ข้าวจากกรณีจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าในตอนแรกได้รับการประกาศว่า ‘เน่า’ เสียเกือบหมด อย่างไรก็ดีสถานะของความ ‘เน่า’ นี้ดูจะเปลี่ยนไปได้ เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะประกาศว่า “ขายข้าวเหล่านี้ออก” และการประกาศสลับไปมาเช่นนี้ก็ดูจะเกิดขึ้นหลายครั้งทีเดียวตลอดสามปีนี้ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ก็มีการประกาศอีกแล้วว่าสามารถขายข้าวที่ค้างคาจากโครงการจำนำข้าวได้มูลค่ามหาศาล จนเป็นที่งงงวยของหลายๆ คนว่า สรุปข้าวมันเน่า หรือข้าวมันไม่เน่ากันแน่ ผมเลยคิดว่าคงจะถึงเวลาที่เราจะลองมาทำความเข้าใจกับความ ‘เน่าหรือไม่เน่า’ นี้ของข้าวกันสักที
ในปี 2009 Michael Gillespie ได้ออกหนังสือที่อธิบายการกำเนิดขึ้นของสภาวะสมัยใหม่และการรับรู้ความเป็นสมัยใหม่ที่ดีมากๆ เล่มหนึ่งขึ้นครับ ชื่อว่า The Theological Origin of Modernity โดยตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ได้อภิปรายถึงการเปลี่ยนแปลงถึงการรับรู้ว่าด้วย ‘เวลา’ ในทางประวัติศาสตร์ว่า วิธีการมองเวลาในทางประวัติศาสตร์ในแบบ ‘ก่อนสมัยใหม่’ นั้นแตกต่างไปจากวิธีการมองเวลาในทางประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่หรือก็คือ แบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยวิธีการมองแบบก่อนสมัยใหม่นี้ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการมองเวลาผ่านกรอบคิดของศาสนา และการเปลี่ยนรูปแบบของการมอง ‘เวลา’ นี้เอง ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมมนุษย์ก้าวข้ามมาสู่ยุคสมัยใหม่ได้
ผมขอเริ่มจากเวลาแบบที่เราคุ้นชินกันก่อน หรือก็คือเวลาในการรับรู้แบบสมัยใหม่ เวลาชนิดนี้บางครั้งเราเรียกมันว่าเวลาแบบเป็นเส้นตรง หรือ Linear Timeline มันก็คือการรับรู้เวลาในทางประวัติศาสตร์ที่มองว่าเวลาวิ่งเป็นเส้นตรงจากอดีต ไปหาอนาคต แบบที่เราคุ้นชินนี่แหละครับ คือ เมื่อนาย A เกิด แล้วก็ดำเนินชีวิตเรื่อยมา จนนาย A ตาย ประวัติศาสตร์ของนาย A ก็จบสิ้นลง แล้วก็อาจจะมีประวัติศาสตร์ของคนใหม่เกิดขึ้นต่อมาแทน แล้วก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับนาย A นี้ คือไหลเป็นเส้นทางเดียว และมันไม่ได้จำกัดเฉพาะชีวิตมนุษย์อะไรนะครับ มันหมายรวมถึงความเข้าใจที่มีต่อประวัติศาสตร์ของสังคม อารยธรรมและทุกสิ่งด้วย เพราะเวลานั้นอยู่เหนืออำนาจการควบคุมทางกายภาพในเชิงประวัติศาสตร์ใดๆ ของมนุษย์ นี่คือการรับรู้เวลาที่เราคุ้นชินจนอาจจะเกิดสงสัยได้เลยว่ามันสามารถมีการมองเวลาแบบอื่นได้อีกหรือ? คำตอบคือ ‘ได้ครับ’ และนั่นก็คือเวลาในแบบก่อนสมัยใหม่ที่กำลังจะอธิบายต่อไปนี่เอง
สังคมในยุคก่อนสมัยใหม่นั้น ไม่ได้คุ้นชิน หรือรับรู้เวลาในทางประวัติศาสตร์แบบเราเลยครับ เขาได้รับอิทธิพลอย่างสูงมากจากแนวคิดทางศาสนาซึ่งมีจุดร่วมกันอยู่พอสมควร นั่นคือการ ‘ไหลเวียนสู่อดีต’ หรือก็คือวิธีการมองด้วยระบบคิดของการเวียนว่ายตายเกิด หรือการฟื้นคืนชีพในทางหนึ่งนั่นแหละครับ แต่ไม่ได้อยู่แค่ในสเกลของมนุษย์เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงสังคมหรืออารยธรรมและทุกๆ สิ่งด้วย ที่สุดท้ายก็จะสูญสลายลงและกำเนิดขึ้นมาใหม่ เราเรียกวิธีการมองเวลาแบบนี้ว่า เวลาแบบหมุนวนเป็นวงกลม หรือ Cyclical Timeline ครับ
ใน Cyclical Timeline นี้ ชีวิตจะเกิดขึ้นและเมื่อเวลาผ่านไปก็จะตายลง แต่เมื่อตายลงแล้วก็จะสามารถฟื้นคืน หรือ Reincarnate ได้ใหม่อีกครั้ง แล้วกลับสู่วังวนแบบเดิมๆ อีกครั้ง วนเวียนอยู่แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นลักษณะที่กิลเลสปี้อธิบายว่ามีร่วมกันเกือบทุกชุมชนการเมืองในโลก อย่างในศาสนาพุทธมีการเวียนว่ายตายเกิด, ในคริสต์ มีความเชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้งหลังถูกตรึงกางเขน เป็นต้น
ฉะนั้น เมื่อเรานำเอากรอบความคิดเรื่องวิธีการมองเวลาในทางประวัติศาสตร์นี้หันกลับมามองเรื่องข้าวแล้ว การที่เรางุนงงว่าทำไมข้าวที่ถูกประกาศว่า ‘เน่าไปแล้ว’ ถึงสามารถกลับมา ‘ไม่เน่า’ ได้อีกครั้งนั้น เป็นเพราะพวกเราเองนี่แหละครับที่แย่ ที่ดันติดบ่วงอยู่กับวิธีการมองแบบสมัยใหม่ที่เห็นเวลาทางประวัติศาสตร์วิ่งเป็นเส้นตรงคือ ข้าวค่อยๆ งอก แล้วก็มาเป็นรวง สภาพดี จากนั้นก็เน่า และสลายไป จบแค่นั้น จะมีใหม่ก็ต่อเมื่อมีข้าวล็อตใหม่เกิดขึ้นมา และวิ่งเป็นเส้นทางเดียวแบบเดิมนี้อีก
อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของท่านอาจจะมองเรื่อง ‘ข้าว’ โดยใช้กรอบวิธีการมองแบบ ‘ก่อนสมัยใหม่’
ดังเช่นวิธีคิดและการกระทำอื่นๆ ของพวกท่านได้ทำมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นสถานะของข้าว เมื่อมันเน่าและสูญสลายลงไปแล้ว ตราบเท่าที่มันยังไม่นิพพาน หรือกลับไปสู่ปรมาตมัน มันก็ยังคงกลับมาวนเวียนในวัฏจักรของเวลาที่เป็นวงกลมนี้ต่อไปได้ ข้าวที่เน่าเสีย เมื่อสิ้นสภาพลง จึงฟื้นกลับมาเป็นข้าวที่สดใหม่พร้อมขายอีกครั้งได้ และด้วยวิธีคิดแบบนี้เองย่อมหมายความว่าข้าวของเราจะไม่มีทางหมดลง และจะสามารถนำรายได้แบบไม่มีที่สิ้นสุดกลับมาให้เราได้
ช่างเป็นหนทางที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่การเป็นมหาอำนาจโลกจริงๆ ครับ และดูจะเป็นความสำเร็จในระดับอภิปรัชญาหรือ Metaphysics ที่พยายามศึกษาหาความจริงแท้ของตัวตนอันแท้จริงหรือสารัตถะอันท่องแท้ (ในกรณีนี้คือ สารัตถะอันถ่องแท้ของข้าว) กันเลยทีเดียว (แม้อาจจะอดตายกันในระดับกายภาพไปก่อนจะบรรลุความเข้าใจทางอภิปรัชญานี้ได้ก็ตาม)
อย่างไรก็ดีวิธีการคิดแบบนี้ ย่อมหมายความว่า ‘เป้าหมายปลายทาง’ (End Purpose) ของการมีอยู่ของข้าว หรือที่ในทางปรัชญาเราจะเรียกมันว่า ‘Telos ของข้าว’ นั้นไม่ใช่การเจริญเติบโตจนถึงที่สุดแล้วก็ผุพังลง เพราะหากนี่คือ Telos ของข้าวแล้ว การเน่าของข้าวย่อมทำให้ข้าวบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการมีอยู่ของตัวตนมันได้แต่แรก และนั่นย่อมทำให้มันหลุดพ้นจากบ่วงของวังวนแบบเวลาที่เป็นวงกลมนี้ได้ แต่เมื่อข้าวนี้ยังไม่ได้หลุดพ้นจากบ่วงของเวลาที่หมุนเป็นวงกลม ก็คงจะแปลความได้ว่าข้าวนั้นมันยังไม่บรรลุ Telos ของตัวมันเอง (ถ้าว่าแบบพุทธๆ ก็คือ ‘ข้าวยังไม่นิพพาน’ น่ะครับ) เมื่อข้าวยังไม่บรรลุ Telos ที่ว่านี้ เราก็จะได้พบเห็นปรากฏการณ์ข้าว ‘เน่า แล้วหายเน่า’ ต่อไปเรื่อยๆ
แต่เนื่องจากตัวเราเองก็ไม่ใช่ข้าว จะไปเข้าใจตัวข้าวมันเองก็กระไรอยู่ ว่า Telos ของมันคืออะไร อย่างไรก็ดีผมคิดว่าเราอาจจะวิเคราะห์ปัญหานี้ได้จากอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ ข้าวมันไม่ได้ไปอยู่ในเวลาแบบหมุนวนด้วยตัวมันเอง หากแต่มันเข้าไปอยู่ในนั้น เพราะวิธีการเลือกที่จะมองของทางรัฐบาล หรือก็คือรัฐบาลเป็นคนเลือกจับข้าวเข้ามาอยู่ในบ่วงเวลาไม่สิ้นสุด ฉะนั้น Telos ของรัฐบาลเอง ก็มีแนวโน้มจะเป็น Telos ของข้าวเหล่านี้ไปโดยปริยายด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ ข้าวมันก็จะวนๆ อยู่กับสภาพความ ‘เน่า-ไม่เน่า’ นี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะตอบสนอง ‘เป้าหมายปลายทาง’ ของรัฐบาลได้ครบถ้วนนั่นเอง
ในเพลงเปิบข้าว ที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์เคยประพันธ์ไว้ มีท่อนที่ร้องว่า “…จึงแปรรวง มาเป็นกิน” ที่ดูจะอภิปราย Telos ของข้าวในสายตาของคนโดยทั่วไปไว้ แต่การมีอยู่เพื่อ ‘ถูกกิน’ ดูจะไม่ใช่ ‘Telos’ หรือ ‘เป้าหมายปลายทาง’ ที่รัฐบาลมอบให้กับข้าวอีกต่อไป เพราะถ้าถูกกินแล้วจบ ข้าวคงหยุดจากสภาวะ ‘เน่าแล้วหายเน่า’ ไปนานแล้ว ก็คงต้องดูว่าข้าวในยุ้งฉางนั้นจะ “แปรรวงเป็นเรือดำน้ำ, แปรรวงเป็นรถถัง, แปรรวงเป็นผลงานเศรษฐกิจ, แปรรวงเป็นเงินเดือนข้าราชการทหาร, แปรรวงเป็นระบบเฝ้าระวังประชากรตัวเอง, ฯลฯ” หรืออะไรก็สุดแท้แต่ที่ผมจะคาดการณ์ได้ และเกินกว่าที่จะรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายปลายทาง หรือ Telos ที่มันถูกกำหนดให้ไว้กันแน่ (หรือจะถูกใช้ซ้ำอีกกี่ครั้งกันแน่)
แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ ข้าวในยุ้งฉางวันนี้ ที่เราไม่รู้แน่ชัดว่ามันยังคงอยู่ในเวลาแบบหมุนวนต่อไปหรือเปล่านั้น (เพราะไม่รู้ว่ามันบรรลุ Telos ของรัฐแล้วหรือยัง) จึงมีสถานะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ข้าวของชโรดิงเจอร์’ (Schrodinger’s Rice) ที่มีสถานะ ‘ทั้งเน่า และไม่เน่า’ ไปพร้อมๆ กัน ตราบเท่าที่ยุ้งฉางยังไม่ถูกเปิดออก และรัฐบาลยังไม่ได้ออกปากว่ามันหลุดพ้นจากห้วงเวลาที่หมุนวนแล้ว มันก็มีสองสถานะไปพร้อมๆ กันนี่แหละครับ
ก็ได้แต่หวังว่าเปิดยุ้งฉางคราต่อไป ข้าวของชโรดิงเจอร์ที่ทำเรางุนงงนี้จะได้รับการปลดปล่อยสู่โลกของกาลเวลาแบบสมัยใหม่เสียทีนะครับ …สงสาร วนเวียนอยู่ในคติโบราณมา 3 ปีแล้ว