ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา หนังสือที่ผมรีบสอยและรีบอ่านจบอย่างรวดเร็ว (ระหว่างนอนอยู่บนเตียงพักฟื้น) คือ บันทึกลับเซินเจิ้น ของ ศิลา บัวเพชร นักเขียนที่มีแนวทางเฉพาะตัวแบบอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยากมาก ระหว่างอ่านก็พบช่วงน่าสนใจ ศิลาเล่าเรื่องที่พักของเขาในเซินเจิ้น ว่าเป็นโครงการที่จัดสรรขึ้นอย่างมีระเบียบ นอกจากคอนโดเรียงกันเป็นตับ เขาก็ทำขนส่งสาธารณะเข้าไป มีโรงเรียน มีห้าง ทั้งหมดครบวงจรอยู่ในที่เดียวกัน เป็นการพัฒนาเมืองแบบเพียบพร้อม แต่อ่านไปแล้ว สิ่งแรกที่ขึ้นมาในหัวของผมก็คือ ‘ดันจิ’ หรือ Danchi (แปลตรงๆ ว่า Group Land) และถ้าจะเทียบกับไทยคงเป็นแฟลตการเคหะแห่งชาตินั่นเอง
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็เห็นมิตรสหายหลายคนพูดถึงบทความและสารคดีของทาง Channel News Asia เรื่องความตายที่โดดเดี่ยวของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น คนแรกๆ ที่ผมเห็นพูดถึงก็คงเป็น ต่อ-คันฉัตร เจ้าของหนังสือ One Life Stand ที่เข้ากับธีมเรื่องดี (นี่ไม่ได้เงินค่าโปรโมตจากทั้งสองคนนะครับ) หลังจากนั้นก็มีคนเอามาแปลต่อเพราะสนใจเรื่องบริษัทรับจัดการกับห้องพักที่มีผู้สูงวัยตายอยู่คนเดียวในห้องที่คงเป็นงานที่ไม่น่าพิสมัยนักสำหรับคนทั่วไป ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวกันอย่างไรหรือครับ ก็ตรงที่ส่วนใหญ่สถานที่ที่ผู้สูงอายุเสียชีวิตคนเดียว ก็คือห้องเดี่ยวในดันจินั่นล่ะครับ
ดันจิในอดีตเคยเป็นสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันมันคือภาพสะท้อนของสังคมญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ ประชากรหดตัว และสิ่งที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นภาพความทรงจำเท่านั้น
ดันจิเกิดขึ้นในช่วงยุค 60s ที่เรียกได้ว่าเป็นยุคเบบี้บูมครั้งที่สองของญี่ปุ่น ช่วงเศรษฐกิจกำลังพุ่งแรง ทุกคนเต็มไปด้วยความหวัง ต่างคนต่างมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหาโอกาสให้กับชีวิต แต่กลายเป็นว่า ทำให้เมืองพัฒนาไม่ทันและประชากรล้นเมือง ยังดีที่รัฐเตรียมการตั้งหน่วยงาน JHC (The Japanese Housing Corporation) เป็นหน่วยงานรัฐแต่บริหารงานอิสระมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็คล้ายๆ กับการเคหะของบ้านเรานี่ล่ะครับ และไอเดียที่ JHC นำเสนอคือ ดันจิ – การสร้างโครงการอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่หลายหลังขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งก็มักจะเป็นพื้นที่ที่ออกนอกตัวเมืองไปสักหน่อย แต่ก็มีสาธารณูปโภคครบครัน น้ำไฟแก๊ส นี่ไม่ต้องพูดถึงร้านค้าโรงเรียน พวกนี้ครบหมด แน่นอนว่ารวมไปถึงการขนส่งที่พร้อมจะพาผู้คนเข้าไปทำงานในเมือง
