ครับ ผมไปทำหน้าที่เลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมที่เพิ่งผ่านมา แม้อากาศวันนั้นจะร้อนจัดชวนวิงเวียนเจียนหน้ามืดเป็นลมล้มพับ แต่สองตาก็เล็งเห็นชัดเจนว่าประชาชนจำนวนมากฝากความหวังของตนไว้บนบัตรเลือกตั้ง พวกเขาพวกเธอทั้งหลายจึงพากันเดินทางมาเข้าคูหาอย่างล้นหลามจนหลายคนอดมิได้ที่จะเอ่ยปากถึงกระแสความตื่นตัวของชาวไทยต่อการเลือกตั้งคราวนี้ อาจเป็นไปได้ทีเดียวในเหตุผลที่ว่าคงเพราะบ้านเมืองของเราห่างเหินกิจกรรมเช่นนี้นานครัน
หากว่ากันด้วยกระแสความตื่นตัวต่อการเลือกตั้งแล้ว อันที่จริง ปรากฏให้เห็นนับแต่เมื่อคราวจัดการเลือกตั้งครั้งแรกสุดของไทยในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 นั่นแหละ ตอนนั้น มีผู้ให้ความสนอกสนใจมากมายยิ่งนัก เนื่องจากช่างเป็นอะไรแปลกใหม่เหลือเกิน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เกิดความคิดใคร่ลองสมัครเป็นสมาชิสภาผู้แทนราษฎร ดูเหมือนพวกเขาขะมักเขม้นทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้อย่างจริงจัง พากันเตรียมตัวอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองและการเลือกตั้งเสียยกใหญ่ หนังสือประเภทนี้ก็พลอยขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า เครื่องยืนยันคือโฆษณาตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับที่ดาษดื่นด้วยกรอบประกาศขายหนังสือความรู้หรือหนังสือคู่มือสำหรับผู้สนใจการเลือกตั้งหรือปรารถนาจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หลวงวิจิตรวาทการเป็นบุคคลหนึ่งที่ลงโฆษณาขายหนังสือ ประวัติศาสตร์สากล ผลงานของเขาลงในหนังสือพิมพ์ของเขาเองอย่าง ดวงประทีป ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2475 โดยพาดพิงการเลือกตั้ง โปรยถ้อยคำว่า “เพื่อรัฐบาลใหม่ โอกาศของท่านที่เตรียมตัวรับเลือกเปนผู้แทนราษฎร” และให้เหตุผลสมทบอีก “ถ้าท่านเปนผู้แทนราษฎรในสภา ท่านจะต้องรู้ประวัติศาสตร์อย่างดีเพื่อความสะดวกและเปนโอกาศของท่าน…”
ระบอบประชาธิปไตยได้กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยหลงใหล พวกเขาผูกพันกับการเลือกตั้งพอสมควร ห้วงยามใดที่บ้านเมืองห่างเหินหรือห่างหายการได้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนไปนานๆ ก็จะมีการส่งเสียงแสดงความปรารถนาเลือกตั้งแว่วมาเนืองๆ
เฉกเช่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ความที่ประเทศไทยตกอยู่ในสมรภูมิทำให้มีการขยายอายุสภาถึงสองหนระหว่างปีพุทธศักราช 2485-2487 และพุทธศักราช 2487-2489 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดเดิมจึงสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งยาวนาน แต่กระนั้น ชาวไทยก็ยังโหยหาการเลือกตั้งที่ขาดหายไปหลายปี กระทั่งพระภิกษุรูปหนึ่งนาม ส.กิตติสาโร อดทนแทนชาวบ้านญาติโยมไม่ไหว จึงตัดสินใจเขียนลิขิต (จดหมาย) หลังไปรษณียบัตรลงวันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2485 ส่งตรงถึงจอมพล ป. พิบูลสงครามขอให้มีการเลือกตั้งผู้แทนสักทีในช่วงต้นปีพุทธศักราช 2486 มีใจความดังนี้
