ก่อการร้ายเกิดขึ้นบ่อยแทบทุกวันในช่วงนี้ ทั้งยังมีรูปแบบเปลี่ยนไปกระจายตัวอยู่หลายพื้นที่ สร้างความหวาดกลัวและความระแวงให้กับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในอังกฤษ ฟิลิปปินส์ อัฟกานิสถาน และอีกในหลายๆประเทศแม้แต่ในไทยเอง
แต่เคยคิดไหมว่าถ้าเราไม่มองก่อการร้ายด้วยความกลัวหรือตอบโต้มันกลับด้วยความรุนแรงละ เราจะใช้วิธีอื่นได้ไหม อารมณ์ขันที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามในสถานการณ์แบบนี้จะมีส่วนในการตอบโต้ด้วยได้อย่างไร
ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายที่รุนแรงขึ้นในโลกนี้ The MATTER จึงชวน ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับด้านอารมณ์ขันในการเมือง มาพูดคุยถึงประเด็นการก่อการร้ายในช่วงนี้ และการใช้อารมณ์ขันมาเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้กับมัน
The MATTER: ปัจจุบันเราเห็นรูปแบบการก่อการร้ายเกิดบ่อยขึ้น ในหลายพื้นที่มากขึ้น อาจารย์ว่าการก่อการร้าย มันเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นแค่ไหน?
ผศ.ดร. จันจิรา: ที่จริงถ้าดูตามสถิติ เราตายด้วยสาเหตุอื่นอย่างโรคหัวใจหรือมะเร็งมากกว่าการก่อการร้ายอีก หรือว่าถ้าพูดถึงเหตุรุนแรง ฆาตกรรมก็ทำให้คนเสียชีวิตมากกว่าการก่อการร้ายถึง 10 เท่า แต่ที่เรารู้สึกถึงอิมแพคของการก่อการร้ายมากกว่าเหตุการณ์อื่น อาจเพราะกรณีอย่างฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุ มันมีที่ๆ เรารู้ว่าถ้าเราไม่ไป เราอาจรอด หรือถ้าเราไม่ขับรถประมาท เราก็อาจรอด มันอาจจะมีความซวยอยู่บ้างบางที ในเมืองไทย เดินๆ อยู่ มันก็มีของตกใส่ตายกันเยอะแยะ แต่ของพวกนี้มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกลัว
การก่อการร้ายมันคล้ายๆ กับการฆาตกรรม มันดูเหมือนกับว่ามนุษย์เป็นผู้ทำ แต่ว่าที่ๆ มันเกิด คือสถานที่สาธารณะที่เราไม่คิดว่าจะเกิดอะไร เช่น คอนเสิร์ต ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ มันคือพื้นที่สาธารณะที่เราไว้วางใจและคิดว่ามีความปลอดภัยอยู่บ้าง แถมเดี๋ยวนี้ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันในการก่อเหตุด้วย ตอนเหตุการณ์ 911 ผู้ก่อการร้ายยังใช้เครื่องบินพาณิชย์ แต่ปัจจุบันก็ขับรถกระบะ รถสิบล้อเข้าไปในกลุ่มคน หรือใช้มีดปอกผลไม้แทงคนบนรถไฟเลย เพราะฉะนั้นการก่อการร้าย มันคาดเดาได้ยาก ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้มันทำให้อิมแพค ของการก่อการร้ายเนี่ย มันสร้างความหวาดกลัวและดูใกล้ตัวเรามากขึ้น
หลายครั้งการก่อการร้ายอาจจะไม่ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย เราจะเห็นอย่างกรณีปารีสคือหลักร้อย หรือกรณี 911 ก็คือหลักพัน เทียบกับภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตคนบางทีเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ถ้าเกิดภัยธรรมชาติ คนยังรู้สึกว่าทำใจได้มากกว่า เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่การก่อการร้ายผลของมันคือเราเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา อย่างกรณีคอนเสิร์ตล่าสุดเนี่ย ลูกเราไปคอนเสิร์ตธรรมดาๆ พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้น มันทำให้สังคมเกิดอาการช็อคจากรูปแบบในชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป แล้วมันก็กระทบต่อความเชื่อมั่น ต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของเรา
The MATTER: รูปแบบของการก่อการร้ายในปัจจุบัน มันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจากที่แต่ก่อนจะมากันเป็นกลุ่ม มาเป็นปฏิบัติการตัวคนเดียว (Lone wolf) ไหม?
ผศ.ดร. จันจิรา: คือมันต้องแยกกันนะ อย่างการก่อการร้ายที่มาเป็นกลุ่มก็ยังมีอยู่ จริงๆ แล้ว ตามสถิติการก่อการร้ายแบบมาเป็นกลุ่มก็เกิดขึ้นเยอะกว่าเป็น Lone wolf แล้วก็การก่อการร้ายแบบเป็นกลุ่มส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ ที่เผชิญกับสงครามกลางเมืองหรือว่าความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ อันนั้นเป็นแพทเทิร์นแบบหนึ่ง แต่ทีนี้ Lone wolf ที่เราเห็นเกิดขึ้นในสังคมตะวันตกที่ดูเหมือนไม่มีปัจจัยหรือเชื้อของความขัดแย้งรุนแรงอะไร
การก่อการร้ายที่เราเห็นเป็นโรคภัยไข้เจ็บทางสังคม ในซีกโลกใต้ เช่น ซีเรีย อิรัก หรือไนจีเรีย มีอาการไม่เหมือนกับซีกโลกตะวันตก ในซีกโลกใต้นั้นสาเหตุของโรคมาจากความรุนแรงในประเทศ มาจากความรุนแรงจากรัฐบาล จากสงครามกลางเมือง แล้วก็ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ผลักให้คนที่รู้สึกว่าไม่มีทางสู้ไป หันใช้วิธีการก่อการร้าย
ส่วน Lone wolf หรือการก่อการร้ายด้วยตัวคนเดียว เป็นวิธีที่หนุ่มสาวซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรมในประเทศตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเลือกใช้ คนกลุ่มนี้รู้สึกไม่พอใจและคับแค้นใจในสังคมตัวเอง จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะว่างงาน หรือการปรับตัวไม่ได้กับวัฒนธรรมในสังคมตะวันตก หรือกระทั่งอย่างกรณีล่าสุดในอังกฤษ ผู้ก่อเหตุเป็นผู้อพยพรุ่นที่สอง ฉะนั้นหมายความว่า รัฐบาลตะวันตกเองก็ล้มเหลวที่จะผสมกลมกลืนผู้อพยพเหล่านี้ให้ยอมรับวิถีชีวิตในประเทศของตน
นโยบายต่อผู้อพยพในโลกตะวันตกส่วนใหญ่ คือต่างคนต่างอยู่ แยกกันอยู่ ผู้อพยพไปอยู่ในส่วนที่เรียกว่า ‘Ghetto’ ออกสลัมหน่อยๆ ฉะนั้นโลกของคนขาวกับโลกของผู้อพยพชาวมุสลิมเหมือนเป็นคนละโลกกัน ฉะนั้นคุณเกิดมาใน Ghetto มาจากครอบครัวมุสลิม ชื่อคุณมีคำว่ามูฮัมหมัดหรือฟาติมะ พอไปสมัครงานส่วนใหญ่เค้าก็ไม่รับและสืบสาวไปรู้ว่าทะเบียนบ้านอยู่ใน Ghetto เขายิ่งไม่รับใหญ่เลย อันนี้ยังไม่รวมถึงโอกาสในการศึกษาของชนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับคนขาว
ในโลกตะวันตกการโจมตีสเตเดียมที่จัดคอนเสิร์ตหรือคาเฟ่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพวกนี้คือวิถีชีวิตของคนในโลกตะวันตกแล้วก็เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ถ้าคุณไปทำแบบนี้ในอิรัก มันไม่มีความหมายทางการเมืองอะไรเลย
สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นทำให้คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมากับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศของตัวเอง ความรู้สึกนี้ก็ไปผนวกกับกระแสชาตินิยมอิสลามที่เข้ามาในโลกตะวันตก คนเหล่านี้ที่ว่างงานและมีเวลาเหลือเยอะ ก็ไปมัสยิดที่มีอิหม่ามมาจากซีเรียหรือซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเทศน์ให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้เจอเป้าหมายชีวิตในอิสลาม แต่คำเทศน์หลายครั้งก็สุดโต่ง ปฏิเสธวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ไปเลย เช่น การฟังดนตรีหรือว่าการกินอาหารบางประเภท เป็นการตีความคัมภีร์อัลกุรอานแบบสุดโต่งไปเลย แล้วคุณอยู่ร่วมกับโลกยุคสมัยใหม่ไม่ได้ การเต้นรำเป็นเรื่องนอกศาสนา ดนตรีเป็นเรื่องนอกศาสนา เพราะฉะนั้นคนหนุ่มสาวเลยรู้สึกว่านี่แหละคือเป้าหมายในชีวิต
เรื่องที่สองก็คือคนหนุ่มสาวเหล่านี้ไปไหน ในภาวะที่ว่างงาน ไม่มีอะไรทำ หรือว่ารู้สึกต่อต้านสังคมตัวเอง มันก็มีสงครามอย่างซีเรีย อิรัก หรือปากีสถาน ที่ให้คนเหล่านี้เข้าไปหาประสบการณ์ในการทำสงคราม และคนเหล่านี้เค้าก็เชื่อกันจริงๆ ว่าการทำสงครามทางศาสนาจะช่วยให้เค้าไปสู่สวรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นการพยายามหาความหมายในชีวิตของคนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เค้าเติบโตมา ในทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง
อันนี้ต้องแยก Lone wolf ส่วนใหญ่อยู่ในโลกตะวันตกที่มันเป็นแบบนี้ได้ก็เพราะว่า ถ้าเกิดการรวมตัวกันในโลกตะวันตก มันก็เป็นเป้าหมายของตำรวจ แต่ถ้ามาคนเดียว คุณเติบโตและเป็นพลเมืองของโลกตะวันตก คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้สึกว่าคุณจะทำเรื่องแบบนั้นได้ คุณก็รอดจากสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และคุณรู้ว่าคนไปที่ไหน รู้ข้อความทางการเมืองที่จะส่งออกไปผ่านปฏิบัติการรุนแรง เช่นในโลกตะวันตกการโจมตีสเตเดียมที่จัดคอนเสิร์ตหรือคาเฟ่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะพวกนี้คือวิถีชีวิตของคนในโลกตะวันตกแล้วก็เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ถ้าคุณไปทำแบบนี้ในอิรัก มันไม่มีความหมายทางการเมืองอะไรเลย
The MATTER: แล้วยังมีรูปแบบที่กลุ่มก่อการร้ายสากลมาร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นมากขึ้น อย่างในฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย มันแสดงให้เราเห็นถึงอะไรบ้าง
ผศ.ดร.จันจิรา: อันนี้น่าสนใจ เพราะว่าในโลกตะวันตก Lone wolf เรียกง่ายๆว่าเป็น Home grown คือเชื้อหรือเหตุปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุมาจากภายใน มีปมจากสังคมตัวเองทั้งนั้น แต่อย่างกลุ่มเครือข่ายก่อการร้ายต่างประเทศ เค้าไม่ได้เป็นองค์กร ไม่ได้มีการจัดการเป็นเรื่องเป็นราว ส่วนใหญ่จะเป็น ‘เซล’ ซึ่งหน้าที่แรกเซลพวกนี้จะเชื้อเชิญให้คนมาร่วมสมรภูมิ อย่างซีเรียหรืออิหร่าน แล้วก็ฝึกให้ปฏิบัติการก่อการร้าย อย่างที่สองคือหน้าที่ ‘แสตมป์’ รับรองคนให้ เวลาที่เกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นก็คอยรับรองว่าเกิดจากคนของเรา แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป อย่าง ISIS ก็ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีบัตรสมาชิก หรือไม่ได้เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างลดหลั่น เพราะฉะนั้นก็มีการรับสมาชิกอย่างกลุ่มติดอาวุธในฟิลิปปินส์ ในอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่มติดอาวุธตามท้องถิ่นนี้เอาเข้าจริงก็เกิดมาจากบริบทภายในประเทศ ในฟิลิปปินส์ อย่างกลุ่ม Maute หรือว่ากลุ่ม Abu Sayyaf ก็เกิดมาจากบริบทความขัดแย้งภายในฟิลิปปินส์เอง กลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายขึ้นมา เครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายภายนอกประเทศก็บอกว่านี่คือกลุ่มของเราเพียงเพราะกลุ่มเหล่านี้ปฏิญาณตนว่าจะภักดีกับกลุ่มเครือข่ายสากลอย่าง ISIS ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ปฏิญาณตนกับ Al- Qaeda กลุ่มเหล่านี้เปลี่ยนได้เสมอ
ความน่าสนใจของ ISIS หรือแม้แต่ Al- Qaeda คือกำเนิดของมันเชื่อมกับการเมืองโลก ถ้าเราสาวย้อนกลับไปจริงๆ ISIS มันมาจากความขัดแย้งในซีเรีย ระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วง ตอนแรกผู้ประท้วงเริ่มประท้วงด้วยสันติวิธี แต่ตอนหลังรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศสก็ติดอาวุธให้ พอติดอาวุธให้ก็ดันมีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าขอต่อต้านรัฐบาลซีเรียด้วยอุดมการณ์อิสลาม ทำไปทำมากลุ่มนี้ก็กลายเป็น ISIS กลุ่มเหล่านี้ก็มีชีวิตอยู่ได้ หล่อเลี้ยงด้วยอาวุธจากโลกตะวันตกและซาอุดิอาระเบีย เพียงเพราะว่ามหาอำนาจเหล่านี้ต้องการใช้ ISIS ในการต่อต้านรัฐบาลอัสซาดของซีเรีย ต่อต้านอิหร่านและรัสเซีย เพราะฉะนั้น ISIS ก็ตั้งอยู่ในการเมืองโลกที่อลหม่าน ที่ ISIS อยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะถูกเลี้ยงด้วยอาวุธและเงินจากโลกตะวันตก จากซาอุดิอาระเบีย และสามารถคุมแหล่งน้ำมันได้ ทำมาหากินได้ ISIS จึงเป็นวิวัฒนาการของกลุ่มก่อการร้ายที่น่าสนใจ
The MATTER: จะเห็นว่าปัจจุบันพอเราเกิดก่อการร้ายมากขึ้น รัฐก็พยายามตอบโต้โดยการเข้าถึงข้อมูลประชาชนมากขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงหรือการป้องกัน อาจารย์คิดว่าวิธีการนี้จะช่วยลดทอนความหวาดกลัว และความรู้สึกไม่ปลอดภัยของประชาชนได้แค่ไหน
ผศ.ดร.จันจิรา: ในแง่ความรู้สึกมันอาจจะช่วย คนอาจจะรู้สึกว่ารัฐบาลใส่ใจเรามากขึ้น ติดกล้องวงจรปิดเต็มไปหมด หรือการตรวจตรา เดี๋ยวนี้อเมริกาก็มีนโยบายที่ผู้จะเดินทางเข้าประเทศอเมริกาต้องอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เราใช้ เพราะฉะนั้นมันก็กลายเป็นว่าความเป็นส่วนตัวของเราถูกล่วงละเมิดโดยรัฐเต็มไปหมด มันน่าสนใจว่าในความเป็นจริงวิธีการเหล่านี้ช่วยเราได้มากน้อยแค่ไหน เจ้าหน้าที่ก็ตามคนที่เข้าไปในซีเรีย ผ่านอีเมล ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เฟซบุ๊คหรือว่าทวิตเตอร์ก็ดี แล้วก็ทำงานผ่านการตรวจข่าวสารเหล่านี้ที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลส่วนตัวของเรา แต่สำหรับประชาชนทั่วไป อย่างกรณีของอังกฤษ ชัดเจนเลยนะว่าตำรวจก็ตามทั้งครอบครัวมานานแต่ดันหลุดรอดคนนี้ให้กลับมาก่อการร้ายได้ เพราะฉะนั้นมาตรการเหล่านี้มันก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ในทางเทคนิคถามว่าอะไรช่วยชีวิตเราได้ คืออย่าประมาท หมายความว่าประชาชนอย่าคิดว่าสถานที่ที่เราเคยคิดว่าปลอดภัยมันปลอดภัย ทางรัฐจริงๆ ควรจะต้องฝึกให้ประชาชนรู้จักรับมือกับภัยก่อการร้ายเหมือนที่เรารับมือกับภัยแผ่นดินไหว มันต้องมีการฝึก เช่นเวลาเกิดการยิงกราดขึ้น ต้องวิ่งไปที่ไหน เกิดการระเบิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ อย่างเป็นพื้นที่ปิด อย่างสเตเดียมหรือว่าโรงหนังต้องทำอะไร คนจะได้ไม่ตื่นตระหนก พร้อมรับมือสถานการณ์การก่อการร้ายได้ตลอดเวลา
ทีนี้มันมีอีกนัยยะนึง ที่ผู้ก่อการร้ายใช้วิธีการก่อการร้ายสร้างความสะเทือนขวัญ มันก็มีผลหลายอย่าง ผลอย่างนึงก็คือสังคมที่เคยเป็นสังคมเปิด เป็นประชาธิปไตย พอเกิดการก่อการร้าย ก็จะออกไปทางอำนาจนิยมนิดๆ ได้แล้ว ความมั่นคงถูกให้ความสำคัญมากกว่าประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกนัยยะนึงของการก่อการร้าย เอาเข้าจริงเวลาที่รัฐบาลตื่นตระหนกและเริ่มล่วงละเมิดสิทธิของประชาชนมากเท่าไร การก่อการร้ายก็อาจจะถือว่าเป็นชัยชนะอีกก้าวของผู้ก่อการร้ายก็ได้
วิธีการรับมือกับการก่อการร้าย ทำได้หลายอย่าง อย่างเดียวที่ไม่ควรทำคือการฆ่ากันกลับ ฉะนั้นถ้ายิ่งใช้ความรุนแรงโต้กลับมากเท่าไร ชัยชนะทางการเมืองของกลุ่มก่อการร้าย ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
The MATTER: แล้วถ้ามองในมิติว่าการก่อการร้ายเป็นการสร้างความกลัว ตัวเราเองหรือว่าตัวรัฐเองควรจะรับมือกับผลที่เกิดขึ้นทางอารมณ์ หลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย แบบไหนดี?
ผศ.ดร.จันจิรา: โดยทั่วไปคนเริ่มจากตื่นตระหนก กลัว แล้วก็โกรธ แล้วก็ล้างแค้น อันนี้เป็น สเตปที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ดิฉันว่าตัวอย่างที่น่าสนใจคือแพทเทิร์นที่นอร์เวย์ที่ต่างจากที่อื่นคือ การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากคนผิวขาวในปี 2011 ซึ่งเขาที่เป็นคนขาวต่อต้านผู้อพยพเชื่อว่านโยบายต่อผู้อพยพของรัฐบาลนอร์เวย์มีปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากการก่อเหตุคือคนจำนวนมากรู้สึกและกลับมามองตัวเอง กลับมาพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลและสังคมของเรา ทำไมถึงเกิดเหตุก่อการร้ายกับเด็ก กับผู้หญิงในพื้นที่ปลอดภัยได้ มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Self-reflection’ อย่างในสหรัฐฯ ตอนแรกๆ ก็เริ่มมีกระแสจากคนบางกลุ่ม ถามว่าสหรัฐฯ ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้นความคิดเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกว่า ความรุนแรงของคนอีกกลุ่มนึง อาจจะเป็นผลของนโยบายบางอย่างของรัฐบาลที่มันไปกระทำต่อเขาก่อนหรือเปล่า นั่นก็เป็นการรับมืออย่างนึง
อย่างที่สองคือมันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Collective compassion’ คือมันคล้ายๆ ความมีเมตตา ความเห็นใจ หมายความว่าแทนที่เราจะชี้หน้าไปที่ชุมชนมุสลิม ไล่ล่าคนกลุ่มน้อยหรือว่าพูดจาข่มขู่ แทนที่จะทำแบบนั้น อาจจะต้องหันมาคิดว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมก็คือเหยื่อเหมือนเรา เหมือนเพื่อนเรา ที่ต้องเห็นอกเห็นใจกันในเวลาที่เกิดเหตุก่อการร้าย ฉะนั้นถามว่าวิธีการรับมือกับการก่อการร้าย ทำได้หลายอย่าง อย่างเดียวที่ไม่ควรทำคือการฆ่ากันกลับ ฉะนั้นถ้ายิ่งใช้ความรุนแรงโต้กลับมากเท่าไร ชัยชนะทางการเมืองของกลุ่มก่อการร้าย ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
The MATTER: ในฐานะที่อาจารย์เคยทำวิจัยเรื่องด้านอารมณ์แล้วก็เรื่องอารมณ์ขัน อาจารย์มองว่าเราสามารถใช้อารมณ์ขัน ในการตอบโต้ความรุนแรงในการก่อการร้ายได้ไหม แล้วเราจะใช้มันในรูปแบบไหนดี?
ผศ.ดร.จันจิรา: ต้องระวังเหมือนกันนะ คืออารมณ์ขันมันมีด้านมืดเหมือนกัน มันเป็นอารมณ์ขันที่กระตุ้นอารมณ์โกรธได้ เช่นกรณี Charlie hebdo เหตุของความโกรธและความไม่พอใจต่อชาวมุสลิมมาจากการวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดา ดังนั้นอารมณ์ขันถ้าใช้ไม่รู้กาลเทศะ ก็อาจจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งหรือว่าความตึงเครียดของชุมชนต่างวัฒนธรรม รุนแรงขึ้น อารมณ์ขันมันมีทั้งแบบขำ เยาะเย้ยคนอื่น ขำตัวเอง และก็ขำด้วยกัน แบบที่จะช่วยจริงๆก็คือ แบบขำด้วยกัน
มันมีอารมณ์ขันที่ช่วยให้เราเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมนุษย์มากขึ้น อารมณ์ขันในยามวิกฤต อารมณ์ขันต่อความตาย ขำขันต่อกลุ่มก่อการร้ายต่างๆว่าทำไมถึงได้ทำตัวได้น่ารังเกียจ ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ ตอนที่นักข่าวญี่ปุ่นที่เข้าไปทำข่าวในซีเรียแล้วถูกตัดหัว ชาวญี่ปุ่นกลุ่มนึงออกมาวาดการ์ตูนน่ารัก วาดเป็น ISIS คือไม่วาดเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา เพราะถ้าวาดสัญลักษณ์ทางศาสนาจะเป็นการเหมารวมว่ามุสลิมเป็น ISIS ทั้งหมด เป็นการแยก ISIS กับอิสลามออกจากกัน งั้นสิ่งที่ ISIS ทำเป็นสิ่งที่น่าตลกขบขัน พอเราขำต่อความรุนแรงของ ISIS ได้ แทนที่ความรุนแรงของ ISIS มันจะเป็นความกลัว มันกลับสร้างความรู้สึกสมเพช เพราะฉะนั้นของแบบนี้มันจะเป็นอาวุธทางการเมืองต่อความกลัวที่เกิดจากการก่อการร้ายได้
The MATTER: มีเคสอื่นๆ อีกไหมที่เราเห็นว่าอารมณ์ขันสามารถมาใช้ตอบโต้ได้และเห็นผลจริงๆ
ผศ.ดร.จันจิรา: ดิฉันไม่เคยเก็บข้อมูลจริงจัง แต่อย่างในอินเดียก็มีตัวอย่างนึงก็คือ ในปี 2008 เกิดเหตุก่อการร้ายที่โรงแรมหรูหรากลางเมืองมุมไบ มีคนตายเป็นร้อย เหตุการร์มันลากยาวไปประมาณ 3-4วัน คนโกรธก็มีนะ แต่คนอินเดียบางส่วนก็ขำ บอกว่าเหตุก่อการร้ายที่ลากได้หลายวันมันเกิดได้ที่อินเดียเท่านั้น เพราะพวกนี้เลียนแบบ Bollywood ทำเป็นหนังลากยาว ทำไม่จบสักที คนอินเดียก็ล้อตัวเองกัน คือเวลาที่เกิดเรื่องแบบนี้ มันจะมีบทสนทนา มีคนที่ทำให้เรื่องแบบนี้มันดูชวนหัว ดูตลก ตลกแบบ Black Humor เป็นตลกแบบล้อเลียนความตาย ถ้าคุณย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ Black Humor คือบริบทที่เราพูดกันตอนนี้คือการก่อการร้ายแต่ว่ามันก็มีบริบทอื่น อย่างเช่นช่วงนาซี คนก็คิดถึงความน่ากลัวของระบบแต่ปรากฏว่ามันก็มีอารมณ์ขันเต็มไปหมดเลย มีเรื่องคนยิวเล่าโจ๊กอะไรกันบ้าง เกิดอารมณ์ขันแบบไหนบ้างในช่วงที่ชีวิตสุ่มเสี่ยงกับความตายมากที่สุด
The MATTER: จากที่เราเห็นว่าก็มีล้อเลียน ISIS ตัดต่อกับรูปหมู หรือล้อเลียนเรื่องเพศ การตอบโต้แบบนี้ถือว่าเป็นอารมณ์ขันเหมือนกัน อาจารย์คิดว่าการตอบโต้แบบนี้มันถูกต้องมั้ยหรือยิ่งไปกระตุ้น
ผศ.ดร.จันจิรา: ISIS เค้าพยายามจะสร้างภาพลักษณ์ว่าเห้ย กูซีเรียส มึงต้องกลัวกู จริงๆมันก็มีวิธีการล้อแบบตัวตลก หรือผู้หญิงน่ารักๆ ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่อย่างที่บอกว่ามันต้องอาศัยศิลปะ ข้อความ หรือว่าในการวาดรูปต่างๆ เพราะฉะนั้น มันเลยค่อนข้างซับซ้อนในการล้อด้วย โดยเฉพาะการล้อด้วยภาพการ์ตูน ตีความได้เยอะ
ดิฉันว่าถ้าล้อ ISIS เส้นมันบางมากนะ ต้องอย่าล้อศาสนาอิสลาม แล้วก็ไม่ใช่ล้อในทางที่เหยียดความเป็นมนุษย์ มันมีกรณีล้อว่าแบบนี่เป็นหมู เป็นหมา แบบนี้คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ มันมีวิธีการล้อที่ทำให้เรื่องพวกนี้ดูไม่ซีเรียสและช่วยตอบโต้ความกลัวที่เกิดจากการก่อการร้ายได้
เครดิตภาพ: โกวิท โพธิสาร จากนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส
Illustration by Namsai Supavong