ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระแสความชื่นชม เต้—มงคลกิตติ์ แห่งพรรคไทยศรีวิไลย์นั้นหนาแน่นจริงๆ แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่พรรคเล็กอื่นๆ ที่ร่วมกัน ‘ขู่ย้ายค่าย’ จะโดนเผยไต๋ว่าเป็นกลเม็ด ‘ปั่นราคา’ ไปเรียบร้อยแล้ว ท่าทีของเต้ก็ยัง ‘รอดพ้น’ ข้อกล่าวหานี้ได้อยู่ เพราะดูจะเป็นคนเดียวที่ยังยืนยันว่าไม่โอนอ่อนตามรัฐบาลประยุทธ์ (อย่างน้อยในวันที่ผมเขียนบทความนี้คือ 10 สิงหาคม[1] ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่นะครับ แต่หากแกกลับลำ ก็จะยิ่งชัด) พอพรรคเล็กอื่นๆ ยอมตาม ‘ราคาใหม่’ ของรัฐบาล แต่เต้ไม่ยอม คนก็ยิ่งยกย่องราวกับเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย เป็นนักการเมืองผู้ทรงด้วยหลักการต่างๆ นานาไป ผมกลับรู้สึกว่ามาตรฐานวิธีคิดแบบนี้ออกจะเป็นเรื่องแปลกไม่น้อย เลยอยากลองแลกเปลี่ยนสักหน่อยครับว่าผมมองเต้อย่างไร และทำไมผมจึงรู้สึกว่าคำชมเหล่านี้มันแปลก
ที่ผมมีปัญหากับตัวของเต้—มงคลกิตติ์นั้น ไม่ได้มาจากเรื่อง ‘ที่มาในฐานะ ส.ส.’ ของเขาเลยนะครับ ตรงนี้ผมขอขยายความให้ชัดเจนขึ้นหน่อยนะครับ คือ ผมไม่เห็นด้วยกับ ‘หลักการในการคำนวนอันได้มาซึ่ง ส.ส. แบบเต้ และพรรคเล็กหนึ่งเสียงอีกจำนวนมาก’ ในแง่นี้ผมชัดเจนมากว่าไม่เห็นด้วย แต่พร้อมๆ กันไป การที่ตัวของเต้ได้ตำแหน่งมาด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น ไม่ได้ทำให้ผมใช้เป็นประเด็นอะไรมาตัดสินเต้ในฐานะตัวบุคคลเลยว่าเค้าเป็นนักการเมืองที่มีปัญหา เพราะสำหรับผมแล้วตำแหน่งที่เค้าได้มานั้นเป็นความผิดของตัวรัฐธรรมนูญเฮงซวยฉบับนี้ กับมนตราคาถาการตีความแบบหนังหน้าเจาะไม่เข้าของ กกต. ไทย มากกว่าที่จะเป็นความผิดอะไรของตัวเต้เอง ซึ่งผมคิดว่าการพิจารณาสองเรื่องนี้ คือ ตำแหน่งที่เต้ได้มา กับตัวของเต้เองในฐานะนักการเมืองนั้นต้องมองแยกกัน
จริงอยู่ว่าเต้เองเป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้ กกต. ตีความแบบที่เกิดขึ้นนี้ด้วย แต่ว่ากันแบบแฟร์ๆ แล้ว คนที่เป็นนักการเมืองทุกคนก็ย่อมจะอยากได้ตำแหน่งทั้งนั้นแหละครับ เพราะฉะนั้นการที่โอกาสมากองตรงหน้าแล้วจะไม่คว้าไว้ก็คงประหลาด ในแง่นี้ผมจึงไม่มีปัญหาอะไรกับเต้เลยในมุมนี้ ไม่ต้องนับความเป็นจริงว่าในประเทศที่เค้ามี กกต. สติดี หรือรัฐธรรมนูญที่ไม่พิกลพิการอะไรอย่างเรา ต่อให้มีคนแบบเต้อีกร้อยคนเรียกร้องให้คำนวนตำแหน่งแบบที่เป็นอยู่ให้ตาย มันก็คงไม่เกิดขึ้นหรอก ฉะนั้นในทางปฏิบัติแล้วจุดนี้ความผิดมีชัยกับ กกต. ล้วนๆ
