ทุกวันนี้ สตีฟ จ็อบส์ เกือบมีสถานะเป็นเทพ
ร่ำลือกันว่า เมื่อจากโลกนี้ไป ถ้อยคำร่ำลาสุดท้ายคือการ ‘สอน’ ผู้คนบนโลกนี้ว่า “การแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยไม่สิ้นสุด จะทำให้คนเราต้องมีจุดจบอันพลิกผัน เหมือนที่ผมเป็น”
หลายคนซาบซึ้งใจที่สตีฟ จ็อบส์ ‘เตือน’ ผู้อื่นด้วยชีวิตของเขาเอง
แต่นั่นเป็นเพียงถ้อยคำอำลาที่ร่ำลือกันอยู่ในโซเชียลมีเดีย และไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นความจริง
โมนา ซิมป์สัน (Mona Simpson) น้องสาวของจ็อบส์ผู้เป็นนักเขียนนิยาย ได้เขียนคำไว้อาลัยพี่ชายไว้ เธอเล่าว่าถ้อยคำสุดท้ายของจ็อบส์ไม่ใช่ถ้อยคำ ทว่าเป็นการเปล่งเสียงสั้นๆ ซ้ำกันสามครั้ง
ก่อนเดินทางไกล เขามองน้องสาวอย่างแพ็ตตี้ มองลูกๆ ของเขาเป็นเวลานาน แล้วจึงมองลอเรน คู่ชีวิตของเขา จากนั้นเขาก็เปล่งถ้อยคำสุดท้ายออกมาว่า โอ้ ว้าว, โอ้ ว้าว, โอ้ ว้าว
แม้คำเตือนเรื่องการเอาแต่แสวงหาความร่ำรวยที่จะทำให้เสียใจภายหลังจะไม่ใช่เรื่องจริง แต่สตีฟ จ็อบส์ ก็ใช่จะไร้ความเสียใจใดในชีวิต
เรื่องเสียใจหนึ่งที่เขาเคยบอกกับ วอลเตอร์ ไอแซกสัน (Walter Isaacson) ผู้เขียนชีวประวัติของเขาก็คือ เขารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้เลี้ยงดูและใกล้ชิดลูกๆ มากกว่านี้ นั่นเพราะเขามุ่งหน้าทำงานเสียจนไม่ได้เลี้ยงดูลูก ทั้งที่ลูกคือสมบัติล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตเขา จ็อบส์บอกว่า การมีลูกนั้นดีงามกว่าทุกสิ่งที่เขาเคยทำมาในชีวิตถึงหมื่นเท่า
แต่กระนั้น—ในซอกมุมเล็กๆ ของประวัติศาสตร์ชีวิต ก็ยังมีลูกคนหนึ่ง—ลูกสาวคนโต ลูกที่สตีฟ จ็อบส์ เคยปฏิเสธความเป็นพ่อนานนับสิบปี ลูกที่น่าจะมีปริมาณความเสียใจในชีวิตของตัวเองมากกว่าปริมาณความเสียใจที่จ็อบส์มีให้กับลูกคนอื่น
เธอคือ ลิซ่า เบรนแนน-จ็อบส์ (Lisa Brennan-Jobs) ลูกสาวที่จ็อบส์ปฏิเสธความเป็นพ่อมายาวนาน จ็อบส์เคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า ตอนนั้นเขาไม่อยากเป็นพ่อคน ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะไม่เป็น
มันคือความจริงที่แสนเจ็บปวด
ลิซ่าเกิดในปี 1977 ก่อนอายุเจ็ดขวบ เธอย้ายที่อยู่ถึง 13 ครั้ง เพราะแม่ของเธอต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพโดยการทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ระเหเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ทั้งที่ตอนนั้น สตีฟ จ็อบส์ กำลังอยู่ในขาขึ้นกับบริษัทแอปเปิ้ล และกลายเป็นเศรษฐีที่มีเงินหลายล้านเหรียญแล้ว
เขาไม่ได้เพียงปฏิเสธความช่วยเหลือ
แต่ยังปฏิเสธความเป็นพ่อด้วย
