ถ้าพูดถึง ‘ดนตรีจากภาคเหนือ’ หลายคนคงนึกถึง ‘เพลงกำเมือง’ ที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนืออย่างสะล้อ ซอ ซึง หรือ ‘ซอ’ ที่เป็นการต่อบทสนทนาแสดงปฏิภาณไหวพริบ และยังมีแยกย่อยไปอีกหลายประเภท
อย่างไรก็ดี ในภาคเหนือยังมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่อีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือที่ภาษาเก่าๆ นิยมใช้คำว่า ‘ชาวไทยภูเขา’ เพื่อนิยามกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงแบบรวมๆ ซึ่งพวกเขาไม่ได้อาศัยอยู่แค่ในอาณาเขตของรัฐไทยเท่านั้น แต่ความเป็น ‘คนพื้นถิ่น’ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กระจายตัวกันอยู่ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนที่การปักปันเขตแดนซึ่งเป็นวิทยาการแบบตะวันตกจะเข้ามาควบคุมและกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนด้วยสถานะ ‘พลเมือง’ ของรัฐชาติภายในเขตเส้นพรมแดน
ศิลปวัฒนธรรม เป็นสิ่งหนึ่งที่มีศักยภาพในการเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างค่อนข้างอิสระ โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นพาหนะ ศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่สามารถผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นเพื่อนำไปสู่การตีความใหม่ ซึ่งในระดับจิตใต้สำนึก ศิลปวัฒนธรรมยังหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับบุคคล กลุ่มคน และ ชาติพันธุ์ ตั้งแต่เกิดจนตาย เสมือนผิวหนังอีกชุดที่ห่มคลุมร่างกายของบุคคล และแสดงออกให้สังคมได้รับรู้ผ่านการแสดงออกรูปแบบต่างๆ
‘คลี’ – ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือ ‘ซอว์คลีโพ’ ในชื่อภาษาปกาเกอะญอ และเพื่อนพ้องนักดนตรีในนามวง ‘คลี โพ’ (Klee Bho) ได้นำเสียงดนตรีและเรื่องราวของชาวปกาเกอะญอ หรือ ชาวกะเหรี่ยง มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตก แอฟริกา และเครื่องดนตรีอีสาน เพื่อสื่อสารเรื่องราวของป่า ชีวิตคนปกาเกอะญอ เรื่องราวในอดีต และปัจจุบันของโลก ผ่านแนวดนตรีผสมผสานที่ไม่เหมือนใคร
เพราะภาคเหนือไม่ได้มีแต่เพลงคำเมือง และเพลงไทยก็ไม่ได้มีแต่ภาษาไทยเพียงอย่างเดียว
ก่อนจะมาเป็นศิลปินนักดนตรีในวันนี้ พื้นเพชีวิตของคุณเป็นอย่างไร?
ผมเป็นละอ่อนดอย เรียนบนดอยที่ โรงเรียนสหมิตรวิทยา อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 ตอนเด็กๆ ใช้ภาษาไทยกลางเฉพาะตอนเรียน เพราะทั้งเพื่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไปจนถึงครูในโรงเรียนเป็นปกาเกอะญอ เราก็ใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก เพราะคนในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา เกือบ 95% เป็นปกาเกอะญอ
ผมเป็นละอ่อนโบสถ์ กิจกรรมในโบสถ์มีการเล่นดนตรีนมัสการ ผมก็เล่นดนตรี ตีกลอง เล่นกีต้าร์ และพ่อผมเป็นศิลปินชนเผ่าด้วย เราเลยซึมซับเรื่องพวกนี้มา จน ม.3 – ม.4 ผมก็รู้แล้วว่าเอาดีทางนี้ได้ เพราะหูเรามาทางนี้ ก็เริ่มทำเพลง เขียนเพลงเองเป็นภาษาชนเผ่า เล่นกับกีต้าร์ เพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยได้จับ ‘เตหน่ากู’ เท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่ากีต้าร์ เปียโน มันเล่นง่ายกว่า เพราะกว่า สนุกกว่า เราก็ลองหาว่าในเชียงใหม่มีที่ไหนเปิดสอนด้านดนตรีบ้าง พอดีมีรุ่นพี่ที่เป็นเด็กโบสถ์เหมือนกันเรียนที่วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ เลยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้มาเรียนที่นี่ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง ต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งผมก็จบปริญญาตรีด้าน Music Education จากที่นี่
ทำไมถึงเลือกไปเรียนทางด้านการสอน แทนที่จะเรียนทาง performer?
ไม่ได้อยากเป็นครูครับ แต่แม่ผมเป็นครูดอย เขาก็จะมองว่ามันมั่นคงนะ ถ้าจะเรียนดนตรีเขาไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว คือพ่อผมเป็นศิลปิน แล้วที่บ้านผมก็เรียกพ่อว่าเป็น ‘ศิลปินไส้แห้ง’ เป็นศิลปินชนเผ่าที่ต้องเดินทางไปนั่นไปนี่ แม่ก็รู้สึกว่ามันไม่สามารถเลี้ยงดูเรา เลี้ยงดูครอบครัวได้ ก็เลยไม่อยากให้เราเป็นเหมือนพ่อ เลยประมาณว่า เรียนครู จบมาเป็นครู มั่นคง รับราชการ แต่เราไม่อยากเป็นพวกนี้หรอก โอเค…แม่เลยบอกว่า ถ้าจะเรียนทางดนตรีขอให้เรียนครูดนตรีได้มั้ย เราเลย ‘ก็ได้’ แต่ Music Education ที่นี่ไม่ได้มีวุฒิครูนะ ถ้าจะเป็นครูก็ต้องไปสอบวุฒิครูอยู่ดี แต่ก็ทำให้แกรู้สึกสบายใจ
พอเรียนจบแล้วได้ไปทำงานอะไรต่อ?
จบปริญญาตรี ผมไปเล่นดนตรีอาชีพที่ปายอยู่ปีนึง แต่ก็ดูแลรีสอร์ทให้พี่สาวกับพี่เขยด้วย แล้วกลับมาเรียนต่อปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับมาก็เรียนต่อด้วย เล่นดนตรีส่งตัวเองเรียนด้วย ตอนเล่นดนตรีช่วงแรกก็เล่นดูโอ้กับน้องคนนึง พอน้องไปเรียนต่อต่างประเทศก็เหลือผมคนเดียว เลยหาวง หาทีมใหม่ ก็มีโอกาสได้เรียนรู้และแจมกับนักดนตรีหลายๆ คน จากที่เล่นกีต้าร์ดูโอ้ก็มาเจอแซ็กโซโฟน ไวโอลิน เล่นเต็มวงก็มี แต่หลักๆ ก็เล่นอะคูสติก 2-3 ชิ้น
เล่นเครื่องดนตรีอะไรเป็นบ้าง?
จริงๆ ผมเล่นได้หลายอย่างแต่ไม่เก่งซักอย่าง ที่เล่นได้ก็มีกลอง เบส แซ็กโซโฟน ฮาร์โมนิก้า กีต้าร์ คีย์บอร์ด คือผมเป็นเด็กโบสถ์ เวลาชิ้นไหนไม่มีใครเล่นเราก็ไปเล่นแทน ซึ่งเราเรียนสาย education ด้วย เราก็ได้เรียนทุกอย่าง แต่สมัยเรียนผมชอบแซ็กโซโฟน กับเบส ผมเล่นอัลโต้ แซ็กโซโฟน แต่ตอนสอบเข้านี่ใช้กลองสอบเข้า เพราะตอนอยู่บนดอยเล่นกลองชุด ซึ่งที่นั่นมันมีแต่กลอง คีย์บอร์ด กีต้าร์ แต่พอเราลงมาข้างล่าง เราเจอทรัมเป็ต แซ็กโซโฟน ซึ่งอยู่บนดอยเราไม่เคยเห็น ก็รู้สึกว่าเสียงมันสวย ตอนปีหนึ่ง ผมเก็บเงินซื้อทรัมเป็ต แล้วซื้อแซ็กโซโฟน ซื้อเครื่องเป่า คือมีอะไรที่พอจะเก็บหรือซื้อได้ก็จะซื้อและฝึกเล่น
แสดงว่าพื้นฐานการเล่นดนตรีในโบสถ์มีส่วนสำคัญกับการเรียนดนตรีและการเป็นนักดนตรีในปัจจุบันพอสมควร
นอกจากพ่อที่เป็นศิลปินชนเผ่าแล้ว ก็โบสถ์นี่แหละที่มีอิทธิพลกับผมเยอะที่สุด เพราะโบสถ์มีกิจกรรมดนตรี และ กีฬา ให้ตลอด มีการแข่งขันดนตรีของแต่ละโบสถ์ในชุมชน ทุกคนก็จะตั้งใจ ซึ่งโบสถ์ก็ให้ความสำคัญ เพราะดนตรีใช้ในการนมัสการพระเจ้าด้วย
แล้ว ‘คลี โพ’ แปลว่าอะไร?
