14 กรกฎาคม นอกจากเป็นวันชาติฝรั่งเศสแล้ว วันนี้ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนสำคัญของไทยอีกด้วย
ผู้ศึกษาและสนใจการเมืองไทย คงจะรู้จักจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะรูปแบบความทรงจำแบบใด ทั้งทหาร นายกรัฐมนตรี ผู้สร้างชาติ สร้างวัฒนธรรม ที่ผ่านมามีการศึกษาจอมพล ป.พิบูลสงคราม กันมากมายหลากหลายประเด็น รวมทั้งมรดกทางการเมือง วัฒนธรรม และสังคม ที่จอมพล ป. ได้ทิ้งไว้ให้เห็น
ในโอกาสนี้เลยขอนำเสนอแง่มุมประเด็นท่าทีของจอมพล ป.ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านคำว่า “วัธนชัย” อันหมายถึงชัยชนะอันถาวรยืนยงอยู่คู่ฟ้าดิน เป็นอุดมคติสูงสุด[1] ซึ่งคำว่า “วัธนชัย” นี้ยังสะท้อนบทบาทความหวังและความฝันของจอมพลที่เลือนหายไปเสียแล้วในยุคปัจจุบัน
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เหมือนกับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ที่นิยมใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามมีโอกาสปราศรัยผ่านทางสื่อวิทยุเพื่อเผยแพร่เนื้อหาปลุกใจคนไทยให้ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ เยอะกว่าสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงครามได้นำประเทศไทยจับมือเป็นมหามิตรฝ่ายอักษะร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ยิ่งเมื่อกองทัพแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิผนวกดินแดนอาณานิคมในเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ชาติตะวันตกเจ้าของอาณานิคมต่างแตกพ่าย แม้กระทั่งฐานทัพเรือที่ฮาวายของสหรัฐอเมริกายังย่อยยับ วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาถูกสถาปนาขึ้น ทำให้ประเทศไทยมหามิตรญี่ปุ่นได้รับความชอบธรรมและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น
สถานการณ์ในขณะนั้นทำให้อำนาจของจอมพล ป.เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกเพราะประเทศต้องเข้าสู่สงคราม มีการควบคุมสื่อมวลชนเพื่อตรวจสอบเนื้อหา จนสุดท้ายสื่อมวลชนในยุคนั้นกลายเป็นกระบอกเสียงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียเอง
ช่วงเวลาดังกล่าวจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยึดและเป็นผู้ผูกขาดการสร้างจินตกรรมความเป็นชาติใหม่ โดยผูกโยงความภาคภูมิใจของคนไทยกับการชนะศึกของกองทัพในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านการปราศรัยผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง
10 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2485 จอมพล ป. พิบูลสงครามนำพาประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลก ภายใต้ชัยชนะและความสำเร็จของกองทัพ จอมพล ป. ได้ปราศรัยกล่าวถึงคำว่า วัธนชัยเคียงคู่กับคำว่าวัฒนธรรม อยู่เสมอ
ในการปราศรัยผ่านทางสื่อวิทยุกระจายเสียงนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามเน้นย้ำถึงสภาวะสงครามที่ประเทศไทยต้องเผชิญ มีการชี้แจงว่าประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงสงครามได้ ต้องเผชิญหน้าสงครามอย่างนักรบผู้กล้าหาญ[2] เพื่อให้ชาติดำรงเอกราชไปได้[3] โดยจอมพล ป. ยังเน้นย้ำบทบาทของกองทัพมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการบุกยึดดินแดนเชียงตุง ที่ถือเป็นการใช้กำลังทหารอันแสดงถึงประสิทธิภาพของกองทัพอย่างยิ่ง[4] และความภาคภูมิใจในการได้ดินแดนดังกล่าวยังสะท้อนถึงราชอาณาจักรไทยอันยิ่งใหญ่ โดยการได้ดินแดนดังกล่าวมานี้ จอมพล ป. ได้กล่าวว่า
“ทำเพื่อคืนกลับสู่ความเป็นไทยร่วมในราชอาณาจักรไทย ชาวไทยควรภูมิใจในผลงานของชาติไทยสมตามอุดมการณ์”[5]
โดยจอมพล ป. เน้นว่า การได้ดินแดนเชียงตุงถือเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลไม่แพ้การได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาเลยทีเดียว และถือเป็นอุดมการณ์สำคัญในการใช้กองทัพยึดครองดินแดนให้กับประเทศไทยได้มีดินแดนมากขึ้น ซึ่งจะได้เป็นมหาอำนาจในที่สุด
นอกจากนี้ จอมพล ป. พิบูลสงครามยังเน้นย้ำกับประชาชนถึงหน้าที่ในการสนับสนุนกองทัพที่กำลังทำสงครามช่วงชิงดินแดนตามนโยบายสร้างชาติของรัฐบาล มีการกล่าวถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ว่า เป็นการสละเป็นชาติพลี ครอบครัวต้องยอมเสียสละทุกอย่าง ประชาชนต้องรวมใจต่อสู้กับความยากลำบากจากสงคราม[6]
จอมพล ป. พิบูสงครามยังได้ชี้แจงถึงการเข้ามารุกรานของญี่ปุ่นต่อประชาชนในวันชาติอีกด้วย โดยอธิบายว่า บางคนกลัวว่าการที่ญี่ปุ่นเข้ามานั้น เป็นการมาเพื่อยึดครอง จนทำให้สูญเสียเอกราชที่บรรพบุรุษกอบกู้มานาน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นต่างมีความเข้าใจกันและกัน ไว้วางใจกันอย่างมิตร ดังนั้น ขอให้ประชาชนร่วมกันสนับสนุนรัฐบาล ทำตามคำแนะนำของรัฐบาล
การปลุกใจให้ประชาชนรักชาติโดยการเชื่อฟังรัฐบาลนั้น จะทำให้ประเทศได้รับชัยชนะตลอดไป จอมพล ป. พิบูลสงครามเรียกชัยชนะลักษณะนี้ว่า “วัธนชัย” ซึ่งจะต้องคู่กับ “วัธนธัม” ด้วย[7]
อันมีผลให้ชาติไทยยิ่งใหญ่ไปโดยไม่มีขอบเขตจำกัด
ความยิ่งใหญ่แห่งวัธนชัยได้รับการสานต่อเนื่องมาถึง พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงครามยังคงเน้นและตอกย้ำให้ประชาชนทุกคนมีน้ำใจเป็นใจเดียวกันเพื่อบรรลุวัธนชัยอันเป็นอุดมคติที่หมายปลายทางร่วมกันจงทั่วทุกคน[8] โดยให้ประชาชนปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล รีบเล่าเรียนเขียนอ่านให้มาก และทำตามคำแนะนำของราชการ[9]
ในภาวะสงครามนี้ได้สร้างความยากลำบากให้กับประเทศไทยอย่างยิ่ง จอมพล ป. พิบูลสงครามเปรียบเทียบความยากลำบากนี้ว่าไม่เคยพบมาก่อนในประวัติการณ์ของชาติไทย
“ยากยิ่งกว่าผู้ชราสนเข็มยามดึก แต่ถ้าเส้นด้ายที่จะร้อยเข้าในรูเข็มนั้นไม่แตกแยกเป็นหลายเส้นแล้ว หากผู้ร้อยเข็มจะชราเพียงได และจะดึกมืดเพียงไดก็ตาม ถ้ามีความพยายามมานะอดทนทำไป ที่สุดการร้อยเข็มยามดึกของผู้ชราก็ต้องสำเร็จอย่างไม่มีใครจะกล้าเถียงได้”[10]
ความร่วมแรงร่วมใจปลุกย้ำคนไทยให้หวังถึง “วัธนชัย” ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ถูกตอกย้ำผ่านการปราศรัยของนายกรัฐมตรีอย่างต่อเนื่อง เร้าอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยต่อการเผชิญหน้าในภาวะสงคราม โดยมีการจินตกรรมว่าประเทศไทยจะเป็นมหาอำนาจและชาติที่ยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ดีเมื่อถึงปี พ.ศ. 2487 ฟองสบู่ความหวังนี้ก็แตกกระจาย เมื่อทิศทางของสงครามเปลี่ยนไป ชาติสัมพันธมิตรสามารถเก็บชัยชนะในสมรภูมิต่างๆ ทั่วทั้งโลก ฝ่ายอักษะเพลี่ยงพล้ำ ทิศทางของประเทศไทยที่จอมพลนำไปผูกไว้กับญี่ปุ่นเกิดการสั่นคลอนครั้งใหญ่ จอมพล ป. พิบูลสงครามแสดงความหวั่นไหวว่าประเทศไทยอาจจะแพ้สงครามโลกถึงขั้นสิ้นชาติ ผ่านทางการปราศรัยในสื่อวิทยุได้อย่างชัดเจน
ในปี พ.ศ. 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้กลับมาให้ประชาชนยึดหลักรัฐธรรมนูญเน้นความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ[11] แทนการปราศรัยเร้าปลุกใจถึงวัธนชัย วัธนธัม ชาติไทยอันยิ่งใหญ่ที่จะกลายเป็นมหาอำนาจ ตอนนี้ประเทศไทยคือประเทศเล็กๆ เสียแล้ว[12] ไม่มีการกล่าวชื่นชมญี่ปุ่น ไม่กล่าวถึงการเสียสละของทหาร ไม่กล่าวถึงการได้ดินแดนเพิ่มเหมือนสองปีก่อนหน้านั้นอีกต่อไป
จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงขั้นร้องขอพระพุทธเจ้าได้โปรดเมตตากรุณาแก่ชาติไทยที่รักให้พันจากสรรพภัยพิบัติสมกับที่เป็นแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนาตลอดไปด้วย[13]
ในปีเดียวกันนี้เอง จอมพล ป. พิบูลสงครามยังได้กล่าวเป็นนัยหากฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ว่า หากชาติแตกสลาย คนไทยจะถูกปกครองด้วยคนชาติอื่น ชาติล่มจมต้องเป็นทาสของชาติอื่น
ดังนั้น ทางจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงอ้อนวอนให้คนไทยรักกันอย่างญาติมิตรทั้งชาติ อย่าแตกแยกกันเด็ดขาด แม้สุดท้ายผลของสงครามจะจบลงลักษณะใด หรือเลิกด้วยวิธีการใดก็ตาม ประชาชนต้องรักกันไว้ เพราะจะไปกันได้ด้วยดีเสมอ[14]
กลายเป็นว่า ในปี พ.ศ. 2487 จอมพล ป.พิบูลสงครามพลิกทิศทางประเทศไทยเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมืออย่างชัดเจน จากชาติมหาอำนาจมุ่งหวังถึงวัธนชัยอันยิ่งใหญ่ในช่วงเริ่มต้นสงครามโลก แต่เมื่อลมเปลี่ยนทิศ ใจคนก็เปลี่ยนตามมา บัดนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามตระหนักว่าประเทศไทยไม่ใช่มหาอำนาจแต่เป็นประเทศเล็กๆ ที่ประชาชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันมากกว่าจะไปหวังวัธนชัยอีกต่อไป
พ.ศ.2487 นี้เอง รัฐสภาได้ล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การเปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามได้อย่างหวุดหวิด ด้วยวีรกรรมของเสรีไทย และคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการไปเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ โดยเฉพาะบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างไทยรอดจากการสิ้นชาติมาได้
หากเทียบกับปัจจุบัน เมื่อกลับไปอ่านคำปราศรัยของจอมพล ป. ต้องยอมรับว่าความฝันของท่านที่หวังให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจนั้น ยิ่งใหญ่เอามากๆ เป็นความยิ่งใหญ่ที่ไม่คิดว่าครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราจะกล้าฝันได้ขนาดนี้ ไม่คิดว่ารัฐบาลไทยเคยมีความฝันนำพาประเทศเข้าลุยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดินแดนเพิ่มแล้วสร้างอุดมคติวัธนชัย ซึ่งเราเกือบจะได้มีชัยชนะตลอดกาลเสียแล้ว
และหากประวัติศาสตร์เปลี่ยนทิศ หรือมีคำว่า ‘ถ้า’ มาวันนี้เราอาจคุ้นหูกับคำว่าวัธนชัย พอๆ กับที่เราคุ้นหูกับคำว่าวัฒนธรรมในปัจจุบันก็เป็นได้
แต่ประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า ‘ถ้า’ และอดีตไม่เคยกลับลำหรือเปลี่ยนทิศ
วัธนชัยจึงมีอายุสั้นๆ เพียงแค่สองปีเท่านั้น จากนั้นวัธนชัยก็เลือนหายไป เหลือเพียงวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน และการหายไปของวัธนชัยนั้นก็นำไปสู่บทบาทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แม้ตัวจอมพล ป. เองจะกลับมามีบทบาทหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็ตาม
หากทว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลัง พ.ศ. 2490 กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนพ.ศ.2490 นั้น
ถึงจะเป็นคนเดียวกัน
แต่ก็ไม่ใช่จอมพล ป. พิบูลสงคราม คนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] คำปราสรัยของพนะ นายกรัถมนตรี แด่มวลชนชาวไทย เนื่องในอภิลักขิตสมัยงานฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน 2485,ราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 59 ตอนที่ 46 (7 กรกฎาคม 2485):1729.
[2] เรื่องเดียวกัน,1715.
[3] เรื่องเดียวกัน,1716.
[4] เรื่องเดียวกัน,1716.
[5] เรื่องเดียวกัน,1718.
[6] เรื่องเดียวกัน,1717.
[7] เรื่องเดียวกัน,1729.
[8] กรมโคสนาการ, คำปราสัยของพนะท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัถมนตรี ผู้นำของชาติ ในอภิลักขิตสมัยแห่งวันชาติ 24 มิถุนายน 2486 , พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ : พานิชสุภผล, 2486),46.
[9] เรื่องเดียวกัน,10.
[10] เรื่องเดียวกัน,2-3.
[11] ไทยใหม่,”คำของพิบูลสงคราม 24 มิถุนายน 2487 ฉบับที่ 169 วันที่ 27 มิถุนายน 2487,” หอสมุดแห่งชาติ,3.
[12] เรื่องเดียวกัน,8.
[13] เรื่องเดียวกัน,8.
[14] เรื่องเดียวกัน,8.