ราวๆ เวลา 22.05 – 22.15 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา คงจะนับได้ว่าเป็นช่วงเวลา 10 นาที ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่เมืองลาสเวกัส เคยประสบพบเจอมา อย่างที่หลายๆ ท่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว กับเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า ‘การกราดยิงที่ลาสเวกัส’ (Las Vegas Shooting) โดยนาย Stephen Paddock ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 58 คน (บางแหล่งรายงานว่า 59 คน) เป็นชาย 22 คน และหญิง 36 คน เหยื่อที่อายุมากที่สุดอายุ 67 ปี และที่อายุน้อยที่สุดอายุเพียง 20 ปี[1] เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์กราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ‘นอกสภาวะสงคราม’ อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ “นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก และที่แย่ที่สุดก็คือมันไม่ใช่เหตุการณ์ที่นานๆ จะเกิดเสียที” ด้วย
สัปดาห์ที่แล้ว ทาง The MATTER ได้ลงรายละเอียดเหตุการณ์การกราดยิงครั้งร้ายแรงที่สุดของสหรัฐอเมริกา 8 ครั้ง[2] เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 – 2017 มีผู้เสียชีวิตใน 8 ครั้งใหญ่ที่สุดนี้ ตั้งแต่ 14 คน จนถึง 58 คน แต่ผมคิดว่าสถิติที่น่าละเหี่ยใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความเป็นจริงที่ว่า นอกเหนือจากเหตุการณ์ครั้งใหญ่ๆ แล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงจากการ ‘ใช้อาวุธโดยพลเรือน’ นี้ เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาแทบทุกวัน (แบบตามตัวอักษร ไม่ใช่โวหารใดๆ) สถิติที่ว่านี้สามารถลองดูได้จาก gunviolencearchive ครับ[3] ซึ่งได้พยายามรวบรวมสถิติความรุนแรงที่ว่านี้ในสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด แล้วเราจะพบว่า ‘มันแทบทุกวันจริงๆ’ (อย่างกรณีการเสียชีวิตของ Christina Grimmie เมื่อเดือนมิถุนายน ปีที่แล้วเองก็เช่นเดียวกัน)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็ตามพล็อตที่พอจะเดาได้ ทางไอเอสออกมาเคลมผลงานว่าอีตา Paddock นี้เป็นคนของพวกเขาเอง แน่นอนทาง FBI ปฏิเสธ (และโดยส่วนตัวผมก็เห็นด้วยกับทาง FBI) แต่ด้วยข้อมูลข่าวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าลุง Paddock นี้มีอาวุธครบมือปานจะก่อสงครามข้ามชาติได้ขนาดนี้ เขาก่อเหตุเพียงคนเดียว (Lone Wolf) จริงๆ หรือ? มันจะเป็นไปได้หรือที่คนๆ เดียวจะทำได้แบบนี้? ด้วยความที่โดยสาขาวิชาที่จบมารวมถึงความสนใจเรื่องก่อการร้ายอีกศกหนึ่ง ทำให้ผมเองก็หนีไม่พ้นคำถามเหล่านี้ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดก็คือ
1. ไม่มีนักวิชาการคนไหนหรอกครับที่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนมั่นใจ 100% ว่าทำคนเดียวแน่ๆ หรือเปล่า หากมันมีใครยืนยันฟันธงได้ขนาดนั้น ขอให้ท่านเดาไว้ก่อนว่านั่งเทียนมั่วมา
2. สิ่งที่ผมคิดว่าพอจะตอบได้คือ “เป็นไปได้ไหมที่จะก่อเหตุคนเดียว” โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นไปได้ และสูงมากด้วยกับเงื่อนไขของประเทศแบบสหรัฐอเมริกาที่การหาอาวุธและครอบครองอาวุธเหล่านี้ทำได้ง่ายที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และนี่ไม่ใช่การประเมินแบบไม่มีฐานเปรียบเทียบอะไรด้วยนะครับ เพราะก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ. 2011 ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่แสนจะสงบและหาอาวุธยากกว่าสหรัฐอเมริกามากๆ นั้น ยังเกิดกรณีของ Anders Behring Breivik ได้เลย ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุคนเดียว โดยใช้ทั้งอาวุธทั้งปืนและระเบิด สังหารคนไป 77 ชีวิต และบาดเจ็บอีกมากมาย (สเกลความรุนแรงมากกว่ากรณีลาส เวกัส เสียด้วยซ้ำ) ฉะนั้นถ้าประเทศแบบนอร์เวย์ยังสามารถหาช่องทางจนก่อให้เกิดเหตุการณ์แบบกรณี Breivik ได้ ผมคิดว่า Paddock จะทำคนเดียวได้นั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้และไม่ได้แปลกอะไรเลย หากจะมีอะไรที่แปลกก็อาจจะเป็นคำถามที่ว่าทำไมสหรัฐอเมริกาจึงเพิ่งจะเจอกับเหตุการณ์สเกลนี้เสียด้วยซ้ำ? (ด้วยความเคารพต่อผู้เสียชีวิตจริงๆ แต่อันนี้ถามในเชิงความมั่นคงศึกษาเท่านั้น)
3.หากจะมีอีกเรื่องที่แปลก นั่นก็คงจะเป็นท่าทีของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ที่มีต่อการเลือกใช้คำ เท่าที่ผมลองหาๆ ข่าวดู ยังไม่พบการเรียกลุง Paddock นี้ว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ เลย (ส่วนใหญ่จะเป็น Gunman ที่ขึ้นต้นด้วย Adjective เชิงลบ เช่น Evil เป็นต้น) แต่หากผู้ก่อเหตุในครั้งนี้หน้าแขกขึ้นมา การเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคงมาในทันที และหากว่ากันตามตรง กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็นับได้ว่าตรงตำราตามเงื่อนไขที่จะเรียกว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ ได้ทั้งนั้น แค่ ‘สีผิวและเชื้อชาติ’ ไม่เอื้อให้เรียกผู้ก่อการร้ายอย่างถนัดปากนักในสังคมอเมริกัน (ลองดูกรณี ‘การกราดยิงที่บาร์เกย์ เมืองออลันโด้’ ได้ครับ นั่นมีการเรียกว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ แทบจะในทันที)
เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ แบบกรณีที่ลาส เวกัส หรือที่บาร์เกย์ เมืองออลันโด้ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่ตามมาเสมอๆ ในสังคมอเมริกานั้นก็คือ ข้อถกเถียงเรื่องการควบคุมการครอบครองอาวุธปืน (Gun Control Policy)
ซึ่งมีที่มาจาก 2nd Amendment ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิในการถือครองอาวุธปืนได้ (Right to Bear Arm) แต่กฎหมายนี้มันก็มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1791 แล้ว และการตั้งคำถามต่อความถูกต้องของกฎหมายข้อนี้โดยเฉพาะในเรื่องความสมเหตุสมผลในการอ้างว่าการครอบครองอาวุธปืน มีขึ้นเพื่อ ‘รักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น’ ก็มีมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1990s เป็นต้นมา และในระยะหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ความตื่นกลัวต่อภัยก่อการร้ายพุ่งขึ้นทะลุเพดานนั้น การต่อสู้ในประเด็นนี้ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น เพราะเกรงว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ก่อการร้ายได้
โดยส่วนตัวผมมีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่ายืนอยู่ข้างฝ่ายที่ ‘ให้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน’ ให้การครอบครองมันเกิดได้ยากขึ้น หรือไม่เหลือเลย อย่างไรก็ดี แม้ผมจะมีจุดยืนอย่างที่ว่าแต่การอภิปรายปัญหานี้อย่างแยกประเด็นให้ชัดเจนไปนั้นดูจะจำเป็น เพราะเรื่องนี้มีข้อถกเถียงหลายชั้นหลายมิติซ้อนทับกันอยู่ (และคงพูดได้ไม่ครบหรอก)
ผมอยากเริ่มการอภิปรายเรื่องนี้ด้วยวิธีคิดพื้นฐานโดยสังเขปของการอนุญาตให้มีอาวุธปืนในครอบครองก่อนครับ นอกเหนือจากฐานคิดเรื่อง ‘สิทธิส่วนบุคคลในการเลือกที่จะครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง’ ซึ่งวางฐานอยู่บนเรื่อง Freedom of Choice และ Right to Possession แล้ว มันยังมีวิธีคิดสำคัญบนฐานคิดที่เราเรียกกันว่า ‘สัจนิยมเชิงโครงสร้าง’ หรือ Structural Realism ด้วย คือ ว่ากันแบบย่นย่อที่สุด แนวคิดของสำนักสัจนิยมหรือ Realism นั้นแบ่งเป็น 2 แขนงหลักๆ คือ Human Nature Realism กับ Structural Realism แบบแรกคือแขนงที่มองว่ามนุษย์นั้นเลวและจ้องจะเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งผลประโยชน์และอำนาจสูงสุดโดยกมลสันดาน ว่าง่ายๆ ก็คือ ความเลวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ในขณะที่อีกแขนงหนึ่ง (ซึ่งเราให้ความสนใจในกรณีนีนี้) ไม่ได้มองว่ามนุษย์/รัฐเลวแต่ต้น แต่เงื่อนไขหรือโครงสร้างของสังคมมัน ‘บีบให้ต้องสร้างอำนาจของตนเองให้มากที่สุด’ เพราะยิ่งตนเองมีอำนาจมากเท่าไหร่ คนอื่นๆ ก็จะไม่กล้าเข้ามารังแกตนมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกที่จะไม่สะสมหรือสร้างอำนาจของตนเอง ในขณะที่คนอื่นต่างสะสมอำนาจหมด สุดท้ายเราก็จะตกเป็นเบี้ยล่างให้เค้าเอาเปรียบได้ นี่เองคือโครงสร้างที่บังคับให้เราต้องถวิลหาอำนาจ หรือก็คือ ‘โลกบังคับให้เราเลว’
