ความทรงจำที่เลือนหายจากโรคอันน่าหวั่นวิตก ‘อัลไซเมอร์’ เป็นโรคที่มีสัญญาณลับสะสมในสมองมานานจนคุณไม่รู้ตัว ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่บั่นทอนพวกเราในโลกที่เร่งด่วนและเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเซลล์ประสาทถึงคราวสูญสลาย เป็นไปได้ไหมที่จะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อีกครั้ง? ธรรมชาติของร่างกายสิ่งมีชีวิตซุกซ่อนขุมทรัพย์อะไรไว้อยู่?
ความหวังอันน่าตื่นเต้นสว่างวาบ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย ค้นพบ ‘เมลาโทนิน’ (melatonin) ที่สามารถยับยั้งโปรตีนพิษในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ โดยพบว่าสามารถสร้างเซลล์สมองให้ฟื้นคืนได้ พร้อมสรรพคุณรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุและผู้ติดยาเสพติด นำไปสู่ข้อมูลในการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคทางระบบประสาทและสมองในอนาคตอันใกล้
The MATTER ได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์อาวุโสคนสำคัญของไทย ผู้ที่ยังเต็มไปด้วยพลังแห่งการค้นคว้าวิจัย ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อดีตหัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตหัวหน้าหน่วยวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ปิยะรัตน์ยังคงสามารถอธิบายข้อค้นพบด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นราวกับได้คำตอบเมื่อวาน ทั้งๆ ที่อาจารย์ศึกษากลไกเมลาโทนินมานานตลอดการเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยผลงานวิจัยโครงการ เมลาโทนินและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อชราภาพของสมองและโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นของ สกว. ประจำปี 2560 ซึ่งช่วยยืนยันว่างานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยพร้อมตอบสนองวิกฤตโลกด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์สู่ระดับสากลอย่างภาคภูมิ
เมื่อสมองไม่ชอบฝืน
ธรรมชาติมักไม่ชอบการฝืนกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะ ‘สมอง’ อวัยวะสุดพิเศษของพวกเราที่คอยรับใช้ไม่หยุดหย่อน แต่เมื่อคุณเริ่มไม่ปฏิบัติต่อสมองอย่างที่ควรจะเป็น สมองเองก็พร้อมนำเรื่องหนักใจมาให้ในเวลาต่อมา (และไม่ต้องรอนาน) ด้วยภาวะสมองเสื่อม ‘อัลไซเมอร์’ (Alzheimer’s disease) โรคความจำบกพร่องที่มนุษย์หวั่นวิตกมากที่สุด ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากพบเจอ เพราะไม่มีอะไรเจ็บปวดไปกว่าการที่คุณค่อยๆ หลงลืมคนที่คุณรัก ประสบการณ์หวานขมที่เคยฝ่าฟันมา หรือแม้กระทั่งความทรงจำต่อตนเองที่ค่อยๆ ลบเลือนหายไป โดยที่สมองคุณไม่สามารถรับใช้ความทรงจำเดิมได้อีก
คำถามที่ใครๆอยากได้ยิน “เราสามารถหยุดอัลไซเมอร์ได้ไหม?” นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามหาทางพิชิตอัลไซเมอร์ด้วยกระบวนการวิจัยต่างๆ จนเป็นวาระสำคัญระดับโลก แต่ส่วนใหญ่ไปมองที่ปลายเหตุ นั่นคือสมองที่เสียหายแล้วจากโรคอัลไซเมอร์ เซลล์ประสาทถูกทำลายไปจำนวนมากโดยเฉพาะบริเวณที่มีอิทธิพลต่อความทรงจำ ทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางด้านสติปัญญา ความทรงจำ ความคิด การมีเหตุผล และยังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
ทีมวิจัยไทยจึงต้องมองข้ามไปอีกสเต็ป โดยพบพยาธิสภาพของสมองที่มี แอมีลอยด์ พลาก (amyloid plaques) หรือการรวมตัวของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ประกอบไปด้วย บีตาแอมีลอยด์ (beta amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่อนทำลายเซลล์ประสาทที่กินระยะเวลานานเป็น 10 ปี ก่อนที่ภาวะความจำเสื่อมจะมาเยือนคุณด้วยซ้ำ และคนส่วนใหญ่ ‘ไม่เคยรู้ตัว’ ว่ามันเกิดขึ้นในสมองของคุณแล้ว
ความลับของกลไกสมอง ‘เมลาโทนิน’
ย้อนไปสมัยที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ เริ่มสนใจเรื่องประสาทวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในช่วงปริญญาเอก ซึ่งขณะนั้นประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ยังเป็นของใหม่แกะกล่อง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สุกงอมเหมือนในปัจจุบัน การศึกษาส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การศึกษาเส้นประสาทต่างๆ ในสมอง อาจารย์ปิยะรัตน์เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกคนแรกๆ ในประเทศไทยที่สนใจกลไกของฮอร์โมน ‘เมลาโทนิน’ (melatonin) ฮอร์โมนที่สร้างมาจากต่อมไพเนียลที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของสมอง ซึ่งกลไกของเมลาโทนินยังเป็นพื้นที่เร้นลับรอคอยการศึกษาอีกมาก
ด้วยความทุ่มเท อาจารย์จึงค้นพบว่า ‘เมลาโทนิน’ อาจเป็นหมัดเด็ด ช่วยรักษาโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งองค์ความรู้นี้สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่กำลังต่อสู้กับอาการหลงลืมอันน่าเจ็บปวด และช่วยเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับคนหนุ่มสาว เพื่อเตรียมตัวสูงอายุแบบห่างไกลภาวะโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ก่อนที่จะสายเกินไป
ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (aging society) เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อคนสามารถมีอายุมากขึ้น แน่นอนที่โอกาส ‘สมองเสื่อม’ จะตามมา
– ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ ‘สังคมผู้สูงอายุ‘ (aging society) เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อคนสามารถมีอายุมากขึ้น แน่นอนที่โอกาส ‘สมองเสื่อม’ จะตามมา ภาวะสมองเสื่อมสอดคล้องกับปริมาณเมลาโทนินในสมอง ที่ช่วงหนุ่มสาวพวกเรายังมีอยู่เยอะ จากนั้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นปริมาณเมลาโทนินจะลดลงเรื่อยๆ ในช่วงอายุ 60-70 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายงานอัตราภาวะสมองเสื่อมมากที่สุด เวลาที่อาจารย์ไปคุยกับผู้สูงอายุท่านอื่นๆ พวกเขาจะพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “กลัวอัลไซเมอร์มากที่สุด” ไม่อยากเป็นภาระให้กับครอบครัว เนื่องจากเดินทางเองก็ไม่ได้ จำชื่อตัวเองไม่ได้ เรามักจะได้ยินประกาศตามหาผู้สูงอายุหายออกไปจากบ้านทางวิทยุบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องสะท้อนใจที่เราต้องทำอะไรสักอย่าง
The MATTER : งานวิจัยของอาจารย์มองข้ามช็อตไปก่อนที่อัลไซเมอร์จะเกิดขึ้นกับเราเป็น 10 ปี เกิดอะไรในสมอง ณ เวลานั้น
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : เราล้วนทราบว่าอัลไซเมอร์มีปัจจัยเกิดขึ้นที่สมอง สมองจะค่อยๆเสื่อมลงทีละจุดๆ กระบวนการนี้อาจกินเวลาเป็น 10 ปีก่อนแล้วด้วยซ้ำ มีทฤษฎีที่มาอธิบายปรากฏการณ์นี้เยอะแยะไปหมด เช่น อนุมูลอิสระ การเกิดการอักเสบของสมอง แต่ทีมวิจัยของพวกเราจับทฤษฏี เบตาอะมีลอยด์ (β-amyloid) คือโปรตีนเป็นพิษที่ไปทำลายเซลล์ประสาทเซลล์แล้วเซลล์เล่า ซึ่งโปรตีนนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติในสมอง โปรตีนเบตาอะมีลอยด์เป็นโปรตีนขนาดเล็กที่เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อะไมลอยด์พรีเคอเซอร์โปรตีน (amyloid precursor protein) ซึ่งถูกย่อยโดยเอนไซม์ที่ชื่อ เบต้าซีครีเทส (β secretase) และแกมมาซีครีเทส (γ secretase) ตามลำดับ จนได้เป็นโปรตีนเบตาอะมีลอยด์ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ประสาท
สารพิษตัวนี้ร้ายมากนะ มันจะมุ่งไปฆ่าเซลล์ประสาทโดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘พลาก’ (plaques) มีความเป็นพิษมากทีเดียว เน้นทำลายเซลล์บริเวณที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการจดจำ
The MATTER : ทำไม ‘เมลาโทนิน’ ถึงมีแนวโน้มเชิงบวกสำหรับรักษาโรคสมองเสื่อม
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนของมนุษย์ที่สร้างและหลั่งมาจากต่อมไพเนียล ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางสมอง เมลาโทนินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถยับยั้ง และป้องกันโรคสมองเสื่อมจากการติดสารเสพติดอย่างแอมเฟตามีนที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้ ระดับเมลาโทนินของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะต่ำกว่าผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน และต่ำกว่าผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อมทั่วไป
ปกติระดับเมลาโทนินในน้ำไขสันหลังของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ลดลงก่อนที่จะแสดงอาการ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มรายงานว่า ระดับของเมลาโทนินในน้ำไขสันหลังอาจเป็นตัวบ่งชี้การเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงแรกๆ นอกจากจะพบเมลาโทนินระดับต่ำแล้วระดับของเมลาโทนินยังไม่แสดงตามวัฏจักรประจำวัน ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่สามารถนอนหลับเหมือนคนปกติ
เราจึงจับเมลาโทนินขึ้นมาศึกษา จากข้อมูลที่ว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มฮอร์โมนเมลาโทนินน้อยลง คณะวิจัยของพวกเราจึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่พบว่า เมลาโทนินสามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ได้ ทั้งในเซลล์เพาะเลี้ยงและในสมองสัตว์ทดลอง จึงเป็นที่คาดหวังว่าคนไข้อัลไซเมอร์ที่เซลล์ประสาทถูกทำลายไป ถ้าได้รับเมลาโทนินจะช่วยให้บุคคลนั้นสามารถกระตุ้นให้สร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยกว่าวิธีอื่นๆ
The MATTER : การทดลองของอาจารย์ที่ศึกษาในระดับสัตว์ทดลองได้ผลน่าตื่นเต้นอย่างไรบ้าง
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : เราทำการทดลองในสัตว์ คือ หนู (rat) เมื่อหนูมีอายุประมาณ 2 ปี เทียบเท่ากับผู้สูงอายุราว 60-70 ปี เราจะเอาหนูมาทดสอบการเรียนรู้และความทรงจำ (cognitive training) ให้หนูว่ายน้ำในอ่างเพื่อให้มันปีนเสาขึ้นมา ที่เรียกว่า Morris water maze หนูแก่จะจำวิธีปีนเสาได้ช้ากว่าหนูรุ่นๆ
คราวนี้เราทดลองเอาเมลาโทนินไปผสมน้ำดื่มให้พวกหนูแก่กิน ปรากฏว่าหนูแก่สามารถพัฒนาความจำได้ใกล้เคียงกับหนูหนุ่มสาวเลย มันเป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดมาก ต่อมาเราตัดชิ้นสมองหนูมาศึกษาดู พบสมองบริเวณ ‘ฮิปโปแคมปัส’ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การจำ ซึ่งระดับเอนไซม์เบต้าซีครีเทสลดน้อยลง
ผลออกมาเป็นแบบนี้ หนูมันโกหกพวกเราไม่ได้
เมลาโทนินเก่งอีกแบบ คือสามารถไปเพิ่ม neural stem cell ซึ่งจริงๆ แล้วสมองมักไม่สร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นมาทดแทน ยกเว้นส่วนฮิปโปแคมปัสส่วนเดียว ซึ่งถือเป็นโชคดีที่ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และจดจำพอดี หนูที่เราให้กินน้ำที่มีเมลาโทนินจำนวนเซลล์เติบโตขึ้น ช่วยสร้างจำนวนเซลล์ประสาทที่หายไปมาทดแทนได้ดีทีเดียว เราจึงเป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แรกของโลกที่ค้นพบข้อเท็จจริงนี้ และได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ระดับ impact factor มากกว่า 10 แห่งจนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
The MATTER : อาจารย์เห็นเทรนด์พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงของคุณรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง พวกเขากำลังจะเป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ ของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในอนาคตหรือไม่
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : เรื่องพฤติกรรมการกินของเราเป็นตัวร้ายทีเดียวที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ คนรุ่นใหม่อยู่กับอาหารแคลอรีสูง แทบยังไม่ต้องไปถึงระดับผู้สูงอายุเลยนะ ภาวะติดน้ำตาล กินอาหารไขมันสูงที่มีอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ นำไปสู่โรคเบาหวาน งานวิจัยของเราพบว่า โรคเบาหวานมีอิทธิพลนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งคนทั่วไปยังไม่ทราบ เราทดลองเอาหนูไปทำให้มันเป็นเบาหวาน จากนั้นมาทดสอบความจำ ปรากฏว่าพวกมันความจำเสื่อม เรียนรู้ช้า ฟังดูไม่น่าเชื่อเลย แต่ผลวิจัยมันชี้ชัดมาก งานชิ้นนี้เป็นของนักศึกษาปริญญาเอกที่ยังอยู่ในช่วงรอการตีพิมพ์ ซึ่งน่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น คนอายุน้อยๆ เดี๋ยวนี้เป็นเบาหวานกันเยอะมาก ทำงานหนัก เครียดเรื้อรัง จนพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าด้วยอีก และจากโรคซึมเศร้ายังพัฒนาต่อเนื่องเป็นโรคอัลไซเมอร์ในท้ายสุด มันเป็นวัฏจักรราวกับวงจรอุบาทว์
The MATTER : ‘เมลาโทนิน’ ดูเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการนอน อาจารย์มีความเห็นว่า คนรุ่นใหม่มีสุขภาวะการนอนที่เพียงพอแล้วหรือยัง
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : ถูกต้อง การนอนจำเป็นมากที่เราควรรีบแก้ไข การนอนที่ดีจะมี cycle ของตัวมันเองอันเป็นธรรมชาติ เราจะผ่อนคลาย หัวใจเต้นช้าลง เราก็จะสงบ อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลง การนอนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองจะเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ต่างๆ ให้เป็นระบบระเบียบ เพราะฉะนั้นคนที่นอนเป็นระบบมักมีความทรงจำดี ในช่วงเวลานี้สมองจะทำการเก็บกวาดขยะอย่างเบตาอะมีลอยด์ การนอนหลับหรือให้เมลาโทนินทดแทนมีส่วนช่วยกระตุ้นสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และซ่อมแซมเซลล์ประสาทที่ตายไประหว่างเป็นโรค ลดเอ็นไซม์ที่สร้างสารที่เป็นพิษซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
เด็กรุ่นใหม่ต้องนอนให้เป็นจังหวะ ไม่ใช่เกิดอยากนอนตอนไหนก็ได้จนผิด cycle ของมัน เพราะ biological clock ในร่างกายของพวกเราถูกควบคุมโดยยีนอีกชุดหนึ่งซึ่งเราเรียกว่าเป็น clock genes หรือว่าเป็นยีนที่ควบคุมเวลา clock genes นี้จะส่งเป็นกระแสประสาทเข้าไปที่ต่อมไพเนียล สั่งให้ต่อมไพเนียลสร้างเมลาโทนินเป็นจังหวะ กลางคืนก็สร้างไป กลางวันหยุด ร่างกายเราอาศัยสมดุลเหล่านี้เป็นสำคัญ
The MATTER : อาจารย์คาดหวังว่างานวิจัยนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอย่างไรในเชิงปฏิบัติ
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : ถ้าในอนาคตเราสามารถเปิดกว้างให้วงการแพทย์ต่างๆ เปิดรับการบริโภคเมลาโทนินในผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ก็คงสามารถช่วยคนไข้ได้เยอะ เมลาโทนินไม่ได้เป็นพิษอะไรเลย เพราะมันสามารถที่จะกำจัดออกจากร่างกายได้หากมีเยอะเกินสมดุล
ดีกว่าการปลูกถ่าย (transplant) ที่ค่อนข้างไม่ปลอดภัย เมลาโทนินซื้อทานได้ เพียงแต่ว่าอยู่เมืองไทยอาจหาไม่ค่อยได้ แต่ในอเมริกาเขามีขายเยอะแยะ หากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับ เราก็ยินดีสังเคราะห์ให้เลย เพราะแถวนี้มีนักเคมีเก่งๆ เยอะ ในกรณีเมืองไทย เราต้องค่อยๆ เริ่มให้สังคมได้รับรู้ รัฐบาลก็ไม่ควรมองทุกอย่างเป็นแง่ลบ เราต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
The MATTER : แวดวงประสาทวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้าอยู่เสมอ อาจารย์ยังรู้สึกสนุกกับงานที่ทำอยู่ไหม
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ : จริงๆ ตัวอาจารย์เองก็ควรจะหยุดได้แล้วนะ แต่ก็ยังทำอยู่เนี่ย (หัวเราะ) เราได้พบอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างที่อเมริกามีการประชุม neuroscience คนมาประชุม 30,000–40,000 คน ไม่มีงานประชุมทางวิชาการไหนใหญ่เท่านี้อีกแล้ว
เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ก็หวังว่าตรงนี้จะช่วยในการพัฒนาสุขภาพ เตรียมแผนสุขภาพที่ดีให้แก่คนไทย และให้แก่คนทั่วโลกด้วย เพราะว่าขณะนี้สังคมผู้ชรามีเยอะเหลือเกิน แล้วปัญหาที่จะตามมามากที่สุดคือ สมองเสื่อม เพราะฉะนั้นก็คิดว่า การค้นพบของเราคงจะมีส่วนช่วยที่จะสามารถพัฒนาเพื่อเตรียมแผนพัฒนาสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุให้เขามีความสุขกับตัวเองอีกครั้ง
ขอขอบคุณ
ศ.เกียรติคุณ ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์
สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)