ในบรรดาดันจิเหล่านี้ ก็มีดันจิที่กลายมาเป็นเมกะโปรเจ็กต์ พัฒนาเป็นเมืองขนาดใหญ่ ได้ชื่อเรียกว่า แมมมอสดันจิ และมีอยู่หลายแห่งเหมือนกัน ตัวอย่างที่ผมอยากยกให้ดูก็คือ โทคิวะไดระดันจิ ในจังหวัดจิบะ ที่สร้างขึ้นในช่วงที่ดันจิบูม ขนาดของมันกินพื้นที่เกือบ 5 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากโตเกียวด้วยการนั่งรถไฟประมาณ 50 นาที ในโครงการ มีบริการต่างๆ ครบครัน และเคยมีผู้อยู่อาศัยสูงสุดรวม 112,526 คนเลยทีเดียว เรียกได้ว่ามันคือเมืองๆ หนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะคุณแทบไม่จำเป็นต้องออกไปไหน ยกเว้นแต่ไปทำงานในตัวเมืองเท่านั้น คิดว่าในเซินเจิ้นตอนนี้ก็คงเป็นแบบนี้ล่ะครับ
บางทีอาจจะฟังดูแปลกๆ ว่าทำไมคนถึงอยากไปอยู่ในแฟลตของทางรัฐ แต่ก็ต้องมองสภาพสังคมญี่ปุ่นในช่วงนั้นด้วย เนื่องจากประชากรหนาแน่น จะสร้างที่พักใหม่ในตัวเมืองก็ลำบาก แถมยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากครอบครัวขยาย อยู่กัน 3 รุ่นในครัวเรือนเดียว มาเป็นครอบครัวเดี่ยวพ่อแม่ลูก ใครก็อยากหาที่พักใหม่ๆ การอยู่ในดันจิที่เต็มไปด้วยตึกสูงก็ดูเป็นความทันสมัยที่เข้ามาในยุคนั้น อาคารคอนกรีตเทียบกับบ้านไม้ ความสะดวกสบายที่เพียบพร้อม ฟังดูแล้วก็เหมือนอเมริกันดรีมเวอร์ชั่นญี่ปุ่น แล้วถึงมันจะเป็นแฟลตการเคหะ แต่มันก็ไม่ได้มาในลักษณะเอื้ออาธรเท่าไหร่นัก ถึงค่าเช่าจะไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับแมนชั่นหรือคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นมาในยุคหลัง แต่กว่าจะเข้าพักได้ก็ต้องมีการคัดกรองว่ารายรับของครอบครัวมีเกิน 5.5 เท่าของค่าเช่าแต่ละห้อง ดังนั้นก็เป็นการคัดเอาประชากรที่จัดว่ามีคุณภาพระดับหนึ่งเข้าไปอยู่ในสังเคมเดียวกัน แถมมีแต่คนแย่งกันเข้าไปอยู่ ต้องยื่นขอแล้วลุ้นผลจับฉลากว่าจะได้เข้าไปอยู่หรือไม่ ฟังแล้วมันก็ดู VIP สวยหวานจริงๆ ล่ะครับ
จึงไม่แปลกอะไรที่ดันจิจะเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความฝันและชีวิตชีวาของชาวญี่ปุ่นยุคสร้างเศรษฐกิจของชาติ ดันจิผุดขึ้นในชานเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น บางแห่งก็มีดีไซน์แปลกๆ น่าสนใจ จนมีอัลบั้มรวมภาพดันจิออกขายด้วย และยังมีสื่อบันเทิงที่ใช้ดันจิเป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่อง แต่เมื่อมียุครุ่งเรืองก็ต้องมียุคร่วงโรย เมื่อฟองสบู่เศรษฐกิจแตกในช่วงรอยต่อยุค 80-90 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงซบเซา ประชากรก็เกิดน้อยลง เด็กเจนเนอเรชั่นใหม่มีค่านิยมไม่เหมือนเดิม ก็ไม่ได้สนใจอยากจะอยู่ดันจิแล้ว แต่เลือกหาที่พักในเมือง เข้าไปอยู่อพาร์ตเมนต์หรือแมนชั่นที่ทันสมัยกว่า มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่า
ประชากรในดันจิค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ พอคนน้อยลง ธุรกิจ กิจการต่างๆ ในดันจิก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็ต้องค่อยๆ ปิดตัวไป ยิ่งนานวันเข้า บรรยากาศความร้าง ก็คืบคลานเข้ามายังดันจิ
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงดันจิ นอกจากภาพความรุ่งเรืองในอดีตผ่านสื่อสมัยใหม่ เช่น อนิเมะเรื่อง Danchi Tomoo เกี่ยวกับเด็กประถมที่โตในดันจิชวนให้รำลึกอดีตสวยงามแล้ว สิ่งที่คนมองเห็นก็คืออาคารร้างๆ ไร้ความสดชื่น ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่ไม่ต้องไปทำงาน อยู่ติดห้องเงียบๆ นานๆ ทีก็มีกิจกรรมร่วมกันบ้าง ส่วนร้านค้าต่างๆ ก็ปิดตัวกลายเป็นนิคมเหงาๆ รอวันตาย ไม่ต่างกับผู้พักอาศัยที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันช่วยตรวจทานกันว่า วันนี้ตื่นขึ้นมาได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องกลายเป็นซากศพอยู่ในห้องตัวเอง รอผู้มาค้นพบเมื่อกลิ่นเน่าโชยออกไปนอกห้อง
แต่ในเมื่อมีอดีตที่รุ่งโรจน์แบบนั้นแล้ว ทำไมจะไม่สามารถมีอนาคตที่รุ่งโรจน์ได้อีกครั้งล่ะครับ ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาดันจิใหม่อีกครั้ง ปรับปรุงรูปโฉมของเดิมให้น่าอยู่ชวนให้ประชากรญี่ปุ่นรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในดันจิอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโครงการล่าสุดที่ผมได้เห็นก็คือการจับมือร่วมกับ MUJI แบรนด์ดังแห่งชาติของญี่ปุ่นนั่นเอง
โครงการดังกล่าวมีชื่อว่าโครงการ MUJI X UR (Danchi Renovation Project) โดยที่ UR คือชื่อใหม่ของ JHC ย่อมาจาก Urban Renaissance Agency ที่ต้องเปลี่ยนชื่อก็เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของโคอิซุมิในปี 2004 นั่นล่ะครับ โครงการนี้ก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจของทาง UR เพราะเอา MUJI ที่โด่งดังเรื่องดีไซน์แบบมินิมอลเข้ามาปรับโฉมหน้าดันจิใหม่ จากห้องเก่าๆ เชยๆ สร้างเมื่อ 40-50 ปีก่อน ก็กลายเป็นห้องโมเดิร์น ดีไซน์มินิมอล ของใช้ต่างๆ ในห้องได้รับการอัพเกรดให้ทันสมัย ชวนให้คนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ แถมค่าเช่าก็จัดว่าสมราคา แล้วยังประหยัดเงินได้มากกว่าห้องเช่าทั่วไปเพราะว่าไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้า ค่าขอบคุณที่ให้เข้าพัก ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ต่อสัญญาก็ไม่เสียเงิน ถือว่าช่วยคนรุ่นใหม่ได้เยอะมาก แม้ทำเลจะไม่ได้อยู่ในใจกลางเมืองแต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ช่วยดึงดูดใจคนรุ่นใหมได้ สามารถเข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์ของ UR ได้เลย
นอกจากโครงการร่วมกับ MUJI ก็ยังมีโครงการร่วมกับ IKEA หรือแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ได้ปล่อยให้ของดีที่มีอยู่แล้วเสียเปล่า แต่รู้จักปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ตัวเว็บไซต์ของ UR ก็ดูสะอาดทันสมัย หาข้อมูลง่าย ไม่แพ้เว็บไซต์ของบริษัทจัดหาที่อยู่อาศัยดังๆ เลย แถมมีดาราสาวสุดน่ารักอย่าง Yoshioka Riho มาช่วยโปรโมตด้วย (อันนี้ไม่เกี่ยวแต่คนเขียนชอบ)
ดันจิเป็นอนุสรณ์ของความรุ่งเรืองและสดชื่นของประเทศญี่ปุ่น แต่เขาก็ไม่ได้คิดจะปล่อยให้มันเป็นแค่อดีตอันสวยหวานให้นึกถึงแล้วยิ้มเท่านั้น แต่ยังเลือกที่จะย้อนกลับไปหาอดีตตรงนั้นและใช้ประโยชน์จากมันอีกครั้ง เพื่อให้มันได้ทำหน้าที่อย่างที่มันควรได้ทำจริงๆ ด้วยการรับใช้คนรุ่นใหม่ต่อไป ก็ต้องยกแก้วให้กับไอเดียและความพยายามของ UR นั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก