้จะถึงนี้ก็คือ
“รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”
น่าปลื้มใจแทนเด็กๆ ของเรานะครับ ที่ท่านผู้นำของประเทศไม่ลืมที่จะคิดถึงพวกเขา แถมยังคิดถึงล่วงหน้านานหลายสัปดาห์เลยทีเดียว ขนาดเรื่องเล็กๆ ท่านยังขยันขันแข็ง จนทำงานได้รวดเร็วถึงเพียงนี้ สารพัดเรื่องใหญ่อื่นๆ ท่านก็คงจะขยันทำได้ไม่แพ้กัน อีกไม่นานท่านก็คงจะทำตามสัญญาได้อย่างที่ท่านผู้นำเคยกลั่นความในใจแล้วเขียนออกมาเป็นเพลงที่เราคุ้นหูกันดีแน่ (สู้ๆ นะครับท่าน ผมเชื่อว่าประชาชนอีกมากมายระดับมวลมหาประชาชน จะต้องปลื้มปริ่มที่ท่านอุตส่าห์เจียดเวลามาคิดคำขวัญวันเด็กแต่เนิ่นๆ และยังคงเป็นกำลังใจให้ท่านแน่)
สำหรับ ‘วันเด็กไทย’ ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันว่าเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ที่สอง ของเดือนมกราคม ในแต่ละปีนั้น แต่เดิมรัฐไทยก็ไม่ได้จัดตรงกับวันที่ว่าเสียหน่อย เพราะเมื่อแรกเริ่มที่คิดจะให้มีเทศกาลวันเด็ก เขาก็เลือกจัดกันในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต่างหาก เพิ่งเลื่อนมาจัดตรงกับทุกวันนี้เอาก็เมื่อปี พ.ศ. 2508 เท่านั้นเอง
ส่วนสาเหตุที่เลื่อนวันเด็กจากช่วงปลายปีให้มาเป็นต้นปีนั้น ก็ยังคงเป็นปัญหาดำมืดสำหรับผมอยู่ เพราะก็ค้นไม่เจอเสียทีว่าทำไม ทำไม และทำไม? (ที่จริงมีคนอธิบายเอาไว้ว่าเพราะตรงกับช่วงหมดฝน และตรงกับวันหยุดราชการ แต่จะใช่เหรอ?) แต่นั่นก็คงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญเท่าไหร่นักในเมื่อวันเด็กของแต่ละชาติ เขาก็จัดไม่ค่อยจะตรงกันอยู่แล้ว
‘วันเด็กนานาชาติ’ (International Children’s Day) เกิดขึ้นครั้งแรกตามข้อตกลงในการประชุมระดับโลกเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก (The World Conference for the Well-being of Children) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2463 โน่นเลย ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า เป็นเพราะเจ้าข้อตกลงนี้แหละ ที่ทำให้สารพัดประเทศที่อยากจะโชว์ความเป็นอารยะของตนเอง รวมไปถึงประเทศไทยด้วย (เอิ่ม ถึงแม้ว่าจะรอกันถึง 36 ปีเลยก็เหอะ)
เริ่มแรกในข้อตกลงข้างต้นนี้ ได้กำหนดว่าให้ ‘วันเด็กนานาชาติ’ นั้นวางตัวลงบนปฏิทินที่ทุกวันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี แต่ดูเหมือนว่าในท้ายที่สุดแล้ว จะมีก็เพียงแต่ประเทศในโลกค่ายคอมมิวนิสต์เท่านั้น ที่จัดให้มีวันเด็กตรงกับวันดังกล่าว
ส่วนบรรดาประเทศในโลกค่ายประชาธิปไตย ได้กำหนดให้มี ‘วันเด็กสากล’ (Universal Children’s Day) ขึ้นในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ตามมติของสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2507 ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่ในยุคสงครามเย็น เยอรมันทั้งสองซีกคือ เยอรมันตะวันออก และเยอรมันตะวันตก จะจัดวันเด็กไม่ตรงกันในปฏิทิน ก่อนที่จะรวมกลับเข้าด้วยกันแล้วเลือกใช้วันที่ 20 กันยายน เป็นวันเด็กตามอย่างประเทศเยอรมันตะวันตก ที่อยู่ข้างโลกประชาธิปไตย
(ส่วนของไทย ทั้งที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 กลับกำหนดให้มีวันเด็กไม่ตรงกับทุกฟากค้ายมันซะอย่างนั้น?)