พ่อตั้งชื่อผมว่า ‘เกอะญอคลี’ คำว่า คลี แปลว่า เมล็ดเผ่าพันธุ์ ชื่อเลยแปลว่า เมล็ดเผ่าพันธุ์ของปกาเกอะญอ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบ แต่ยายผมอีกคนหนึ่งเรียกผมว่า ‘ซอว์คลีโพ’ ที่แปลว่า เรือเล็กๆ ผมชอบคำนี้ เพราะรู้สึกว่าเมล็ดเผ่าพันธุ์ปกาเกอะญอมันหนักเกินไปสำหรับผม เหมือนเราแบกภาระอะไรบางอย่าง ยิ่งผมมาแต่งงานกับคนข้างล่าง (คนพื้นราบ) คนเขาก็บอกว่า นี่เหรอ เมล็ดเผ่าพันธุ์ปกาเกอะญอ คนคาดหวังกับตัวเราเยอะว่าเราต้องสืบทอดสืบสานวัฒนธรรม พ่อเราทำตรงนี้ เราก็ต้องทำให้ดีกว่าเดิม ผมไม่ชอบ เพราะมันไม่อิสระ ความหมายมันใหญ่เกินไปสำหรับผม แต่คำมันก็ดี ก็สวยนะ แต่เราชอบอิสระ เรามีความฝัน อยากรับใช้ความฝันตัวเอง เราขอเป็น ‘คลี โพ’ เรือเล็กๆ ที่อิสระ อยากไปไหนก็ไป ผมก็เลยให้คนเรียกผมว่า ‘คลี โพ’ มันอิสระดี
แล้วเริ่มมาฟอร์มวง ‘คลี โพ’ ตั้งแต่ปีไหน?
มันเริ่มจากตอนที่ผมเล่นดนตรีอาชีพ เล่นตามโรงแรม เป็นสัญญาปีต่อปี เราก็ต้องหาใครมาเล่นกับเรา เพราะเราเล่นทุกวัน จะทำยังไงให้มันไม่น่าเบื่อ ก็เลยหาคนมาเล่นด้วย บางวันก็มีแซ็กโซโฟน บางวันก็มีไวโอลิน บางวันก็กีต้าร์ดูโอ้
เราอยากเล่นดนตรี แต่ไม่ได้มองว่าต้องเล่นให้ดี เล่นให้เก่ง เราหาคนที่เข้าใจดนตรีที่เราจะสื่อ แล้วรู้สึกไปกับมัน ซึ่งจังหวะพอดีที่เจอกับแก๊งนี้ (เอก เอกชัย เทพรักษา – แซ็กโซโฟน, ดรีม กิติพงศ์ โพธิ์สวัสดิ์ – เบส, จิ๊บ นักรบ เนื่องกลาง – เจมเบ้) เป็นนักดนตรีที่เล่นมาเยอะแล้ว รู้จักความพอดี และทุกคนก็ชอบสายป่า ชอบขึ้นดอยกันหมด อย่างมือแซ็กโซโฟนก็มีฉายา ‘แซ็กป่า’ มือเบสเป็นเพื่อนผมที่เรียนรุ่นเดียวกัน และเล่นดนตรีด้วยกัน มือเจมเบ้ก็ฟิลเดียวกัน เลยคุยกันง่าย
เราเริ่มจากการเล่นดนตรีด้วยกัน แล้วมันก็มาเองโดยที่เราอธิบายไม่ถูก มันดึงดูดกันเอง ทีแรกก็เล่นแจมกันก่อน มี ‘เตหน่า’ มา มีเบส มีกีต้าร์เข้ามา อย่างเจมเบ้ตอนแรกก็ตีกลองก่อน แต่เราอยากเล่นให้มันเป็น World music เลยบอกพี่จิ๊บว่าตีเจมเบ้ดีกว่า เราเล่นกันจริงๆ จังๆ สี่คนเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เป็นงานดนตรีที่ร้าน slope motion มีอาบู, พี่ชา-ฮาร์โมนิก้า ซันไรส์, ดวงดาวเดียวดาย, เรืองฤทธิ์ บุญรอด มาด้วย เราก็เลยคิดว่ามาลุยกันดีกว่า แต่เราจะไม่ซ้อมนะ ใครรู้สึกยังไงก็ใส่ไปเลย แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย…มันได้ว่ะ ได้เวลาที่เราจะมาทำอะไรด้วยกันแล้ว และมันก็เริ่มมีงานใหญ่ๆ เข้ามา ทำให้รู้สึกมีพลังว่าเราต้องทำให้เสร็จ
ถ้าพูดถึงดนตรีชนเผ่า คนส่วนใหญ่ก็จะพูดไปในเชิงการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรีแบบเก่า แต่คลีโพเอาทั้งแซ็กโซโฟน เบส เจมเบ้ เข้ามาแจม?
ตอนที่ผมเข้ามาเรียนปริญญาโท ผมตั้งใจว่าจะพัฒนา ‘เตหน่ากู’ ที่เคยทิ้งมันมาหลายปี เพราะรู้สึกน่าเบื่อ ตอนเรียนก็หาปัญหาในการวิจัย ถ้าเป็นคนสมัยก่อนก็คงจะบอกว่ามันมีปัญหาเรื่องขาดคนสืบทอด ต้องทำยังไงก็ได้ให้เกิดกระบวนการสืบทอด แต่เอาจริงๆ ผมมองว่ามันน่าเบื่อ เราเป็นเจ้าของวัฒนธรรม เราเองก็กลัวมันหายไป แต่มันน่าเบื่อก็ไม่รู้จะเล่นทำไม ต้องมีกระบวนการพัฒนาวิธีการเล่นสิวะ แต่ผมแตะเรื่องพวกนี้ในงานวิจัยของผมไม่ได้ งานวิจัยก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราทำ แต่อีกอย่างที่ผมต้องทำคือ ทำอย่างไรให้มันมีชีวิต ทำให้มันแข็งแรงกว่าเดิม และมีคนปกาเกอะญอกลับมาเล่นเตหน่ากู จากแต่เดิมที่มันเป็นเครื่องดนตรีขี้อาย เล่นกับชิ้นอื่นแล้วมันจะเบา ก็คิดว่าทำยังไงให้มันสู้เครื่องดนตรีอื่นได้ ให้เล่นได้กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ pentatonic ทำให้ยังไงไม่ใช่แค่คนในชาติพันธุ์ของเรา แต่คนข้างนอกมองเข้ามาแล้วรู้สึกเจ๋งว่ะ
รุ่นพ่อผมเขาใช้เตหน่ากูเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คือมันมีอยู่ปีหนึ่งที่มีนโยบายไล่คนออกจากป่า รุ่นพ่อผมก็ออกมาใช้ดนตรีเพื่อบอกว่าฉันอยู่กับป่า ฉันก็รักษาป่า ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องให้มันน่าสนใจมากขึ้น มันก็ทำหน้าที่ตรงนั้นได้ระดับหนึ่ง แต่ ณ เวลานี้ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ถ้ามีคนเห็นเตหน่ากูในฐานะเครื่องดนตรีที่มันมีความเป็นสากล จากที่เราต้องไปอธิบาย คนก็จะเข้ามาฟังและศึกษาเองว่ารากเหง้ามันเป็นยังไง เมื่อก่อนเขาใช้ทำอะไร และมันเป็นตัวแทนของคนปกาเกอะญอได้ด้วยนะ บางคนเจอเตหน่ากูก็บอกว่า นี่ไง ของปกาเกอะญอ เจอคนปกาเกอะญอก็ถามว่า เล่นเตหน่ากูเป็นมั้ย ผมรู้สึกว่าเราน่าจะทำตรงนี้ให้มันแข็งแรง ผมก็ค่อยๆ พัฒนามัน ทำเท่าที่เราทำได้โดยที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ด้วย เหมือนที่ถามว่าทำไมต้องเล่นให้มันร่วมสมัย ถ้าไม่ทำแบบนี้ มันจะตายไปกับศิลปินที่ยังมีเหลืออยู่ ทั่วโลกมีคนปกาเกอะญออยู่ 9 ล้านคน มีคนเล่นเตหน่ากูเป็น อย่างเยอะที่สุดเลยไม่ถึง 100 คน แล้วก็เป็นคนที่กำลังจะเกษียณจากโลกนี้ไปซะครึ่งหนึ่ง อายุ 60-70 ปี แล้วคนรุ่นผมไม่ค่อยมีใครจับแล้ว ขนาดเราเป็นคนดนตรีเรายังไม่ค่อยได้จับเลย ไม่ใช่ว่าแบบดั้งเดิมมันไม่ดีนะ มันดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ดีกว่าเดิม เพิ่มคุณค่าให้กับมัน
แล้วตอนนี้คุณพัฒนาเตหน่ากูไปในทิศทางไหน?