เอาจริงๆ แล้วสหรัฐอเมริกาเองเป็นประเทศที่วางกรอบนโยบายการต่างประเทศของตนเองบนฐานคิดนี้มานานแล้ว (เกาหลีเหนือตอนนี้เองก็ใช่ด้วย) และมันก็พิสูจน์มาแล้วหลายรอบว่า ‘ผิด’ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์แบบ 9/11 ขึ้น ที่แม้สหรัฐอเมริกาจะมี Firearm Capacity หรือขีดความสามารถทางอาวุธมากที่สุดในโลก ก็ไม่ได้ทำให้ ‘ภัย’ มันหายไปได้ ตรงกันข้ามตอนนี้สหรัฐอเมริกากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงกับภัยก่อการร้ายมากที่สุดในโลกตะวันตก ในขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งมีกำลังทางการทหารน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาแบบเทียบไม่ติดนั้นกลับมีความเสี่ยงที่น้อยกว่ามากๆ ไปด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘ปริมาณการครอบครองอาวุธ หรือปริมาณของอำนาจ’ ดูจะไม่ได้ทำให้ภัยมันหายออกไปจากตัวเราได้ มากเท่ากับ ‘ท่าที/การวางตัว/นโยบาย’ ของรัฐนั้นๆ/คนนั้นๆ เอง
กรณีการครอบครองอาวุธนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ปัจเจกบุคคลสามารถ ‘ครอบครองอาวุธ’ เพื่อป้องกันตัวเองจาก ‘ภัย’ ได้นั้น ไม่ได้ทำให้ระดับของภัยหรือความเสี่ยงต่อภัยลดน้อยลงเลย ในทางตรงกันข้ามมันกลับเพิ่มขึ้น
ผมอยากให้ลองดูตารางด้านล่างนี้ครับ เป็นตารางที่ทำสรุปสถิติการตายโดยอาวุธปืนในประเทศต่างๆ เราจะพบว่าปริมาณสุทธิของการเสียชีวิตจากอาวุธปืน (Total Firearm Death Rate) ของสหรัฐอเมริกานั้นมากกว่าประเทศอื่นๆ แทบทั้งหมดราวๆ 10 เท่า
อย่างไรก็ดีแม้ผมจะมีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่าผมไม่สนับสนุนนโยบายการครอบครองปืน แต่พร้อมๆ กันไป ผมคิดว่าเราต้องแยกประเด็นด้วยว่า “การลดการครอบครองปืนโดยตัวมันเองไม่ได้แปลว่าจะลดระดับของภัยอันตรายในชีวิตลงได้ โดยเฉพาะจากภัยการก่อการร้าย” ที่ต้องพูดแบบนี้เพราะหลายครั้งการถกเถียงเรื่องการควบคุมปืนนั้นมันมาคู่กับเหตุการณ์กราดยิง (Mass Shooting) และการเกิดเหตุการก่อการร้าย (ซึ่ง Mass Shooting บางกรณีก็ถูกนับเป็นการก่อการร้ายด้วย) ส่วนนี้เองเราต้องเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายด้วยก่อนว่า ในทางหนึ่งมันคือ ‘วิธีการต่อสู้’ ที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรู้ตัวอยู่แล้วว่ากำลังต่อสู้ต่อกรกับอำนาจที่เหนือกว่ามากๆ (คนธรรมดา สู้กับรัฐ) มันเหมือนคนมีปืน 10 กระบอก สู้กับคนมีปืน 100,000 กระบอกนั่นแหละครับ (อันนี้เปรียบเทียบแบบน้อยไปมากๆ ด้วย ถ้าพูดในบริบทของสหรัฐอเมริกา) นั่นคือขีดความสามารถในทางอาวุธมันต่างกันมากๆ อยู่แล้ว ฝั่งที่มีปืน 10 กระบอกนั้น คุณจะลดปืนเขาเหลือ 5 กระบอก 2 กระบอก หรือแม้แต่ไม่เหลือเลยสักกระบอกหนึ่ง มันก็ไม่ได้มีผลลัพธ์ที่ต่างอะไรเลยในแง่ ‘สมการเชิงกำลัง’ ว่าง่ายๆ ก็คือ ภัยแบบการก่อการร้ายนั้นมันคือการก่อเหตุที่ไม่สนใจสมการเชิงกำลังที่ว่านี้แต่แรก
ต่อให้คุณควบคุมการครอบครองอาวุธปืนอย่างได้ผลสุดๆ อย่างมากก็เปลี่ยนไปใช้มีดทำครัว ก้อนหิน หรือขับรถทับคนจนเสียชีวิตเป็นเบือแบบเหตุการณ์ที่นีซ เป็นต้น สหรัฐอเมริกาจะไม่มีทางหมดจากสถานะการตกเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุ ตราบที่สหรัฐอเมริกายังวางตัวแบบที่เป็นอยู่ในเวทีโลก ยังแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบอำนาจนิยม และยังใช้กำลังเข้าข่มประเทศอื่นไปทั่วอย่างที่ทำมาหลายทศวรรษ
เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ฆ่าคนมันไม่ใช่ปืนครับ แต่มันคือคนด้วยกันเอง ถ้าเรายังเปลี่ยนวิธีคิดของคนไม่ได้ สร้างสังคมที่เชื่อในคุณค่าของการมีชีวิต และคุณค่าของมนุษย์คนอื่นๆ ว่ามีค่าเหมือนๆ กับเราไม่ได้ คุณเปลี่ยนนโยบายเรื่องปืนไปอีกสิบแปดรอบ ผลก็ไม่ได้ต่างมาก เพราะสุดท้ายแล้ววิธีการใช้ความรุนแรงมันเปลี่ยนรูปแบบได้เรื่อยๆ
ถ้ายังเปลี่ยนพื้นฐานวิธีการมองมนุษย์ด้วยกันเองไม่ได้ อย่างมากสถิติการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนก็จะลดลง แต่สถิติการตายด้วย ‘วิธีการแบบอื่นๆ’ ก็จะไปเพิ่มขึ้นแทนเอง
จากตารางข้างต้นก็จะพอเห็นได้ว่า เอาจริงๆ แล้วการ ‘ฆ่า’ โดยไม่ใช้อาวุธปืน (Non-Firearm Homicide) ของสหรัฐอเมริกาเองนั้นก็ไม่ได้น้อยเลย แม้จะน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการฆ่าด้วยอาวุธปืน แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วก็ยังเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ดี ผมคิดว่าไม่ผิดนักที่จะบอกว่า “ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ปืนไม่ปืนเท่านั้นแล้วแหละ แต่ปัญหามันอยู่ที่สังคมอเมริกันเองมันก็ Sick มันป่วยไข้อยู่” และปัญหามันยิ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อคุณให้สังคมที่ป่วยไข้ทางความคิดนี้ถือปืนได้ แต่สังคมอเมริกันจะ sick อย่างไร คนที่ใช้ปืนมาฆ่าคนตายหรือเอาอาวุธสงครามมาขู่ประชาชนตัวเองก็ได้รับการประณามและลงโทษนะครับ ไม่ใช่ได้รับการเชิดหน้าชูตาแบบบ้านเรา ก็ชัดๆ ว่าสังคมที่ไหน sick กว่ากัน
ผมคิดว่ามีข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจ และในระดับหนึ่งผมคิดว่ามันบ่งชี้ได้ด้วยว่าสังคมอเมริกานั้นพร้อมจะ ‘โยกย้าย’ การใช้ความรุนแรงมาเป็นวิธีอื่นที่ไม่ใช่ปืนได้ หากปืนโดนควบคุมไป Susan B. Sorenson ได้ตีพิมพ์บทความของเธอในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยได้ลองเปรียบเทียบการใช้ความรุนแรงกับคู่ขา/คู่นอน (Intimate Partner) ‘โดยแบ่งตามอาวุธ’ โดยศึกษาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ 5 เมืองของสหรัฐ จากข้อมูลสถิติในปี ค.ศ. 2013 Sorenson นำเสนอข้อมูลที่ผมมองว่าน่าสนใจทีเดียว คือ จากเหตุการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 35,413 เหตุการณ์นั้น 6,573 เหตุการณ์มาจากการตบ ต่อย เตะ ฯลฯ ในขณะที่มี 1,866 เหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธด้วย โดยอาวุธปืนถูกใช้ทั้งสิ้น 576 ครั้ง โดยมากแล้วเป็นการก่อเหตุโดยฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง โดยการก่อเหตุโดยใช้ปืนส่วนใหญ่นั้นโดยมากนำมาเพื่อขู่ให้กลัว แต่เมื่อใช้ปืนก็มีแนวโน้มลดลงด้วยที่จะไม่ใช้กำลังแบบอื่น ในขณะที่เวลาไม่ได้ใช้ปืนกลับมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังด้วย[4]
แม้งานวิจัยนี้จะไม่ได้ขยายมาถึงกลุ่มประชากรทั้งหมด แต่เน้นไปที่กลุ่มคู่ขา/คู่นอนอย่างที่ว่าไป แต่ในระดับหนึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนให้พอเห็นได้ว่าต่อให้ไม่มีปืน คนอเมริกันก็พร้อมที่จะ ‘หันไปใช้วิธีอื่น’ ในการก่อความรุนแรงอยู่ดี ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องคิดมากพอสมควรด้วย เพราะกรณีที่มีปืนนั้นส่วนใหญ่จะ ‘ไม่ใช้ออกไป’ ว่าง่ายๆ คือมีข้อได้เปรียบในเชิง ‘ความถี่ของการใช้งาน’ แต่เมื่อใช้แล้วมันส่งผลถึงชีวิต (Lethal Damage) ในขณะที่ถ้าไม่มีปืนนั้น ‘มีแนวโน้มจะใช้กำลังมากขึ้น’ คือเกิดความรุนแรงถี่มากขึ้น แต่แนวโน้มของระดับอันตรายที่ก่อ ‘เมื่อเกิดการใช้’ นั้นอาจจะอันตรายน้อยกว่า (Less Lethal Damage) สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นมันกลับไปสู่ทางแก้ที่ว่าไว้แล้วก่อนหน้าคือ ‘ทำให้สังคมของคุณเองหายป่วยไข้เสียก่อน’ ไม่งั้นมาแก้ปัจจัยพวกนี้ไป มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก
อีกแง่หนึ่งของการใช้อาวุธปืนในครอบครองนั้น หากสังเกตในตารางก็จะเห็นได้ด้วยว่า โดยมากแล้วเกิดจากการฆ่าตัวตาย (Firearm Suicide Rate) ซึ่งหากเราไปดูตัวเลขที่ละเอียดขึ้น จะพบว่าจากการตายด้วยอาวุธปืนทั้งสิ้น 33,594 ชีวิตในปี ค.ศ. 2014 นั้น เป็นการฆ่าตัวตายมากถึง 21,386 ชีวิตเลยทีเดียว[5] ฉะนั้นในแง่นี้หมายความว่า “ปืน” ถูกใช้ในฐานะทางเลือกในการจบชีวิตตนเอง ซึ่งจุดนี้ผมคิดว่าสำคัญ เพราะผมเองนั้นพร้อมๆ กันไปกับการที่สนับสนุนให้ควบคุมอาวุธปืน ผมเป็นคนที่สนับสนุนสิทธิในการเลือกจบชีวิตของตนเองด้วย และ 2/3 ของการตายโดยอาวุธปืนคือผู้ใช้อาวุธปืนในฐานะทางเลือกในการจบชีวิตตนเอง ฉะนั้นผมคิดว่านี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนวนด้วยในการถกเถียงเรื่องนโยบายการควบคุมอาวุธปืน คือ คุณมีทางเลือกในการจบชีวิตตนเองอย่างไรบ้าง?
ผู้อ่านหลายคนอาจจะว่าผมบ๊องที่มาอภิปรายในจุดนี้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะสิทธิในการเลือกจะมีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดของสิทธิมนุษยชน และการเลือกช่วงเวลา รวมถึงวิธีการตายได้เองนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญที่สุดว่า ‘เราคือเจ้าของชีวิตของเราเอง’ ชีวิตเราไม่ได้ถูกกำหนดโดยเทพเจ้า หรือลิขิตสวรรค์ที่ไหน ในจุดนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยต่อว่าผมจะอะไรนักหนา เพราะวิธีการฆ่าตัวตายมันมีตั้งมากมาย ไม่มีปืนไปเสียอย่างหนึ่งก็ใช่ว่าจะฆ่าตัวตายไม่ได้ซะที่ไหน ผมอยากบอกว่า มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นครับ ผมอยากให้ลองดูข้อมูลส่วนนี้สักนิดครับ มันคือตารางข้อมูลสำหรับการฆ่าตัวตายว่า วิธีการแบบไหนมี % สูงสุดในการตาย (Lethality), ใช้เวลาเวลาประมาณเท่าไหร่กว่าจะตาย (Time) ไปจนถึงวิธีการไหนมีระดับความเจ็บปวดทรมาณเพียงใด (Agony) ที่ยิ่งเลขเยอะยิ่งเจ็บปวดมาก
จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นได้ว่าการฆ่าตัวตายด้วยปืน (คือ เอาปืนยิงหัวตัวเองตาย) โดยเฉพาะปืนช็อตกันนั้น เป็นอะไรที่เมกเซนส์มากๆ เพราะ % การตายสูงสุด, ระยะเวลาสั้นมาก รวมไปถึงความเจ็บปวดแทบจะน้อยที่สุดแล้ว (รองแค่โดนระเบิดตาย) เพราะฉะนั้นการจะควบคุมการครอบครองอาวุธปืนนั้น ผมเสนออย่างจริงจัง (แบบจริงจังจริงๆ ไม่ได้ล้อเล่น) ว่ารัฐควรมีพื้นที่อย่างชัดเจนในฐานะสวัสดิการอย่างหนึ่งสำหรับผู้ซึ่งต้องการจะจบชีวิตตนเองด้วยวิธีการที่สั้นและเจ็บปวดน้อยที่สุดควบคู่ไปด้วย พร้อมๆ กับการไปริบทางเลือกในการจบชีวิตตนเอง อย่างการควบคุมอาวุธปืน
อย่างไรก็ดีการควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกาคงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ แน่ครับ ไม่เพียงเพราะตัวกฎหมายรัธรรมนูญที่คุ้มครองอยู่อย่างที่บอกไป แต่สำหรับผมกฎหมายมันยังมีทางออกได้ หากสังคมคิดจะผลักดันจริงๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมสหรัฐอเมริกาแทบทุกครั้งหลังจากเกิดเหตุการกราดยิงครั้งใหญ่นั้นคืออะไร? คือ หุ้นของบริษัทขายอาวุธปืนที่พุ่งสูงขึ้นตลอด อย่างในปี ค.ศ. 2015 เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่ซาน เบอร์นาดิโน่ จนมีผู้เสียชีวิต 14 คนนั้น หุ้นของบริษัทผู้ผลิตปืนขยับสูงขึ้น 10% หลังจากเหตุการณ์ ในปี ค.ศ. 2016 จากเหตุการณ์กราดยิงในบาร์เกย์ เมืองออลันโด้ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 53 ราย หุ้นบริษัทปืน ก็ขยับเพิ่มขึ้น 8.5% และในครั้งนี้ก็เช่นกันในวันจันทร์หลังเหตุการณ์ (เหตุเกิดวันอาทิตย์) หุ้นของบริษัทปืนเพิ่มขึ้นทันที 3.5% และเพิ่มอีก 2.1% ในวันอังคารที่ผ่านมา (รวมแล้วเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5.6%)[6] นั่นคือไม่ใช่แค่กฎหมายที่ปกป้องการลดอาวุธและควบคุมปืน แต่ความป่วยไข้ของสังคมสหรัฐอเมริกาเองด้วยที่กำลังอุ้มชูสภาวะที่ว่านี้อยู่
ตราบใดที่วิธีคิดแบบสัจนิยมเชิงโครงสร้างยังไม่หลุดไปจากหัวของประชากรในสังคมอเมริกา การควบคุมปืน การตอบโต้และป้องกันภัยต่างๆ อย่างควรจะเป็นคงจะไม่เกิดขึ้นได้โดยเร็วเป็นแน่แท้ และนั่นหมายความว่าที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรนักในทางปฏิบัติ นอกจากการบ่นในฐานะนักความมั่นคงศึกษาคนหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.nytimes.com , และ www.usatoday.com
[2] โปรดดู www.facebook.com/thematterco
[3] โปรดดู www.gunviolencearchive.org
[4] โปรดดู www.ncbi.nlm.nih.gov
[5] โปรดดู www.bbc.com
[6] โปรดดู www.nytimes.com