แต่ว่าในท้ายที่สุดแล้วเด็กๆ ไม่ว่าจะในประเทศซีกข้างไหน ก็ไม่เคยได้เลือกวันเฉลิมฉลองของตัวเองกันหรอกนะครับ ‘กองทัพ’ เป็นคนเลือกให้ทั้งนั้นแหละ
ในประเทศที่ดูเหมือนว่า จะมี ‘วันเด็ก’ เป็นของตัวเองมาก่อนอย่างประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็มีความยูนีค ชิคๆ ในแบบของตัวเองเข้าไปอีก
แน่นอนว่า ในญี่ปุ่นนั้นมีเทศกาลวันเด็กมาแต่โบราณ (แต่เมื่อสืบดูก็จะรู้ได้ว่าไม่ได้โบราณมากนัก เป็นเทศกาลที่ค่อยๆ กลายมาจากพิธีกรรมอื่นๆ แล้วค่อยปรับมาเป็นวันเด็กในช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะปฏิรูปตนเองให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ไม่นานนัก ตรงกับราวๆ ช่วงปลายอยุธยาในไทย) โดยแบ่งออกเป็น ‘วันเด็กผู้หญิง’ กับ ‘วันเด็กผู้ชาย’
วันเด็กผู้หญิงจะจัดขึ้นทุกวันที่ 3 มีนาคม ของทุกๆ ปี ในงานเฉลิมฉลองจะจัดให้มีการตั้งโชว์ตุ๊กตาชาววัง ในเครื่องแต่งกายยุคโบราณ ชุดใหญ่ไว้ภายในบ้านของคุณหนูๆ ส่วนวันเด็กผู้ชายตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม โดยจะมีการแขวนธงรูปปลาคาร์ฟเอาไว้ที่บ้านแล้ว ยังมีการไหลเรือมังกร การบูชาตุ๊กตานักรบหรือ ‘ซามูไร’ ซึ่งโดยมากมักถือว่าคือนักรบจอมพลัง ในปรัมปราคติของญี่ปุ่นที่ชื่อ คินทาโร่ การกินขนมโมจิที่ห่อด้วยใบโอ๊คหรือใบไผ่ และการอาบน้ำร้อนที่หอมกรุ่นไปด้วยดอกไอริสที่ลอยฟ่องอยู่เต็มอ่าง
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ญี่ปุ่นได้มีการประกาศให้ทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เป็น ‘วันเด็กแห่งชาติ’ (Kodomo no hi) เป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2491 หรือนับเป็นเวลาเพียง 3 ปีหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงที่พวกเขากำลังพยายามเร่งสร้างและกอบกู้ความยิ่งใหญ่ให้กับอะไรที่เรียกว่า ‘ชาติ’ ขึ้นมาใหม่
ใช่ครับใช่ วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันเดียวกับ ‘วันเด็กผู้ชาย’ ตามคติเดิมของพวกเขาเอง และคำว่า ‘วันเด็กแห่งชาติ’ นั้นไม่ใช่วันเด็กเฉพาะของผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้กระทั่ง LGBTQ เพศไหนก็ได้
และก็ใช่อีกเหมือนกันที่พวกเขาไม่ได้เลือกให้ ‘วันเด็กผู้หญิง’ เป็น ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ในประเทศที่จิตวิญญาณของซามูไรเป็นเกียรติยศสำคัญ
ที่จริงแล้วก็ไม่แปลกอะไรนะครับ เพราะถ้าสืบดูดีๆ แล้วก็มันก็มีเรื่องชวนให้คิดว่า มันก็คล้ายๆ กับการที่รัฐไทยจัดให้มีวันเด็กในครั้งแรกนั่นแหละ เห็นได้ชัดเจนแบบ Full HD จนแทบจะทิ่มตาจากข้ออ้างในการจัดวันเด็กครั้งแรกของไทยที่ว่า
“เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ”
แน่นอนนะครับว่า บทบาทที่รัฐต้องการให้เด็กๆ เห็นความสำคัญถูกรัฐกระตุ้นผ่าน เก้าอี้นายกรัฐมนตรี รถถัง เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘คำขวัญวันเด็ก’
พ.ศ. 2499 เป็นปีแรกที่รัฐบาลของจอมพล ป. กำหนดให้มีคำขวัญวันเด็ก โดยมีคำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” วิธีการอย่างนี้เป็นวิธีการเดิมๆ อย่างเดียวกับที่จอมพล ป. นิยมกระทำด้วยการสร้างมอตโต้ หรือสโลแกนต่างๆ อย่าง “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
แม้ว่าปี พ.ศ. 2499 จะเป็นปีแรกและปีสุดท้ายที่จอมพล ป. ได้มอบคำขวัญแห่งแก่เด็กๆ แต่รัฐบาลทหารในยุคต่อๆ มาไม่ว่าเป็นสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร หรือแม้กระทั่งในยุคหลังที่รัฐบาลไม่ถูกปกครองโดยเหล่าจอมพล และตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ที่ก็วนลูปมาการเป็นรัฐที่ถูกปกครองโดยพี่ๆ ทหาร คำขวัญต่างๆ ก็ยังวนเวียนอยู่กับการอุทิศตนเองให้แก่ชาติ ความสามัคคี และส่วนรวม
เอาเข้าจริงแล้ว ‘คำขวัญวันเด็ก’ จึงเป็นอนุสรณ์เตือนใจเราอยู่เสมอว่า ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองแบบเสนาธิปไตยยังคงอยู่คู่สังคมไทยเสมอ และไม่เคยจากเราไปไหนเลยแม้เพียงสักก้าวเดียว