ในแวดวงการเมืองไทย ก็มักจะมีนามสกุลที่คุ้นๆ เสมอ แม้บ้านเราจะเพิ่งเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ไม่ถึงศตวรรษ แต่ก็มีหลายตระกูลที่เป็นตระกูลที่อยู่ในแวดวงการเมืองเรามานานจนแค่เห็นนามสกุลก็ “อ๋อ” แล้ว
แต่กับการเมืองญี่ปุ่นที่ผ่านเส้นทางสายประชาธิปไตยมายาวนานกว่า และก่อนนั้นก็ยังมีตระกูลที่ทรงอิทธิพล อดีตขุนนาง ขุนศึกตามท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ในแวดวงการเมืองญี่ปุ่นมีตระกูลนักการเมืองที่สืบทอดอำนาจส่งต่อกันเป็นทอดๆ มานาน ตัวอย่างไม่ไกลก็คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ชินโซ อาเบะ ที่ทั้งปู่ ทั้งลุงต่างก็เคยเป็นนายกฯ มาก่อนเช่นกัน ถ้าเราไปไล่ดูสาแหรกของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ก็มักจะเจอสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อกันในแวดวงการเมืองที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ เป็นเรื่องปกติ
และในปัจจุบัน คนที่ถูกจับตามองที่สุด ถูกคาดหวังสูงสุด
และมาแรงที่สุด ในกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วยกัน
ก็คงไม่มีใครเหนือไปกว่า ชินจิโร่ โคอิซุมิ (Shinjiro Koizumi)
นักการเมืองหนุ่มอายุ 38 ปี (ใช้คำว่าหนุ่มกับอายุเท่านี้แล้วรู้สึกดีใจเล็กๆ) ลูกชายของ จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ (Junichiro Koizumi) นายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นและมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ ระดับที่ทำอะไรก็เป็นที่ฮือฮาในสังคมญี่ปุ่น ตั้งแต่การขึ้นมารับตำแหน่งที่ตัวเขามีภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากนักการเมืองคนอื่นที่ดูเรียบร้อย พร้อมรักษาความกลมกลืนในสังคม แต่ จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ มากับทรงผมยาวและกระเซิง จนเป็นที่เลื่องลือว่าคือทรงแผงคอสิงโต แล้วยังให้สัมภาษณ์อีกว่า ชอบฟังวง X-Japan แค่นี้ก็เป็นจุดเด่นในแวดวงการเมืองที่ดูเหมือนจะมีแต่ลุงๆ ทั้งนั้น
แต่ถ้าหากมีแต่สไตล์ เขาคงไม่เป็นที่นิยมขนาดนี้ จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจในหลายๆ เรื่อง กระทั่งเรื่องการไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิ ทำให้เขาเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่นที่ซึมเศร้าต่อเนื่องหลังจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจ ผลงานเด่นของเขาคงต้องยกให้การแปรรูปการไปรษณีย์ญี่ปุ่น ที่เด็ดขาดขนาดเลือกยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจประเด็นนี้โดยตรง และพอครบวาระ 5 ปี ของการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP เขาก็ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบไม่สนเสียงเรียกร้องให้อยู่ต่อเลย เพราะถือว่าวาระมีเท่านั้น
แน่นอนว่า ในช่วงพีคของความนิยมในตัวจุนอิจิโร่ โคอิซุมิ ใครๆ ก็อยากจะรู้จักทุกอย่างของนายกรัฐมนตรีชื่อดัง และลูกชายทั้งสองคนก็เป็นที่จับตามองเช่นกัน นอกจากความนิยมของพ่อแล้ว ทั้งสองคนยังจัดว่าหน้าตาดี ซึ่งคนพี่ โคทาโร่ โคอิซุมิ (Kotaro Koizumi) ก็ได้อาศัยกระแสความนิยมของพ่อ กลายเป็นนักแสดงที่มีผลงานแสดงหลายเรื่อง ซึ่งก็ยังคงมีผลงานในวงการมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนคนน้อง ชินจิโร่ ที่เราจะพูดถึงในงานครั้งนี้
ก็มุ่งหน้าสายการเมืองอย่างจริงจัง