เรามีโอกาสได้เรียนดนตรี เรารู้วิธีการเล่นแบบดนตรีสากล จากเมื่อก่อนเขาเล่นเตหน่ากูเป็น pentatonic scale เล่นเป็นคู่ เราก็มาจับเป็นคอร์ด เราใช้วิธีเล่น finger style แบบกีต้าร์ การปรับตั้งสายครั้งนึงเล่นได้ 6 คีย์ จากเมื่อก่อนเล่นได้คีย์เดียว แต่เราก็เพิ่มสายเข้าไป จากที่เขาเล่นกัน 8 – 10 สาย เราก็มาปรับเป็น 12 – 14 สาย และพัฒนาวัสดุจากไม้ในชุมชนมาเป็นไม้สำหรับทำกีต้าร์ อย่างตัวนี้มี พี่ต่าย วงอภิรมย์ เป็นคนช่วยพัฒนา เป็นเตหน่ากูที่เอาไม้สำหรับทำกีต้าร์มาทำ เป็นตัวเดียวในโลก แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ผมคิดว่ามันน่าจะไปได้ดีกว่านี้ ก็ค่อยๆ ทำไป
ความสำคัญของเตหน่ากูในวัฒนธรรมปกาเกอะญอคืออะไร?
หลักๆ แล้วมันเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นในการเกี้ยวพาราสี สมัยก่อนผู้ชายก็จะเล่นแล้วใส่บทกวี (หรือ ‘ธา’ ในภาษาปกาเกอะญอ) เข้าไป แล้วมันก็มีอยู่ยุคหนึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไปว่ามีนโยบายไล่คนออกจากป่า ก็จะมีกลุ่มศิลปินและปราชญ์ชุมชนออกมาออกมาขับเคลื่อน ศิลปินก็เอาเตหน่ากูมาช่วยเล่าเรื่อง จากหน้าที่เพื่อความเพลิดเพลิน มันก็เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนข้างล่าง เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรื่องสิทธิ์ที่ทำกิน เนื้อหาในเพลงก็จะพูดถึงวิถีชีวิตระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่หลักๆ ที่ศิลปินยุคนั้นจะพูดคือเรื่องคนกับธรรมชาติว่าฉันอยู่กับป่ามาร้อยปีป่าก็ยังเป็นป่า บทกวีบอกว่า ‘กินน้ำต้องรักษาน้ำ ใช้ป่าดินต้องรักษาป่าดิน’ หรือ ‘ขุนห้วยน้ำซับ สบห้วยน้ำออม ขุนห้วยสบห้วย คือหนึ่งเดียวกัน’ ในยุคนั้นเตหน่ากูจึงทำหน้าที่สื่อสารเรื่องพวกนี้ ทุกวันนี้มันก็ยังทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องของนโยบายที่กระทบกับวิถีชุมชนที่มันยังมีอยู่ เครื่องดนตรีนี้ก็ทำหน้าที่ไปพร้อมกับศิลปินที่ยังมีชีวิต
ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เล่นตาหน่ากูอยู่มั้ย?
มีครับ แต่มีน้อย หลังๆ กระแสมันดีขึ้นนะ ผมวัดจากตัวผมว่าผมทำขายเดือนนึง 4-5 ตัว ตอนนี้ผมก็ค้างทำอีก 4 ตัว แต่ต้องดูกันต่อไปว่ามันจะเป็นแค่กระแสรึเปล่า คนที่สนใจเตหน่ากู 50% เป็นคนไทยพื้นราบ อย่างล่าสุดผมก็ทำให้คนเชียงใหม่ ถ้าไม่ใช่คนไทยพื้นราบก็เป็นคนปกาเกอะญอที่อพยพไปอยู่ประเทศที่สาม ที่ผมต้องส่งสองตัวล่าสุดคือส่งไปอเมริกา กับ ออสเตรเลีย เขาหนีภัยสงครามไปอยู่ที่นั่น และเห็นตาหน่ากูผ่านสื่อก็รู้สึกโหยหา แต่ในหมู่บ้าน ในชุมชน มีน้อย แต่ผมก็มองว่ามันน่าจะดีขึ้นนะ
เตหน่ากูกับกีต้าร์มีความยากหรือง่ายต่างกันยังไง?