ที่ผมพยายามจะพล่ามนำมานั้นเพียงเพื่อจะบอกว่าผมไม่ได้อคติอะไรกับเต้ด้วยเหตุผลว่าเค้ามาจากการ ‘นับคะแนน’ และเข้าใจดีว่านั่นเป็นปัญหาจากระดับโครงสร้างใหญ่ของระบบกฎหมายและการเมืองของประเทศนี้ และเต้ก็เป็นเพียงแค่คนที่ได้รับโบนัสจากความอลหม่านของระบบนี้ ปัญหานี้ไม่ได้มาจากตัวเต้เอง แต่ที่ผมมีปัญหากับเต้นั้นมันคือเรื่องที่มาจากตัวของเต้เองนี่แหละครับ ซึ่งไม่ต้องอาศัยความทรงจำที่ยาวนานอะไรเลย ย้อนไปเพียงเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น เราคงพอจะจำกันได้ว่า เต้—มงคลกิตติ์สร้างพื้นที่ในสื่อจากข้อเสนอนโยบายแปลกๆ ของเขาอย่าง “การให้เฆี่ยนข้าราชการที่ทำความผิดวินัย”[2] เขาคือคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนชนิดนับครั้งไม่ถ้วนว่าให้ค่าและวัดคุณค่าของคนทางหนึ่งด้วย ‘การตีกัน’ แสดงความเก๋าความสามารถของตนด้วยการอ้างไปว่าตนเป็น ‘ลูกพี่ใหญ่-นักเลงโต’ ของสถาบันที่เขาเรียนมา และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ระบบหรือโครงสร้างเป็นปัญหาครับ มันคือปัญหาที่มาจากตัวตนของเต้—มงคลกิตติ์เอง
เราจะลืมสิ่งเหล่านี้ และเชื่อใจหรือหันไปชื่นชมคนแบบนี้ได้จริงๆ หรือ?
เราจะบอกว่า คนที่เสนอให้มีการเฆี่ยนตีโบยตีเป็นผู้สนับสนุนในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนได้หรือ? มันต่างอะไรกับการที่มีคนเสนอให้ ‘การข่มขืนไม่ผิดกฎหมาย’ ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในฐานะเฟมินิสต์ในทางตรรกะ? ผมถึงบอกว่าวิธีคิดดูแปลกๆ
แต่ไม่ได้เพียงแค่นั้น หากเราจะมาพูดถึงการโหวตค้านรัฐบาลประยุทธ์ในญัตติล่าสุด จนนำมาสู่ความพ่ายแพ้ในสภาครั้งแรกของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของประยุทธ์นี้ แล้วนำมาชื่นชม กระทั่งยาวไปถึงบทบาทในฐานะฝ่ายค้านอิสระด้วยนั้น มันก็ยิ่งแปลกนะครับ เราอาจจะลืมไปแล้วกระมังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่แรก หากพรรคเล็กทั้งหมดไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลพลังประชารัฐและยืนยันที่จะเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ
และข้ออ้างเรื่องว่านโยบายของพรรคของตนนั้นไม่ได้รับการตอบรับโดยรัฐบาลอย่างเพียงพอนั้น ก็ฟังดูพิกลพิการ (lame) เหลือเกินสำหรับผม เพราะในช่วงที่มีการเรียกร้องให้พรรคเล็กมาเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เราได้เห็นสปิริตของพรรคใหญ่ๆ จำนวนมาก ทุกคนพร้อมเปิดทางอย่างเต็มที่ให้การรวมตัวของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเป็นไปได้ เพื่อไทยยอมไม่เป็นนายกก็ได้ อนาคตใหม่เสนอไม่รับตำแหน่งใดๆ ก็ได้ เสรีรวมไทยบอกว่ายอมให้เอาเสียงของพรรคตนไปรวมเพื่อเอาตำแหน่งให้กับพรรคไหนก็ได้ หากจะมาร่วมกันตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ ว่ากันอีกแบบก็คือ ฝ่ายประชาธิปไตยได้กระทั่งเสนอข้อเสนออย่างสุดตัวแล้ว และหากมาเข้าร่วมด้วยตั้งแต่ต้น ก็จะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถผลักดันนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ
แต่ไม่เลยครับ เต้—มงคลกิตติ์ในเวลานั้นก็ได้เลือกที่จะไปอยู่กับค่ายพลังประชารัฐ ทั้งที่เงื่อนไขทั้งเรื่องตำแหน่งอะไรต่างๆ นั้นเปิดให้น้อยกว่ามาก (เพราะโควตาในตำแหน่งที่ทำอะไรได้จริงๆ นั้นหมดไปก่อนจะถึงพรรคเล็กๆ เหล่านี้นานแล้ว) เมื่อกลับมามองเช่นนี้ จะรู้ได้เลยโดยไม่ยากว่า ‘ข้ออ้างเรื่องการผลักดันนโยบาย’ แต่แรกเริ่ม เป็นเพียงข้ออ้างที่ระบายสีแรเงาให้ตัวเองดูดี ทั้งที่ตัวเองได้เลือกอย่างชัดเจนแต่ต้นแล้วว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแคร์จริงๆ เลย
ผมยกอีกตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ได้ครับ หนึ่งในนโยบายหลักของพรรคไทยศรีวิไลย์ในขณะหาเสียงบอกเอาไว้ว่า “นโยบายคืนความเป็นธรรมให้ธุรกิจชุมชนหรือ SME หรือเรียกว่าโชว์ห่วย เราจะออกกฎหมายห้ามทุนใหญ่ทำการแข่งขันกับธุรกิจชุมชน อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น มินิมาร์ท หรือมินิสโตร์ เปิดได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์”[3] หรือสรุปแบบง่ายๆ ก็คือ นโยบายลดการรุกรานพื้นที่ทำกินของประชาชนโดยเหล่าเจ้าสัว โดยเฉพาะ CP นี่แหละครับ แล้วพรรคไหนกันเล่าในช่วงที่ผ่านมาที่รักใคร่ญาติดี และเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัวมากที่สุดอย่างไม่อาจจะปฏิเสธได้ โดยเฉพาะ CP? ก็พลังประชารัฐนั่นแหละครับ พรรคเดียวกันกับที่เต้—มงคลกิตติ์ ยกมือสนับสนุนให้เป็นรัฐบาลแต่แรก
เช่นนี้แล้วเราจะพูดได้อย่างไรว่าเขาสนใจเรื่องนโยบายอะไรอย่างที่กล่าวอ้าง? ผมคิดว่าถ้าเชื่อก็ออกจะพาซื่อมากเกินไปสักหน่อยนะครับ
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ เขาเป็นนักการเมืองที่ ‘เล่นเกมเป็น’ และ ‘เล่นกับสื่อได้อย่างฉลาดมากพอ’ เขาเริ่มต้นจากการสร้างภาพของตัวเองให้มีมาตรฐานที่ดูต่ำมากๆ ฉะนั้นเพียงแค่เขาทำอะไรที่ ‘อยู่ในระดับปกติ’ สักหน่อยก็ทำให้ตัวเขา ‘ดูดีขึ้นมากโดยเปรียบเทียบแล้ว’ อาจจะต้องนับว่าเป็นการใช้สกิลความ ‘กล้าพูด กล้าอภิปรายในเวที’ แบบที่ ส.ส. หน้าใหม่หลายๆ คนยังไม่กล้าให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น การยืนยัน ‘ไม่กลับไปร่วมกับรัฐบาล จะดำรงการเป็นฝ่ายค้านอิสระ’ ของเขาที่ดูสูงส่งทางจรรยาบรรณนั้น อาจจะเป็นมูฟที่ฉลาดและได้ประโยชน์ทางการเมืองเสียยิ่งกว่าพรรคเล็กกลุ่มที่ยอมกลับไปตามข้อเสนอใหม่ของรัฐบาลพลังประชารัฐก็เป็นได้ครับ
เอาแบบสรุปเลย สิ่งที่เต้—มงคลกิตติ์กำลังเป็นอยู่นี้ มันก็คือ ‘การเป็นงูเห่า’ นั่นแหละครับ!
มันคือการหักหลังพวกพ้องเดิม ตามเงื่อนไขที่เคยตกลงกันไว้ ด้วยข้ออ้างสักอย่างที่สร้างขึ้นในสภา หากเราดึงโครงสร้างเรื่องมาดูกันชัดๆ แล้ว ไม่ได้สนใจกระแสรายทางมากนัก เราจะรู้ได้ทันทีเลยว่านี่ไม่มีทางมองเป็นอื่นได้เลยนอกจาก ‘งูเห่า’
เพียงแค่ว่าเค้าระบายสีและแปลงโฉมงูเห่าเสียใหม่ ให้ดูไม่เหมือนงูเห่า ดูเป็นอะไรที่ดูทรงเกียรติและน่านับถือมากขึ้นก็เท่านั้น เป็นงูเห่าจำแลงนั่นแหละครับ อย่างไรก็ตามความร้ายกาจในมูฟนี้ของเต้ก็คือ เขาทำให้สถานะของงูเห่าที่ปกติโดนประณามกลายเป็นสิ่งที่คนหลงชื่นชมกันไปได้ และเมื่อมีกระแสของการชื่นชมอย่างหนักหน่วงในฐานะผู้ซึ่งยึดถือในหลักการแล้ว ตำแหน่งแห่งที่แบบนี้ของเขาก็กลายเป็นความถูกต้องในพื้นที่สภาไป ทั้งๆ ที่เป็นแค่การเปลี่ยนรูปแบบในการ ‘พูดคุยข้อตกลง’ กันเท่านั้น จากแบบเดิมที่ตกลงกันแบบ ‘เหมารวบยอดทีเดียว’ ให้กลายเป็น ‘ยื่นข้อเสนอเป็นครั้งๆ ไป’ และด้วยสถานะดังกล่าวทำให้เขาสามารถพร้อมรับข้อเสนอจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไปพร้อมๆ กัน ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง แถมคนยังชมด้วย
การเป็นฝ่ายค้านอิสระที่เขายืนยันว่าจะตรวจสอบรัฐบาล และหากรัฐบาลทำอะไรที่เค้าไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้อิงอยู่กับฝั่งพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ นั้น พร้อมๆ กันไปมันมีความหมายที่แฝงอยู่เสมอว่า ‘เขาเองก็พร้อมจะโหวตสนับสนุนรัฐบาลได้ด้วย เพราะตัวเขาไม่ได้ขึ้นตรงกับมติของพรรคฝ่ายค้าน’ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่านี่มันปาหี่ชัดๆ
อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ส่วนหนึ่งผมเองก็มีอคติไปตัวเต้—มงคลกิตติ์ด้วย บอกได้เลยครับว่า ‘ใช่ และชัดเจน’ แต่ใครเล่าที่ไร้ซึ่งอคติ โดยเฉพาะในโลกการเมือง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าด้วยข้อมูลที่ผ่านมาทั้งหมด รวมไปถึงการนำเหตุการณ์ข้อเท็จจริงในอดีตมาวางเทียบกันโดยไม่จงใจหลงลืมแล้ว ผมก็คิดว่าต่อให้ตัวผมเองมีอคติกับเต้ ก็หาได้ไร้มูลเหตุ หาได้ไร้เหตุผลไม่
เอากันตรงๆ ผมไม่เชื่อหรอกครับ กับนักการเมืองที่อภิปรายในสภาตั้งแต่วันแรกแล้วบอกว่า “คนแบบธนาธร กับประยุทธ์นั้น เป็นคนดีพอๆ กัน สามารถพอๆ กัน แค่คนละด้านคนละอย่าง” ถ้าในทางการเมืองก็คือ ‘ปลาไหล’ ดีๆ นี่เองครับ และ ‘ปลาไหลกับงูเห่า’ นั้นอยู่คู่กันเสมอเลยคุณๆ เอ๋ย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.khaosod.co.th
[2] โปรดดู www.matichon.co.th
[3] โปรดดู www.komchadluek.net