ซึ่งเขาเองก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัย Kanto Gakuin เมื่อปี ค.ศ. 2004 ในสาขาเศรษฐศาสตร์ ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Columbia ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่างกับพี่ชายที่หันเข้าหาแสงสี แม้จะถูกจับตามอง แต่เขาก็มุ่งหน้าเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ออกสื่ออะไรเท่าไหร่ และหลังจากนั้นยังทำงานวิจัยหาประสบการณ์ที่อเมริกา ก่อนจะกลับญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่เลขาของพ่อตัวเอง
และพอพ่อของเขาถอนตัวจากการเมืองอย่างเต็มตัว เขาก็ลงสมัคร ส.ส. ในเขตของพ่อตัวเองแทนพ่อ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ. 2009 เขาก็ได้รับเลือกเป็น สส. ของพรรค LDP แม้ว่าพรรคจะแพ้ให้กับพรรค DPJ จนเกิดการสลับขั้วการเมือง เมื่อพรรคที่กุมอำนาจอย่างยาวนานอย่าง LDP ต้องกลายมาเป็นฝ่ายค้านแทนบ้าง แม้จะถูกโจมตีว่าเขาก็แค่รับช่วงต่อจากพ่อ แต่เขาก็พยามหาเสียงด้วยตัวเองโดยไม่ใช้อำนาจของพ่อ กระทั่งทีมงานของเขาเองยังเลือกแต่อาสาสมัครมาช่วยงาน
ซึ่งเมื่อเป็น ส.ส. หนุ่ม เขาก็ได้ชื่อว่ากล้าแสดงออก กล้าหักกับผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคหลายเรื่อง รวมถึงกล้าที่จะวิจารณ์พรรคตัวเอง พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งผู้นำ สส. รุ่นใหม่ในพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคยผ่านมาก่อนที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่ในภายหลัง แถมเขายังจัดทีมทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 ตั้งแต่ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน
ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูกล้าพูด ไม่เกรงกลัวผู้ใหญ่
ชาติกำเนิดที่เป็นลูกชายนายกฯ คนดัง
การศึกษาที่ดี แถมหน้าตาหล่อเหลา
ทำให้หลายต่อหลายคนคาดหวังไว้กับเขามาก
ขนาดที่มองว่ามีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในอนาคต ยิ่งพรรค LDP ครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จในยุคของ ชินโซ อาเบะที่กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ (หลังจากสมัยแรกต้องพับไปด้วยความอ่อนประสบการณ์ แม้จะถูกปั้นมาให้เป็นตัวแทนรับไม้ต่อจาก จุนอิจิโร่ โคอิซุมิอย่างชัดเจน)
แม้ตัวเขาจะเคยขัดแย้งกับนายกฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าพรรคจะรู้ดีว่าเขาคือผู้เล่นตัวสำคัญในแวดวงการเมืองในอนาคต จึงมีการพยายาม ‘ปั้น’ เขาเพื่อให้พร้อมรับตำแหน่งสำคัญ ด้วยการมอบตำแหน่งเลขาสภารับผิดชอบการฟื้นฟูจังหวัดอิวาเตะและมิยากิที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ต่อเนื่องจากงานเดิมที่เขาทำไว้ ซึ่งก็ว่ากันว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือของเขาอีกด้วย
นั่นคือในส่วนของแวดวงการเมือง ยิ่งพอเป็นวงการสื่อและวงการบันเทิงแล้ว การเคลื่อนไหวของเขาก็มักจะได้รับความสนใจเสมอ บางรายการก็ถึงขนาดจัดให้มีรายการช่วงพิเศษ ให้เขาได้สนทนากับ โช ซากุระอิ (Sho sakurai) ไอดอลชายวง Arashi ที่มีอายุเท่ากันและทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวในรายการเล่าข่าวรอบดึกด้วย ยิ่งปีนี้เขายิ่งเป็นที่ฮือฮามากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขาประกาศแต่งงานกับ คริสเทล ทาคิกาวะ (Christel Takigawa) ผู้ประกาศข่าวสาวรุ่นพี่ ซึ่งโด่งดังมานานและดังสุดๆ ในตอนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในการพรีเซนต์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ด้วยวลี “โอะ โมะ เทะ นะ ชิ โอะโมะเทะนะชิ” (การดูแลแขกอย่างเต็มที่) จนกลายเป็นวลีฮิตในสังคมญี่ปุ่นไป
สื่อจับตามองแค่ไหน ก็แค่ตอนมีข่าวว่าทั้งคู่จะแต่งงานกันและฝ่ายหญิงท้อง 5 เดือนแล้ว ก็ถึงขนาดที่กลายเป็นข่าวสำคัญ มีรายงานด่วนแบบ News Flash ทั้งในโทรทัศน์ ทั้งทางโทรศัพท์มือถือ และการแถลงข่าวกับสื่ออย่างเป็นทางการยังมีขั้นตอนที่น่าสนมาก เพราะเป็นการแถลงข่าวที่เรือนพำนักของนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ชินจิโร่ได้ไปรายงานกับนายกรัฐมนตรีว่าจะแต่งงาน แล้วพอเดินออกมาค่อยพบกับกองทัพนักข่าว
แต่เพราะว่าเป็นเรือนพำนักนายกรัฐมนตรี นักข่าวที่ไปทำข่าวจึงเป็นนักข่าวการเมือง ไม่ใช่นักข่าวบันเทิง ซึ่งโดยปกติแล้วน่าจะเป็นคนทำข่าวนี้เพราะฝ่ายหญิงเป็นคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ทำให้แทนที่ข่าวจะกลายเป็นข่าวหน้าบันเทิง การประกาศแต่งงานครั้งนี้จึงเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปแทน
เล่นเอาคนในวงการสื่อทึ่งกับการคำนวนจังหวะและรูปแบบการประกาศแต่งงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็ยิ่งรู้สึกว่าคนอะไรจะครบเครื่องไปหมดขนาดนี้ แค่ที่ติดตัวมาก็พร้อมหมดแล้ว ยังได้แต่งงานกับผู้ประกาศข่าวสาวชื่อดัง ฟังดูเหมือนเทพนิยาย อะไรก็ครบไปหมด แถมในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมา เขาก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม กลายเป็นรัฐมนตรีหนุ่มคนดังที่คนจับตามองยิ่งกว่าเดิม เหมือนเสือติดปีกที่ทุกอย่างพร้อมปูทางให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศ
แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งบินสูง ลมต้านก็ยิ่งแรง เมื่อขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญแบบนี้ พร้อมทั้งแบ็คกราวด์ทั้งหลายแหล่ ก็ไม่แปลกที่สายตาที่จับจ้องมองเขาจะเข้มงวดยิ่งกว่าเดิม การพูดการให้สัมภาษณ์อะไรแต่ละครั้งก็มีผลเป็นอย่างมาก และรับตำแหน่งได้ไม่นาน เขาก็เจอกับบททดสอบชิ้นแรก ที่เกิดจากการพูดของเขานั่นล่ะครับ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชินจิโร่ได้เดินทางไปที่นิวยอร์กในฐานะตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และเขาก็ได้กล่าวในช่วงก่อนการประชุมปัญหาโลกร้อนของ UN โดยบอกว่า
การรณรงค์เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน ควรจะอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่
และมันควรจะเป็นกิจกรรมที่ ‘สนุก’ และ ‘เซ็กซี่’
ซึ่งก็กลายเป็นพาดหัวในสื่อทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เพราะฟังดูเป็นคำที่มีเสน่ห์ แต่ไม่มีใครทราบว่า เขาหมายความว่าอย่างไร
เมื่อสื่อถามว่าที่หมายความว่าเซ็กซี่ คืออะไร เขาก็ตอบว่า ถ้าต้องอธิบายความหมายมันก็ไม่เซ็กซี่สิ ก็เล่นเอางงกันว่า ตกลงเขามีแนวคิดอย่างไร และในการแถลงข่าว นักข่าวต่างชาติก็ถามว่า เขาคิดอย่างไรกับการใช้พลังงานจากฟอสซิล เขาก็ตอบว่า จะลดปริมาณลง แต่เมื่อถูกถามต่อว่าจะทำอย่างไร เขาก็ได้แต่นั่งเงียบเป็นเวลานาน แล้วค่อยตอบว่าเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ ต้องปรึกษากันในกระทรวงก่อน
การใช้คำว่า ‘เซ็กซี่’ ในการแถลงข่าว ฟังดูก็น่าจะเท่ดี แต่พอไม่มีเนื้อหาอะไรมารองรับ ก็กลายเป็นการสรรหาคำมาพูดเพื่อให้ดูน่าสนใจไปเสียมากกว่า คนในวงการโฆษณาของญี่ปุ่นก็ให้ความเห็นว่า คำว่าเซ็กซี่มักจะเป็นคำในแวดวงสื่อที่ใช้เพื่อเรียกความสนใจและทำให้ดูแหวกและแตกต่างจากคนอื่น แต่ถ้าหากไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานมาแสดงว่ามันแปลกแตกต่างไปจากคนอื่นหรือมีไอเดียที่เห็นได้ชัดก็คงไม่มีประโยชน์
