สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นทาง Bloomberg นำเสนอว่า คุกในญี่ปุ่นกลายเป็นสวรรค์ของสตรีสูงอายุ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสตรีสูงอายุหลายรายที่เลือกติดคุกแทนที่จะใช้ชีวิตเหงาๆ อยู่ข้างนอกในสังคม แต่จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ยังมีอะไรให้พูดถึงอีกเยอะ และเป็นเรื่องที่ผมเองก็สนใจมาระยะหนึ่งเหมือนกัน เพราะได้เห็นสารคดีที่เข้าไปดูสภาพในคุกของญี่ปุ่นหลายครั้ง และสภาพในคุกก็เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ ไม่ใช่แค่ตัวนักโทษ แต่ทางการเขาก็ปรับสภาพคุกเพื่อรองรับปัญหานักโทษสูงอายุมากขึ้นด้วย
ดูจากจำนวนของนักโทษใหม่ที่แบ่งตามกลุ่มอายุแล้วน่าสนใจมากครับ ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ปริมาณนักโทษใหม่ในช่วงอายุ 30 ปี ลดลงจากเกือบ 30% เหลือแค่ประมาณ 24% ยิ่งช่วงอายุ 20 ปีนี่ยิ่งลดลงมาก จากประมาณ 25% ลดลงเหลือประมาณ 13% เท่านั้น แต่นักโทษใหม่ที่อายุเกิน 65 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1.2% เป็น 12% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มถึง 10 เท่าในเวลาไม่ถึง 30 ปี ที่สำคัญ คดีความที่นักโทษสูงอายุเหล่านี้ถูกดำเนินคดีคือคดีลักเล็กขโมยน้อยซะเป็นส่วนใหญ่
พอได้เข้าไปคุยกับนักโทษสูงอายุ ก็ได้ความเห็นที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน หลายรายบอกว่า รู้สึกดีที่ติดคุกเพราะในนี้มีสังคม แทนที่จะอยู่ข้างนอกตัวคนเดียวโดยอาศัยเงินช่วยเหลือจากทางการหรือเงินบำนาญของรัฐ แน่นอนว่าการใช้เงินดังกล่าวก็พอที่จะช่วยให้ผ่านชีวิตในแต่ละวันไปได้ แต่ว่าชีวิตของคนชราที่เหลือตัวคนเดียวในสังคมไม่รู้ว่าจะไปพบหาใคร บางวันก็ได้แต่นั่งดูทีวีอยู่ในบ้านของตัวเองเท่านั้น (อ่านเรื่องการเสียชีวิตอย่างเดียวดายของผู้สูงอายุใน Danchi ได้ที่นี่) ทีนี้เงินไม่พอ ขโมยของ โดนจับ ก็พบว่า อ้าว ในคุกมีสังคมมากกว่าข้างนอกเสียอีก อย่างน้อยก็มีเพื่อนร่วมคุก บางทีอยู่ในพื้นที่เรือนจำอาจจะไม่ได้ต่างจากชีวิตคนชราตัวคนเดียวที่ไม่ได้ออกไปไหน ทำให้มีนักโทษที่กลายเป็นขาประจำเข้าออกคุกเสมอ
ตรงนี้ขอเสริมด้วยว่า บางคนที่พึ่งเงินบำนาญของรัฐเป็นหลักต้องเข้าไปอยู่บ้านพักคนชราเกรดล่าง ชีวิตความเป็นอยู่ของบางที่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับในคุกมากครับ ส่วนใหญ่ก็ได้อยู่ในห้องแคบๆ มีพื้นที่สันทนาการรวมกันบ้าง มีคนคอยดูแล โดยต้องเอาเงินบำนาญเกือบทั้งหมดไปจ่ายให้บ้านพักคนชรา แบบนี้จะต่างอะไรกับเข้าคุกล่ะครับ
การเข้าคุกกลายเป็นทางเลือกของคนชราที่อยู่ตัวคนเดียว หรือบางคนแม้จะมีครอบครัว แต่สุดท้ายก็เข้ามาหาเพื่อนในคุกดีกว่าอยู่ในครอบครัวที่เมื่ออายุมากขึ้นแล้วคู่สมรสกลับไม่ได้สนใจอะไรมากนัก อยู่กันไปวันๆ เหมือนคนไม่รู้จักกัน อยู่แล้วยิ่งลำบากใจ
หลายรายพอเป็นขาประจำแล้วก็กลับไปปรับตัวเข้ากับสังคมไม่ได้ ชินกับการอยู่ในคุกเสียมากกว่า เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตในสังคมภายนอกอย่างไร แม้ออกมาแล้วจะได้รับการดูแลโดยองค์กรการกุศลหรือหน่วยงานของรัฐ – เข้าบ้านคนชรา แต่สุดท้ายแล้ว หลายรายก็หนีออกมาและก่อคดีเพื่อเข้าคุกอีก เท่าที่อ่านสัมภาษณ์มา บางรายไปจุดไฟพยายามจะเผาสถานีรถไฟแล้วรอให้คนมาจับ บางรายก็เข้าไปนั่งในอิซาคายะสั่งของกินดื่มมาจัดอย่างเปรม เสร็จแล้วก็บอกร้านว่า เรียกตำรวจเลย นี่กินแล้วไม่จ่าย ได้กลับเข้าไปนอนคุกสมใจ รายที่สื่อไปสัมภาษณ์นี่ ออกจากคุกได้สัปดาห์เดียวก็กลับเข้าไปใหม่อีกแล้ว
พอนักโทษสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เรือนจำก็กลายสภาพเป็น สถานดูแลคนชราไปโดยปริยาย ผมเคยดูรายการข่าวที่เข้าไปดูเรือนจำหญิง พบว่ามีนักโทษหญิงชราจำนวนมาก และในนั้นก็มีคนที่มีอาการความจำไม่ดี ลืมว่าตัวเองทำอะไรอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปช่วยดูแล และแน่นอนว่าในเรือนจำต้องมีกิจกรรมให้ทำ นั่นคือทำงานในโรงงานฝึกฝีมือเหมือนบ้านเรานั่นล่ะครับ แต่พอมีผู้สูงอายุมากๆ ก็ทำงานอะไรจริงจังไม่ได้ จะปล่อยให้ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะนี่คือเรือนจำ ไม่มีนักโทษคนไหนได้สิทธิ์อยู่เฉยๆ ยกเว้นแต่จะป่วยหนัก เลยต้องสร้างงานใหม่ๆ เช่นให้ขัดแผ่นไม้ที่เอามาทำเป็นที่รองแก้ว ซึ่งตัวเจ้าหน้าที่เรือนจำยอมรับว่า ทำไปก็ไม่มีมูลค่าอะไรขายได้หรอก ของแบบนี้ แต่ก็ต้องมีอะไรให้ทำ แถมระหว่างทำงานมีบางคนกระยอกกระแยกไปห้องน้ำแล้วไม่กลับมา เพราะลืมว่าตัวเองอยู่ที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปตามดูและพากลับมา เห็นแล้วเหนื่อยใจแทน
แต่ก็นั่นล่ะครับ พอปัญหามันเกิดขึ้น เขาจะทำอะไรได้ นอกจากหาทางแก้ปัญหาและปรับตัว ในกรณีหลังก็มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในเรือนใจใหญ่ๆ ที่น่าสนใจคือการปรับสถาปัตยกรรมภายในให้ไม่มีอะไรขวางกั้นให้เดินลำบาก หรือที่เรียกว่า Barrier Free แนวทางการออกแบบที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เพราะต้องการรองรับผู้สูงอายุ และเรือนจำก็สมาทานเอาแนวคิดนี้มาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ลดขั้นบันได เปลี่ยนเป็นพื้นลาดแทน พยายามอำนวยความสะดวกให้กับรถเข็น หลายแห่งก็พยายามจัดให้นักโทษสูงอายุนอนอยู่ชั้นล่างของอาคารเพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากเดินขึ้นลงบันไดให้เพิ่มความเสี่ยง และแต่เดิมที่ให้นักโทษนอนบนฟูกตาตามิ ก็เปลี่ยนเป็นเตียงแทน ช่วยให้นอนและลุกได้สะดวกขึ้นสำหรับนักโทษสูงอายุที่มักจะมีปัญหากับเข่าหรือข้อต่อต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่มปุ่มกดฉุกเฉินเวลามีอะไรเกิดขึ้นไม่ต่างกับโรงพยาบาล
นอกจากเรื่องของสถาปัตยกรรม ยังมีการจ้างเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้การดูแลเป็นไปได้อย่างราบลื่น ส่วนของอาหารการกินก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงหลายเรื่อง เช่น ลดปริมาณเกลือในอาหาร เพิ่มสารอาหารที่จำเป็น สำหรับนักโทษที่สูงอายุมาก จนไม่สามารถเคี้ยวได้อย่างสะดวก ก็อาจจะต้องลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ บางรายเจ้าหน้าที่ต้องต้มหรือลวกแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กเพื่อให้เคี้ยวได้ บางรายต้องมานั่งปั่นเป็นอาหารเหลวก็ยังมีครับ และหลายครั้งก็ให้นักโทษที่ยังอายุไม่มากมาช่วยงาน เป็นฝ่ายดูแลนักโทษชราในคุก นักธุรกิจดังอย่าง Horie Takafumi ตอนติดคุกเพราะคดีเรื่องการเงินก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน
นอกจากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบที่อธิบายมา เขาก็พยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วย เพราะว่าแม้คดีความของนักโทษสูงอายุขาประจำเหล่านี้ เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าปล่อยให้มีการก่อคดีเพื่อกลับเข้าคุกอยู่บ่อยๆ ก็ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อสังคม จึงพยายามลดพฤติกรรมแบบนี้ด้วยการจัดชั้นเรียนให้ความรู้กับนักโทษ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมภายนอก ว่าควรทำอย่างไรบ้าง นักโทษหลายรายเลือกกลับมาเป็นขาประจำของเรือนจำเพราะไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตในสังคมอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่รวมถึงเรื่องการรับสวัสดิการ การขอช่วยเหลือจากหน่วยงานและ NPO ต่างๆ หรือการเข้ากลุ่มช่วยเหลือเพื่อหาเพื่อนใหม่ๆ การอบรมให้ความรู้ตรงนี้ ก็เพื่อให้นักโทษสูงอายุออกไปและยืนหยัดด้วยตัวเองได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาติดคุกโดยเจตนาอีกครั้ง
ปกติแล้วคงไม่มีใครอยากเสียอิสรภาพของตัวเองไป แต่เมื่อสังคมภายนอกทำให้รู้สึกเหงา รู้สึกว่าไม่มีใคร หรือชีวิตประจำวันช่างลำบากยากเย็น การเลือกเข้าคุกด้วยความสมัครใจก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ของคนเหล่านี้ แต่ก็นั่นล่ะครับ หากมีคนช่วยชี้ทางว่า จริงๆ แล้ว โลกภายนอกที่มีอิสระ ยังคงมีความหวังอยู่ ก็หวังว่าจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนใจ และกลับออกไปเป็นคนใหม่ เพื่อให้เรือนจำได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ปรับปรุงพฤติกรรมคน มากกว่าจะเป็นที่คุมขังคนไว้เฉยๆ