ผมว่ากีต้าร์มีให้ทุกอย่างแล้ว มี fret มีอะไร แต่เตหน่ากูต้องใช้สมาธิ คืออะไรที่น้อยๆ มันเล่นให้เพราะยาก ซึ่งเตหน่ากูเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นประกอบบทกวีอีกที สิ่งที่สำคัญกว่าตัวมันก็คือบทกวี คนที่จะเล่นเตหน่ากูได้จึงต้องเข้าใจบทกวี และทำนองของกวี ถ้าคนเล่นกีต้าร์มาเล่นเตหน่ากูโดยที่ไม่รู้ว่าทำนองเป็นยังไง เล่นออกมาก็ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิม จะเป็นรูปเสียงแบบกีต้าร์ ก็อธิบายยากอยู่เหมือนกัน แต่หลักๆ แล้วใครจะเล่นเตหน่ากู ควรรู้บริบทของก่อนว่าเล่นเพื่อประกอบบทกวีอีกที ถ้าคุณจะเล่นตัวนี้ คุณก็ต้องเข้าใจบทกวีก่อน อย่างลูกศิษย์ผม ผมจะบอกว่า เล่นได้ เล่นไม่ยาก แต่ยากที่บทกวี เพราะประวัติศาสตร์ปกาเกอะญอไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เราบันทึกผ่านบทกวี หรือ บทธา
เพลงของคลีโพที่เป็นภาษาปกาเกอะญอมีเนื้อหาพูดถึงอะไร?
พูดถึงวิถีระหว่างคนกับคน คนในชุมชนสมัยก่อนเป็นยังไง เราคิดคำนึงถึงอดีตในยุคที่บ้านเรายังเป็นดินแดงอยู่ ไม่มีไฟฟ้า เราไปนา เรากลับมาเจอใคร คือวิถีชีวิตที่คนอยู่กับป่า มีทั้งเพลงที่เป็นบทธาจากอดีต และบทธาที่เขียนใหม่ขึ้นมา ทำนองก็มีทั้งของเก่า และที่เขียนใหม่ เพื่อให้มันยังไปด้วยกันอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่เหลือรากเหง้าเลย แต่บทกวีที่เขียนใหม่ ก็มีสัมผัสเหมือนบทธาที่เคยมีมา และต้องสวยด้วย และมีเพลงภาษาไทยด้วย พูดถึงชีวิต การเดินทาง ไปป่า บางเพลงก็พูดถึงสิทธิ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเจอจริงๆ มันคือชีวิตของผมเอง
เมื่อการเล่นเตหน่ากูต้องควบคู่กับบทกวีภาษาปกาเกอะญอ แล้วต้องมาเล่นร่วมกับสมาชิกในวงที่ไม่ได้รู้ภาษาปกาเกอะญอ มีปัญหาบ้างไหม?
อย่างที่ผมบอกว่าเรามาเจอกัน แล้วทุกคนรู้สึก เข้าใจเหมือนกัน อย่างมือแซ็กโซโฟนเขาหลับตาเป่าตามความรู้สึกและมันก็ออกมาเป็นตัวโน้ตที่ควรจะเป็น มันอธิบายยาก คือเขาเข้าใจ และรู้สึก พอเขารู้สึก มันก็ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวโน้ต มันเป็นการ improvise อาจเพราะคนอื่นเขาตกผลึกและเล่นดนตรีมาเยอะ เลยรู้ว่าแบบนี้ต้องเล่นยังไง พวกเราเลยเล่นกันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เล่นให้เพลงและเรื่องราวมันทำงานไปพร้อมๆ กัน
วง ‘คลี โพ’ ได้ไปเล่นในงาน TEDxChiangMai และคุณก็ได้ไปพูดบนเวทีด้วย เป็นอย่างไรบ้าง?
ก่อนหน้านั้นผมก็ได้ไปงานซาวด์ม่วน (Sound Muan) ซึ่งเป็นงานลูกของ TEDx อีกทีนึง ทีนี้เจ้าของงานเขาชอบ เลยเอาไปโชว์ที่ TEDxChiangMai เราก็เครียดนะ เพราะเวลาเราเยอะกว่าทุกคน ได้แสดงด้วย 3 เพลง ได้พูดด้วยประมาณ 18-20 นาที เราก็มาประชุมกันว่าสิ่งที่เราต้องการจะถ่ายทอดคืออะไร จริงๆ เราไม่ได้คิดว่าสิ่งที่พูดมันจะมีผลกระทบต่อคนกลุ่มอื่นเท่าไหร่นะ แต่อยากให้มันมีผลกระทบกับคนปกาเกอะญอด้วยกันเองที่อยู่ทุกมุมโลก อยากจะส่งสารไปถึงพวกเขามากกว่า ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มีเรื่องที่ไม่ได้พูดอีกเยอะเลย คือมันยาก เพราะเวลามีแค่นี้ แต่สิ่งที่เราอยากพูดมันเยอะมาก เราก็เล่นไป 3 เพลงแล้ว และเวลาพูดก็เหลือนิดเดียว จะทำยังไงให้เวลานิดเดียวนี้มันมีพลังที่สุด พอหลังงานก็มีคนทักมาว่า คุณเอาดนตรีตรงนี้ไปที่ชุมชนปกาเกอะญอที่ออสเตรเลียได้มั้ย แล้วก็มีคนปกาเกอะญอจากย่างกุ้ง จากอเมริกามาดูเรา
อย่างที่คุณบอกว่าบนโลกมีคนปกาเกอะญออยู่ประมาณ 9 ล้านคน โลกสื่อบันเทิงของคนปกาเกอะญอมันกว้างในระดับไหน?
ต้องเข้าใจว่าในพม่ามันมีกลุ่มชาติพันธุ์เยอะ และก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองการปกครองกันอยู่ ปกาเกอะญอก็เหมือนกัน ยังมีสงคราม มีการต่อสู้กันอยู่ ทุกวันนี้เขายังถือปืนอยู่ ชาวบ้านธรรมดาก็ต้องอพยพหนีสงคราม ดังนั้น สื่อบันเทิงภาษาปกาเกอะญอมันก็จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มที่จัดตั้งโดยทหารเพื่อปลุกระดมมวลชน และก็มีสื่อของคนปกาเกอะญออพยพที่ทำกันเอง เช่น กลุ่มที่ไปอยู่ออสเตรเลียก็ทำทีวีดูกันเองใน Karen Town ที่อเมริกาก็มีกลุ่มฮิปฮอปภาษาปกาเกอะญอ แต่ถ้าจะเป็นสื่ออะไรบางอย่างที่ทุกคนดูเหมือนกัน ผมคิดว่าไม่มี เพราะเราไม่มีประเทศ เรามีแผ่นดินแม่ที่เขาบอกว่าไม่ได้เป็นของเรา เราเลยต้องจับปืนสู้ บางส่วนก็ต้องอพยพหนีภัยสงคราม มันเลยไม่มีเวลาจับเรื่องราวทางวัฒนธรรมมาพัฒนา เพราะทุกวันนี้ก็ยิงกันอยู่
ทิศทางในการทำงานของวงคลี โพ ในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร?
ตอนนี้ทำอัลบั้มชื่อ Tales of Taenagu เรื่องเล่าจากเตหน่ากู มี 9 เพลง ตอนนี้เหลือ 3 เพลงที่เหลือ mix กับ mastering เลยยังไม่ปล่อย ภายในปีนี้ก็น่าจะได้ปล่อยอัลบั้มเต็ม มีทั้งเพลงภาษาไทย ภาษาปกาเกอะญอ และอาจจะมีบทกวีภาษาอังกฤษด้วย เพราะเราพยายามสื่อไปถึงคนข้างนอกด้วย ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ ช่วงธันวาคมก็คงเปิดให้ pre-order ครับ
สมาชิกของวงทุกคนตอนนี้อยู่เชียงใหม่ แต่มีมือพิณของวงจุลโหฬารอยู่อีสาน ผมรู้สึกว่า พิณ กับ แคน มันสวยมากเลยเวลาเล่นกับพวกเรา ก็เลยเล่นด้วยกันเป็นครั้งๆ ไป เพราะเขาก็มีวงของเขา แต่หลักๆ ตอนนี้ก็มีพวกเรา 4 คน
ในฐานะที่คุณเป็นชาวปกาเกอะญอ มีความเข้าใจผิดอะไรบ้างที่คุณอยากสื่อสารให้ผู้คนในสังคมเกิดเข้าใจที่ถูกต้อง?
เรื่องของการทำลายป่า ในยุคหนึ่ง มีหนังสือของกระทรวงแห่งหนึ่งมีคำถามว่า ชนเผ่าใดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติที่สุด แล้วคำตอบที่ถูกต้องในหนังสือเล่มนี้คือ ชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคนพวกนี้คือคนทำลายป่า อยากให้เปิดใจมาดูวิถีชีวิตว่าเขาอยู่กันยังไง เขามีปรัชญา หรือมีการดำรงชีวิตยังไง ทำไมเขาอยู่กันมานานหลายร้อยปีแล้วป่าตรงนั้นมันก็ยังเป็นป่า แทนที่จะเอาความคิดของคนพื้นราบ หรือของรัฐมาบอกว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่อยากให้มาดูเรา ให้ปรัชญาของชุมชนทำงานด้วยกัน ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม พวกเราเจอปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกิน เราไปอยู่ในป่าสงวน ไปทับที่อุทยานฯ แต่จริงๆ เราอยู่มานานแล้ว อุทยานฯ อยู่มาไม่กี่สิบปี แต่เรากลายเป็นคนผิด เรามาช่วยกันมั้ยว่าจะทำยังไงให้คนกับอุทยานฯ หรือป่าสงวนอยู่กันได้อย่างกลมกลืน มันต้องมีวิธีการจัดการที่ดีที่เราต้องมาคุยกัน ไม่ใช่ว่าคุณจะโยนอะไรให้เขาโดยไม่สนใจว่าบริบทของชุมชนนั้นเป็นยังไง ซึ่งตอนนี้เรื่องที่ทำกินกำลังเป็นปัญหาในหลายๆ ที่
อีกเรื่องคือ คนเข้าใจว่าปกาเกอะญออย่างพวกผมมาจากพม่า จริงๆ แล้วถ้าเราศึกษาดีๆ ปกาเกอะญออยู่ในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพงศาวดารบอกว่าในล้านนามีคนลัวะ คนยาง อยู่มาก่อน ซึ่ง ‘คนยาง’ ก็คือ ‘ปกาเกอะญอ’ ในประวัติศาสตร์ของเรา ก่อนที่จะมีการปักปันเขตแดน คนปกาเกอะญอก็กระจายกันอยู่ทั้งในฝั่งที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน และลุ่มน้ำสาละวินในประเทศพม่า พอวันหนึ่งมีการปักปันเขตแดน แบ่งประเทศ แบ่งการปกครอง คนที่อยู่ฝั่งประเทศไทยก็ได้เป็นคนไทย ข้ามสาละวินไปก็เป็นคนพม่า ทั้งที่คนปกาเกอะญอไม่ว่าจะอยู่ในไทย หรือ พม่า ก็เป็นสายเลือดเดียวกัน แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจว่าเราเป็นพม่า ทุกวันนี้ทำโฮมสเตย์ก็มีคนถามว่าเรามีบัตรประชาชนมั้ย อาจเป็นเพราะสังคมไทยเพิ่งยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้ไม่กี่สิบปีนี่เอง ซึ่งเมื่อก่อนปกาเกอะญอคือคนชายขอบ บางคนก็เรียกว่าเป็นคนต่างด้าว ก็อยากให้ลองเปิดใจศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาที่มาที่ไป ก่อนที่จะตัดสินว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย หรือ เป็นคนทำลายป่า
เอาจริงๆ ผมอยากให้เตหน่ากูเป็นเครื่องดนตรีไทยเหมือนกัน ทำไมมันถึงเป็นแค่เครื่องดนตรีชายขอบ เครื่องดนตรีชนเผ่า ดนตรีไทยก็คือดนตรีที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้นเอง มันเป็นการแบ่งชนชั้นกัน ซึ่งถ้าเป็นที่อื่นเขาให้ความสำคัญนะ และมันขับเคลื่อนประเทศได้ด้วย เพราะผมมองว่างานศิลปวัฒนธรรมมันคืออัตลักษณ์ของประเทศ ซึ่งบางประเทศเขาไม่มีและต้องหามาด้วยซ้ำเพื่อมาบอกว่านี่คืออัตลักษณ์ของเขา แต่ของเรามีอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะช่วยกันดู และช่วยกันทำ
photos by พัธนา คุณชื่น และ วงคลี โพ
Cover by Kodchakorn Thammachart
ฟังเพลงของ ‘คลีโพ’ ได้ที่ www.fungjai.com/artists/klee-bho
www.youtube.com/channel/UCMvKSuG54OkDkhl2oyzYrWQ