แม่ของลิซ่าคือ คริสซาน เบรนแนน (Chrisann Brennan) เธอพบกับจ็อบส์ในปี 1972 ที่โรงเรียนไฮสคูล ทั้งคู่คือรักในวัยเรียน เมื่อจบไฮสคูลแล้ว คริสซานไม่อยากเรียนต่อ ส่วนจ็อบส์เข้าเรียนใน Reed College ทั้งคู่มีความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ กันตลอดเวลา จ็อบส์ขอให้เธอย้ายเข้าไปอยู่กับเขาในบ้านเช่าใกล้กับวิทยาลัย แต่เธอปฏิเสธ นั่นทำให้เขาเริ่มคบหาผู้หญิงอื่น คริสซานเองก็คบกับผู้ชายอื่นด้วยเช่นกัน เธอไม่อยากย้ายไปอยู่กับจ็อบส์ เพราะจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบคู่ผัวตัวเมียขึ้นมา เธอไปเรียนศิลปะ และคบผู้ชายอื่นๆ จากชั้นเรียนศิลปะ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบคู่ที่ต่างฝ่ายต่างมีกันและกันเท่านั้น
ปีถัดมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยิ่งซับซ้อนขึ้น คริสซานเล่าว่า เธอไม่สามารถยุติความสัมพันธ์กับเขาได้ แต่จะให้ตกลงปลงใจกับเขาคนเดียว เธอก็ทำไม่ได้เช่นกัน จ็อบส์เองก็เช่นเดียวกัน เขามีคนอื่น แต่เขาก็ไม่อาจเลิกรักเธอได้ ในที่สุด เมื่อจ็อบส์เลิกเรียนแล้วย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนีย ทั้งคู่ก็ห่างกัน แม้คริสซานจะไปหาเขาบ้างเป็นบางหนก็ตาม
ยากจะบอก ว่าอะไรคือสิ่งที่ผูกพันคนสองคนเข้าด้วยกัน สิ่งนั้นอาจไม่ใช่แค่ความรัก แท้แล้วอาจมีความเกลียดปะปนอยู่ในความรักนั้นด้วย และเป็นความสัมพันธ์ซับซ้อนนี้เอง ที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่อาจปลดปล่อยกันและกันให้เป็นอิสระได้
ความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ นี้ดำเนินต่อเนื่องไปหลายปี เลิกกันไปแล้ว แต่บังเอิญมาพบกันเพราะมีความสนใจร่วมกันก็มี เช่นทั้งคู่สนใจพุทธศาสนานิกายเซ็น จึงไปพบกันโดยบังเอิญในที่พบปะของผู้มีความสนใจเรื่องนี้ และในบางช่วง ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายออกเดินทางผจญภัยไปกับใครอื่น แต่สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาพบกันจนได้
ในปี 1976 คริสเซนตระเวนอินเดียกับผู้ชายอีกคนหนึ่งนานหนึ่งปี แต่เมื่อกลับมา เธอเลิกกับผู้ชายคนนั้น เธอมาเยี่ยมจ็อบส์ แล้วความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ นี้ก็หวนคืนมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ยิ่งซับซ้อนแปลกประหลาด คล้ายว่าทั้งคู่คือความบกพร่องเว้าแหว่ง และใช้ความบกพร่องเว้าแหว่งของอีกฝ่ายมาเติมเต็มตัวเองกระนั้น
จ็อบส์เริ่มทำแอปเปิ้ลในปี 1977 เงาแห่งความสำเร็จฉายฉาน เป็นปีนั้นเองที่เขาชวนคริสซานให้ย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกันที่บ้านในเมืองคูเพอร์ทิโน—เมืองอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานแอปเปิ้ล
แต่ไม่—มันไม่ใช่การอยู่กันฉันท์คู่ผัวตัวเมีย เพราะจ็อบส์ขอให้เพื่อนสนิทผู้ชายอีกคนหนึ่งมาอยู่ร่วมบ้านด้วย จ็อบส์อยากให้พวกเขาอยู่ด้วยกันสามคน เขาให้เหตุผลกับคริสซานว่า การอยู่ด้วยกันตามลำพังเพียงสองคนจะทำให้เกิดสภาวะอันตึงเครียดเกินไปสำหรับเขา เขาเชื่อว่า หากมีบุคคลที่สามอยู่ร่วมบ้านด้วย จะช่วยเจือความเข้มข้นของความสัมพันธ์ที่ ‘ไปด้วยกันไม่ได้แต่อยากอยู่ด้วยกัน’ ลง และจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น จ็อบส์ถึงขั้นยืนยันให้ต่างคนต่างมีห้องนอนของตัวเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างจ็อบส์กับคริสซานเหมือนกราฟที่ขึ้นสุดลงสุด เมื่อเร่าร้อนถวิลหาก็โลดเต้นไปถึงดวงตะวัน ทว่าครั้นเย็นชาเมินเฉยก็เหินห่างราวแปลกหน้ากันมาชั่วนิรันดร์ และยิ่งแอปเปิ้ลเติบโตขึ้นมากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์นี้ก็ยิ่งเสื่อมทรามลงมากเท่านั้น
แล้ววันหนึ่ง คริสซานก็ตั้งท้อง
เธอเล่าว่า วันที่เธอบอกข่าวนี้กับเขา สีหน้าของจ็อบส์ก็อัปลักษณ์ลง เธอใช้คำว่า turned ugly มันยู่ยี่บึ้งตึงไม่ยอมรับ และยืนยันความรู้สึกนั้นด้วยคำพูดในเวลาต่อมาเมื่อจ็อบส์บอกคริสซานเป็นนัยว่า “ฉันไม่อยากจะขอให้เธอไปทำแท้งหรอกนะ ฉันแค่ไม่อยากทำอย่างนั้น” เขาไม่ยอมคุยเรื่องการตั้งครรภ์ของเธอ ไม่สนใจอะไรเลย เขาทำราวกับสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น บางทีอาจเพราะในอีกมิติของชีวิต เขากำลังก้าวหน้าไปกับการเติบโตและความสำเร็จ ส่วนความสัมพันธ์นี้ลากถ่วงหน่วงรั้งเขาไว้กับที่ เขาอาจรู้สึกหนักอึ้งกับความเป็นพ่อที่เขาไม่เคยอยากเป็นมาก่อน เขาจึงปฏิเสธมัน
คริสซานทั้งสับสนและอับอาย ในที่สุดเธอก็เลือกจากเขามา ตอนนั้นเธอทำงานอยู่แผนกชิปปิ้งของแอปเปิ้ลด้วย แต่เธอไม่อยาก ‘ท้องโต’ ในท่ามกลางบรรยากาศการทำงานแบบมืออาชีพโดยตอบคำถามใครในบริษัทไม่ได้ว่าลูกในท้องเป็นลูกของใคร อีกทั้งความสัมพันธ์ซับซ้อนนั้นก็ยากอธิบายให้ใครฟังด้วย เธอจึงเลือกเดินจากมาพร้อมกับคำพูดของจ็อบส์ที่ดังก้องอยู่ในหัวของเธอชั่วชีวิตว่า I am never going to help you—ฉันจะไม่มีวันช่วยเหลืออะไรเธอ
คริสซานคลอดลิซ่าในเดือนพฤษภาคม 1978 จ็อบส์ตามมาเยี่ยมในอีกสามวันให้หลัง เธอเป็นผู้เสนอชื่อลูกสาวว่าลิซ่า จ็อบส์เห็นด้วย เขาชอบชื่อนี้มากจนในเวลาต่อมาได้นำชื่อนี้ไปตั้งเป็นชื่อคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ลรุ่นหนึ่งว่า Apple Lisa ซึ่งเป็นรุ่นที่ล้มเหลวทางการตลาด แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ—ตลอดเวลากว่ายี่สิบปีถัดจากนั้น, เขาไม่เคยยอมรับเลยว่าชื่อลิซ่าของคอมพิวเตอร์นั้น เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อลูกสาวของเขา
เพราะเขาไม่เคยยอมรับว่าเธอคือลูกสาวของเขา
นั่นนำไปสู่การตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งผลยืนยันว่าลิซ่าคือลูกสาวของจ็อบส์ แต่ถึงผลจะออกมาแล้ว ในปี 1983 เมื่อจ็อบส์ได้รับเลือกให้เป็น Person of the Year ของนิตยสาร Time เขายังตั้งคำถามถึงการตรวจดีเอ็นเอนั้นว่าเชื่อถือได้แค่ไหน
ผลการทดสอบดีเอ็นเอบอกว่า เขามีโอกาสที่จะเป็นพ่อของลิซ่า 94.1% แต่จ็อบส์แย้งว่า 28% ของประชากรชายในสหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นพ่อ (ของลิซ่า) ก็ได้ นั่นแสดงให้เห็นความเจ็บปวดลึกซึ้งที่เขามีต่อคริสซาน คล้ายเขากำลังบอกว่า เพราะคริสซานไม่ได้รักเดียวใจเดียวกับเขา ลิซ่าจึงอาจเป็นลูกของใครก็ได้ และต่อให้ผลดีเอ็นเอพิสูจน์ออกมา เขาก็ยังไม่ยอมรับลิซ่าอยู่ดี