ท่านจอมพล (ผู้นำไทย) นายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉันเห็นควนว่า ให้ท่านได้กรุนาเสกปัดเป่าไปจนถึงรึดูแล้งคือในระหว่างมีนา-เมสาจะดีมาก เพราะสะดวกแก่พวกชาวไร่-นาวชาซึ่งจะได้ไปใส่บัตร์ได้โดยทั่วหน้ากันโดยสะดวก เพราะเป็นเวลาที่กำลังว่างการงานกันโดยมาก กับทั้งการเดินลัดตัดทุ่งนาก็สดวกดาย
ขอแสดงความนับถือ
ส.กิตติสาโร
วัดป่า (วัดอรัญญิกาวาส) ชลบุรี
*ผู้รับหนังสือนี้ขอได้เสนอท่านผู้นำให้จงได้ ถ้าระงับเสีย ท่าคือทรยสกิจชาติโดยปริยาย
(เนื้อความจดหมายนี้ ผมได้รักษาตัวอักษรตามเอกสารต้นฉบับ นั่นคือยึดตามลักษณะภาษาไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่แก้ไขถ้อยคำที่เขียนผิด เช่นที่เขียน ‘ชาวนา’ ผิดพลาดเป็น ‘นาวชา’)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นชื่อที่ใครหลายคนรู้จักคุ้นเคยดีในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้ครองตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลเนิ่นนานหลายปี แทบจะกล่าวได้ว่าเกือบตลอดทศวรรษ 2480 เมืองไทยอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลจอมพลผู้นี้ ซึ่งเขาก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2481 จนถึงพ้นกลางปีพุทธศักราช 2487 และนับแต่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481 เป็นต้นมาก็ไม่มีการเลือกตั้งในขณะที่จอมพล ป. เป็นผู้นำเลย กว่าประชาชนจะได้มาเลือกตั้งอีกหนเป็นครั้งที่ 4 ในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พุทธศักราช 2489 ก็เป็นสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ส่วนการเลือกตั้งครั้งที่ 5 ในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พุทธศักราช 2489 ก็ตรงกับสมัยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์
อย่างไรก็ดี จอมพล ป. พิบูลสงครามหวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2491 ซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 ทั้งๆ ที่ระหว่างนั้นมีการเลือกตั้งในวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พุทธศักราช 2491 ผลการเลือกตั้ง นายควง อภัยวงศ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่ากลับถูกคณะรัฐประหารบีบบังคับให้พ้นตำแหน่งแล้วให้จอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ตลอดทศวรรษ 2490 จวบจนข้ามกึ่งพุทธกาล (พุทธศักราช 2500) จอมพล ป. จึงครองสถานะท่านผู้นำเรื่อยมา แต่รัฐบาลของจอมพลสมัยหลังมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนกึ่งพุทธกาลสองหน ได้แก่การเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2492 และการเลือกตั้งในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2495
พุทธศักราช 2498 คือปีที่สำคัญในทางการเมือง ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงครามเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ไปพำนักอยู่สามสัปดาห์มาถึงเมืองไทย เขาก็เริ่มสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ช่วงเวลานี้เอง สิ่งที่เรียกว่า ‘ไฮด์ปาร์ก’ หรือการปราศรัยหาเสียงพลันปรากฏรูปโฉม ผู้ที่นำเข้ามาจะใครที่ไหนถ้าไม่ใช่จอมพล ป. โดยอ้างว่าเพื่อให้เหมือนในดินแดนแม่แบบประชาธิปไตยเยี่ยงประเทศอังกฤษ
อ้อ! ต้องเล่าเสริมสักนิด เดิมทีวิธีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งในเมืองไทยนั้น ต่อให้มีสารพัดรูปแบบ แต่มิค่อยได้มุ่งเน้นวิธีการปราศรัยหาเสียงเหมือนกับที่เราๆ ท่านๆ พบเห็นกันในปัจจุบันนี้หรอก ผมคิดว่าการปราศรัยหาเสียงน่าจะเพิ่งเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 เมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 หรือจะเรียก ‘เลือกตั้งกึ่งพุทธกาล’ ก็ตามที ภายหลังที่มีการ ‘ไฮด์ปาร์ก’ บ่อยๆ ในเมืองไทย อย่างเช่นบริเวณสนามหลวง และดาวไฮด์ปาร์กฝีปากกล้าแจ้งเกิดหลายคนแล้ว มิเว้นกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามแห่งพรรคเสรีมนังคศิลา อดีตผู้นำรัฐบาลชุดก่อนก็ได้ออกปราศรัยหาเสียงด้วยตนเองหลายหน
เอาเป็นว่า ณ บัดนี้ ผมจะพาคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปร่วมสัมผัสบรรยากาศการปราศรัยหาเสียง โดยเน้นเฉพาะกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงครามในบางส่วนให้พอหอมปากหอมคอสัก 2 ตัวอย่าง
ตัวอย่างแรก ในวันที่ 20 มกราคม พุทธศักราช 2500 ประมาณหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงครามได้นำคณะพรรคเสรีมนังคศิลาไปปราศรัย ณ โรงงานยาสูบ แถวถนนตก โดยกล่าวถึงสรรพคุณรัฐบาลชุดของตนที่บันดาลให้ชาติไทยเจริญรุ่งเรือง เช่น สร้างถนนหนทางขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งหากได้เป็นรัฐบาลอีกสมัยก็จะขยายโครงการต่อไปอีก เรื่องหนึ่งที่จอมพล ป. เน้นย้ำที่สุดคือ ในสมัยรัฐบาลชุดของตนนั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่งกายกันงดงามมาก ที่แน่ๆ สมัยรัฐบาลของจอมพล ผู้หญิงจะไม่สวมเสื้อในตัวเดียวเดินโทงๆ ตามถนนแบบในอดีต แต่กว่าพวกหล่อนจะออกมาเดินได้ ต้องสวมกระโปรงซับนอกซับใน แถมยังสวมยกทรงหรือบราเซียด้วย เหล่านี้ย่อมแสดงว่าบ้านเมืองของเราเจริญขึ้นยิ่งยวด ครั้นพวกกรรมกรที่พากันมาชูป้ายและโบกธงสะบัดกวัดไกวได้ฟังน้ำคำอดีตท่านผู้นำ ต่างไชโยโห่ร้องต้อนรับกันอึกทึกกึกก้อง
ตัวอย่างที่สอง เป็นอีกสิบวันถัดมาคือวันที่ 30 มกราคมปีเดียวกัน นอกเหนือจากจอมพล ป. พิบูลสงครามแจกไม้ขีดไฟแก่ประชาชนเพื่อหาเสียง อดีตท่านผู้นำพร้อมคณะพรรคเสรีมนังคศิลาได้ไปปรากฏตัว ณ ชุมนุมสันนิบาตมุสลิมที่สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งการปราศรัยของจอมพลรอบนี้เรียกเสียงเฮฮาเกรียวกราวเพราะเน้นพูดติดตลกตลอด ดังเขากล่าวว่าตนเองจะสนับสนุนศาสนาอิสลามอย่างเต็มที่และจะส่งเสริมชาวมุสลิมให้ไปนครเมกกะห์มากขึ้น นอกจากนั้นจะช่วยเรื่องการจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านให้อยู่ ใช่เพียงเจื้อยแจ้วเจรจา จอมพลยังจัดข้าวหมกไก่มาแจกจ่ายแก่พี่น้องชาวมุสลิมด้วย อีกทั้งเอื้อนเอ่ยทำนองว่าที่ได้จัดข้าวหมกไก่มาเลี้ยงวันนี้ ก็เพื่อต้องการให้ทุกคนอยู่ดีกินดี เพราะข้าวหมกไก่กินแล้วจะมีสุขภาพดีนัก
คราวเดียวกันนี้ จอมพล ป. ถือโอกาสแนะนำสมาชิกคนอื่นๆ ในพรรคเสรีมนังคศิลาด้วย เช่นเอ่ยถึงพันตรีรักษ์ ปันยารชุนว่า “ลูกเขยของผมคนนี้ แต่แรกคิดว่าจะคบกันไม่ได้เสียแล้ว…” พอชาวมุสลิมฟังเข้าก็เฮฮา มิหนำซ้ำ อดีตท่านผู้นำได้เรียกตัวพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์มาใกล้ๆ เพื่อให้พี่น้องชาวมุสลิมทำความรู้จักโดยกล่าวว่า “ใครๆ ก็ว่าคุณเผ่าดุ ผมไม่เห็นว่าจะดุที่ตรงไหนเลย คุณเผ่าใจดีออกจะตายไป” และบอกต่อไปอีก “ถ้าคุณเผ่าไปรังแกใครละก้อให้ข่วยบอกผมทีเถอะ ผมจะต่อยให้…” เท่านั้นล่ะ พี่น้องมุสลิมเสียงลั่นหัวเราะรัวๆ
อนึ่ง ในการตระเวนไปปราศรัยหาเสียงของคณะพรรคเสรีมนังคศิลา บางครั้งประชาชนที่มารับฟังก็ตะโกนถามข้อกังขาคาใจ เช่นคราวหนึ่ง นายเลียง ไชยกาลได้ถูกชาวบ้านร้องถามเกี่ยวกับการที่นายเลียงเคยสังกัดมาแล้วถึงสามพรรคการเมือง ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน และพรรคเสรีมนังคศิลาไปในทำนอง “ผู้แทนสามพรรค ชายสามโบสถ์ หญิงสามผัว โบราณท่านว่าอย่างไร” โดยขอให้นายเลียงช่วยอธิบาย แต่นายเลียงอึกอักพร้อมไปหยิบยกประวัติศาสตร์การเมืองมาเล่าแทน หรือข้าราชการกระทรวงผู้หนึ่งที่ไปร่วมปราศรัยหาเสียงให้พรรคเสรีมนังคศิลา ก็ถูกชาวบ้านตะโกนถามว่า “เป็นข้าราชการประจำแล้วออกมาช่วยหาเสียงผิดไหม ?…”
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 นั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามหมายมั่นจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล ทว่าเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา โดยพรรคเสรีมนังคศิลาได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ก็แว่วยินเสียงประณามให้เป็น ‘การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์’ ซึ่งทางจอมพล ป. ได้ชี้แจงแก่หนังสือพิมพ์ว่า อย่าเรียกการเลือกตั้งสกปรกเลย ควรจะเรียกเเป็น ‘การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย’ เสียมากกว่า
เล่าเพลินๆ มายืดยาว ท้ายทึ่สุดนี้ คงขอเน้นย้ำอีกสักหนว่า คุณผู้อ่านที่ยังมิได้เข้าคูหา ก็อย่าลืมไปเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2562 นะครับ ส่วนท่านใดนึกปรารถนาเยี่ยมชมความงดงามของวัดคูหาสวรรค์ กระซิบบอกเลยในเมืองไทยมีวัดชื่อนี้อยู่หลายแห่ง ใกล้แถวไหนแวะไปแถวนั้นโลด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- หจช.สร. 02010.40/1599 ส. กิตติสาโร ร้องขอไห้มีการเลือกตั้งผู้แทนไนเดือนมีนาคม (พ.ศ. 2485)
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500. กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544
- ไทยน้อย และ รุ่งโรจน์ ณ นคร. เลือกตั้งกึ่งพุทธกาล. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐสิน, 2500
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553