โดยยกตัวอย่าง เลโอนาโด ดิคาปริโอ มาเทียบว่า เป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นการเลือกใช้รถพลังงานไฮบริด นี่ล่ะคือตัวอย่างของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เซ็กซี่โดยไม่ต้องป่าวประกาศว่าตัวเองเซ็กซี่ สื่อบางเจ้าก็เล่นขย่มหนักขนาดที่เทียบคำว่า เซ็กซี่ ที่เขาพูดว่านี่ล่ะ คือ “Empty Words” หรือคำพูดที่กลวงเปล่าที่ เกรต้า ธันเบิร์ก ได้กล่าวโจมตีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในวันถัดมาว่าดีแต่พูด แต่ไม่ลงไม้ลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
หลังจากคำว่า เซ็กซี่ ได้ช่วยเรียกก้อนหินเข้าหาตัวแล้ว
คนก็เริ่มสงสัยว่า ตกลงแล้วเขามีฝีมือจริงหรือ
เพราะในการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ก่อนหน้า ที่เขาถูกถามเรื่องแนวทางในการแก้ปัญหาดินปนเปื้อนกัมมันตรังสีว่าจะทำอย่างไร แทนที่จะตอบแนวทางแนวคิดในการจัดการปัญหา เขากลับตอบแบบเพ้อๆ ว่า “ตอนที่คิดเรื่องสามสิบปีให้หลัง ตอนที่เกิดภัยพิบัติขึ้นหมาดๆ ก็คิดว่า สามสิบปีให้หลังตัวเองจะมีอายุเท่าไหร่กันนะ เพราะอย่างนั้น ถ้าผมสุขภาพดี ก็จะสามารถคอยดูได้ว่า สามสิบปีให้หลังจะรักษาสัญญาได้รึเปล่า ผมก็คิดว่าผมเป็นนักการเมืองที่สามารถอยู่คอยดูได้ครับ” ก็เล่นเอาพิธีกรต้องตอบกลับว่า “เอ่อ ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ…” และหลายคนก็งงว่า จะมาตอบเป็นคำกลอนอะไรในรายการคุยเรื่องปัญหาจริงจัง
เท่านั้นยังไม่พอ ตอนที่ไปนิวยอร์ก เขาคงดีใจที่ได้กลับถิ่นเก่าสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Columbia และก็ได้ไปกินสเต็กเนื้อร้านที่อยากกินมานาน พร้อมทั้งออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออย่างยิ้มแย้ม แต่ดันลืมไปว่าหนึ่งในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนคือการปศุสัตว์นี่เอง โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวเนื้อที่ใช้พลังงานมหาศาลจนมีการรณรงค์เรื่องนี้กัน การไปกินสเต็กเนื้ออย่างแซ่บในการไปประชุมเรื่องนี้ก็ดูจะผิดที่ผิดทางไปหน่อย ซึ่งพอโดนจี้เรื่องนี้ เขาก็ตอบตรงๆ ว่า บางทีคนเรามันก็อยากกินนั่นนี่บ้าง ใครก็เป็นกัน ซึ่งมองอีกที ก็ดูจริงใจดี ไม่ได้ตอบลีลาเล่นลิ้น แต่ก็นั่นล่ะครับ ถ้ามองเรื่องความเหมาะสมแล้วก็คงจะต้องมานั่งคิดกันหน่อยว่าการแสดงออกเช่นนั้นมันเหมาะไหม ไปกินนอกรอบคงไม่มีใครสนอะไรแบบนี้หรอครับ
ดูๆ แล้ว เส้นทางการเมืองของ ชินจิโร่ โคอิซุมิ ก็เหมือนกับเดินตามทางที่มีคนปูพรมรอไว้ตลอด ตามสไตล์การเมืองญี่ปุ่นที่ครอบครัวนักการเมืองก็ส่งไม้ต่อกันเป็นทอดๆ ยิ่งครอบครัวสำคัญก็ยิ่งต่อกันยาวๆ ยิ่งเขาพร้อมด้วยปัจจัยที่จะหนุนเขาให้ไปข้างหน้าได้ไกลแค่ไหนในแวดวงการเมือง
สิ่งที่สำคัญคือ การพิสูจน์ฝีมือของตนเอง ว่าถ้าหากยืนด้วยตัวคนเดียวแล้ว เขาจะสามารถทำอะไรได้แค่ไหน เหมือนกับที่ ฮิโตชิ มัตซึโมโต้ (Hitoshi Matsumoto) ดาวตลกชื่อดังได้คอมเมนต์ไว้ว่า ที่ผ่านมาชินจิโร่คือคนที่เวลาเป่ายิ้งฉุบก็ให้ฝ่ายตรงข้ามอออกก่อนแล้วค่อยออกตามทีหลัง แล้วชนะมาตลอด และจากนี้ไปก็คงเป็นนักการเมืองที่ต่อให้ออกกรรไกรออกมาก่อน แต่ฝ่ายตรงข้ามต้องยอมออกกระดาษออกมาให้ได้ ก็คงต้องมาดูกันต่อไปยาวๆ ครับ ว่า จะมีแค่สไตล์ หรือจะมีกึ๋นด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก