หลายท่านคงพอจะได้ผ่านตาเห็นข่าว ‘กฎหมายห้ามมีกิ๊ก’ ที่ท่านนายกตู่บอกว่า “พูดเล่นๆ” กันแล้ว แม้ในความเป็นจริง นายณรงค์ คงดำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะได้ออกมาแถลง (แบบเสียงไม่ดังเท่านายกตู่นัก) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า จริงๆ แล้วกฎหมายห้ามมีกิ๊กนี้มีอยู่จริง และ พรบ. ดังกล่าวก็กำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. แล้ว[1] (ฮั่นแน่ ไม่รู้เรื่องกันเลยล่ะสิ ว่าโดนสอดไส้เข้าไปพิจารณาตั้งแต่ตอนไหน ร้ายจริงๆ)
จริงๆ กฎหมายห้ามมีกิ๊กที่เราพูดถึงกันนี้ มีอยู่แต่เดิมแล้ว คือกฎหมายที่ชื่อ “พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550” โดยฉบับที่ใช้กันอยู่นี้นั้นครอบคลุมเฉพาะการกระทำความรุนแรงทางกายภาพ ไม่ได้รวมถึงการคุ้มครองต่อความรุนแรงทางจิตใจ ทำให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นี้เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า “เออ เราควรหมายรวมเอาความรุนแรงทางจิตใจเข้าไว้ด้วยนะ”[2] จึงเสนอเป็นร่างออกมาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเดิมนั่นเอง ซึ่งความรุนแรงทางจิตใจนี้ก็หมายถึงการที่คู่แต่งงานไปมีชู้หรือคบกิ๊กนอกสมรส อันจะนำมาสู่ความชอกช้ำระกำทรวงของคู่สมรสด้วยนั่นเอง
เอาจริงๆ หากร่างฯ นี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายจริงๆ มันจะมีปัญหาในหลายระดับและหลายประเด็นเลยครับ แต่ก่อนที่จะเข้าไปสู่ประเด็นเฉพาะของร่างกฎหมาย ‘คุ้มครองจิตใจจากการมีกิ๊ก’ นี้ ผมขอพูดถึงกฎหมายในทางภาพรวมสักนิดก่อน
คือ โดยภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าเราสามารถมองกฎหมายได้เป็นสองสถานะใหญ่ๆ คือ บทบาทของมันในปัจจุบัน (หรือในเชิงสภาพการบังคับใช้) และกฎหมายในฐานะการเป็นเป้าหมายหรือทิศทางของรัฐที่อยากจะไปให้ถึง หรือก็คือบทบาทในการกำหนดความเป็นไปในอนาคตนั่นเอง
บทบาทของกฎหมายในฐานะความเป็นไปในปัจจุบันนั้น นอกจากการตัดสินความถูก-ผิด, การเชื่อฟัง-ไม่เชื่อฟังข้อตกลงร่วมของรัฐแล้ว มันยังหมายถึงการเป็นเกณฑ์กำหนดร่วมของรัฐด้วยว่า อะไรคือมาตราฐานขั้นต่ำในการเป็นคนที่ “ไม่เลว/ไม่ชั่ว” ของรัฐนี้ ว่ากันอีกอย่างก็คือ กฎหมายไม่ใช่เกณฑ์ที่ออกมากำหนดคุณค่าความดี หรือตามหาคนดีของสังคม แต่เป็นเกณฑ์มาตราฐานขั้นต่ำในการกำหนดความเลวเสียมากกว่า (หากพูดแบบภาพกว้างๆ) ฉะนั้นกฎหมายจะไม่ได้กำหนดคุณค่าในลักษณะว่า “เราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร เพราะทำแล้วจะได้ดี หรือทำแล้วจะเป็นบาป” แต่กฎหมายทำหน้าที่ในฐานะตัวบอกถึงสิ่งที่ ‘ห้ามทำ’ เพราะหากทำแล้วผิด, สิ่งที่ ‘ต้องทำ’ เพราะหากไม่ทำแล้วผิด หรือ สิ่งที่ ‘ทำได้’ เพื่อบอกทางเลือกหรือขอบเขตของการกระทำของเรานั่นเอง แต่กฎหมายไม่มีหน้าที่ไปแนะนำเราว่า “เออ แบบนั้นก็ดีนะเธอไม่ลองดูหน่อยเหรอ” หรือ “เราว่าแบบนั้นมันไม่ใช่นะ ทำไปเค้าเสียใจตายเลย”
ในแง่ที่สอง คือ การมองกฎหมายในฐานะการออกแบบทางสถาปัตย์ของสังคม (Law as social architecture) เพราะบทบาทของกฎหมายมันที่ทำหน้าที่กไหนดขอบเขตอำนาจ (สิทธิ) ในการกระทำของบุคคล รวมถึงลงโทษผู้ซึ่งกระทำการนอกขอบเขตการกระทำตามอำนาจที่ได้รับไว้ ฉะนั้นในระยะยาวกฎหมายจึงทำหน้าที่ในฐานะตัวกำหนดรูปแบบ และทิศทางของสังคมที่จะเป็นในอนาคต ฉะนั้นการออกแบบกฎหมาย ในระดับหนึ่งมันจึงหมายถึงการออกแบบสังคม ว่าเราอยากจะเห็นสังคมเติบโตขึ้นไปแบบไหน เราคิดจะกำหนดมาตรฐานของสังคมอย่างไร หรือกลายไปเป็นชุมชนทางการเมืองแบบใด หากพูดแบบโรแมนติกจัดหน่อยก็คือ กฎหมายทำหน้าที่แทน ‘ความหวังหรือความฝัน’ ของเราที่ “อยากจะให้สังคมหรือชุมชนทางการเมืองเป็น” แน่นอนว่าคำว่า ‘เรา’ ในที่นี้จะใช้แทนคนทั้งสังคมได้ อย่างน้อยที่สุดหรือเงื่อนไขขั้นต่ำที่สุดก็คือเราต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตยเสียก่อน แต่ในสภาวะของสังคมเผด็จการนั้น คำว่า ‘เรา’ ก็มีค่าที่แทนที่ได้ด้วยเพียงแค่ผู้กุมอำนาจทางการเมือง อย่างคณะรัฐประหารหรือผู้นำเผด็จการเท่านั้น
ทีนี้ เมื่อกฎหมายในทางภาพรวมมันทำหน้าที่แบบดังกล่าว นั่นย่อมหมายรวมถึงกฎหมายห้ามมีกิ๊กที่ว่านี้ด้วย ว่าเรา (ซึ่งในกรณีนี้คือ ‘รัฐบาลเผด็จการ’) ต้องการสังคมที่ไม่มีการนอกใจใดๆ และการนอกใจหรือการทำร้ายทางจิตใจต่อคู่สมรสอย่างน้อยในลักษณะนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่ผิด
เราจะเอาอย่างนี้กันจริงๆ หรือครับ?
คงไม่ต้องพูดยาวยืดมากว่า แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยไม่เคยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวแม้เราจะเป็นประเทศพุทธแล้วก็ตาม วัฒนธรรมผัวเดียวมีเดียวนี้มันเป็นมรดกตกค้างสมัยวิคตอเรียนที่มาจากการแผ่อำนาจของชาติตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 – 19 ที่ยังคงทิ้งซากไว้ในปัจจุบันครับ ซึ่งวัฒนธรรมแบบวิคตอเรียนนี้มันเริ่มจากวิธีคิดแบบคาธอลิกสุดกู่อีกทีหนึ่ง ที่พยายามจะเข้าไปควบคุมทุกกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ (ตามประสาศาสนาทรงอำนาจและบ้าอำนาจในยุคกลาง ก่อนจะได้รับการชำระและปรับให้เข้ากับสมัยใหม่) ที่กำหนดว่าเราจะต้องมีผัวเดียวเมียเดียว มันกำหนดไปจนถึงท่าในการมีเซ็กซ์โน่นแหละครับ อันเป็นที่มาของชื่อท่า Missionary นั่นเอง[3] แต่วัฒนธรรมนี้เองแม้แต่ชาติตะวันตกที่เป็นคนเผยแพร่มันเองยังเลิกล้มกันไปหมดแล้ว แม้แต่ประเทศคาธอลิกก็ตามครับ (อย่างในอังกฤษนั้น พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ถึงกับตั้งนิกายใหม่ที่ชื่อ Church of England เพื่อจะได้แต่งงานใหม่เลยทีเดียว) แล้วการคิดจะออกกฎหมายห้ามมีกิ๊กของไทยนี่คืออะไร? ฝันจะให้ประเทศนี้เป็นคาธอลิกยิ่งกว่าประเทศคาธอลิกอย่างนั้นหรือ?
แล้วถ้าการมีกิ๊กอื่นนอกจากคู่สมรสหลักนับเป็นเรื่องที่ผิดแล้ว เราจะหวนกลับไปมองประวัติศาสตร์ไทยคงจะเป็นเรื่องที่ตลก หากจะตัดสินการเป็นคนผิด หรือคนไม่ดีตามมาตรฐานขั้นต่ำของสังคมนั้นๆ ด้วยกฎหมายของการมีกิ๊ก ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ถึงข้อเท็จจริงทั่วไปทางประวัติศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันอยู่เลยนะครับ อย่างรัชกาลที่ 5 นั้น ก็ทรงมีพระภรรยาเจ้าถึงกว่า 150 พระองค์ หรือรัชกาลที่ 4 ก็มีพระภรรยาเจ้ามากเกือบ 60 พระองค์ เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ การมีผัวเดียวเมียเดียว มันไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเกณฑ์ความผิด ความไม่ชอบด้วยวิธีคิดแบบไทยเลยครับ คนมีมากผัวหลายเมียไม่ได้จำเป็นใดๆ จะต้องเป็นคนเลว
ฉะนั้นการทำตัวเป็นรัฐที่ใช้กฎแบบศาสนายุคกลาง เสียยิ่งกว่าประเทศคาธอลิกในปัจจุบันนี้อีกนั้นมันจึงเป็นเรื่องน่าตลกและน่าหวั่นใจไปพร้อมๆ กัน ว่าดูท่าทางรัฐไทยในรัฐบาลเผด็จการนี้ จะพยายามทำตัวเป็นรัฐศาสนาโดยไม่ต้องพึ่งไอเอสมาก่อสงครามตั้งรัฐศาสนาอะไรใดๆ ให้เลย
ปัญหาประการต่อมาก็คือ กฎหมายอย่างการพยายามลงโทษต่อความเจ็บปวดทางจิตใจในลักษณะนี้นั้น มันบ่งชี้ถึงการพยายามเข้าควบคุมสังคมของรัฐที่เหนือขึ้นไปอีกขั้นด้วย (อย่างที่บอกว่ากฎหมายโดยภาพรวม มันมีบทบาทในการ ‘ชี้ถึงสังคมที่ฝันอยากจะให้เป็น’ ด้วย) คือ โดยทั่วๆ ไปกฎหมายจะพยายามแทรกแซงกับเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคลให้น้อยที่สุด (ว่าง่ายๆ คือ ‘ต้องพยายามเสือกให้น้อยที่สุด’ นั่นแหละครับ) และหากต้องเข้าแทรกแซง โดยมากแล้วก็จะอยู่ในปริมามณฑลเชิงกายภาพเท่านั้น เช่น ห้ามทำร้ายร่างกายผู้อื่น, ห้ามบังคับขืนใจ. ต้องจ่ายภาษี, ฯลฯ แต่จะไม่ก้าวล่วงไปในโลกของความคิดและจิตใจ เพราะนั่นคือการเสือกที่เพิ่มขึ้นไปอีกขั้น มันสะท้อนถึงความต้องการควบคุมสังคมในระดับจิตใจ ไม่ใช่เพียงร่างกายเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนถึงการพยายามควบคุมร่างกายของปัจเจก ในครั้งที่มีดราม่าเอ็มม่า วัตสันแต่งชุดเปลือยเนินนม ว่าเท่าที่เป็นอยู่แบบนั้นก็แย่มากแล้วที่รัฐพยายามเข้ามาแทรกแซงอำนาจเหนือร่างกายตนเอง[4] ของตัวปัจเจก แต่กฎหมายห้ามกิ๊กนี้ ก้าวเกินขั้นนั้นไปอีกทีหนึ่ง คือ ไม่ใช่เพียงร่างกายของเรา ที่นมห้ามเปลือย ยืนชูสามนิ้ว อ่าน 1984 หรือกินแซนวิชจะกลายเป็นความผิดแล้ว การเลือกจะมีกิ๊กและไปทำให้จิตใจของคู่รักตามกฎหมายเจ็บปวด ก็ผิดอีก…วิธีคิดคาที่อยู่ยุคกลางมากๆ ครับ
ปัญหาที่ตามมาติดๆ เรื่องนี้ คือ ปัญหาเรื่องการพิสูจน์ครับ
คือ ในทางหนึ่งที่กฎหมายมันจำกัดตัวเองอยู่ที่ความผิดทางกายภาพ เพราะบทบาทการทำงาน ‘ตามสภาพปัจจุบันของตัวกฎหมาย’ ด้วย คือ การตัดสินถูกผิด และทำการลงโทษ นั่นหมายความว่าเมื่อเกิดการตัดสินว่ามีการกระทำที่ผิดตามกฎหมายว่าไว้ มันจะมีคนที่ต้องโดนลงโทษจริงๆ จากการตัดสินนั้น ฉะนั้นการตัดสินลงโทษในทางกฎหมายจึงต้องการความรอบคอบรัดกุม ฉะนั้นมันจึงต้องมีหลัก Presume Innocent หรือให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหา/จำเลยบริสุทธิ์เสมอ จนกว่าจะพิสูจน์ได้แน่ชัดจริงครับ และว่ากันตรงๆ เราจะพิสูจน์ “ความบอบช้ำทางจิตใจอย่างแน่ชัด” ได้อย่างไร?
เราไม่สามารถเอ็กซ์เรย์สภาพจิตใจ เพื่อจะดูว่ากระดูกหักไหมได้อย่างร่างกายนะครับ เราไม่สามารถผ่าพิสูจน์ศพด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์อย่างกรณีขับรถชนคน หรือเราไม่สามารถมองเห็นมันจากกล้องวงจรปิดอย่างการจี้ปล้นนะครับ ไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเออะไรอย่างไรได้เลย คำถามมันจึงง่ายๆ เลยในเบื้องต้น เราพิสูจน์ความจริงแท้ของการบอบช้ำทางจิตใจได้อย่างไร? การพิสูจน์ความจริงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากในทางกฎหมายนะครับ (เผลอๆ จะสำคัญกว่าตัวกฎหมายเองด้วยซ้ำ) เราจะมาใช้โหรทำนายหรือคนทรงเจ้าอะไรมาชี้บอกงี้หรือ? หรือจะตั้งความผิดบนสมมติฐานสั่วๆ ว่า “ผัวนอกใจ/เมียคบชู้ = ช้ำใจหนักหน่วงทันที” แบบนี้ล่ะหรือ?
สมมติเกิดผมมีภรรยาขึ้นมา แล้วแยกทางกันโดยยังไม่ได้หย่าขึ้นมา (ผิดใจกันสักเรื่องแรงมาก) แล้วจากนั้นภรรยาผมไปคบกับใครอื่นแทน ผมเกิดนึกอุตริอยากกวนตีนด้วยความโกรธขึ้นมาแทน ผมแจ้งความว่าผมช้ำใจหนักหน่วงมาก ภรรยาผมคบชู้…แบบนี้คนที่ผิดคือ ภรรยาผมงี้เหรอครับ? เอาจริงดิ?
ผมว่าถ้าคิดแบบนี้ ไม่บ้าก็โง่พอสมควรนะครับ (นี่ขอบอกตามตรง)
สุดท้ายเลย ผมอยากบอกตรงๆ ว่าหากคิดจะพัฒนากฎหมายการแต่งงานตอนนี้ หลายที่เค้าเป็นตัวอย่างให้ชัดเจนแล้วครับ อย่างการพัฒนากฎหมายที่รองรับการมีอยู่ของเพศสภาพที่หลากหลาย (ในตอนนี้มีราวๆ 30 แบบแล้ว ตั้งแต่ชาย หญิง เกย์รุก เกย์รับ ทอม ดี้ อดัม ฯลฯ) กฎหมายการแต่งงานในปัจจุบันยังรองรับไม่ถึง 10% ของเพศสภาพที่มีเลย ไม่ต้องนับไปถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่ว่าเพศสภาพไม่มีจริงแล้วโน่นอีก
อีกอย่างที่ควรจะเรียกร้องให้เกิดขึ้น ซึ่งมันตรงกันข้ามกับกฎหมายห้ามมีกิ๊กนี่เลยก็ว่าได้ครับ คือ กฎหมายที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ของการมี ‘หลากคู่’ (Polygamy) ของทุกเพศสภาพด้วย…แหมะ ในสังคมที่ทินเดอร์ทำงานหนักพอๆ กับกูเกิ้ลเนี่ย การจะเห็นสามีขับรถมาส่งภรรยาสาวของตนเองไปขึ้นเตียงกับหญิงอื่นในขณะที่ตัวเองขับรถไปร่วมรักกับชายอีกคนที่มักร่วมรักกับหญิงโดยให้หญิงสังวาสทะลวงทวารหนักตน ฯลฯ อะไรแบบนี้มันก็เป็นไปได้ครับ และนี่แหละคือปัญหาหนักหน่วงจริงๆ ของสังคมนี้ คือ เรามีกฎหมายที่คร่ำครึโบราณโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และเราเลือกที่จะปรับปรุงมันโดยทำให้มันคร่ำครึไม่ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้นไปอีก มันมีที่ไหนกันครับ?
ในขณะที่ไอเอสในซีเรียโดนถล่ม…เผด็จการในไทยสร้างรัฐศาสนาอำนาจนิยมเงียบๆ ขึ้นมาแบบดูจะสำเร็จโดยไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำ แนบเนียนกว่าไอเอสพยายามรบสร้างรัฐคาลิฟะเยอะเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]โปรดดู www.dailynews.co.th/politics
[2]โปรดดู www.chandler.co.th
[3]อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือประวัติเรื่องเพศมากมายครับ ที่แนะนำพิเศษคือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา, เพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ
[4]โปรดดู thematter.co