ในที่สุด ศาลสั่งให้จ็อบส์จ่ายค่าเลี้ยงดูลิซ่า คำสั่งศาลบอกให้เขาต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเดือนละ 385 เหรียญ แต่จ็อบส์ให้มากกว่านั้น เขาให้เธอเดือนละ 500 เหรียญ ทั้งที่ตอนนั้นแอปเปิ้ลกลายเป็นบริษัทมหาชนแล้ว และเขามีเงินมากมายนับไม่ถ้วน รายได้เท่านั้นทำให้คริสซานต้องไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟเพื่อเลี้ยงดูลิซ่า—ลูกสาวที่ถูกพ่อปฏิเสธเสมอมา
ปีที่แล้ว ลิซ่าเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ Small Fry คำนี้เป็นคำเรียกขานที่พ่ออย่างจ็อบส์ใช้เรียกลูกสาว มันเป็นคำที่น่ารักและแสดงความผูกพันลึกซึ้ง ฟังดูคล้ายเป็นพ่อลูกที่รักใคร่สนิทสนมกัน
แต่ไม่ได้มีอะไรเป็นอย่างนั้นเลย
ลิซ่ายอมรับกับ The Guardian ว่าในตอนแรก เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ มันคือหนังสือแห่งความรู้สึกสงสารตัวเอง การถูกปฏิเสธจากผู้ให้กำเนิดทำให้เธอเกลียดตัวเองมาชั่วชีวิต แต่ในเวลาเดียวกัน เธอบอกด้วยว่าตัวเธอรู้สึกดีที่ไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่สตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิตใหม่ๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น หนังสือจะร้ายกาจรุนแรงยิ่งนัก เธอใช้เวลาหลังความตายของพ่อต่อมาอีกหลายปีในการใคร่ครวญและพลิกมองมุมต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจชีวิตของผู้ชายคนหนึ่ง คนที่ทั้งรักทั้งเกลียดผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คนที่ก้าวไปข้างหน้ากับความสำเร็จ และไม่พร้อมเลยกับการเป็นพ่อคน
ครั้งหนึ่ง ตอนเก้าขวบ ลิซ่าเคยถามพ่อเล่นๆ ว่า ถ้าพ่อเลิกใช้รถปอร์เช่ของพ่อแล้ว เธอขอได้ไหม ปรากฏว่าจ็อบส์ตอบลูกสาวอย่างจริงจังเคร่งเครียด (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเด็กเก้าขวบคนนั้น) ว่า “You’re not getting anything, you understand? Nothing. You’re getting nothing.” มันเป็นประโยคที่ ‘ประทับ’ คล้ายริ้วแผลลึกในชีวิตของเธอ—นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ยังมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่ลิซ่าเล่าไว้ในหนังสือเล่มนั้น รายละเอียดที่ทำให้เธอคิดว่าพ่อไม่รักเธอ เช่น เธอเข้าเรียนฮาร์วาร์ดได้ แต่จ็อบส์ยอมจ่ายค่าเทอมให้เธอเพียงปีแรกปีเดียว ปีถัดๆ มา เธอต้องทำงานหาเงินเอง โชคดีที่เพื่อนบ้านฐานะดีรู้เรื่องนี้ แล้วเสนอตัวเข้ามาจ่ายค่าเล่าเรียนให้โดยจ็อบส์ผู้เป็นเศรษฐีไม่สนใจ กว่าเขาจะคืนเงินค่าเล่าเรียนของลูกสาวตัวเองให้เพื่อนบ้าน ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีถัดจากนั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่ติดค้างอยู่ในใจลิซ่ามาตลอด ก็คือเรื่องชื่อคอมพิวเตอร์ Apple Lisa ลิซ่ารู้ แม่ของเธอก็รู้—ว่าจ็อบส์ตั้งชื่อนี้ตามชื่อเธอ แต่จ็อบส์ไม่เคยยอมรับเรื่องนี้เลย เขาอ้างว่าเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อสตีฟ จ็อบส์ อยู่กับโบโนแห่งวงยูทู ลิซ่าอยู่ด้วย ทั้งคู่คุยกันถึงเรื่องการสร้างบริษัทขึ้นมา จู่ๆ โบโนก็เอ่ยถามขึ้นมาว่า “แล้วชื่อคอมพิวเตอร์ลิซ่านี่ คุณตั้งตามชื่อลูกสาวคุณหรือเปล่า”
ลิซ่าเล่าว่า พ่อเงียบไปครู่หนึ่ง เป็นตอนนั้นเองที่เธอแทบหายใจไม่ออก เธอโอบกอดตัวเองเพื่อรอฟังคำตอบ คำตอบที่เคยทำให้เธอผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คราวนี้ต่างออกไป เพราะจ็อบส์ทำท่าลังเล เขามองจานอาหารอยู่นาน แล้วจึงเงยหน้าขึ้นมามองโบโน “ใช่” เขาตอบ
ลิซ่ามองหน้าจ็อบส์ เธอไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดพ่อถึงมายอมรับเอาหลังผ่านมาแล้วหลายปี แต่การยอมรับนั้นทำให้เธอรู้สึกถึงบางสิ่งที่ท่วมท้นขึ้นมาในอก เธอจึงเอ่ยขอบคุณโบโนออกไป และบอกเขาด้วยว่า—นี่เป็นครั้งแรกที่พ่อยอมรับ
ไม่ใช่เพียงยอมรับในชื่อของคอมพิวเตอร์เท่านั้น—แต่คือยอมรับในความเป็นลูก, ด้วย
สิบสองเดือนก่อน สตีฟ จ็อบส์ จะเสียชีวิต ลิซ่าไปเยี่ยมพ่อบ่อยหนที่บ้านทรงทิวดอร์ในปาโลอัลโตของจ็อบส์ แต่ไม่ว่าจะไปบ่อยเพียงใด เธอก็ยังรู้สึกอยู่เสมอว่าพ่อเห็นเธอเป็นส่วนเกินของชีวิต แม้เขาจะยอมรับว่าเธอเป็นลูก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องรักเธอแบบเดียวกับรักลูกคนอื่นๆ ที่เกิดตามมาภายหลัง เธอเป็น ‘ส่วนเกิน’ ในชีวิตของเขา เป็นลูกที่เขาไม่เคยต้องการอยู่เสมอ ลิซ่ายอมรับกับตัวเองว่าการจะให้พ่อยอมรับเธอและรักเธอหวานชื่น น่าจะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์มากกว่า ชีวิตจริงไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
ก่อนจ็อบส์จะเสียชีวิตไม่นาน ลิซ่าไปเยี่ยมเขา ก่อนกลับ เธอเข้าห้องน้ำไปฉีดน้ำแร่กลิ่นกุหลาบราคาแพงบนใบหน้าเพื่อหวังสร้างบรรยากาศ เมื่อเธอกลับเข้ามาลาพ่อ จ็อบส์กำลังพยายามลุกจากเตียง เขาเอื้อมมือไปจับหัวเตียงไว้ เพื่อโหนตัวลงมา แล้วทั้งคู่ก็กอดกัน ลิซ่าบอกว่า เธอรับรู้ถึงซี่โครงและกระดูกที่แทบไร้เนื้อหนังของเขา แต่ไม่คาดฝันเลยว่า กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิต เธอก็จะยังถูกทำร้ายเป็นครั้งสุดท้าย
“เดี๋ยวลูกมาเยี่ยมใหม่เร็วๆ นี้นะคะ” เธอบอกพ่อ
“ลิส?” จ็อบส์เรียก
“คะ?”
“ลูกมีกลิ่นเหมือนส้วมเลย”
***
ชีวิตนั้นซับซ้อน และเต็มไปด้วยความสัมพันธ์อันซับซ้อน
เรารักในความเกลียด และเกลียดอยู่ในความรักของผู้เป็นที่รักอยู่เสมอ
แม้กับผู้มีสถานะเกือบเป็นเทพเจ้าแห่งแอปเปิ้ลในสายตาของคนรุ่นใหม่—ชีวิตของเขาก็ยังมีริ้วแผล เป็นริ้วแผลที่อาจถูกกรีดลึกเพราะความเจ็บปวดกับความผูกพันที่ไม่ลงตัว เป็นริ้วแผลที่ถูกกรีดลึกในในวัยเยาว์แห่งชีวิต วัยที่เพิ่งผลิบาน สดใส และมองเห็นแต่อนาคตข้างหน้า อนาคตที่ไร้เครื่องถ่วงรั้ง
บางที—การเลือกที่จะส่งต่อความเจ็บปวด, ก็อาจเป็นเรื่องเจ็บปวดในตัวของมันเองด้วย
สตีฟ จ็อบส์ อาจไม่ได้สอนเราไว้เช่นนั้นในวาระสุดท้ายของชีวิต ทว่าเป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่ซ่อนซุกอยู่ในชีวิตของเขานี่เอง—ที่บอกเราเช่นนั้น